ถนนพระร่วง หรือ ท่อปู่พระยาร่วง[1] เป็นเส้นทางโบราณมีลักษณะเป็นแนวคันดินโบราณ ลักษณะเนินดินพูนสูงขึ้นมาเป็นแนวยาว บางแห่งจะขาดหายไปบ้าง ระยะทางประมาณ 128 กิโลเมตร กว้าง 8–12 เมตร สูง 2–5 เมตร เชื่อมระหว่างกำแพงเพชร สุโขทัย และศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงสมัยกรุงสุโขทัย ทอดยาวจากแม่น้ำปิงจังหวัดกำแพงเพชร ผ่านเมืองต่าง ๆ ในจังหวัดกำแพงเพชร เมืองเพชร (คีรีมาศ) ในจังหวัดสุโขทัยและต่อไปจนจรดลำน้ำน่านที่เมืองศรีสัชนาลัย ตลอดสองข้างทางถนนพระร่วง มีทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุต่าง ๆ[2] ระหว่างเส้นทางจะผ่านเมืองโบราณ 3 เมือง ได้แก่ เมืองบางขลัง เมืองบางพาน และเมืองไตรตรึงษ์[3]

ตำนาน แก้

มีหลักฐานที่ชัดเจนและมีตำนานที่เล่าขานกันมานานว่า พระร่วงเจ้าทรงใช้พระบาทซ้ายและพระบาทขวา กวาดให้เป็นถนนพระร่วง บ้างว่าพระร่วงเจ้าทรงชอบเล่นว่าว เลยสร้างถนนขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่เล่นว่าว[4]

การปรากฏในหลักฐาน แก้

ชื่อ "ถนนพระร่วง" ปรากฏในเรื่อง เสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 2 พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเมื่อเสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. 2449 และอีกครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สำรวจถนนพระร่วงระหว่างวันที่ 18 มกราคม–2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450 ทรงบันทึกเส้นทางเอาไว้ในหนังสือ เที่ยวเมืองพระร่วง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาสืบหาประวัติความเป็นมาของถนนพระร่วง จากศิลาจารึก คือ หลักศิลาเมืองสุโขทัยที่ 1 มีข้อความปรากฏว่า "...๑๒๐๙ ศก ปีกุณให้ขุดเอาพระธาตุออกท้งงหลายเห็น กทำบูชาบำเรอแก่พระธาตุได้เดือนหกวนน จึงเอาลงฝงงในกลางเมืองศรีสัชนาไลย ก่อพระเจดีย์เหนือหกเข้า (ปี) จึงออกแล้ว ต้งงวงผา (กำแพงศิลา) ล้อมพระมหาธาตุสามเข้าจึงแล้ว..."[5] ทรงวินิจฉัยว่า การก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ที่ใช้เวลานาน 6 ปี ระหว่างเมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) กับสุโขทัยอยู่บ่อย ๆ อาจเป็นเหตุให้สร้างถนนพระร่วงในสมัยนี้

หลักศิลาเมืองสุโขทัยที่ 2 ปรากฏข้อความว่า "...ในการนั้นพระองค์ (พระเจ้ากมรเตญอัตศรีธรรมมิกราชาธิราช) ทรงระลึกถึงพระเชษฐาเมืองสัชนาลัยจะเสด็จนำพยุหพลไป ...ฯลฯ... แล้วพระองค์ท่านเสด็จดำเนินพลไปปราบปรามเมืองหนึ่งชื่อศรีจุธามลราชมหานครตั้งอยู่ทิศพายัพเมืองศรีสัชนาลัยเสด็จทอดพระเนตรตามระยะสถลมารคไปเห็นว่าลำบากยากแก่ราษฎรไปมาค้าขาย จึงทรงพระกรุณาโปรดให้รี้พลขุดคลองทำถนนหนทางหลวง ตั้งแต่เมืองสุโขทัยมาจนตลอดถึงเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองน้อยใหญ่ ทำทางน้ำทางบกแวะเวียนไปตามหว่างทางใหญ่ เป็นการบุญสนองคุณพระราชบิดา..."[6] ทรงวินิจฉัยว่า ที่พระเจ้ากมรเตญอัตศรีธรรมิกราชาธิราชได้สั่งให้ทำถนนระหว่างสุโขทัยกับสวรรคโลกนั้นเป้นการซ่อมถนนเก่าของพระเจ้ารามคำแหง ผู้เป็นอัยกา ส่วนคลองที่ขุดเพื่อให้มีน้ำไว้ตามทางประการหนึ่ง กับต้องการดินขึ้นมาถมถนนอีกประการหนึ่ง

สภาพในปัจจุบัน แก้

สภาพของถนนพระร่วงจากเมืองกำแพงเพชรไปถึงเมืองเก่าสุโขทัยและเมืองเก่าศรีสัชนาลัย แต่เดิมเป็นแนวพูนดินสูงราวครึ่งเมตรถึงหนึ่งเมตร ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยเป็นแห่ง ๆ มีแนวถนนที่ได้รับการสร้างเป็นถนนใหม่จากเมืองเก่าศรีคีรีมาศไปยังเมืองเก่าสุโขทัย และส่วนที่อยู่ขนานไปกับถนนที่สร้างใหม่ก่อนถึงเมืองเก่าสุโขทัย (จากบ้านนาโพธิ์ถึงเมืองเก่า)

แนวถนนจากเมืองเก่าสุโขทัยไปยังเมืองเก่าศรีสัชนาลัยยังคงหลงเหลือแนวถนนทางตะวันออกวัดโบสถ์ประมาณ 500 เมตร โดยแนวถนนทอดยาวไปทางเหนือในระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร จนถึงวัดใหญ่ชัยมงคล ตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล นอกนั้นได้ถนนได้กลายสภาพเป็นที่นาและเป็นที่ดินทำประโยชน์ไปหมดแล้ว[7]

ข้อสันนิษฐาน แก้

แม้จะมีการศึกษาเรื่องถนนพระร่วงมายาวนาน แต่ก็ยังหาข้อสรุปของจุดประสงค์ในการสร้างถนนมิได้ บ้างสันนิษฐานว่าเป็นถนน มิใช่คลองส่งน้ำ เนื่องจากพื้นผิวถนนมีความกว้างมากกว่าความสูงที่จะเป็นคันคลองเพื่อกันน้ำล้น อีกแนวคิดคือ พนังในการขุดคลองชลประทาน โดยนำน้ำมาจากแม่น้ำปิงที่เมืองกำแพงเพชรทางตอนใต้ ไปบรรจบกับคลองชลประทานที่ขุดซึ่งได้มีการนำน้ำจากทางตอนเหนือด้านตะวันตกของเมืองศรีสัชนาลัย น้ำที่ไหลมาบรรจบกันระบายลงไปตามคลองแม่ลำพันสู่แม่น้ำยม และต่อมาจึงได้สร้างเมืองสุโขทัยขึ้น ณ จุดที่น้ำมาบรรจบกัน อีกแนวคิดคือ เป็นคันกั้นน้ำ เพื่อทำให้เกิดความสมดุลกันระหว่างระดับน้ำและพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม[8]

อ้างอิง แก้

  1. โสภิณ อาชวเมธากุล. "สารสนเทศภูมิศาสตร์ สถานที่ตามเส้นทางเสด็จในหนังสือ "เที่ยวเมืองพระร่วง"". คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  2. "ตำนานพระร่วง". ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร-ตาก.
  3. "ตามรอยมรดกพระร่วง มรดกโลก ชมความยิ่งใหญ่". โพสต์ทูเดย์.
  4. "ย้อนรอย "เที่ยวเมืองพระร่วง" ตอนที่ ๕ (ถนนพระร่วง : ทางหลวงแผ่นดินสายโบราณ)". ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร-ตาก.
  5. "หลักศิลาจารึก (จำลอง)".
  6. "ประชุมพงศาวดาร, เล่มที่ 1". p. 183.
  7. ไพฑูรย์ มีกุศล. "ถนนพระร่วง : อดีต - ปัจจุบัน".
  8. "ถนนพระร่วงแห่งวัฒนธรรมสุโขทัย : ข้อมูลใหม่จากการขุดค้นทางโบราณคดี". กระทรวงวัฒนธรรม.