ปลาแค้วัว
ตัวอย่างปลาแค้วัวที่ปากีสถาน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Siluriformes
วงศ์: Sisoridae
สกุล: Bagarius
สปีชีส์: B.  bagarius
ชื่อทวินาม
Bagarius bagarius
(Hamilton, 1822)
ชื่อพ้อง
  • Pimelodus bagarius Hamilton, 1822

ปลาแค้วัว หรือ ปลาแค้ (อังกฤษ: Dwarf goonch, Devil catfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Bagarius bagarius) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) มีลักษณะหัวแบนราบมีด้านบนโค้งและด้านล่างเรียบ จะงอยปากยื่นยาว มองจากด้านบนจะโค้ง หนวดเป็นเส้นแข็งมีผังผืดที่ริมฝีปาก ตาเล็กอยู่ด้านบนของหัว มีลักษณะคล้ายตาของงูหรือจระเข้ คือ มีม่านตาดำเล็กเป็นช่องแนวตั้ง ปากกว้างมากมีฟันเป็นเขี้ยวแหลมคมอย่างสัตว์ดุร้าย ส่วนหลังยกสูง ลำตัวแบนราบเล็กน้อย ครีบหลังยกสูงมีก้านครีบแข็งแหลมคมเช่นเดียวกับครีบอก ที่ปลายครีบอก ครีบท้อง ครีบหลัง มีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว โดยเฉพาะในตัวเมีย

ผิวหนังสาก บนหัวมีกระ ไม่เรียบ ตัวมีสีเขียวมะกอกหรือน้ำตาลอ่อนอมเหลือง มีประด่างสีคล้ำและสีดำตลอดลำตัวด้านบนและครีบ ด้านท้องสีจาง ครีบท้องของปลาแค้วัวจะตั้งตรงอยู่แนวเดียวกับด้านท้ายของครีบหลัง

เป็นปลาล่าเหยื่อ กินปลาและซากสัตว์เป็นอาหาร อาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ของทุกภาคในประเทศไทย พบน้อยในภาคใต้ พบมากในแม่น้ำเจ้าพระยา ในต่างประเทศพบที่อินเดีย, กัมพูชา, เวียดนาม ไปจนถึงเกาะสุมาตรา, บอร์เนียว และชวา มีความยาวเต็มประมาณ 30-40 เซนติเมตร พบใหญ่สุดไม่เกิน 70 เซนติเมตร

นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "ปลาตุ๊กแก" เป็นต้น[2]

นิยมบริโภคด้วยการปรุงสด เนื้อมีรสชาติดี อร่อย ทำเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น ต้มยำ เป็นต้น มักพบขายในร้านแม่น้ำตามภูมิภาคที่ติดริมแม่น้ำ และเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม[3][4]

อ้างอิง แก้

  1. จาก IUCN
  2. แค้ น.ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  3. หนังสือสารานุกรมปลาไทย โดย สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล (กรุงเทพ, พ.ศ. 2540) ISBN 9789748990026
  4. หนังสือปลาน้ำจืดไทย โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ (กรุงเทพ พ.ศ. 2544) ISBN 974-475-655-5

แหล่งข้อมูลอื่น แก้