ปลาเฉา
ปลาเฉา
ปลาเฉาในวัยอ่อน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cypriniformes
วงศ์: Cyprinidae
วงศ์ย่อย: Cyprininae
สกุล: Ctenopharyngodon
Steindachner, 1866
สปีชีส์: C.  idella
ชื่อทวินาม
Ctenopharyngodon idella
(Valenciennes in Cuvier & Valenciennes, 1844)
ชื่อพ้อง
  • Ctenopharyngodon idellus Valenciennes in Cuvier & Valenciennes, 1844
  • Leuciscus idella Valenciennes in Cuvier & Valenciennes, 1844

ปลาเฉา (อังกฤษ: Grass Carp, ชื่อวิทยาศาสตร์: Ctenopharyngodon idella) หรือ เฉาฮื้อ หรือ ปลากินหญ้า เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) และเป็นปลาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Ctenopharyngodon[1]

มีรูปร่างยาวทรงกระบอก ส่วนหัวเล็กและกลมมน ในช่องคอมีฟันที่แข็งแรง ไม่มีหนวด ครีบหลังและครีบก้นค่อนข้างเล็กไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหางเว้าลึก เกล็ดค่อนข้างใหญ่ ลำตัวด้านบนมีสีคล้ำหรือสีน้ำตาลอมทอง ครีบสีคล้ำ ด้านท้องสีจาง บริเวณฐานของเกล็ดบนของลำตัวส่วนมากมีสีคล้ำ

ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวได้ถึง 1 เมตร แต่โดยเฉลี่ยจะยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร ตัวผู้ในช่วงเจริญพันธุ์จะปรากฏตุ่มคล้ายสิวขึ้นมาที่ครีบอก และก้านครีบด้านในที่เป็นหยัก หัวและหน้าผาก[2]

มีการกระจายพันธุ์ในบริเวณแม่น้ำอามูร์ทางภาคตะวันออกของจีนและรัสเซีย กินอาหารจำพวกหญ้าและพืชน้ำทุกชนิด โดยมักจะหากินตามก้นแม่น้ำ

ปัจจุบัน ถือเป็นปลาเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากมีการนำเข้าและเพาะเลี้ยงกันไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่นเดียวกับปลาในสกุล Hypophthalmichthys รวมถึงเป็นปลาที่นิยมในการตกปลาอีกด้วย ซึ่งจะมีชื่อเรียกรวม ๆ กันในภาษาไทยว่า "ปลาจีน"

สำหรับในประเทศไทย ได้นำเข้ามาทางเรือสำเภาโดยชาวจีนผ่านทางฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2465 โดยได้ถูกนำเข้ามาเลี้ยงอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นอาหาร ต่อมากรมประมงได้ทดลองเพาะขยายพันธุ์ด้วยการฉีดฮอร์โมนจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2509 จึงได้มีการขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ในประเทศได้สำเร็จจนถึงปัจจุบัน โดยที่ปลาจะไม่ไข่เองตามธรรมชาติแต่จะเกิดจากการฉีดฮอร์โมนกระตุ้น

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ITIS". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-04. สืบค้นเมื่อ 2010-11-19.
  2. "การเลี้ยงปลาจีน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-28. สืบค้นเมื่อ 2010-11-19.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Ctenopharyngodon idella ที่วิกิสปีชีส์