ปลากัดป่ามหาชัย

ปลากัดป่ามหาชัย หรือ ปลากัดมหาชัย (อังกฤษ: Mahachai betta; ชื่อวิทยาศาสตร์: Betta mahachaiensis) เป็นปลาน้ำจืดจำพวกปลากัดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae)

ปลากัดป่ามหาชัย
ปลากัดป่ามหาชัยเพศผู้ (♂)
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: Anabantiformes
วงศ์: วงศ์ปลากัด ปลากระดี่
สกุล: ปลากัด (สกุล)
Kowasupat, Panijpan, Ruenwongsa & Sriwattanarothai, 2012
สปีชีส์: Betta mahachaiensis
ชื่อทวินาม
Betta mahachaiensis
Kowasupat, Panijpan, Ruenwongsa & Sriwattanarothai, 2012

ลักษณะและถิ่นที่อยู่อาศัย แก้

มีลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกับปลากัดภาคกลาง (B. splendens) มาก อีกทั้งยังมีที่อยู่อาศัยทับซ้อนกัน แต่มีความแตกต่างกันที่สีและรายละเอียดบางประการ เช่น สีของเกล็ดเป็นสีฟ้าอมเขียวหรือสีเขียวอย่างเดียวแวววาวทั้งตัว ลักษณะเกล็ดไล่เรียงตัวกันเหมือนฝักข้าวโพด บนพื้นลำตัวที่มีสีเข้มตั้งแต่น้ำตาลจนถึงดำสนิท บริเวณแก้มหรือแผ่นปิดเหงือกเป็นขีดสีฟ้า 2 ขีด ครีบอกคู่แรกที่เรียกว่า "ตะเกียบ" เส้นหน้ามีสีฟ้า ครีบหางมีทั้งกลมและปลายแหลมเหมือนใบโพมีสีฟ้า ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 4-5 เซนติเมตร อีกทั้งยังเป็นปลากัดในกลุ่มก่อหวอดที่สามารถพบในประเทศไทยได้เพียงที่เดียวเท่านั้น ที่เยื่อใต้แผ่นปิดเหงือกเป็นสีดำสนิทโดยไม่มีขีดหรือแถบสีแดงมาแซมเหมือนปลากัดในกลุ่มก่อหวอดชนิดอื่น ๆ [2]

เป็นปลาที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยจำกัด โดยพบแค่เพียงเขตจังหวัดสมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, สมุทรปราการ และเขตบางขุนเทียน ของกรุงเทพมหานคร เท่านั้น จากการศึกษาในระดับดีเอ็นเอ พบว่ามีสายการวิวัฒนาการแยกตัวมาจากปลากัดภาคกลางเมื่อราว 3-4 ล้านปีก่อน และจากการลงพื้นที่ศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยพบว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากัดมหาชัย เป็นแหล่งน้ำจืดที่มีน้ำเค็มเข้ามาปนเล็กน้อย โดยมากเป็นป่าจาก และยังพบว่ามีน้ำจากแหล่งอุตสาหกรรมบางส่วนปนเปื้อนเข้ามาด้วย เมื่อมีขนาดเล็กจะกินแมลงเป็นอาหาร เมื่อโตขึ้นจะเริ่มกินแมลงผิวน้ำ และโตขึ้นอีกจะเป็นอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งยังเศษซากพืชเข้าไปปนด้วย ปลากัดป่ามหาชัย ถือว่าเป็นปลากัดอีกชนิดหนึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักเลี้ยงปลาสวยงาม [3]

การตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ แก้

ปลากัดป่ามหาชัย ได้เป็นที่รู้จักกันมาอย่างยาวนานแล้ว แต่ยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ จนกระทั่งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2012 จึงได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ โดยถือเป็นปลากัดชนิดแรกที่ได้รับการพิสูจน์ทั้งยืนยันโดยชาวไทยเอง ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดยใช้ชื่อไทยอ้างอิงถึง "มหาชัย" (จังหวัดสมุทรสาคร) ที่เป็นแหล่งของปลากัดป่ามหาชัยให้เป็นที่รู้จัก และเพื่อให้ผู้คนในจังหวัดสมุทรสาครและชาวไทยเกิดความภาคภูมิใจ และกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ปลากัดป่ามหาชัยมากยิ่งขึ้นก่อนที่จะสูญพันธุ์ไป สำหรับงานวิจัยที่พิสูจน์ยืนยันชนิดพันธุ์ของปลากัดป่ามหาชัยนี้ ได้ศึกษาโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีหัวข้อบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Zootaxa ว่า "Betta mahachaiensis (ปลากัดป่ามหาชัย) ปลากัดก่อหวอดชนิดใหม่จากจังหวัดสมุทรสาคร ประเทศไทย)" โดยมีผู้วิจัยคือ นายชานนทร์ โควสุภัทร, รศ.ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์, รศ.ดร.พิณทิพ รื่นวงษา, และดร.น้ำค้าง ศรีวัฒนาโรทัย[4][5]

ปลากัดที่พบในประเทศไทย แก้

กลุ่ม B. picta: แก้

กลุ่ม B. pugnax: แก้

กลุ่ม B. splendens: แก้

กลุ่ม B. waseri: แก้

อ้างอิง แก้

  1. Low, B.W. (2019). "Betta mahachaiensis.". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T181333A89804943. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-2.RLTS.T181333A89804943.en.
  2. Betta stiktos ปลากัดลูกทุ่งกัมพูชา โดย ธีรวัฒน์ อุทาพงษ์ คอลัมน์ Mini Fishes, หน้า 32. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 1 ฉบับที่ 10: เมษายน 2011
  3. ""ปลากัดมหาชัย" อยู่ก่อนไทยมา 3-4 ล้านปี แต่จะไม่เหลือแล้ว". ผู้จัดการออนไลน์. 29 May 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-01. สืบค้นเมื่อ 14 February 2014.
  4. http://www.mapress.com/zootaxa/2012/f/zt03522p060.pdf Betta mahachaiensis, a new species of bubble-nesting fighting fish (Teleostei: Osphronemidae) from Samut Sakhon Province, Thailand (อังกฤษ)
  5. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1095-8649.2010.02715.x/abstract Molecular and morphological evidence supports the species status of the Mahachai fighter Betta sp. Mahachai and reveals new species of Betta from Thailand (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Betta mahachaiensis ที่วิกิสปีชีส์