ปลากัดป่ามหาชัย
ปลากัดป่ามหาชัย หรือ ปลากัดมหาชัย (อังกฤษ: Mahachai betta; ชื่อวิทยาศาสตร์: Betta mahachaiensis) เป็นปลาน้ำจืดจำพวกปลากัดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae)
ปลากัดป่ามหาชัย | |
---|---|
ปลากัดป่ามหาชัยเพศผู้ (♂) | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | ปลาที่มีก้านครีบ Actinopterygii |
อันดับ: | Anabantiformes Anabantiformes |
วงศ์: | วงศ์ปลากัด ปลากระดี่ Osphronemidae |
สกุล: | ปลากัด (สกุล) Betta Kowasupat, Panijpan, Ruenwongsa & Sriwattanarothai, 2012 |
สปีชีส์: | Betta mahachaiensis |
ชื่อทวินาม | |
Betta mahachaiensis Kowasupat, Panijpan, Ruenwongsa & Sriwattanarothai, 2012 |
ลักษณะและถิ่นที่อยู่อาศัย
แก้มีลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกับปลากัดภาคกลาง (B. splendens) มาก อีกทั้งยังมีที่อยู่อาศัยทับซ้อนกัน แต่มีความแตกต่างกันที่สีและรายละเอียดบางประการ เช่น สีของเกล็ดเป็นสีฟ้าอมเขียวหรือสีเขียวอย่างเดียวแวววาวทั้งตัว ลักษณะเกล็ดไล่เรียงตัวกันเหมือนฝักข้าวโพด บนพื้นลำตัวที่มีสีเข้มตั้งแต่น้ำตาลจนถึงดำสนิท บริเวณแก้มหรือแผ่นปิดเหงือกเป็นขีดสีฟ้า 2 ขีด ครีบอกคู่แรกที่เรียกว่า "ตะเกียบ" เส้นหน้ามีสีฟ้า ครีบหางมีทั้งกลมและปลายแหลมเหมือนใบโพมีสีฟ้า ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 4-5 เซนติเมตร อีกทั้งยังเป็นปลากัดในกลุ่มก่อหวอดที่สามารถพบในประเทศไทยได้เพียงที่เดียวเท่านั้น ที่เยื่อใต้แผ่นปิดเหงือกเป็นสีดำสนิทโดยไม่มีขีดหรือแถบสีแดงมาแซมเหมือนปลากัดในกลุ่มก่อหวอดชนิดอื่น ๆ [2]
เป็นปลาที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยจำกัด โดยพบแค่เพียงเขตจังหวัดสมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, สมุทรปราการ และเขตบางขุนเทียน ของกรุงเทพมหานคร เท่านั้น จากการศึกษาในระดับดีเอ็นเอ พบว่ามีสายการวิวัฒนาการแยกตัวมาจากปลากัดภาคกลางเมื่อราว 3-4 ล้านปีก่อน และจากการลงพื้นที่ศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยพบว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากัดมหาชัย เป็นแหล่งน้ำจืดที่มีน้ำเค็มเข้ามาปนเล็กน้อย โดยมากเป็นป่าจาก และยังพบว่ามีน้ำจากแหล่งอุตสาหกรรมบางส่วนปนเปื้อนเข้ามาด้วย เมื่อมีขนาดเล็กจะกินแมลงเป็นอาหาร เมื่อโตขึ้นจะเริ่มกินแมลงผิวน้ำ และโตขึ้นอีกจะเป็นอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งยังเศษซากพืชเข้าไปปนด้วย ปลากัดป่ามหาชัย ถือว่าเป็นปลากัดอีกชนิดหนึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักเลี้ยงปลาสวยงาม [3]
การตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์
แก้ปลากัดป่ามหาชัย ได้เป็นที่รู้จักกันมาอย่างยาวนานแล้ว แต่ยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ จนกระทั่งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2012 จึงได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ โดยถือเป็นปลากัดชนิดแรกที่ได้รับการพิสูจน์ทั้งยืนยันโดยชาวไทยเอง ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดยใช้ชื่อไทยอ้างอิงถึง "มหาชัย" (จังหวัดสมุทรสาคร) ที่เป็นแหล่งของปลากัดป่ามหาชัยให้เป็นที่รู้จัก และเพื่อให้ผู้คนในจังหวัดสมุทรสาครและชาวไทยเกิดความภาคภูมิใจ และกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ปลากัดป่ามหาชัยมากยิ่งขึ้นก่อนที่จะสูญพันธุ์ไป สำหรับงานวิจัยที่พิสูจน์ยืนยันชนิดพันธุ์ของปลากัดป่ามหาชัยนี้ ได้ศึกษาโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีหัวข้อบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Zootaxa ว่า "Betta mahachaiensis (ปลากัดป่ามหาชัย) ปลากัดก่อหวอดชนิดใหม่จากจังหวัดสมุทรสาคร ประเทศไทย)" โดยมีผู้วิจัยคือ นายชานนทร์ โควสุภัทร, รศ.ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์, รศ.ดร.พิณทิพ รื่นวงษา, และดร.น้ำค้าง ศรีวัฒนาโรทัย[4][5]
ปลากัดที่พบในประเทศไทย
แก้กลุ่ม B. picta:
แก้- ปลากัดอมไข่กระบี่ Betta simplex Kottelat, 1994
กลุ่ม B. pugnax:
แก้- ปลากัดปีนัง Betta pugnax Cantor, 1849
- ปลากัดหัวโม่งจันทบุรี Betta prima Kottelat, 1994
- ปลากัดอมไข่สงขลา Betta ferox I. Schindler & J. Schmidt, 2006
กลุ่ม B. splendens:
แก้- ปลากัดภาคกลาง (Siamese fighting fish) Betta splendens Regan, 1910
- ปลากัดอีสาน Betta smaragdina Ladiges, 1972
- ปลากัดภาคใต้ Betta imbellis Ladiges, 1975
- ปลากัดตะวันออก Betta siamorientalis Kowasupat, Panijpan, Ruenwongsa & Jeenthong, 2012
- ปลากัดมหาชัย Betta mahachaiensis Kowasupat, Panijpan, Ruenwongsa & Sriwattanarothai, 2012
กลุ่ม B. waseri:
แก้- ปลากัดช้าง Betta pi H. H. Tan, 1998
อ้างอิง
แก้- ↑ Low, B.W. (2019). "Betta mahachaiensis.". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T181333A89804943. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-2.RLTS.T181333A89804943.en.
- ↑ Betta stiktos ปลากัดลูกทุ่งกัมพูชา โดย ธีรวัฒน์ อุทาพงษ์ คอลัมน์ Mini Fishes, หน้า 32. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 1 ฉบับที่ 10: เมษายน 2011
- ↑ ""ปลากัดมหาชัย" อยู่ก่อนไทยมา 3-4 ล้านปี แต่จะไม่เหลือแล้ว". ผู้จัดการออนไลน์. 29 May 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-01. สืบค้นเมื่อ 14 February 2014.
{{cite web}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ http://www.mapress.com/zootaxa/2012/f/zt03522p060.pdf Betta mahachaiensis, a new species of bubble-nesting fighting fish (Teleostei: Osphronemidae) from Samut Sakhon Province, Thailand (อังกฤษ)
- ↑ http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1095-8649.2010.02715.x/abstract Molecular and morphological evidence supports the species status of the Mahachai fighter Betta sp. Mahachai and reveals new species of Betta from Thailand (อังกฤษ)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Betta mahachaiensis ที่วิกิสปีชีส์