ปฏิทินคงที่สากล

ปฏิทินคงที่สากล (อังกฤษ: International Fixed Calendar) หรือชื่ออื่นว่า แผนคอตส์เวิร์ธ แผนอีสต์แมน ปฏิทินสิบสามเดือน หรือ ปฏิทินเดือนเท่า (อังกฤษ: Cotsworth plan; Eastman plan; 13 Month calendar; Equal Month calendar) คือข้อเสนอการปฏิรูปปฏิทินแบบสุริยคติ ออกแบบโดยโมเสส บี. คอตส์เวิร์ธ และนำเสนอเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2448[1] ซึ่งข้อเสนอนี้จะแบ่งปีตามสุริยคติออกเป็น 13 เดือน และ 28 วันในแต่ละเดือนอย่างเท่าเทียมกัน เกิดเป็นรูปแบบปฏิทินถาวร (perennial calendar) ที่วันที่จะตรงกับวันในสัปดาห์ตลอดไปในทุก ๆ ปี (เช่น วันที่ 1, 8, 15 และ 22 จะตรงกับวันอาทิตย์เสมอ) อย่างไรก็ตาม ไม่มีประเทศใดนำข้อเสนอนี้ไปปรับใช้อย่างเป็นทางการ มีเพียงจอร์จ อีสต์แมน นักธุรกิจผู้ก่อตั้งบริษัทอีสต์แมนโกดักเท่านั้นที่นำไปปรับใช้กับบริษัทของตนระหว่างปี พ.ศ. 2471 ถึง พ.ศ. 2532[2]

กฎเกณฑ์ แก้

ในหนึ่งปีปฏิทินจะแบ่งออกเป็น 13 เดือน เดือนละ 28 วันเท่า ๆ กัน ทำให้ในแต่ละเดือนมี 4 สัปดาห์เท่ากันด้วย แต่เมื่อนำมาเทียบกับจำนวนวันในหนึ่งปีตามปฏิทินเกรโกเรียนแบบเดิมซึ่งมี 365 วัน จะพบว่าจำนวนวันตามปฏิทินนี้มีอยู่เพียง 13 × 28 = 364 วัน เท่านั้น คอตส์เวิร์ธจึงได้เพิ่มอีกหนึ่งวันเข้าไปท้ายปีและกำหนดให้เป็นวันหยุด (หลังวันที่ 28 ธันวาคม หรือเทียบเท่าวันที่ 31 ธันวาคมในปฏิทินเกรโกเรียน) และจะเรียกวันสุดท้ายนี้ว่า วันปี (Year Day) ในบางครั้ง ซึ่งวันสุดท้ายนี้จะไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์ใดเลย เสมือนเป็นวันที่แยกออกมาต่างหากจากวันที่อื่น ๆ ของปี เป็นการแก้ปัญหาจำนวนวันไม่เท่ากับปฏิทินแบบเดิมในที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากในแต่ละปีจะเริ่มต้นวันที่ใหม่เหมือนกับปฏิทินเกรโกเรียนทุกประการ จึงทำให้วันที่ 1 มกราคม - 28 มกราคม ของทุกปีตรงกับปฏิทินเกรโกเรียนด้วยเช่นกัน[3] นอกจากนี้คอตส์เวิร์ธยังคงชื่อและลำดับเดือนทั้งสิบสองเอาไว้เช่นเดิม แต่จะแทรกเดือนใหม่เพิ่มเข้าไประหว่างเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม และเรียกเดือนใหม่นี้ว่า โซล (Sol) หรือ สุริยาพันธ์ (สุริย + อาพันธ์) ตามหลักการเรียกชื่อเดือนในภาษาไทย ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงดวงอาทิตย์ เนื่องจากเดือนดังกล่าวอยู่ในช่วงกลางฤดูร้อน (ในซีกโลกเหนือซึ่งผู้ออกแบบอาศัยอยู่) และเป็นช่วงเวลาครึ่งปีที่เกิดปรากฏการณ์อายัน (ครีษมายัน) พอดิบพอดี[4]

ในปฏิทินคงที่สากล ปีอธิกสุรทินจะมีจำนวนวันทั้งสิ้น 366 วัน และมีกฎเกณฑ์ตามแบบปฏิทินเกรโกเรียนทุกประการ ดังนั้นปีอธิกสุรทินจึงจะตกในปีปฏิทิน (คริสต์ศักราช) ที่หารด้วยสี่ลงตัว แต่ไม่ใช่ปีที่ด้วยหารหนึ่งร้อยลงตัว ยกเว้นแต่เพียงปีที่หารด้วยสี่ร้อยลงตัวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000 ซึ่งหารด้วยสี่ร้อยลงตัว) จึงถือเป็นปีอธิกสุรทิน ในขณะที่ปี พ.ศ. 2243 (ค.ศ. 1700) พ.ศ. 2343 (ค.ศ. 1800) และ พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) ซึ่งหารด้วยสี่ร้อยไม่ลงตัว จะถือเป็นปีปกติสุรทิน ทั้งนี้ในปฏิทินคงที่สากลจะแทรกอธิกวารเป็นวันที่ 29 มิถุนายน หรือระหว่างวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน และวันอาทิตย์ที่ 1 สุริยาพันธ์

ในแต่ละเดือนจะเริ่มต้นด้วยวันอาทิตย์และสิ้นสุดลงในวันเสาร์ต่อเนื่องกันไปเช่นนี้ และเริ่มต้นวันแรกของทุก ๆ ปีด้วยวันอาทิตย์เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ วันปี และอธิกวารจะไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์หรือวันในสัปดาห์ แต่จะอยู่ถัดจากวันเสาร์และตามด้วยวันอาทิตย์

จากกฎเกณฑ์ข้างต้นสามารถเรียบเรียงปฏิทินคงที่สากลในหนึ่งปีปฏิทินได้ ดังนี้

ปฏิทินคงที่สากล
เดือน สัปดาห์ที่ 1 สัปดาห์ที่ 2 สัปดาห์ที่ 3 สัปดาห์ที่ 4 ส่วนเกินสัปดาห์
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
มกราพันธ์ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 -
กุมภาพันธ์ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28
มีนาพันธ์ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28
เมษาพันธ์ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28
พฤษภาพันธ์ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28
มิถุนาพันธ์ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 (อธิกวาร)*
สุริยาพันธ์ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 -
กรกฎาพันธ์ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28
สิงหาพันธ์ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28
กันยาพันธ์ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28
ตุลาพันธ์ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28
พฤศจิกาพันธ์ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28
ธันวาพันธ์ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 (วันปี)
หมายเหตุ อา. = อาทิตย์ จ. = จันทร์ อ. = อังคาร พ. = พุธ พฤ. = พฤหัสบดี ศ. = ศุกร์ ส. = เสาร์ *เฉพาะปีอธิกสุรทิน

สามารถเทียบเคียงเดือนตามปฏิทินคงที่สากลกับวันที่ตามปฏิทินเกรโกเรียนแบบเดิมได้ ดังนี้

เดือนและส่วนเกินสัปดาห์
ตามปฏิทินคงที่สากล
วันที่เทียบเคียงตามปฏิทินเกรโกเรียน
ปีปกติสุรทิน ปีอธิกสุรทิน
เริ่มต้น สิ้นสุด เริ่มต้น สิ้นสุด
มกราพันธ์ 1 มกราคม 28 มกราคม 1 มกราคม 28 มกราคม
กุมภาพันธ์ 29 มกราคม 25 กุมภาพันธ์ 29 มกราคม 25 กุมภาพันธ์
มีนาพันธ์ 26 กุมภาพันธ์ 25 มีนาคม 26 กุมภาพันธ์ 24 มีนาคม*
เมษาพันธ์ 26 มีนาคม 22 เมษายน 25 มีนาคม* 21 เมษายน*
พฤษภาพันธ์ 23 เมษายน 20 พฤษภาคม 22 เมษายน* 19 พฤษภาคม*
มิถุนาพันธ์ 21 พฤษภาคม 17 มิถุนายน 20 พฤษภาคม* 16 มิถุนายน*
อธิกวาร - 17 มิถุนายน
สุริยาพันธ์ 18 มิถุนายน 15 กรกฎาคม 18 มิถุนายน 15 กรกฎาคม
กรกฎาพันธ์ 16 กรกฎาคม 12 สิงหาคม 16 กรกฎาคม 12 สิงหาคม
สิงหาพันธ์ 13 สิงหาคม 9 กันยายน 13 สิงหาคม 9 กันยายน
กันยาพันธ์ 10 กันยายน 7 ตุลาคม 10 กันยายน 7 ตุลาคม
ตุลาพันธ์ 8 ตุลาคม 4 พฤศจิกายน 8 ตุลาคม 4 พฤศจิกายน
พฤศจิกาพันธ์ 5 พฤศจิกายน 2 ธันวาคม 5 พฤศจิกายน 2 ธันวาคม
ธันวาพันธ์ 3 ธันวาคม 30 ธันวาคม 3 ธันวาคม 30 ธันวาคม
วันปี 31 ธันวาคม
หมายเหตุ *สำหรับช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายนในปีอธิกสุรทิน วันที่ตามปฏิทินคงที่สากลเมื่อเทียบกับปฏิทินเกรโกเรียนจะเร็วขึ้นจากปีปกติสุรทินอยู่หนึ่งวัน เนื่องจากได้นับรวมอธิกวารตามปฏิทินเกรโกเรียน (29 กุมภาพันธ์) ไปก่อนแล้ว แต่หลังเดือนมิถุนายนจะนับรวมอธิกวาร (29 มิถุนาพันธ์) เข้าใป จึงทำให้วันที่เท่ากับปีปกติสุรทินตามเดิม

ประวัติ แก้

แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับปฏิทินถาวร 13 เดือน ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างช้าที่สุดก็ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งแต่ละแนวคิดมีรูปแบบต่างกันหลัก ๆ ตรงที่ชื่อของเดือนและการจัดตำแหน่งอธิกวารในปีอธิกสุรทิน

ในปี พ.ศ. 2288 ชาวอาณานิคมอเมริกันจากแมริแลนด์นามว่า ฮิวจ์ โจนส์ ซึ่งใช้นามปากกาว่า ไฮรอสซา แอป-อิกซิม (Hirossa Ap-Iccim) ได้เสนอ ปฏิทินจอร์เจียน[5] อันเป็นการตั้งชื่อตามพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร กำหนดให้มีทั้งหมด 13 เดือน เดือนที่สิบสามตั้งชื่อว่าเดือน จอร์เจียน และให้วันที่ 365 ของทุกปีเป็นวันคริสต์มาส แต่การใส่อธิกวารกลับมีกฎที่แตกต่างจากปฏิทินเกรโกเรียน ส่วนวันขึ้นปีใหม่จะถือเอาช่วงใกล้เหมายันเป็นหลัก ทั้งนี้รูปแบบปรับปรุงที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2296 ได้เปลี่ยนชื่อเดือนทั้งหมด 13 เดือน ไปใช้ชื่อตามนักบุญในศาสนาคริสต์แทน

ในปี พ.ศ. 2392 นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส โอกุสต์ ก็องต์ ได้เสนอปฏิทินสิบสามเดือน ปฏิทินปฏิฐานนิยม (Positivist Calendar) เช่นกัน โดยตั้งชื่อเดือนทั้งหมดตามบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไล่ตั้งแต่ โมเสส, โฮเมอร์, อริสโตเติล, อคีมีดีส, ซีซาร์, เซนต์พอล, ชาร์เลอมาญ, ดันเต, กูเตนแบร์ก, เชกสเปียร์, เดการ์ต, เฟรเดอริก และบีชาต์ ส่วนวันในสัปดาห์จะตั้งชื่ออุทิศตาม "นักบุญ" ในศาสนามนุษยชาติ (Religion of Humanity) ตามลัทธิปฏิฐานนิยม (Positivism) ซึ่งปฏิทินรูปแบบนี้จะเริ่มสัปดาห์ เดือน และปีในวันจันทร์แทนที่วันอาทิตย์ นอกจากนี้ก็องต์ยังได้เริ่มนับศักราชใหม่ตามปฏิทินของตนเป็นปีที่ 1 หรือเท่ากับปี พ.ศ. 2332 (ค.ศ. 1789) ตามปฏิทินเกรโกเรียน ส่วนวันที่เกินมาหนึ่งวัน (ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์หรือเดือนใด) จะใช้รูปแบบเดียวกับปฏิทินจอร์เจียนของโจนส์ คือกำหนดให้วันที่ 365 ของทุกปีเป็นวันเทศกาล และจัดวันเฉลิมฉลอง (feast day) ถัดมาอีกหนึ่งวัน (วันที่ 366) เฉพาะในปีอธิกสุรทินเท่านั้น

อนึ่ง ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าโมเสส คอตส์เวิร์ธ คุ้นเคยกับรูปแบบของปฏิทินสิบสามเดือนที่มีอยู่ก่อนหน้าปฏิทินคงที่สากลของเขามาก่อนหรือไม่ แต่คอตส์เวิร์ธได้ยึดรูปแบบตามปฏิทินของโจนส์ที่ใช้วันที่ 365 ของปีเป็นวันคริสต์มาส เขาจึงเสนอว่าวันสุดท้ายของปีดังกล่าวควรให้ถือเป็นวันอาทิตย์ แต่วันปีใหม่ซึ่งเป็นวันถัดมาก็ถือเป็นวันอาทิตย์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงเรียกวันสุดท้ายของปีนี้ว่า วันอาทิตย์ซ้อน (Double Sunday) ได้อีกชื่อหนึ่ง[6] ทั้งนี้เนื่องจากเป้าหมายของคอตส์เวิร์ธคือการออกแบบปฏิทินให้เรียบง่ายและสมเหตุสมผล (จำนวนวันในแต่ละเดือนเท่ากัน) สำหรับการใช้งานในทางธุรกิจและอุตสาหกรรมมากขึ้นกว่าเดิม เขาจึงยังคงเอารูปแบบและกฎเกณฑ์หลายอย่างมาจากปฏิทินเกรโกเรียนมาใช้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายนี้ เช่น การคงชื่อและลำดับเดือนไว้เช่นเดิม การกำหนดให้แต่ละสัปดาห์เริ่มต้นที่วันอาทิตย์ (ยังคงใช้รูปแบบนี้ในสหรัฐ แต่ในประเทศอื่น ๆ ส่วนมากและตามมาตรฐานการนับสัปดาห์ของไอเอสโอถือว่าเป็นรูปแบบที่ไม่ปกติ เนื่องจากกำหนดให้เริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ด้วยวันจันทร์) และเกณฑ์การตัดสินปีอธิกสุรทิน

ในปี พ.ศ. 2466 ได้มีการก่อตั้งสมาคมปฏิทินคงที่สากล (International Fixed Calendar League) ขึ้นเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่ข้อเสนอการปฏิรูปปฏิทินของคอตส์เวิร์ธ หลังจากที่สันนิบาตชาติได้เลือกข้อเสนอดังกล่าวในฐานะรูปแบบที่ดีที่สุดจากทั้งหมด 130 รูปแบบที่เสนอมา[7] โดยมีเซอร์ สแตนฟอร์ด เฟลมมิง นักประดิษฐ์และผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้ทั่วโลกริเริ่มใช้เวลามาตรฐาน เป็นประธานสมาคมคนแรก[8] และเปิดสำนักงานในกรุงลอนดอนและรอเชสเตอร์ (สหรัฐ) ในภายหลัง มีผู้สนับสนุนคนสำคัญคือ จอร์จ อีสต์แมนจากบริษัทอีสต์แมนโกดัก ซึ่งเขาได้นำปฏิทินนี้ไปปรับใช้ที่บริษัทของตน อย่างไรก็ตาม สมาคมปฏิทินคงที่สากลยุติการดำเนินงานทั้งหมดลงหลังจากท้ายที่สุดแล้วสันนิบาตชาติมีมติไม่รับแผนการปฏิรูปปฏิทินนี้ในปี พ.ศ. 2480[9]

ข้อดี แก้

ข้อดีหลายประการของปฏิทินคงที่สากลคือลักษณะการจัดเรียงและรูปแบบ ดังนี้

  • หน่วยย่อยของปีมีลักษณะคงที่และเป็นระบบอย่างมาก ช่วยให้สามารถใช้งานทางสถิติและจัดรูปแบบปฏิทินในแต่ละปีได้โดยง่าย กล่าวคือ
    • ทุก ๆ ปีมีทั้งหมด 13 เดือน และรวมเป็นปีละ 52 สัปดาห์เท่ากัน
    • แต่ละเดือนแบ่งเป็น 28 วัน และรวมเป็นเดือนละ 4 สัปดาห์เท่ากัน
    • ทุก ๆ วันของเดือนจะตรงกับวันในสัปดาห์เดิมเสมอ เช่น วันที่ 17 ของทุกเดือนจะตรงกับวันอังคาร เป็นต้น
  • รูปแบบการจัดเรียงปฏิทินนี้จะเหมือนกันทุกปี (คงที่) ไม่เหมือนกับปฏิทินเกรโกเรียนที่รูปแบบจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละปี ดังนั้นการจัดตารางเวลาสำหรับใช้ในองค์กร สถาบัน และอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงง่ายขึ้น สามารถวางแผนล่วงหน้าได้ยาวนานขึ้น เช่น รอบการผลิตในอนาคตที่ยาวขึ้น เป็นต้น
  • วันหยุดเทศกาลซึ่งเปลี่ยนวันที่ไปมาหรือขึ้นอยู่กับลำดับประจำเดือนของวันในสัปดาห์ เช่น วันขอบคุณพระเจ้าในสหรัฐ (พฤหัสบดีที่สี่ของเดือนพฤศจิกายน) หรือวันเด็กแห่งชาติในไทย (เสาร์ที่สองของเดือนมกราคม) จะมีวันที่คงที่แน่นอนในทุก ๆ ปี โดยที่ยังสามารถขึ้นอยู่กับลำดับประจำเดือนของวันในสัปดาห์ได้ตามเดิม
  • การเปรียบเทียบเชิงสถิติระหว่างเดือนจะถูกต้องแม่นยำขึ้น เนื่องจากในแต่ละเดือนจะมีจำนวนวันทำงานและวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เท่ากัน หรือสามารถเปรียบเทียบกันแบบไตรมาสสิบสามสัปดาห์ได้ (ทุก ๆ 13 สัปดาห์นับเป็น 1 ไตรมาส)
  • ผู้สนับสนุนการปฏิรูปนี้เสนอว่าการแบ่งปีออกเป็น 13 เดือนซึ่งมีจำนวนวันเท่า ๆ กัน มีข้อได้เปรียบดีกว่าการแบ่งปีออกเป็น 12 เดือนแต่จำนวนวันไม่เท่ากัน ในแง่ของกระแสเงินสดที่ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ[10]

ข้อเสีย แก้

  • ไม่สามารถแบ่งส่วนเดือนทั้ง 13 ได้อย่างเท่า ๆ กันเนื่องจากเป็นจำนวนเฉพาะ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการนำไปใช้งานเนื่องจากปัจจุบันนิยมใช้วิธีแบ่งส่วนเดือนตามระบบไตรมาสกันอย่างแพร่หลาย จึงต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบไตรมาสสิบสามสัปดาห์แทน แต่จะทำให้เกิดปัญหาว่าในแต่ละไตรมาสเหลื่อมล้ำกับเดือน (1 ไตรมาสจะเท่ากับ 3.25 เดือน) และไม่สิ้นสุดรอบพร้อมกัน (ยกเว้นไตรมาสสุดท้าย)
  • กลุ่มศาสนิกชนชาวยิว ชาวคริสต์ และมุสลิมบางส่วนคัดค้านปฏิทินนี้ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางศาสนาของตนที่จะจัดขึ้นทุก ๆ 7 วัน เช่น การละหมาดทุกวันศุกร์ของอิสลาม หรือการเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ของคริสต์ ทำให้ในแต่ละปีการประกอบศาสนกิจอาจไม่ใช่รอบระยะเวลา 7 วัน เนื่องจากมีวันแทรกเข้ามาสองวัน (อธิกวารและ วันปี) ซึ่งไม่ได้นับรวมอยู่ในวันของสัปดาห์ หากต้องการให้เป็นวันในสัปดาห์เดิมที่ปฏิบัติกันมาก็จะต้องรอเพิ่มอีกหนึ่งวันกลายเป็นรอบ 8 วัน อันเป็นการผิดหลักประเพณีที่ยึดถือมาแต่เดิม ในขณะที่มีการเสนอให้นับรวมอธิกวารและ วันปี เป็นวันประกอบศาสนกิจเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
  • วันเกิด วันครบรอบ หรือวันหยุดเทศกาลอื่น ๆ อาจต้องคำนวณขึ้นใหม่ อันเป็นผลจากการปฏิรูปปฏิทินนี้และทำให้ตรงกับวันในสัปดาห์เช่นเดิมตลอดไปทุก ๆ ปี

อ้างอิง แก้

  1. Moses B. Cotsworth, The rational almanac: tracing the evolution of modern almanacs from ancient ideas of time, and suggesting improvements (Acomb, England:Cotsworth, 1905)
  2. Exhibit at George Eastman House, viewed June 2008
  3. See the table in Cotsworth, Rational Almanac, p. i.
  4. Cotsworth suggested "Mid" as an alternative name. See his address in Royal Society of Canada, Proceedings and Transactions of the Royal Society of Canada, 3d series, vol. II (Ottawa: James Hope & Son, 1908), pp. 211-41 at 231.
  5. Hirossa Ap-Iccim, "An Essay on the British Computation of Time, Coins, Weights, and Measures" The Gentleman’s Magazine, 15 (1745): 377-379
  6. Cotsworth, The Rational Almanac, p. i.
  7. Duncan Steel, Marking Time: The Epic Quest to Invent the Perfect Calendar (New York: John Wiley & Sons, 2000), p. 309.
  8. Moses Bruine Cotsworth, Calendar Reform (London: The International Fixed Calendar League, 1927), Preface.
  9. See Journal of Calendar Reform vol. 16, no. 4 (1944): 165-66
  10. See Frank Parker Stockbridge, "New Calendar by 1933—Eastman," Popular Science Monthly (June 1929): 32, 131-33; and George Eastman, "The Importance of Calendar Reform to the World of Business," Nation's Business (May 1926): p. 42, 46.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้