นัตตราตรอว์ซาบลีสกา
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
"นัตตราตรอว์ซาบลีสกา" (สโลวัก: Nad Tatrou sa blýska, ออกเสียง [ˈnat tatrɔw sa ˈbliːska]; "สายฟ้าเหนือเขาตาตรา") เป็นเพลงชาติของประเทศสโลวาเกีย โดยทำนองมีต้นกำเนิดมาจากเพลงพื้นเมืองของสโลวาเกีย ส่วนเนื้อร้องประพันธ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1844 (พ.ศ. 2387) โดยยังกอ มาตูชกา (Janko Matúška) เพลงนี้มีต้นกำเนิดมาจากอิทธิพลความคิดจินตนิยมและชาตินิยมในแถบยุโรปตอนกลางในเวลานั้น ซึ่งเพลงนี้ต่อมาได้รับความนิยมจากชาวสโลวาเกียทั่วไปในเหตุการณ์การปฏิวัติ ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391) เนื้อหาของเพลงโดยรวมเป็นการนำเอาภาพของสายฟ้าเหนือทิวเขาตาตรามาเปรียบเทียบกับภยันตรายที่สโลวาเกียต้องเผชิญและความปรารถนาที่จะฟันฝ่าปัญหาเหล่านั้นไปให้จงได้
คำแปล: สายฟ้าเหนือเขาตาตรา | |
---|---|
"นัตตราตรอว์ซาบลีสกา"แบบตีพิมพ์ฉบับแรก | |
เพลงชาติของ สโลวาเกีย อดีตเพลงชาติร่วมของ เชโกสโลวาเกีย | |
ชื่ออื่น | "Dobrovoľnícka" English: "Volunteer Song" |
เนื้อร้อง | ยังกอ มาตูชกา, ค.ศ. 1844 |
ทำนอง | เพลงพื้นเมือง |
รับไปใช้ | 13 ธันวาคม ค.ศ. 1918 (เชโกสโลวาเกีย) |
รับไปใช้ใหม่ | 1 มกราคม ค.ศ. 1993 (สโลวาเกีย) |
เลิกใช้ | ค.ศ. 1992 (เชโกสโลวาเกีย) |
ตัวอย่างเสียง | |
ฉบับบรรเลงโดย U.S. Navy Band (บทเดียว) |
ในยุคที่สโลวาเกียยังคงรวมอยู่ในประเทศเชโกสโลวาเกียนั้น ปรากฏว่ามีธรรมเนียมการบรรเลงเพลงนี้ในเวลา 12 นาฬิกาทุกวัน ในเมืองของชาวสโลวัก ต่อมาธรรมเนียมนี้ได้เลิกไปเมื่อมีการแยกตัวเป็น 2 ประเทศ ปัจจุบันนี้ เพลง "นัตตราตรอว์ซาบลีสกา" ใช้บรรเลงเนื่องในวาระพิเศษต่างๆ เช่น การแข่งขันกีฬา เป็นต้น
ประวัติ
แก้กำเนิดของเพลง
แก้ยังกอ มาตูชกา กวีคนสำคัญของชาวสโลวัก ขณะมีอายุได้ 23 ปี ได้เขียนบทกวีที่มีชื่อว่า "นัตตราตรอว์ซาบลีสกา" (Nad Tatrou sa blýska) หรือ "สายฟ้าเหนือเขาตาตรา" ขึ้น ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1844 โดยทำนองของเพลงได้มาจากเพลงพื้นเมืองสโลวักที่มีชื่อว่า "กอปาลาสตูเดียงกู" (Kopala studienku - ชื่อเพลงแปลได้ว่า "เธอขุดดินได้ดี") ซึ่งมาตูชกาได้รับคำแนะนำให้ใช้ทำนองนี้เพื่อนนักศึกษาคนหนึ่งผู้มีชื่อว่า โจเซฟ โปดราดสกี (Jozef Podhradský)[1] ซึ่งต่อมาเขาคนนี้จะเป็นนักการศาสนา ครู และนักเคลื่อนไหวในแนวความคิดพันธมิตรสลาฟ (Pan-Slavism|Pan-Slavic)[2] หลังจากนั้นไม่นาน มาตูชกาและนักศึกษาคนอื่นๆ อีกประมาณ 24 คน ต้องออกจากเรียนที่วิทยาลัย (Lyceum) ของนิกายลูเธอรันในเมืองบราติสลาวา (เมืองหลวงของสโลวาเกีย ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกสุดของประเทศสโลวาเกียในปัจจุบัน) จากประท้วงการถอดถอนลูโดวิท สตูร์ (Ľudovít Štúr - ผู้นำทางความคิดในการพื้นฟูชาติและภาษาสโลวักในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1815 - 1856) ออกจากตำแหน่งครูโดยศาสนจักรนิกายลูเธอรัน ตามแรงกดดันของฝ่ายอำนาจรัฐ ทั้งนี้ สโลวาเกียในเวลานั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮังการี ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย
"นัตตราตรอว์ซาบลีสกา" ถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาหลายสัปดาห์ที่นักศึกษาต้องกระวนกระวายใจเมื่อคำเรียกร้องขอให้ระงับการปลดลูโดวิท สตูร์ ออกจากตำแหน่งครูถูกคณะกรรมการบริหารโรงเรียนปฏิเสธ นักเรียนประมาณ 12 คน ที่เคลื่อนไหวในเหตุการณ์นี้ถูกสั่งย้ายให้ไปเรียนที่ยิมเนเซียม (Gymnázium - ชื่อของสถานศึกษาประเภทหนึ่งในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุโรปตะวันออก) ของนิกายลูเธอรันที่เมืองเลโวกา (Levoča - ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสโลวาเกียปัจจุบัน)[3] เมื่อมีการพบว่า นักเรียนวัย 18 ปี คนหนึ่ง ซึ่งทำงานเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ด้วย คือ วิลเลียม ปอลลินี-ทอธ (Viliam Pauliny-Tóth, 1826-1877) เขียนบทกวีลงในสมุดเรียนปี ค.ศ. 1844 ของตนเอง โดยบทกวีดังกล่าวมีชื่อว่า "ชาวสโลวักแห่งบราติสลาวา, ชาวเลโวกาในอนาคต" ("Prešporský Slováci, budaucj Lewočané") ซึ่งสะท้อนถึงแรงจูงใจของนักศึกษาที่มีต่อการเคลื่อนไหวครั้งนี้[4]
การเดินทางไกลจากเมืองบราติสลาวาสู่เมืองเลโวกาของเหล่านักศึกษาต้องผ่านภูเขาตาตราสูง (High Tatras) ซึ่งเป็นทิวเขาที่สูงที่สุด น่าเกรงขาม และเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสโลวาเกียและราชอาณาจักรฮังการี พายุที่พัดผ่านเขาลูกนี้ได้กลายเป็นแนวคิดสำคัญ (key theme) ที่ถูกนำมาใช้ในบทกวี "นัตตราตรอว์ซาบลีสกา"
สำนวนเพลง
แก้ไม่มีเนื้อร้องของ "นัตตราตรอว์ซาบลีสกา" ฉบับที่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ของมาตูชกาฉบับใดๆ ได้มีการเก็บรักษาไว้ และการบันทึกเสียงครั้งแรกสุดของเพลงนี้ยังคงปราศจากความเป็นเจ้าของ[5] หลัง ค.ศ. 1849 เขาได้หยุดการเผยแพร่เนื้อร้องดังกล่าว และภายหลังได้เข้าทำงานเป็นเจ้าพนักงานศาลแขวงในท้องถิ่น[6] ทว่าบทเพลงนี้เริ่มเป็นที่นิยมจากประชาชนในช่วงการปฏิวัติระหว่างปี ค.ศ. 1848-1849[7] โดยเนื้อร้องดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านการคัดลอกและทำซ้ำด้วยการเขียนด้วยมือ ก่อนที่จะมีการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1851 ภายใต้ชื่อ "เพลงอาสาสมัคร" ("Dobrovolňícka")[8] ซึ่งก่อให้เกิดสำนวนของเพลงที่ต่างออกไป โดยเฉพาะวลีหนึ่งในบาทที่ 3 บทที่ 1 ของเพลง ที่ว่า "zastavme ich" ("จงไปหยุดมันเสีย")[9] หรือ "zastavme sa" ("จงไปยับยั้งมันเสีย")[10] ข้อเขียนวิจารณ์เกี่ยวกับสำเนาเพลงที่มีอยู่และงานวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องได้สรุปว่างานเขียนต้นฉบับมาตูชกาน่าจะใช้คำว่า "zastavme ich" ทั้งนี้ ในบรรดาเอกสารต่างๆ นั้น วลีดังกล่าวล้วนปรากฏอยู่ในต้นฉบับลายมือที่เก่าที่สุดปี ค.ศ. 1844 และฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1851[11] เนื้อร้องของเพลงชาติสโลวาเกียในปัจจุบันใช้วลีนี้ ส่วนอีกวลีหนึ่ง ("zastavme sa") ถูกใช้ในเพลงชาติช่วงก่อน ค.ศ. 1993
ฐานะความเป็นเพลงชาติ
แก้ในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) เฉพาะคำร้องบทแรกของเพลงนัตตราตรอว์ซาบลีสกา ซึ่งแต่งโดย ยานโก มาตูชกา ได้รับเลือกให้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของเพลงชาติเชโกสโลวาเกีย ร่วมกับเนื้อเพลงส่วนที่เป็นภาษาเช็กซึ่งนำมาจากบทแรกของจุลอุปรากรที่มีชื่อว่า Kde domov můj? (แปลว่า "บ้านของฉันนั้นคือที่ใด") โดยแต่ละชาติ (เช็กและสโลวัก) จะขับร้องเพลงชาติในส่วนที่เป็นภาษาของตนเองก่อนแล้วจึงขับร้องในส่วนที่เป็นอีกภาษาหนึ่งตามลำดับ การบรรเลงเพลงนั้นก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน[12] บทเพลงดังกล่าวได้สะท้อนถึงความเชื่อมโยงของทั้งสองชาติในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19[13] เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความเคลื่อนไหวอันแรงกล้าในความเป็นชาตินิยมและชาติพันธุ์นิยม (national-ethnic activism) ของชาวฮังการีและชาวเยอรมัน ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮับสบูร์กในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
เมื่อประเทศเชโกสโลวาเกียแยกตัวออกเป็นสาธารณรัฐเช็กและสาธารณรัฐสโลวักในปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) ได้มีการประกวดเพลงชาติใหม่ โดยเพลงนัตตราตรอว์ซาบลีสกานั้น ได้มีการประกวดโดยเพิ่มเนื้อร้องในบทที่ 2 และผลการประกวดปรากฏว่า เพลงนี้ได้รับการประกาศใช้เป็นเพลงชาติสาธารณรัฐสโลวักอย่างเป็นทางการ[14][15] ทั้งนี้ ยังเพลงอีกเพลงหนึ่งซึ่งได้นำมาประกวดด้วยที่ควรกล่าวถึง คือเพลง "เฮ สโลวาซี" (Hej Slováci) ซึ่งเพลงนี้เป็นสำนวนหนึ่งของเพลง "เฮ สลาฟ" (Hey, Slavs) ที่ใช้ในการเคลื่อนไหวความคิดพันธมิตรสลาฟ (pan-Slavic) อันเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
การอ้างอิงถึงเขาตาตรา (Tatras) ในเพลงนัตตราตรอว์ซาบลีสกา เป็นการตีความอย่างคู่ขนานไปกับตราแผ่นดินของสาธารณรัฐสโลวัก ซึ่งได้มีการนิยามความหมายมาตั้งแต่สมัยที่มาตูชกาเขียนคำร้องของเพลงนี้ ตราดังกล่าวนี้ดัดแปลงลักษณะส่วนหนึ่งของดวงตราแผ่นดินของฮังการี ซึ่งตีความได้ว่ามาจากยอดเขาสำคัญ 3 ลูก ในราชอาณาจักรฮังการียุคก่อน ค.ศ. 1918 อันประกอบด้วยเขามาตรา (Mátra) เขาฟาตรา (Fatra) และเขาตาตรา แม้ว่าในทุกวันนี้เขาตาตราและเขาฟาตราจะตกเป็นของสาธารณรัฐสโลวัก และคงเหลือแต่เพียงเขามาตราที่เป็นของฮังการีก็ตาม ในคำอธิบายอีกอย่างที่มีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางมากกว่าได้กล่าวกันว่า ยอดเขาทั้งสามยอดนั้นหมายถึงเพียงเขาตาตรา บ้างก็กล่าวว่าหมายถึงกลุ่มยอดเขาวีโซกา (Vysoká group) ซึ่งอยู่ในแนวทิวเขาตาตราสูง (High Tatras)
เนื้อร้อง
แก้เฉพาะสองบทแรกเท่านั้นที่ได้รับการบัญญัติเป็นเพลงชาติ
ภาษาสโลวัก[16] | ถอดเสียงตามสัทอักษรสากล | แปลไทย | แปลอิงทำนอง |
---|---|---|---|
I |
1 |
๑ |
๑ |
- ↑ 1.0 1.1 กวีในยุคศิลปะจินตนิยมเริ่มใช้เขาตาตราเป็นสัญลักษณ์แห่งบ้านเกิดของชาวสโลวัก
- ↑ 2.0 2.1 เนื้อหาส่วนนี้แสดงถึงแนวคิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบชาตินิยม-ชาติพันธุ์นิยม (national-ethnic activism) ซึ่งดำเนินอยู่ในหมู่ชาวยุโรปกลางยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19
- ↑ 3.0 3.1 ความหมายที่เป็นมาตรฐานของคำว่า sláva คือ "ความรุ่งโรจน์" (glory) หรือ "ชื่อเสียง" (fame) ในเชิงอุปมา คำนี้มีความหมายว่า "มารดา/เทพธิดาแห่งชาวสลาฟ" เริ่มใช้ในบทกวีชื่อ "The Daughter of Sláva" ซึ่งประพันธ์โดย ยาน คอลลาร์ (Ján Kollár) เมื่อ ค.ศ. 1824[17]
- ↑ 4.0 4.1 การอุปมาด้วยสำนวนว่า "ดังสนเฟอร์" (ako jedľa) หมายถึงมนุษย์ในหลากหลายความหมาย เช่น "ตัวสูง" ("stand tall") "มีรูปร่างดี" ("have a handsome figure") "สูงและมีกล้างเนื้อเป็นมัด" ("be tall and brawny") ฯลฯ
- ↑ 5.0 5.1 การใช้ยอดเขาครีวานในความหมายเชิงสัญลักษณ์ โปรดอ่านเพิ่มเติมจากบทความเกี่ยวกับยอดเขาแห่งนี้ในวิกิพีเดียภาคภาษาอังกฤษ
อ้างอิง
แก้- ↑ Brtáň, Rudo (1971). Postavy slovenskej literatúry.
- ↑ Buchta, Vladimír (1983). "Jozef Podhradský - autor prvého pravoslávneho katechizmu pre Čechov a Slovákov". Pravoslavný teologický sborník (10).
- ↑ Sojková, Zdenka (2005). Knížka o životě Ľudovíta Štúra.
- ↑ Brtáň, Rudo (1971). "Vznik piesne Nad Tatrou sa blýska". Slovenské pohľady.
- ↑ Cornis-Pope, Marcel; John Neubauer (2004). History of the Literary Cultures of East-Central Europe: Junctures and Disjunctures in the 19th and 20th Centuries.
- ↑ Čepan, Oskár (1958). Dejiny slovenskej literatúry.
- ↑ Sloboda, Ján (1971). Slovenská jar: slovenské povstanie 1848-49.
- ↑ Anon. (1851). "Dobrovolňícka". Domová pokladňica.
- ↑ Varsík, Milan (1970). "Spievame správne našu hymnu?". Slovenská literatúra.
- ↑ Vongrej, Pavol (1983). "Výročie nášho romantika". Slovenské pohľady. 1.
- ↑ Brtáň, Rudo (1979). Slovensko-slovanské literárne vzťahy a kontakty.
- ↑ Klofáč, Václav (1918-12-21). "Výnos ministra národní obrany č. 4580, 13. prosince 1918". Osobní věstník ministerstva Národní obrany. 1.
- ↑ Auer, Stefan (2004). Liberal Nationalism in Central Europe.
- ↑ National Council of the Slovak Republic (1 September 1992). "Law 460/1992, Zbierka zákonov. Paragraph 4, Article 9, Chapter 1, Constitution of the Slovak Republic".
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ National Council of the Slovak Republic (18 February 1993). "Law 63/1993, Zbierka zákonov. Section 1, Paragraph 13, Part 18, Law on National Symbols of the Slovak Republic and their Use".
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ "Hymna Slovenskej republiky" (PDF). Valaská Belá. สืบค้นเมื่อ 2022-03-09.
- ↑ Kollár, Ján (1824). Sláwy dcera we třech zpěwjch.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เพลงชาติสาธารณรัฐสโลวัก – เว็บไซต์สำนักงานประธานาธิบดีสโลวาเกียที่มีไฟล์เสียงเพลงชาติหลายเพลง
- เพลงชาติสโลวัก, sheet music, lyrics
- Slovakia: Nad Tatrou sa blýska - Audio of the national anthem of Slovakia, with information and lyrics (archive link)