นางมณโฑ
นางมณโฑ ในมหากาพย์รามายณะเรียกว่า มังโททรี (สันสกฤต: मंदोदरी มํโททรี) เป็นชายาของพาลี ทศกัณฐ์ หนุมาน และพิเภก โดยระหว่างเป็นมเหสีของทศกัณฐ์ นางได้ให้กำเนิดนางสีดา
มณโฑ | |
---|---|
ตัวละครใน รามเกียรติ์ | |
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง | |
เพศ | หญิง |
ตำแหน่ง | พระอัครมเหสีแห่งกรุงลงกา |
คู่สมรส | พาลี, ทศกัณฐ์, หนุมาน, พิเภก |
บุตร | องคต, อินทรชิต, นางสีดา, ทศพิน |
สีกาย | ขาว |
ประวัติ
แก้อดีตชาตินางกบ
แก้อดีตชาติของนางมณโฑเป็นกบที่อาศัยใกล้อยู่กับอาศรมของ 4 ฤๅษี คือ ตันตา, วชิรา, วิสูต และมหาโรมสิงค์ ซึ่งทุกเช้าจะมีนางโคห้าร้อยตัวมาหยดน้ำนมลงในอ่างให้ฤๅษีดื่มกิน วันหนึ่ง ฤๅษีได้ไปพบกับนางนาคอนงค์กำลังสมสู่กับงูดิน รู้สึกรับไม่ได้ที่วงศ์นาคต้องมาสมสู่กับงูดินต่ำช้า เอาไม้เท้าเคาะที่กลางหลัง นางนาคตกใจและอับอายหนีหายเข้าเมืองบาดาล และหมายฆ่าพระฤๅษีด้วยกลัวความล่วงรู้ถึงท้าวพญานาคราชผู้เป็นบิดา
นางนาคอนงค์แอบมาคายพิษไว้ในอ่างน้ำนมหน้าอาศรม นางกบเห็นเข้าจึงสละชีวิตของนางเพื่อรับพิษนาคไว้โดยกระโดดลงสู่บ่อน้ำนม เมื่อพระฤๅษีมาเห็นอ่างน้ำนมที่มีกบลอยตายก็เกิดความรังเกียจฉันไม่ลง แต่ด้วยความเมตตาที่มีอยู่ในวิสัยของฤๅษีจึงบันดาลให้ชีวิตนางกบให้ฟื้นคืนมา แล้วก็ได้ทราบความจริงจากนางกบว่ามีนางนาคมาคายพิษใส่อ่างน้ำนม ฤๅษีทั้งสี่จึงตอบแทนความดีของนางกบโดยชุบชีวิตให้กลายเป็นหญิงสาว และ "..ให้นามตามชาตินงคราญ ชื่อมณโฑเยาวมาลย์มารศรี" หญิงงามที่ไม่มีใครจะเปรียบได้
ชาตินางฟ้า
แก้พระฤๅษีได้นำนางมณโฑไปถวายตัวแก่พระอิศวรบรมเทพ พระอิศวรรับนางมณโฑไว้เป็นนางกำนัลของพระอุมาเทวี ต่อมาในครั้งที่เขาพระสุเมรุเกิดทรุดเอียงจากการที่ยักษ์วิรูฬหกถอดสังวาลนาคขว้างใส่ตุ๊กแกสารภู พระอิศวรประกาศว่าหากผู้ใดยกเขาพระสุเมรุคืนดังเดิมจะบำเหน็จรางวัลตามที่ขอ แต่ก็หาได้มียักษ์หรือเทวดาตนใดสามารถยกเขาพระสุเมรุกลับมาตั้งตรงดังเดิมได้ พระอิศวรจึงนึกถึงทศกัณฑ์ผู้มียี่สิบมือ ทศกัณฑ์รับบัญชาพระอิศวรเข้าช่วยประคองเขาพระสุเมรุให้ตั้งตรงดังเดิม ทศกัณฑ์ได้ทูลขอพระอุมาเทวีไปเป็นอัครมเหสี พระอิศวรรับฟังดังนั้นก็สะดุ้งพลางดำริว่า "ชิชะไอ้ทศกัณฐ์บังอาจนัก ใฝ่สูงจนเกินศักดิ์" แต่ด้วยทรงออกปากไว้ไปแล้วจึงทรงจำยอมยกพระอุมาเทวีให้ทศกัณฑ์ ด้วยดำริว่าทศกัณฑ์ไม่มีฤทธิพอจะพาพระอุมาเทวีไปได้ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น
ทศกัณฑ์พาพระอุมาเทวีเหาะไปได้เมื่อเท่าไหร่ก็ทนร้อนไม่ไหวต้องพาลงเดิน ความนี้ทราบถึงพระนารายณ์จึงแปลงกายเป็นยักษ์แก่ที่ปลูกต้นไม้เอาปลายลงดินเอารากชี้ฟ้าคอยดักรอทศกัณฑ์ เมื่อทศกัณฑ์ผ่านมาก็กล่าวด่าว่ายักษ์แก่ตนนี้โง่ ปลูกต้นไม้เอารากชี้ฟ้า แต่ยักษ์แก่ก็ตอบทศกัณฑ์ว่าตัวท่านนั้นโง่กว่าด้วยนางดี ๆ มีไม่เอามา แต่กลับเอาสตรีที่เป็นพระกาฬต่อญาติวงศ์พงศายักษ์ให้สูญสิ้นทั่งกรุงลงกา ทศกัณฑ์คิดแล้วก็จริงดังว่าด้วยพระอุมาเทวีกายร้อนดั่งไฟ ถึงถามยักษ์แก่ว่านางดี ๆ ที่ว่าคือใคร ยักษ์แก่จึงตอบว่านางมณโฑยังไงเล่า งามเลิศฟ้า ผิวพักตร์ผ่องเพียงดวงจันทร์ ทศกัณฐ์จึงกลับไปเปลี่ยนรับตัวนางมณโฑมาแทน
สวามีและโอรสธิดา
แก้นางมณโฑเทวีเป็นมเหสีเอก ของท้าวทศกัณฐ์ มีบุตร 3 องค์ คือ อินทรชิต ยุพราชกรุงลงกา นางสีดา มเหสีของพระราม และทศพิน (ไพนาสุริยวงศ์) กษัตริย์กรุงลงกาองค์ที่ 5 นอกจากนี้จากการที่นางมณโฑเคยถูกพาลีชิงไปจากทศกัณฐ์ก่อนที่จะได้เป็นมเหสีของทศกัณฐ์ ทำให้นางมีโอรสกับพาลีอีกหนึ่ง คือ องคต และนางเคยถูกหนุมานเกี้ยวพาเพื่อทำลายพิธีปรุงน้ำทิพย์ให้ทศกัณฐ์ อีกทั้ง เมื่อสิ้นทศกัณฐ์แล้ว นางถูกยกให้เป็นมเหสีของพิเภก
บทชมโฉม
แก้เดชะพระเวทสิทธิศักดิ์ พระวิษณุรักษ์รังสรรค์
เกิดเป็นกัลยาวิลาวัณย์ งามวิจิตรพิศพรรณขวัญตา
งามพักตร์ยิ่งชั้นมหาราช งามวิลาสล้ำนางในดึงสา
งามเนตรยิ่งเนตรในยามา งามนาสิกล้ำในดุษฎี
งามโอษฐ์งามกรรณงามปราง ยิ่งนางในนิมาราศี
งามเกศยิ่งเกศกัลยาณี อันมีในชั้นนิรมิต
ทั้งหกห้องฟ้าหาไม่ได้ ด้วยทรงวิไลลักษณ์ไพจิตร
ใครเห็นเป็นที่เพ่งพิศ ทั้งไตรภพจบทิศไม่เทียมทัน
พยัญชนะ ฑ
แก้พยัญชนะ ฑ ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปนางรำเนื่องจากในโขนรามเกียรติ์นางมณโฑมารำ จึงทำให้มีสัญลักษณ์นางรำ