ธัชวิทยา ([ทัดชะวิดทะยา]; อังกฤษ: vexillology) คือวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับธง[1] ชื่อวิชา Vexillology เริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2500 โดย วิทนีย์ สมิท

ธงของ Fédération internationale des associations vexillologiques.
ดร.วิทนีย์ สมิท ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยธง และบรรณาธิการ Flag Bulletin ผู้ตั้งชื่อ "Vexillology" เมื่อ พ.ศ. 2500

ผู้แต่งหนังสือเรื่อง ธง และบทความเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับธง ในช่วงแรกยังนับเป็นสาขาย่อยของ"วิชาการผูกตราสัญลักษณ์" (heraldry) ซึ่งบางครั้งก็ยังถือว่าเป็นดังนั้นอยู่ นอกจากนี้ก็ยังอาจถือว่าเป็นสาขาของวิชา สัญญาณศาสตร์ (semiotics) วิชานี้ได้มีการนิยามไว้ในข้อบังคับของ สหพันธ์ธัชวิทยานานาชาติ - FIAV (Fédération internationale des associations vexillologiques) ว่าเป็น "การสร้างสรรค์และพัฒนาการว่าด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับธงทุกประเภท ทุกรูปแบบ ทุกหน้าที่ใช้สอย และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และหลักการที่เป็นพื้นฐานแห่งความรู้นี้" บุคคลผู้ศึกษาเกี่ยวกับธงเรียกว่า "นักธัชวิทยา" (vexillologist) และเรียกผู้ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบธงหรือนักออกแบบธง เป็นภาษาอังกฤษว่า vexillographer

ในคำภาษาอังกฤษ Vexillology ได้มาจากการสังเคราะห์คำภาษาละติน vexillum และ หน่วยคำเติมหลัง –ology ที่แปลว่า "การศึกษาว่าด้วย..." สำหรับ vexillum หมายถึงธงประจำกองทหารโรมันในยุคคลาสสิก ธงสมัยนั้นต่างกันธงปัจจุบันตรงที่ธงปัจจุบันใช้ผูกกับเสาทางดิ่ง ส่วนธง vexillum เป็นผืนสี่เหลี่ยมจตุรัสแขวนอยู่กับแขนกางเขนทางนอนที่ยึดกับปลายหอก

นักธัชวิทยารวมตัวกันในระดับนานาชาติจัดประชุมด้านธัชวิทยา (ICV - International Concress of Vexillology) ทุกๆ สองปี เมื่อ พ.ศ. 2550 จัดประชุมกันที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี สำหรับปี พ.ศ. 2552 มีกำหนดให้จัดที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น สำหรับกิจกรรมในอินเทอร์เน็ต FIAV มีเว็บไซต์เกี่ยวกับ "ธงในโลกนี้" คือ FOTW Official Flag สำหรับให้ผู้มีความสนใจเข้าศึกษา

หลักการออกแบบธง แก้

การออกแบบธง สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีการหลายอย่างที่สืบเนื่องมาจากข้อห่วงใยเชิงปฏิบัติ สภาวะทางประวัติศาสตร์และกฎเกณฑ์ทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาธงมาแต่อดีต และจะยังคงมีผลต่อวิวัฒนาการของธงต่อไปในอนาคตด้วย

ประการแรก ประเด็นปัญหาสำคัญที่นักออกแบบธงประสบคือการออกแบบที่จะต้องนำไปผลิต ซึ่งมักผลิตเป็นจำนวนมากและมักใช้ผ้าเป็นวัตถุดิบและต้องนำไปใช้แขวนภายนอกอาคารเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานหรือองค์การ ของส่วนบุคคลหรืออื่นๆ ในแง่นี้ จะเห็นว่าการออกแบบธงเสมือนการแตกสาขาออกมากจากการออกแบบตราสัญลักษณ์หรือ "โลโก" ซึ่งโลโกส่วนใหญ่เป็นเพียงตราที่อยู่นิ่งในหนังสือ จอ หรือป้ายโฆษณา ส่วนธงต้องนำไปแขวนประดับและโบกพริ้วไปมาที่มองจากระยะและทิศทางต่างๆ ที่หลากหลายกว่ามาก การใช้สีและรูปร่างที่ง่ายและเด่นชัดจึงเป็นหัวใจสำคัญในเชิงการใช้งานจริง

การออกแบบธงเป็นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกันเนื่องจากธงมักมีความหมายโยงไปถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในอดีต รูปแบบเดิม ความหมายและการใช้งานดั้งเดิม ความละเอียดอ่อนซับซ้อน กลุ่มประเภทของธงปัจจุบันอาจสืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษร่วมเพียงไม่กี่สาย เช่นในกรณีของ "สีพันธมิตรอัฟริกัน" (Pan-African colors) "สีพันธมิตรอาหรับ" (Pan-Arab colors) "สีพันธมิตรสลาวิก" (Pan-Slavic colors)และ "ธงชาติที่ได้แรงบันดาลในจากธงชาติตุรกี" (national flags inspired by the flag of Turkey) เป็นต้น

 
ประเทศที่ใช้สีพันธ์มิตร 1.สีน้ำตาล คือประเทศใช้สีพันธ์มิตรอาหรับ 2.สีม่วงอ่อน คือประเทศใช้สีพันธ์มิตรแอฟริกัน 3.สีเขียวเข้ม คือประเทศใช้สีพันธ์มิตรอิหร่าน 4.สีกรมท่า คือประเทศใช้สีพันธ์มิตรสลาฟ

ในบางวัฒนธรรมจะมีการกำหนดการออกแบบธงไว้ตายตัว โดยการอยู่ในกรอบของตราสัญลักษณ์ประจำตระกูล (heraldic) หรือเป็นไปตามกฎระเบียบที่มีวางไว้ตายตัว ในกรณีเฉพาะบางกรณี การออกแบบอาจกำหนดมาจากหลักการทางศาสนา ตัวอย่างเช่น ธงอิสลาม (Islamic flags) และในฐานะเป็นสาขาวิชาหนึ่ง ธัชวิทยาได้เริ่มส่งเสริมให้มีการกำหนดหลักการการออกแบบที่ได้จากงานวิจัยทางประวัติศาสตร์และการออกแบบธง ตัวอย่างสำคัญได้แก่ "หลักการออกแบบธงดีและธงเลวของเท็ด เคย์" (Ted Kaye's five Good Flag, Bad Flag principles) ซึ่งตีพิมพ์และได้รับการรับรองจากสมาคมธัชวิทยาภาคอเมริกาเหนือ (North American Vexillological Association) ดังนี้

  1. ทำให้เรียบง่าย: ธงควรเรียบง่ายในระดับที่เด็กสามารถเขียนได้จากความจำ
  2. ใช้สัญลักษณ์ที่ให้ความหมาย: ภาพลักษณ์ สี หรือลวดลายของธงควรสัมพันธ์กับความหมายของสัญลักษณ์
  3. ใช้สีพื้นฐาน 2-3 สี: จำกัดจำนวนสีที่ใช้กับผืนธงไว้ที่ 3 สี และเป็นสีที่มีความเปรียบต่างชัดที่ได้มาจากชุดสีมาตรฐาน
  4. ไม่ใช้ตัวอักษรหรือตรา: ไม่พึงใช้ตัวหนังสือเขียนไม่ว่าในภาษาใดและไม่พึงใส่ตราขององค์การใดๆ
  5. มีความโดดเด่น หรือ มีความเกี่ยวพันสูง: หลีกเลี่ยงการซ้ำซ้อนหรือคล้ายคลึงกับธงอื่น แต่จงใช้ความคล้ายเพื่อแสดงความเกี่ยวข้องกันเท่านั้น

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Smith, Whitney. Flags Through the Ages and Across the World New York: McGraw-Hill, 1975. Print.

บรรณานุกรม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้