โบสถ์ยิว

ศาสนสถานของศาสนายูดาย
(เปลี่ยนทางจาก ธรรมศาลายิว)

ในศาสนายูดาห์ ธรรมศาลา[1] (ศัพท์โปรเตสแตนต์) หรือ ศาลาธรรม[2] (ศัพท์โรมันคาทอลิก) หรือ โบสถ์ยิว[3], สุเหร่ายิว[4] (อังกฤษ: synagogue; กรีก: συναγωγή; หมายถึง การชุมนุมหรือรวมตัว) เป็นศาสนสถานที่ใช้รวมกลุ่มกันทำการอธิษฐาน ทว่าสำหรับชาวยิวแล้ว พวกเขาไม่จำเป็นต้องไปธรรมศาลาเพื่อประกอบพิธี หากรวมตัวได้ครบองค์ประชุม (Quorum) ที่ประกอบด้วยผู้ชายที่บรรลุนิติภาวะแล้วจำนวนสิบคน เรียกว่า "องค์คณะสิบ" หรือ "มินยัน" (Minyan) ก็สามารถประกอบพิธีได้

โบสถ์ยิวใหญ่ เมืองเปิลเซน ประเทศเช็กเกีย

เมื่อก่อนไม่อนุญาตให้สตรีเป็นหนึ่งในองค์คณะสิบ แต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2001, ยิวอนุรักษ์นิกายอนุญาตให้สตรีเป็นหนึ่งในคณะมินยันได้[5]

ในชุมชนยิวปัจจุบัน ธรรมศาลาไม่ได้มีไว้สำหรับพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น เช่น สถานที่จัดเลี้ยง โรงเรียนสอนศาสนา ห้องสมุด ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเวลากลางวัน และครัวโคเชอร์ (Kosher) ตามหลักมาตรฐานอาหารยิว

ประวัติของคำ แก้

ชาวอิสราเอลจะเรียกธรรมศาลายิวโดยใช้ภาษาฮีบรูว่า "bet knesset" หมายถึงสถานที่ชุมนุม ในขณะที่ชาวยิวอัชเคนาซิจะใช้ศัพท์ภาษายิดดิช ว่า "shul" ที่มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า Schule ในภาษาเยอรมัน แปลว่าโรงเรียน ส่วนชาวยิวในสเปนหรือโปรตุเกสจะเรียกธรรมศาลาว่า "esnoga" ส่วนชาวยิวเปอร์เซียและคาไรต์จะใช้คำว่า "kenesa" ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาแอราเมอิก ในขณะที่ชาวยิวที่พูดภาษาอาหรับจะเรียกธรรมศาลาว่า "knis"

ชาวยิวนิกายปฏิรูปและนิกายอนุรักษ์บางคนจะใช้คำว่า "temple"[6] คำว่า "synagogue" ในภาษากรีกดูจะครอบคลุมความหมายได้ทั้งหมด[7] และยังใช้ในภาษาอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศสด้วย

ประวัติ แก้

 
พลับพลาจำลองในทิมนาพาร์ก ประเทศอิสราเอล

แรกเริ่มเดิมที บรรพบุรุษของชาวยิวไม่เคยมีการสร้างโบสถ์หรือศาสนสถาน เวลาต้องการทำพิธีกรรมทางศาสนา ชาวฮีบรูจะรวมตัวกันใน "พลับพลา" หรือกระโจมนัดพบ (Tent of Meeting) ซึ่งภายในประดิษฐาน "หีบแห่งพันธสัญญา" ซึ่งภายในบรรจุแผ่นหินสองแผ่นที่จารึกบัญญัติ 10 ประการ

สมัยก่อน ไม่ว่าชาวยิวจะเดินทางไปที่แห่งหนใด พวกเขาจะแบกหีบดังกล่าวไปด้วยเสมอ เสมือนมีพระเจ้าใกล้ตัว ที่นอกจากทำให้อุ่นใจแล้ว ยังเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้ทำบาปด้วย คราใดที่หยุดพัก ชาวฮีบรูจะตั้งพลับพลาสำหรับหีบพันธสัญญา ที่แยกต่างหากจากที่พัก เพื่อใช้เป็นที่นัดพบและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนสวดมนต์ร่วมกัน

ในพระคัมภีร์กล่าวว่า พระเจ้าซาโลมอน กษัตริย์แห่งอิสราเอล เป็นผู้สร้างพระวิหารซาโลมอน (Solomon's Temple) ณ กรุงเยรูซาเล็ม ที่ถือกันว่าเป็นพระวิหารแห่งเยรูซาเล็มหลังแรก (The First Temple) ลักษณะคล้ายวิหารคานาอัน

หลังจากพระวิหารโซโลมอนถูกทำลาย ชาวยิวเริ่มสร้างสถานชุมนุมและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามแบบฉบับของตัวเอง และเรียกขานว่าเป็น "สถานที่นมัสการ"[8]

อิทธิพลของศาสนายูดาห์ในสมัยเฮเลนนิสติค แก้

คำว่า "synagogue" มาจากภาษากรีกคอยเน (Koine Greek) ที่ใช้กันในหมู่ชาวยิวเฮเลนนิสติกทั่วยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (มาซิโดเนีย เทรซ และทางตอนเหนือของกรีซ) รวมถึงฝั่งตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ ลูกหลานของชาวยิวเฮเลนนิสติกที่อาศัยอยู่บนเกาะกรีก ซิลิเซีย อิสราเอลทางตอนเหนือ ซีเรียตะวันตกเฉียงเหนือและซีเรียตะวันออก ได้ร่วมกันสร้างธรรมศาลาขึ้นมาหลายแห่ง ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นธรรมศาลาแห่งเดลอส (Delos Synagogue) และธรรมศาลาที่สร้างในเมืองแอนติออก อเล็กซานเดร็ตตา กาลิลี และดูร่า-ยูโรโปส

ทว่าเพราะในธรรมศาลาสมัยนั้นประดับประดาด้วยรูปปั้นของเทพปกรณัมกรีก และรูปเคารพตามคัมภีร์ไบเบิล ในช่วงแรกๆ จึงมักถูกเข้าใจผิด คิดว่าเป็นวิหารกรีก หรือโบสถ์ของกรีกนิกายออร์ธอด็อกซ์ และเมื่อสิ้นสุดยุคของพระวิหารที่สอง (Second Temple Era) นักบวชยิว ราไบ โยคานัน เบน ซาคาอิ (Yochanan ben Zakai) จึงมีดำริให้มีการสร้างธรรมศาลาขึ้นในทุกแห่งที่ชาวยิวอยู่รวมกันเป็นชุมชน

อ้างอิง แก้

  1. พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011. กรุงเทพฯ : สมาคมพระคริสตธรรมไทย, 2011. 2,695 หน้า. ISBN 978-616-721-871-7
  2. พระคัมภีร์คาทอลิก ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกพระคัมภีร์, 2014. 2495 หน้า. ISBN 978-616-361-361-5
  3. https://dictionary.sanook.com/search/dict-en-th-lexitron/synagogue
  4. https://dict.longdo.com/search/synagogue
  5. [[https://web.archive.org/web/20150921024354/http://www.jewishchronicle.org/article.php?article_id=291 เก็บถาวร 2015-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Women can count in minyans, lead services at Beth Israel]]
  6. ตัวอย่างการใช้คำว่า temple ในศาสนายิว
  7. "Judaism 101: Synagogues, Shuls and Temples". Jewfaq.org.
  8. "DF404 ศาสนศึกษา บทที่ 11 ศาสนายิว". สถานที่ทำพิธีกรรมและนักบวช. หนังสือเรียน+สื่อประกอบการเรียน มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-18. สืบค้นเมื่อ 2013-02-21.