ซาโลมอน
ซาโลมอน[3][4][5] (ศัพท์คริสต์ศาสนา) หรือ โซโลมอน (ศัพท์ประวัติศาสตร์) (ละติน: Solomon; ฮีบรู: שְׁלֹמֹה) มาจากราก S-L-M ที่แปลว่า ความสงบ ในอิสลามว่า สุลัยมาน[6] หรือตามฉายาคือ ซาโลมอนผู้ทรงปัญญา ชื่ออีกชื่อหนึ่งที่ใช้ในคัมภีร์ฮีบรูคือ เจดิดิอา (ฮีบรู: יְדִידְיָהּ) เป็นกษัตริย์องค์ที่สามแห่งอิสราเอล ปรากฏในทานัคของศาสนายูดาห์ คัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมของศาสนาคริสต์ และในอัลกุรอานของศาสนาอิสลาม คัมภีร์กล่าวว่ากษัตริย์ซาโลมอนเป็นพระโอรสของดาวิด[7] และกล่าวว่าเป็นกษัตริย์องค์ที่สามและองค์สุดท้ายของสหราชอาณาจักรชาวยิวก่อนที่จะแตกเป็นราชอาณาจักรอิสราเอลทางเหนือและราชอาณาจักรยูดาห์ทางใต้ ซึ่งหลังจากการแตกประเทศ ผู้ที่สืบเชื้อสายซาโลมอนก็ปกครองแต่เพียงราชอาณาจักรยูดาห์เท่านั้นเอง
ซาโลมอน | |
---|---|
กษัตริย์แห่งอิสราเอล | |
![]() การพิพากษาของซาโลมอน วาดโดย เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ | |
ครองราชย์ | c. 970–931 ก่อนค.ศ. |
ก่อนหน้า | ดาวิด |
ถัดไป | เยโรโบอัม (อาณาจักรเหนือ) เรโหโบอัม (อาณาจักรใต้) |
พระราชสมภพ | 1010 ปีก่อนค.ศ. เยรูซาเลม |
สวรรคต | 931 ปีก่อนค.ศ. เยรูซาเลม |
ชายา | พระนางนามา ธิดาฟาโรห์ สนม 700 นาง[1][2] |
พระราชบุตร | เรโหโบอัม |
ราชสกุล | ราชวงศ์ดาวิด |
พระราชบิดา | ดาวิด |
พระราชมารดา | บัทเชบา |
พระคัมภีร์กล่าวว่าพระเจ้าซาโลมอนเป็นผู้สร้างวิหารแห่งซาโลมอน[8] ในกรุงเยรูซาเลมที่ถือกันว่าเป็นพระวิหารแห่งเยรูซาเลมหลังแรก[7] และเป็นผู้มีความฉลาด มั่งคั่ง และอำนาจอย่างมากในยุคนั้น
ในพระคัมภีร์ แก้
ซาโลมอนประสูติในกรุงเยรูซาเลม[9] เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ของกษัตริย์ดาวิดที่ประสูติแด่พระนางบัทเชบา ส่วนพระราชโอรสองค์แรกนั้นสิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้ว มีพระเชษฐาและพระอนุชาร่วมพระราชบิดามารดาอยู่สามองค์ คือ ชิเมอา, โชบับ และนาธัน[10] และซาโลมอนทรงมีพระเชษฐาต่างมารดาอยู่ 6 องค์
เหตุแย่งชิงบัลลังก์ แก้
หนังสือพงศ์กษัตริย์เล่ม 1 ได้ระบุว่า "กษัตริย์ดาวิดมีพระชนมายุและทรงพระชรามากแล้ว แม้จะห่มผ้าให้หลายผืน พระองค์ก็ยังไม่อบอุ่น"[11] ดังนั้นบรรดาข้าราชสำนักจึงต้องเสาะแสวงหาสาวงามพรหมจารีทั่วทั้งดินแดนอิสราเอล ซึ่งได้พบกับหญิงชาวชูเนมนามว่า อาบีชาก [12] ซึ่งนางคอยปรนนิบัติพระองค์โดยที่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กัน เมื่อกษัตริย์ดาวิดทรงอยู่ในสภาพเช่นนี้จึงทำให้เกิดการชิงอำนาจขึ้นในราชสำนัก เจ้าชายอาโดนียาห์ซึ่งประสูติแด่พระนางฮักกีทได้ประกาศตนขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ แต่ก็แพ้แก่กลอุบายของพระนางบัทเชบาและนาธันผู้เผยพระวจนะ ซึ่งได้โน้มน้าวให้กษัตริย์ดาวิดทรงประกาศให้เจ้าชายซาโลมอนเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ตามที่เคยปฏิญาณต่อพระยาเวห์ ถึงแม้ว่าซาโลมอนจะไม่ใช่โอรสองค์ใหญ่ก็ตาม
ซาโลมอนสืบราชสมบัติ แก้
ซาโลมอนได้ขึ้นครองราชย์ตามพระบัญชาของกษัตริย์ดาวิด หลังครองราชย์แล้วซาโลมอนก็เริ่มกำจัดฝ่ายตรงข้าม ทั้งประหารเจ้าชายอาโดนียาห์, ประหารแม่ทัพโยอาบคนสนิทของพระบิดา, ขับไล่ปุโรหิตอาบียาธาร์ ฯลฯ ซาโลมอนแต่งตั้งให้เพื่อนฝูงญาติมิตรมีอำนาจในราชสำนัก ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร กองทัพของซาโลมอนมีความเข้มแข็งขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะกองทหารม้าและกองรถม้า พระองค์ได้จัดตั้งนิคมขึ้นจำนวนหลายแห่งทั้งนิคมการค้าและค่ายทหาร หลังครองราชย์ได้สี่ปีพระองค์ก็ได้สร้างวิหารหลังแรกขึ้นคือวิหารแห่งซาโลมอน การค้าขายระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างรุ่งเรืองในรัชสมัยพระองค์ พระองค์ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นกษัตริย์อิสราเอลที่มั่งคั่งที่สุดที่ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์
สติปัญญาจากพระเจ้า แก้
ซาโลมอนเป็นบุคคลที่ทรงพระสติปัญญาที่สุดในพระคัมภีร์ ในหนังสือพงศ์กษัตริย์ฉบับ 1 ซาโลมอนได้ทรงอุทิศพระองค์เองต่อพระยาเวห์และทูลขอพระสติปัญญา พระยาเวห์ทรงตอบรับคำอธิษฐานของพระองค์ ทรงให้สัญญาแก่ซาโลมอนว่าจะประทานสติปัญญาชั้นเลิศที่สุดแก่ซาโลมอน เนื่องจากพระองค์ไม่ได้ทูลขอสิ่งที่เห็นแก่ตัวอย่างความเป็นอมตะหรือความพินาศของอริศัตรู
เรื่องราวที่มีชื่อเสียงที่สุดในด้านพระสติปัญญาของซาโลมอนคือคำพิพากษาของซาโลมอน เป็นคดีที่มีสตรีสองคนอ้างสิทธิว่าเป็นแม่ที่แท้จริงของเด็กทารกคนหนึ่งและขอให้ซาโลมอนทรงตัดสิน ซาโลมอนพิพากษาคดีอย่างง่าย ๆ โดยให้ตัดเด็กทารกออกเป็นสองส่วนแบ่งให้สตรีผู้กล่าวอ้างทั้งสองคนเสีย ทันใดนั้นมีสตรีคนหนึ่งยอมถอนตัวทันที เธอกล่าวว่าเธอขอยอมแพ้เสียดีกว่าให้เด็กถูกฆ่าตาย เมื่อได้ยินเช่นนั้นซาโลมอนจึงประกาศให้สตรีผู้ที่ถอนตัวเป็นแม่ของเด็กทารก
สติปัญญาของซาโลมอนนั้นเป็นที่เลื่องลือไปในอาณาจักรมากมาย นั่นเองทำให้ชาวต่างประเทศมากมายต่าง "...แสวงหาที่จะเข้าเฝ้าซาโลมอน เพื่อจะฟังพระสติปัญญาซึ่งพระเจ้าประทานไว้ในพระทัยของพระองค์ ทุกคนก็นำเครื่องบรรณาการของเขามา คือภาชนะเงินและภาชนะทอง เสื้อผ้า อาวุธ เครื่องเทศ ม้าและล่อ ตามจำนวนกำหนดทุก ๆ ปี"[13]
ชายาและบาทบริจาริกา แก้
คัมภีร์ไบเบิลระบุว่า ซาโลมอนมีชายา 700 องค์และบริจาริกาอีก 300 นาง บรรดาชายาล้วนเป็นพระราชธิดาจากต่างอาณาจักร อาทิ ธิดาของฟาโรห์แห่งอียิปต์, ธิดาแห่งอาณาจักรอัมโมน, ธิดาแห่งอาณาจักรโมอับ ฯลฯ ในพระคัมภีร์ยังบันทึกไว้อีกว่า กษัตริย์ซาโลมอนได้หลงชายาต่างชาติจนยินยอมให้ชายาทั้งหลายนับถือเทพเจ้าของอาณาจักรตนเอง ยอมให้สร้างวิหารของเทพเจ้าของศาสนาอื่นในอาณาจักรของพระองค์ การกระทำเช่นนี้ของซาโลมอนทำให้พระยาเวห์ทรงกริ้ว[14] กลายเป็นปฐมเหตุที่พระยาเวห์เอาพระทัยออกห่างอิสราเอล พระยาเวห์เริ่มแผนการจะทำลายอิสราเอลโดยการยืมมือของอาณาจักรศัตรูของอิสราเอล
ซาโลมอนสวรรคต อิสราเอลแตกเป็นเหนือ-ใต้ แก้
ในคัมภีร์ฮีบรูระบุว่า ซาโลมอนเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชอาณาจักรอิสราเอล เสด็จสวรรคตด้วยโรคชราเมื่อมีพระชนม์ราว 80 ปี หลังซาโลมอนสวรรคต เจ้าชายเรโหโบอัมก็ได้สืบบัลลังก์ต่อจากพระบิดาในกรุงเยรูซาเลม อย่างไรก็ตาม สิบสองชนเผ่าอิสราเอลกลับไม่ยอมรับเรโหโบอัมเป็นกษัตริย์และประกาศแยกประเทศอยู่ทางเหนือ โดยให้เยโรโบอัมจากเผ่าเอฟราอิมเป็นกษัตริย์ ประเทศอิสราเอลจึงแตกออกเป็นเหนือ-ใต้
- อิสราเอลเหนือเรียกว่า "อาณาจักรอิสราเอล" มีเมืองหลวงอยู่ที่ซามาเรีย มีเยโรโบอัมเป็นกษัตริย์
- อิสราเอลใต้ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเรียกว่า "อาณาจักรยูดาห์" มีเมืองหลวงอยู่ที่เยรูซาเลม มีเรโหโบอัมเป็นกษัตริย์
พระราชทรัพย์ แก้
ในคัมภีร์ฮีบรูระบุว่าราชสำนักอิสราเอลมีความมั่งคั่งที่สุดในปีที่ 40 ในรัชกาลของซาโลมอน ในแต่ละปีต่างมีชาวต่างประเทศมากมายหวังเข้าเฝ้าเพื่อถวายเครื่องบรรณาการแก่ซาโลมอน ดังปรากฏความว่า "น้ำหนักของทองคำที่นำมาถวายซาโลมอนในปีหนึ่งนั้นเป็นทองคำหนักถึง 23,000 กิโลกรัม...ถ้วยทั้งสิ้นของพระราชาซาโลมอนทำด้วยทองคำ และภาชนะทั้งสิ้นของพระตำหนักพนาเลบานอนทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ ไม่มีที่ทำด้วยเงินเลย เงินนั้นถือว่าเป็นของไม่มีค่าอะไรในสมัยของซาโลมอน"[15] นอกจากนี้ซาโลมอนยังมีกองเรือของตนเองซึ่งจะนำทรัพย์สินเข้ามาถวายปีละสามหน
ตำนาน แก้
ดวงตราแห่งซาโลมอน แก้
ซาโลมอนมีแหวนมนตราวงหนึ่งที่เรียกว่า ดวงตราแห่งซาโลมอน (Seal of Solomon) เชื่อกันว่าซาโลมอนได้รับมอบแหวนวงนี้และมีอำนาจเหนือญินและปิศาจ กล่าวกันว่าสัญลักษณ์มนตราบนแหวนเป็นสัญลักษณ์เดียวกับ ดาราแห่งดาวิด (บ้างเรียก โล่แห่งดาวิด) แม้ว่าดาราแห่งดาวิดจะเป็นสัญลักษณ์ของศาสนายูดาห์ซึ่งเริ่มปรากฏในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ถึง 4 ก็ตาม บันทึกของรับบีระบุว่า ครั้งหนึ่งราชาแห่งเหล่ามารแอสโมเดียส (Asmodeus) ถูกจับกุมโดยเบไนอา (Benaiah) ที่สวมแหวนอยู่ และถูกบังคับให้อยู่ใต้อาณัติของซาโลมอน
ในอีกตำนานระบุว่าแอสโมเดียสนำชายผู้หนึ่งซึ่งมีสองหัวขึ้นมาจากโลกบาดาลเพื่อให้ซาโลมอนทอดพระเนตร ชายผู้นั้นไม่สามารถกลับไปโลกบาดาลได้ จึงได้อยู่กินกับสตรีนางหนึ่งในกรุงเยรูซาเลม และมีลูกชายด้วยกันเจ็ดคน หกในจำนวนเจ็ดคนนั้นมีลักษณะเช่นมารดา ส่วนอีกหนึ่งคนมีสองหัวเช่นบิดา เมื่อบิดาเสียชีวิต นายสองหัวได้เรียกร้องมรดกในส่วนสำหรับสองคน ซาโลมอนตัดสินว่านายสองหัวเป็นเพียงบุคคลเดียว
ดวงตราแห่งซาโลมอนเปรียบได้ดั่งแหวนแห่งอำนาจ ในหลายตำนานระบุว่า มีหลายกลุ่มคณะบุคคลเคยพยายามชิงหรือขโมยแหวนด้วยทางใดทางหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจมนตรา
วัตถุแห่งซาโลมอน แก้
อีกหนึ่งวัตถุมาตราหนึ่งของซาโลมอนคือโต๊ะและกุญแจแห่งซาโลมอน เป็นที่กล่าวว่าโต๊ะแห่งซาโลมอนตั้งอยู่ในเมืองโตเลโดในช่วงที่ชาววิซิกอทปกครอง ก่อนที่จะถูกชิงไปโดยนายทหารฝ่ายมุสลิมในช่วงอาณาจักรอุมัยยะฮ์พิชิตดินแดนไอบีเรีย[16] ส่วนกุญแจแห่งซาโลมอนปรากฏอยู่ในหนังสือที่ชื่อว่า กุญแจย่อยของซาโลมอน ซึ่งเป็นตำราไสยเวทมีโครงเรื่องที่ซาโลมอนจับกุมปิศาจต่างๆด้วยแหวน และบังคับให้ปิศาจพวกนั้นแนะนำชื่อเสียงเรียงนามแก่ตน
ในอิสลาม แก้
ท่านนบีสุลัยมาน (อ.ล.) เป็นบุตรของนบีดาวูด (อ.ล.) ท่านสืบทอดความเป็นนบี (นุบูวะฮฺ) และความเป็นกษัตริย์ต่อจากบิดาของท่าน ช่วงสมัยของนบีสุลัยมาน (อ.ล.) คือราว 1010-970 ก่อนคริสตกาล เรื่องราวของท่านถูกระบุเอาไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน 16 ที่ด้วยกัน ส่วนหนึ่งจากความพิเศษของท่านนบีสุลัยมาน (อ.ล.) คือ พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานความเฉลียวฉลาดและความถูกต้องแม่นยำในการตัดสินคดีความนับตั้งแต่ช่วงเยาว์วัยของท่าน
พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงสอนให้ท่านนบีสุลัยมาน (อ.ล.) รู้ภาษาของสัตว์บางชนิด เช่น นก และมด เป็นต้น พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงบันดาลให้มีตาน้ำทองแดงไหลออกมาแก่ท่านเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ , ให้หมู่ญินคอยบริการรับใช้ท่านในการสร้างเมียะหรอบ , รูปเหมือน และหม้อตลอดจนถาดขนาดใหญ่ , กองทัพของท่านประกอบไปด้วยญิน , มนุษย์และฝูงนก , ตลอดจนสายลมที่จะพัดไปตามบัญชาของท่านเป็นต้น
ในสมัยของท่านนบีสุลัยมาน (อ.ล.) กษัตริย์ฮิรอม แห่งเมืองไทร์ (ซู๊ร) ได้ส่งช่างฝีมือและวัสดุอุปกรณ์มาร่วมสร้างมัสยิดอัลอักศอ หรือที่เรียกกันว่า มหาวิหารของสุลัยมาน (โซโลมอน) และมีการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับอาณาจักรแห่งสะบะอฺ ของพระนางบิลกีซ , อาณาจักรยะฮูดาที่ท่านนบีสุลัยมาน (อ.ล.) ปกครองมีอาณาเขตครอบคลุมตั้งแต่อ่าว อะเกาะบะฮฺ (อัย-ละฮฺ) ปาเลสไตน์ จอร์แดนตะวันออก , เลบานอน , ซีเรีย จรดชาดฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส
والله أعلم بالصواب[17]
ดูเพิ่ม แก้
อ้างอิง แก้
- ↑ "In Our Time With Melvyn Bragg: King Solomon". UK: BBC Radio 4. 7 June 2012. สืบค้นเมื่อ 2012-06-10.
- ↑ Holy Bible. 1 Kings 11:1-3.
{{cite book}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help)CS1 maint: location (ลิงก์) - ↑ หนังสือพงศ์กษิตริย์ ฉบับที่ 1-2, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 1-2, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ หนังสือเพลงซาโลมอน, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ Kaplan, Aryeh (1989). The Bahir. p. 130. ISBN 0877286183.
- ↑ 7.0 7.1 Barton, George A. "Temple of Solomon". Jewish Encyclopedia. New York, NY.: Funk & Wagnalls. pp. 98–101. doi:10.1038/2151043a0. สืบค้นเมื่อ 2007-05-15.
- ↑ หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 2 3:1-14, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ 1 พงศาวดาร 14:4 ,พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ 1 พงศาวดาร 3:5 , พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ 1 พงศ์กษัตริย์ 1:1
- ↑ 1 พงศ์กษัตริย์ 1:3
- ↑ 1 พงศ์กษัตริย์ 10:24
- ↑ 1 พงศ์กษัตริย์ 11:6
- ↑ 1 พงศ์กษัตริย์ 10:21
- ↑ Ibn Abd-el-Hakem. History of the Conquest of Spain.
- ↑ "ประวัติโดยสรุปของนบีสุลัยมาน โดย อ. อะลี เสือสมิง".
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
แหล่งข้อมูลอื่น แก้
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระเจ้าซาโลมอน