การทำชู้

การร่วมประเวณีกับผู้อื่นโดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สมรส

การทำชู้ คือ การมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่มิใช่คู่สมรส ซึ่งถือกันว่า เป็นเรื่องน่าประณามตามเหตุผลทางสังคม ศาสนา ศีลธรรม หรือกฎหมาย แม้กิจกรรมทางเพศที่ถือเป็นการทำชู้ รวมถึงผลที่ตามมาในทางสังคม ศาสนา และกฎหมายนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม แต่แนวคิดเกี่ยวกับการทำชู้มีอยู่ในหลายวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นไปในทำนองเดียวกันในศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนายิว[1] โดยทั่วไปการร่วมประเวณีแม้ครั้งเดียวก็ถือกันว่า เพียงพอแล้วที่จะนับเป็นการทำชู้

ในภาษาไทยปัจจุบัน คำว่า ชู้ หมายถึง ชายที่มีความสัมพันธ์กับหญิงที่มิใช่คู่สมรส ดังนั้น ชายทำชู้ เรียกว่า เป็นชู้ หญิงทำชู้ เรียกว่า มีชู้[2] เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า "เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้ (1) สามีหรือภริยา...เป็นชู้หรือมีชู้"[3]

ในทางประวัติศาสตร์ หลาย ๆ วัฒนธรรมมองว่า การทำชู้เป็นอาชญากรรมร้ายแรงอย่างยิ่ง บางวัฒนธรรมก็กำหนดให้มีโทษทัณฑ์ร้ายแรง โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง และบางทีก็สำหรับผู้ชายด้วย โทษที่ลงนั้นก็เป็นต้นว่า ประหารชีวิต ตัดอวัยวะ หรือทรมาน[4] การลงโทษดังกล่าวค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ส่วนในบางประเทศที่การทำชู้ยังเป็นความผิดอาญาอยู่ โทษที่ลงก็มีปรับเงินไปจนถึงเฆี่ยนตี[5] แม้กระทั่งประหารชีวิตก็มี นอกจากนี้ นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา กฎหมายอาญาที่ให้ลงโทษการทำชู้นั้นกลายเป็นที่ถกเถียง ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่เลิกประกาศให้การทำชู้เป็นความผิดอาญา และองค์การระหว่างประเทศหลายองค์การก็เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายที่ประกาศให้การทำชู้เป็นความผิดอาญา โดยเฉพาะหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ลงโทษผู้ทำชู้ด้วยการปาหินให้ตายในหลาย ๆ ประเทศ[6] อย่างไรก็ดี แม้ในท้องที่ที่เลิกประกาศให้การทำชู้เป็นความผิดอาญาแล้ว การทำชู้ก็ยังมีผลบางประการในทางกฎหมาย โดยเฉพาะในท้องที่ที่ใช้กฎหมายว่าด้วยการหย่าที่อ้างอิงความประพฤติผิดของคู่สมรส ที่ซึ่งการทำชู้มักเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้ และอาจเป็นปัจจัยในการตกลงแบ่งทรัพย์สิน ตกลงเรื่องใช้อำนาจปกครองบุตร หรือปฏิเสธให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูด้วย

ปัจจุบัน ท้องที่ที่ประกาศให้การทำชู้เป็นความผิดอาญานั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ประชาชนโดยมากถือศาสนาอิสลาม อีกจำนวนหนึ่งเป็นประเทศแถบกึ่งซาฮาราแอฟริกาซึ่งประชาชนโดยมากถือศาสนาคริสต์ ที่เหลือ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และรัฐบางรัฐของสหรัฐ สำหรับประเทศมุสลิมที่ใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น ผู้ทำชู้อาจถูกลงโทษด้วยการปาหินให้ตาย[7] มีประเทศ 15 ประเทศที่ให้การปาหินเป็นการลงโทษที่ชอบด้วยกฎหมาย[8] แต่ในบรรดาประเทศเหล่านั้น มีเพียงอิหร่านกับโซมาเลียที่ยังปาหินกันอยู่[9]

อ้างอิง

แก้
  1. "Encyclopædia Britannica Online, "Adultery"". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ 12 July 2010.
  2. เพ็ญศรี สมุทรรัตน์ (2557). "อุทาหรณ์ก่อนทำผิด ชู้กับวินัย" (PDF). สำนักงาน ก.พ. กรุงเทพฯ: สำนักงาน ก.พ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2019-12-10. สืบค้นเมื่อ 2562-12-10. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์". ห้องสมุดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2560-04-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (html)เมื่อ 2020-07-05. สืบค้นเมื่อ 2562-12-10. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. The doctrine and law of marriage, adultery, and divorce ที่กูเกิล หนังสือ
  5. "Aceh woman, gang-raped by vigilantes for alleged adultery, now to be flogged". The Age. 6 May 2014.
  6. "IPS – Adultery Laws Unfairly Target Women, U.N. Says | Inter Press Service". Ipsnews.net. 24 October 2012. สืบค้นเมื่อ 28 September 2013.
  7. "Punishment for adultery in Islam". Religioustolerance.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-16. สืบค้นเมื่อ 26 February 2015.
  8. Thomson Reuters Foundation. "INFOGRAPHIC: Stoning - where is it legal?". Trust.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-27. สืบค้นเมื่อ 26 February 2015.
  9. Mic (16 October 2013). "Women Around the World Are Being Stoned to Death. Do You Know the Facts?". Mic. สืบค้นเมื่อ 26 February 2015.