มหาสมุทรอาร์กติก

มหาสมุทร
(เปลี่ยนทางจาก ทะเลอาร์กติก)

มหาสมุทรอาร์กติก (อังกฤษ: Arctic Ocean) ตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือ และส่วนใหญ่อยู่ในเขตขั้วโลกเหนืออาร์กติก เป็นมหาสมุทรขนาดเล็กที่สุดและตื้นเขินที่สุดในห้ามหาสมุทรตามการแบ่งมหาสมุทรหลักของโลก[1] องค์กรอุทกศาสตร์โลก (IHO) ยอมรับว่ามหาสมุทรอาร์กติกเป็นมหาสมุทร แม้นักอุทกศาสตร์บางคนจะเรียกบริเวณนี้ว่า ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอาร์กติก หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ทะเลอาร์กติก โดยจัดว่าบริเวณนี้เป็นหนึ่งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของมหาสมุทรแอตแลนติก[2] หรืออาจมองว่า เป็นส่วนเหนือสุดของมหาสมุทรโลกที่ล้อมรอบทั้งหมด

มหาสมุทรอาร์กติก
พิกัด90°N 0°E / 90°N 0°E / 90; 0
พื้นที่พื้นน้ำ14,056,000 ตารางกิโลเมตร (5,427,000 ตารางไมล์)
ความลึกโดยเฉลี่ย1,038 เมตร (3,406 ฟุต)
ความลึกสูงสุด5,450 เมตร (17,880 ฟุต)
ปริมาณน้ำ18,070,000 ลูกบาศก์กิโลเมตร (4,340,000 ลูกบาศก์ไมล์)
เกาะกรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์

มหาสมุทรอาร์กติกมีรูปร่างคล้ายวงกลม ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 14,056,000 ตารางกิโลเมตร (5,427,000 ตารางไมล์) เกือบเท่ากับขนาดของทวีปแอนตาร์กติกา[3][4] แนวชายฝั่งยาว 45,390 กิโลเมตร (28,200 ไมล์)[3][5] ล้อมรอบด้วยทวีปยุโรป, ทวีปเอเชีย, ทวีปอเมริกาเหนือ และกรีนแลนด์ รวมทั้งเกาะต่างๆ และทะเลแบเร็นตส์, ทะเลโบฟอร์ต, ทะเลชุกชี, ทะเลคารา, ทะเลลัปเตฟ, ทะเลไซบีเรียตะวันออก, ทะเลลิงคอล์น, ทะเลแวนเดล, ทะเลกรีนแลนด์ และทะเลนอร์เวย์ เชื่อมกับมหาสมุทรแปซิฟิกที่ช่องแคบเบริง และเชื่อมกับมหาสมุทรแอตแลนติกที่ทะเลกรีนแลนด์

มหาสมุทรอาร์กติกบางส่วนปกคลุมด้วยทะเลน้ำแข็งตลอดทั้งปีและเกือบทั้งมหาสมุทรในฤดูหนาว อุณหภูมิและความเค็มของมหาสมุทรอาร์กติกแตกต่างกันไปตามฤดูกาล เมื่อน้ำแข็งหลอมเหลวและแข็งตัว[6] ความเค็มของมหาสมุทรมีค่าเฉลี่ยต่ำสุดในมหาสมุทรหลักทั้งห้า เนื่องจากการระเหยที่ต่ำ กระแสไหลเข้าอย่างหนักของน้ำจืดจากแม่น้ำและลำธาร การเชื่อมโยงที่จำกัดและการไหลออกไปยังมหาสมุทรโดยรอบที่มีความเค็มสูงกว่า การหดตัวของน้ำแข็งในฤดูร้อนมีบันทึกว่าลดลงถึง 50%[1] ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติสหรัฐ (NSIDC) ใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อหาบันทึกประจำวันของน้ำแข็งที่ปกคลุมมหาสมุทรอาร์กติก และอัตราการหลอมเหลวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเฉลี่ยและปีที่ผ่านมา

สันลอมอนอซอฟ (Lomonosov ridge) ซึ่งเป็นสันมหาสมุทรที่อยู่ใต้ทะเล แบ่งมหาสมุทรอาร์กติกออกเป็น 2 ส่วน คือ แอ่งยูเรเชีย (เรียกบริเวณนี้ว่าแนนสัน - Nansen) มีความลึก 4,000-4,500 เมตร และแอ่งอเมริกาเหนือ (เรียกบริเวณนี้ว่าไฮเพอร์โบเรียน - Hyperborean) มีความลึกประมาณ 4,000 เมตร ความลึกเฉลี่ยของมหาสมุทรอาร์กติก คือ 1,038 เมตร (3,407 ฟุต)[7]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Michael Pidwirny (2006). "Introduction to the Oceans". www.physicalgeography.net. สืบค้นเมื่อ 2006-12-07.
  2. Tomczak, Matthias; Godfrey, J. Stuart (2003). Regional Oceanography: an Introduction (2 ed.). Delhi: Daya Publishing House. ISBN 81-7035-306-8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-30. สืบค้นเมื่อ 2011-12-17.
  3. 3.0 3.1 Wright, John W., บ.ก. (2006). The New York Times Almanac (2007 ed.). New York, New York: Penguin Books. p. 455. ISBN 0-14-303820-6.
  4. "Oceans of the World" (PDF). rst2.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-19. สืบค้นเมื่อ 2010-10-28.
  5. "Arctic Ocean Fast Facts". wwf.pandora.org (World Wildlife Foundation). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 October 2010. สืบค้นเมื่อ 2010-10-28.
  6. Some Thoughts on the Freezing and Melting of Sea Ice and Their Effects on the Ocean K. Aagaard and R. A. Woodgate, Polar Science Center, Applied Physics Laboratory University of Washington, January 2001. Retrieved 7 December 2006.
  7. "The Mariana Trench – Oceanography". www.marianatrench.com. 2003-04-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 December 2006. สืบค้นเมื่อ 2006-12-02.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Arctic Ocean