ทรงกลด ชื่นชูผล
ร้อยเอก ทรงกลด ชื่นชูผล นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอดีตนายทหารบกชาวไทย เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ ผู้กองปูเค็ม ซึ่งเป็นฉายาที่ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางทวิตเตอร์ส่วนตัวตั้งให้ เนื่องจากมีธุรกิจทำปูเค็มขาย ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว[1]
ทรงกลด ชื่นชูผล | |
---|---|
เกิด | 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 จังหวัดพิษณุโลก ประเทศไทย |
ชื่ออื่น | ผู้กองปูเค็ม |
อาชีพ | ทหารบก, ธุรกิจส่วนตัว |
มีชื่อเสียงจาก | ต่อต้านทักษิณ ชินวัตร |
ประวัติ
แก้ทรงกลด เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 ที่จังหวัดพิษณุโลก มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน ทุกคนต่างรับราชการทั้งหมด จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรุ่นที่ 102 (ส.ก.23887) , โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 26 (ต.ท.26), โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 37 (จ.ป.ร.37) เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เข้ารับราชการในกรมสรรพาวุธทหารบก ประจำจังหวัดพิษณุโลก รับหน้าที่ด้านซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ เนื่องจากศึกษามาโดยตรง รวมถึงเคยอยู่กองร้อยเดียวกันกับ ร่มเกล้า ธุวธรรม ด้วย[2]
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2540 ขณะที่ชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทรงกลด ได้ยื่นเรื่องต่อทางรัฐบาลด้วยการเรียกร้องว่ามีเหตุทุจริตในหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ จนเริ่มเป็นข่าวจากสื่อมวลชน แต่ทว่าเจ้าตัวกลับถูกคำสั่งจำคุก ฐานเพราะสร้างความเสื่อมเสียแก่ต้นสังกัด หลังพ้นโทษออกมา ได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้เข้ามาพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกองทัพบก ทรงกลด ได้เสนอให้ต้นสังกัดดำเนินการทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมา จึงโดนเพ่งเล็งจากนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาอีก
ในปี พ.ศ. 2542 ได้ตัดสินใจลาออกจากราชการ กลับไปประกอบธุรกิจทางด้านการประมงที่จังหวัดพิษณุโลก อันเป็นบ้านเกิด รวมถึงในประเทศพม่า
ในปี 2563 เขาถูกรุมซ้อมโดยตัวเองเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเปิดโปงเรื่องตู้สลอตในอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา[3] แต่คู่กรณีเข้ามอบตัวในภายหลัง และอ้างว่าเหตุเกิดจากโมโหที่ถูกขับรถปาดหน้า[4]
บทบาทการชุมนุม
แก้หลังจากออกราชการแล้ว อีกหลายปีต่อมาได้รู้จักกับนายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และอดีตเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นแนวร่วมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จึงได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมกับกลุ่ม พธม. ซึ่งขณะนั้นกำลังชุมนุม 193 วัน อยู่ในกลางปี พ.ศ. 2551 โดยทำหน้าที่ฝึกฝนการ์ดของ พธม. เพื่อการรักษาความปลอดภัย และตอบโต้ทางวาจากับทาง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่อยู่ฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก่อนที่ พล.ต.ขัตติยะ จะถูกยิงเสียชีวิตในช่วงการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 ร.อ.ทรงกลด เป็นผู้ทำนายว่า พล.ต.ขัตติยะ จะต้องเสียชีวิตไม่นานหลังจากนี้ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น[5]
ในวันที่ 24 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ทรงกลด ได้สร้างความฮือฮาด้วยการสวมหน้ากากกาย ฟอกส์ ยืนอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพียงคนเดียว เพื่อประท้วงรัฐบาลตั้งแต่เช้าจนถึงมืด เป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน แม้บางช่วงจะมีฝนตก และได้เข้าไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอบปัญหาเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องการทุจริตในนโยบายรับจำนำข้าว อันเป็นนโยบายของทางรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย[1] [6]
จากนั้นในเช้าวันที่ 11 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ทรงกลดกับกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ รักษาแผ่นดิน ที่นำโดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ได้ไปชุมนุมที่หน้ากระทรวงกลาโหม เพื่อมิให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าทำงานได้เป็นวันแรกตั้งแต่รับโปรดเกล้า ฯ ซึ่งทางตัว ทรงกลดได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวและนำไปยังสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง (สน.พระราชวัง) อันเป็นพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมกับตั้งข้อหา 2 ข้อหา คือ 1. กีดขวางการจราจร 2. ขัดขืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ แต่ทาง ร.อ.ทรงกลดไม่ยอมรับข้อหา และได้อยู่ที่ สน. ตลอดจนถึงบ่ายวันที่ 14 กรกฎาคม โดยไม่ได้เป็นการควบคุมตัวโดยตำรวจ ซึ่งทาง ทรงกลดได้ให้เหตุผลของการที่อยู่ที่ สน. ว่าต้องการจะพบกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์[7] [8] [2]
ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม ปีเดียวกัน ทรงกลดได้พยายามที่จะบุกฝ่าแนวกั้นของตำรวจที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เข้ายังไปพื้นที่ตัวอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการพิจารณาพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) และเรียกร้องให้มีการถ่ายทอดการประชุมผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งตรงกับวันเดียวกันกับที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เดินเท้าจากแยกอุรุพงษ์ไปยังรัฐสภาด้วย[9] ซึ่งก็ได้ถูกจับเนื่องจากฝ่าฝืนพระราชบัญญัติความมั่นคงในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) แต่ต่อมา ก็ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากศาลแขวงดุสิตอนุญาตให้ประกันตัว ในวงเงิน 20,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามก่อการชุมนุมวุ่นวายใด ๆ อีก[10]
ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันได้ร่วมกับ กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ ก่อตั้งกองทัพนิรนามขึ้น[11] โดยเป็นกลุ่มเคลื่อนที่เร็วในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ในระหว่างการชุมนุมของกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในช่วงปี พ.ศ. 2556–2557[12]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 คำให้สัมภาษณ์ผ่านทางรายการร้อยข่าวยามเช้า, "ร้อยข่าวยามเช้า" โดย อัญชะลี ไพรีรัก และสันติสุข มะโรงศรี ทางบลูสกายแชนแนล: พุธที่ 26 มิถุนายน 2556
- ↑ 2.0 2.1 คำให้สัมภาษณ์ผ่านทางรายการร้อยข่าวสุดสัปดาห์, "ร้อยข่าวสุดสัปดาห์" โดย อัญชะลี ไพรีรัก และสกลธี ภัททิยกุล ทางบลูสกายแชนแนล: เสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2556
- ↑ "เปิดใจ "ผู้กองปูเค็ม" โดนซ้อมปางตาย เชื่อเจ้าของตู้สล็อตส่งซิกให้รุมยำ (คลิป)". ไทยรัฐ. 17 September 2020. สืบค้นเมื่อ 17 September 2020.
- ↑ "คดีพลิก แก๊งกระทืบผู้กองปูเค็ม อ้างโมโหขับปาดหน้า ไม่เกี่ยวตู้สล็อต". ไทยรัฐ. 17 September 2020. สืบค้นเมื่อ 17 September 2020.
- ↑ 'เสธ.แดง' ไม่รอด..!! ทำนายแม่นจาก 'ร.อ.ทรงกลด' ยังเติร์ก จปร.37 ในกระแสใครยิง? จากโอเคเนชั่น
- ↑ ผู้กองปูเค็ม โดยอัญชะลี ไพรีรัก จากแนวหน้า
- ↑ ตำรวจ สน.พระราชวัง ยัน ไม่ได้คุมตัว 'ผู้กองปูเค็ม' จากสนุกดอตคอม
- ↑ ผู้กองปูเค็มค้างโรงพักยันรอพบคำรณวิทย์ จากสนุกดอตคอม
- ↑ "ผู้กองปูเค็มบุกแยกขัตติยานีร้องถ่ายทอดสด". สนุกดอตคอม. 7 August 2014. สืบค้นเมื่อ 27 April 2015.
- ↑ "'ผู้กองปูเค็ม'รอดคุก ศาลอนุญาตประกันตัว". ไทยรัฐออนไลน์. 16 August 2014. สืบค้นเมื่อ 27 April 2015.
- ↑ "'ผู้กองปูเค็ม'ประกาศจัดตั้ง'กองพันนิรนาม'ทั่วประเทศ". แนวหน้า. 2 August 2014. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.
- ↑ "ผู้กองปูเค็ม". เฟซบุก. 23 November 2013. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.