ถนนอินทรพิทักษ์
ถนนอินทรพิทักษ์ (อักษรโรมัน: Thanon Intharaphithak) เป็นถนนสายหนึ่งในพื้นที่แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นถนนขนาด 6 ช่องทางจราจร เขตถนนกว้าง 30 เมตร ระยะทางยาว 780 เมตร[1] มีจุดเริ่มต้นจากวงเวียนใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไปทางทิศตะวันตก ผ่านแนวคลองบางไส้ไก่ ตัดกับถนนเทอดไทที่ทางแยกบางยี่เรือ ไปสิ้นสุดที่เชิงสะพานเนาวจำเนียร (สะพานข้ามคลองบางกอกใหญ่) โดยมีแนวถนนที่ตรงต่อเนื่องไปคือถนนเพชรเกษมในพื้นที่เขตบางกอกใหญ่
ถนนอินทรพิทักษ์เป็น "ถนนสายที่ 4" ในโครงการตัดและขยายถนน 11 สายในจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนครเพื่อรองรับการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) เมื่อปี พ.ศ. 2472 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร พ.ศ. 2473 ได้กำหนดแนวเส้นทางถนนสายที่ 4 ไว้ตั้งแต่ท่าสินค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านถนนสายที่ 2 (ปัจจุบันคือถนนสมเด็จเจ้าพระยา) ถนนสายที่ 3 (ปัจจุบันคือถนนอิสรภาพ) และผ่านถนนสายที่ 1 (ปัจจุบันคือถนนประชาธิปกและถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน) ที่วงเวียน ไปสิ้นสุดที่ท่าสินค้าริมคลองบางกอกใหญ่
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนสายที่ 4 ของโครงการดังกล่าวตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเสนอว่า ถนนลาดหญ้า เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงคราวที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงยกทัพรบชนะกองทัพพม่าที่ทุ่งลาดหญ้า แขวงเมืองกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2328[2] ภายหลังทางการได้เปลี่ยนชื่อโครงการถนนลาดหญ้าช่วงวงเวียนใหญ่ถึงคลองบางกอกใหญ่เป็น ถนนอินทรพิทักษ์ ตามพระนามของสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้าจุ้ย กรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช[3]
ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 มีรายงานจากกรมควบคุมมลพิษว่า ถนนอินทรพิทักษ์มีปริมาณฝุ่นละอองที่มีค่า PM2.5 อยู่ที่ 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐาน นับว่ามากที่สุดในกรุงเทพมหานคร เทียบเท่ากับถนนลาดพร้าวทางฝั่งพระนคร[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ กองนโยบายและแผนงาน. สำนักผังเมือง. กรุงเทพมหานคร. รายงานการศึกษา เรื่อง โครงข่ายถนนและทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร. [ม.ป.ท.], 2551.
- ↑ กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 322.
- ↑ แสงสุวรรณ, เสาวลักษณ์ (2017-06-07). "ทำไมชื่อถนนต้องเป็น "พระราม" !! ไขข้อข้องใจ ความเป็นมาของชื่อของ "สะพานพระราม.." และชื่อถนน...ในย่านสำคัญของสยาม น้อยคนที่จะรู้!!". ทีนิวส์.
- ↑ "กรมควบคุมมลพิษ เผยฝุ่นละอองมาพร้อมหมอก กทม.ค่าPM 2.5 เกินมาตรฐาน!". พีพีทีวี. 2018-02-08. สืบค้นเมื่อ 2018-02-10.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ถนนอินทรพิทักษ์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์