ตุ๊กแกบ้าน
บทความนี้ต้องการข้อความอธิบายความสำคัญที่กระชับ และสรุปเนื้อหาไว้ย่อหน้าแรกของบทความ |
สำหรับความหมายอื่น ดูที่ Gecko
ตุ๊กแกบ้าน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์เลื้อยคลาน Reptilia |
อันดับ: | กิ้งก่าและงู Squamata |
วงศ์: | วงศ์จิ้งจกและตุ๊กแก Gekkonidae |
สกุล: | ตุ๊กแก Gekko (Linnaeus, 1758) |
สปีชีส์: | Gekko gecko |
ชื่อทวินาม | |
Gekko gecko (Linnaeus, 1758) | |
ชื่อพ้อง | |
ตุ๊กแกบ้าน (อังกฤษ: Tokay, Gecko, Calling gecko) หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า ตุ๊กแก หรือ ต๊กโต ในภาษาเหนือ หรือ กั๊บแก ในภาษาอีสาน[3]
ชนิดย่อย
แก้มีชนิดย่อยของตุ๊กแกบ้านที่ได้รับการยอมรับอยู่ 2 ชนิด[4]
- G. g. gecko (Linnaeus, 1758): เอเชียเขตร้อนจากอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือถึงอินโดนีเซียตะวันออก
- G. g. azhari (Mertens, 1955): พบเฉพาะในประเทศบังกลาเทศ
ลักษณะ
แก้เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง มีสีสันที่หลากหลายมาก เช่น น้ำตาล เทา ดำ ฟ้าอ่อนและมีลายจุดสีแดงอมส้มทั่วตัว สามารถปรับสีได้ตามสภาพแวดล้อมที่อาศัย ดวงตามีสีเขียวขนาดใหญ่ไม่มีเปลือกตาปกปิด ขนาดความยาวของลำตัวเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร น้ำหนักโดยเฉลี่ยราว 1 ขีด ออกหากินในเวลากลางคืน โดยกินแมลงเป็นอาหารหลัก และอาจกินสัตว์ขนาดเล็กอย่างอื่นเป็นอาหารได้ด้วย เช่น ไข่นกหรือลูกนก, นกขนาดเล็ก, หนูหรือสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก เป็นต้น
พบได้ทั่วไปในประเทศไทยและภูมิภาคใกล้เคียง โดยเฉพาะภาคกลาง ตุ๊กแกจะอาศัยอยู่ทั้งในบริเวณพื้นที่ที่เป็นป่าและในบริเวณบ้านเรือนของมนุษย์ ชอบหลบอยู่ตามมุมมืดปราศจากการรบกวน ออกลูกเป็นไข่และมีนิสัยชอบร้องเสียง "ตุ๊กแก..ตุ๊กแก" ติดต่อกัน
ตีนของตุ๊กแกสามารถเกาะไต่ผนังได้อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากมี "เซต้า" ลักษณะเป็นขนมีมากว่า 1,000 เส้นบนฝ่าเท้าตุ๊กแก แต่ละเส้นที่บริเวณปลายแตกกิ่งก้านสาขาออกไปอีกมากกว่า 1,000 แฉก แต่ละแฉกมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 200 นาโนเมตร [5]
ตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่มีนิสัยดุ ชอบกัดกันเองและมีพฤติกรรมกินพวกเดียวกันด้วย อาจถึงขั้นกัดอวัยวะเพศของเด็กชายขาดได้[6]
ตุ๊กแกโดยทั่วไปเป็นที่รับรู้กันว่า เป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจเนื่องจากมีรูปร่างหน้าตาที่น่าเกลียด น่ากลัว ประกอบกับอุปนิสัยที่ดุร้าย แต่ก็มีผู้ที่นิยมชมชอบเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลายหรือสัตว์แปลก ๆ เลี้ยงตุ๊กแกเป็นสัตว์เลี้ยงก็มี[6]
การถูกทำเป็นยา
แก้ตุ๊กแกถูกใช้เป็นยามาตั้งแต่โบราณ แพทย์แผนจีนใช้เป็นยาแก้โรคหอบ บำรุงปอด บำรุงไต และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ส่วนในตำรายาไทย จะถลกหนังเอาแต่เนื้อทั้งตัว เอาไส้ในออก ตำเกลือ พริกไทย กระเทียม ทาปิ้งให้เด็กกิน ถือว่าเป็นยาบำรุงร่างกายแก้ซางขโมย หรือนำเอาส่วนหางไปบดและใช้กวาดคอเพื่อแก้อาการเจ็บคอ[7]
ราวกลางปี พ.ศ. 2553 ปรากฏเป็นข่าวฮือฮาทางสื่อมวลชนต่าง ๆ ว่า มีพ่อค้าชาวจีนในมาเลเซียและสิงคโปร์ได้เหมาซื้อตุ๊กแกจากชาวไทยเพื่อจะนำไปทำเป็นยารักษาโรคเอดส์และมะเร็ง โดยให้ราคาที่สูงมากนับแสนบาท โดยคิดราคาตามน้ำหนักตัว และตัวที่มีน้ำหนักถึง 5 ขีด ให้สูงถึงตัวละ 10 ล้านบาท
ข่าวนี้ทำให้มีการตื่นตัวอย่างมากในการจับตุ๊กแกส่งขายและเพาะเลี้ยงกันตามบ้าน แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเป็นเพียงการปั่นกระแสกันมากกว่า อีกทั้งผลพิสูจน์ทางการแพทย์ก็ยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการ แม้จะมีความเชื่ออยู่บ้างของชาวบ้านในบางพื้นที่ที่มีการรับประทานจิ้งจกและตุ๊กแกอยู่แล้วว่าเป็นยาบำรุงต่าง ๆ ก็ตาม[6]
นอกจากนี้แล้วทางผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์เลื้อยคลานก็ระบุตรงกันว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยพบตุ๊กแกตัวไหนที่มีน้ำหนักถึง 4-5 ขีดตามที่เป็นข่าว อาจจะพบมีบางตัวบ้างที่หนักถึง 4 ขีด แต่ก็น้อยมาก จึงเชื่อว่าเป็นการปั่นกระแสกันมากกว่า นอกจากนี้แล้วผู้ที่ทำการเพาะขยายพันธุ์ตุ๊กแกเพื่อการค้านี้ ก็พบว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ชอบกัดและกินกันเอง หากตัวไหนหางขาดก็จะขายไม่ได้ราคา อีกทั้งมีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้าจึงไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน[6]
ความเชื่อ
แก้ตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่อยู่ในความเชื่อของชาวไทยมาแต่โบราณ เช่น เชื่อว่าตุ๊กแกมักถูกงูเขียวเข้ามากินตับ โดยอ้าปากให้งูเข้าไปกินถึงในท้อง แท้ที่จริงแล้ว งูเขียวเมื่อหาอาหารไม่ได้จะบังคับให้ตุ๊กแกอ้าปากเพื่อเข้าไปกินเศษอาหารที่ติดตามซอกปากของตุ๊กแก[6]
นอกจากนี้แล้ว ยังเชื่อว่าเสียงร้องของตุ๊กแกยังเป็นการบอกถึงโชคลางของผู้ที่ได้ยินอีกด้วย ตามเวลาและจำนวนครั้งที่ต่างกัน เช่น 1 ครั้ง เชื่อกันว่า ผู้ได้ยินจะเสียเงินทองโดยไม่เต็มใจ แต่ถ้าได้ยินเสียงตุ๊กแกร้อง 3 ครั้ง เชื่อว่า คนในบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข พบกับความเจริญรุ่งเรือง หรือ ตุ๊กแกร้องตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกาจนถึงเที่ยง เชื่อว่า จะได้รับข่าวดี เป็นต้น[8]
รูปภาพ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Lwin, K.; Neang, T.; Phimmachak, S.; Stuart, B.L.; Thaksintham, W.; Wogan, G.; Danaisawat, P.; Iskandar, D.; Yang, J.; Cai, B. (2019). "Gekko gecko". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T195309A2378260. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-1.RLTS.T195309A2378260.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
- ↑ "Appendices | CITES". cites.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 December 2017. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
- ↑ [https://web.archive.org/web/20120119045201/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-19-search.asp เก็บถาวร 2012-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตุ๊กแก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
- ↑ Gekko gecko ที่คลังข้อมูลสัตว์เลื้อยคลาน Reptarium.cz
- ↑ ตุ๊กแก..น่าขยะแขยง แต่มากสรรพคุณทางยา โดย ไทยรัฐ 22 พ.ค. 50
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 หน้า 142-144 คอลัมน์ Exotic Pets ตอน "ราคาตุ๊กแกสิบล้าน ชัวร์ หรือ มั่วนิ่ม ?!? โดย กองบรรณาธิการ นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับเดือนกรกฎาคม 2011
- ↑ https://www.doctor.or.th/article/detail/6039
- ↑ เสียงตุ๊กแก ร้องทัก บอกลางดี-ลางร้าย
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Tokay Gecko เก็บถาวร 2020-11-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน – Reptile Parkreptilepark.com.au.
- Tokay Gecko – EcologyAsia.
- Tokay Gecko Care. TokayGecko.org
- The sound of a Balinese geko in Sanur. Recorded October 2004. SoundCloud.
- Nonnatives – Tokay Gecko. เก็บถาวร 2018-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Florida Fish and Wildlife Conservation Commission.
- [1] เก็บถาวร 2020-11-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Australian Reptile Park.