ตระกูลจิราธิวัฒน์

ตระกูลจิราธิวัฒน์ เป็นตระกูลนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นเจ้าของกลุ่มเซ็นทรัล ในปี พ.ศ. 2562 นิตยสาร ฟอบส์ จัดอันดับให้เป็นตระกูลที่มีความมั่งคั่งเป็นอันดับ 2 ของไทย มีมูลค่าทรัพย์สิน 6.7 แสนล้านบาท[1] ประกอบธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครอบคลุม​ 9 หน่วยธุรกิจ รวมแล้วหลายสิบแบรนด์ จากข้อมูลวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2562 มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 232 คน จาก 5 รุ่น[2] รุ่น 1 มี 1 คน รุ่นที่ 2 มี 38 คน แบ่งเป็นจิราธิวัฒน์ 23 คน คู่สมรส 15 คน รุ่นที่ 3 มี 90 คน แบ่งเป็นจิราธิวัฒน์ 57 คน คู่สมรส 33 คน รุ่นที่ 4 มี 86 คน แบ่งเป็นจิราธิวัฒน์ 76 คน คู่สมรส 10 คน และรุ่นที่ 5 มี 17 คน แบ่งเป็นจิราธิวัฒน์ 17 คน ในจำนวนนี้ มีคนที่ทำงานให้กับธุรกิจครอบครัวทั้งสิ้น 57 คน[3]

จิราธิวัฒน์
ตระกูลบรรพบุรุษแซ่เจ็ง
ประเทศประเทศไทย
ถิ่นพำนักปัจจุบันกรุงเทพมหานคร
นิรุกติศาสตร์จิ–รา–ทิ–วัด
ภาษาบาลี: जीरा (จิร)+अधि (อธิ)+वट्टना (วฑฺฒน)
"ความเจริญที่ยิ่งใหญ่มาช้านาน"
ถิ่นกำเนิดหมู่บ้านไหเค้า มณฑลไหหลำ ประเทศจีน
ต้นตระกูลเตียง แซ่เจ็ง
ผู้นำคนปัจจุบันสุทธิชัย จิราธิวัฒน์
ตระกูลที่เกี่ยวข้องราชสกุลกิติยากร
ทรัพย์สินกลุ่มเซ็นทรัล

ประวัติ

แก้

ต้นตระกูล

แก้

ต้นตระกูลจิราธิวัฒน์ คือ เตียง แซ่เจ็ง ชาวจีนจากหมู่บ้านไหเค้า มณฑลไหหลำ ประเทศจีน อพยพมาประเทศไทยชั่วคราวครั้งหนึ่งเป็นเวลาสั้น ๆ เนื่องจากลี้ภัยโจรสลัดที่เข้าปล้นหมู่บ้าน ก่อนจะกลับประเทศจีนหลังเหตุการณ์นั้นสงบลง กระทั่งอพยพเข้ามาประเทศไทยอย่างถาวรพร้อมภรรยาที่ชื่อ หวาน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2470 โดยมีบุตรชายคนโตที่เกิดในประเทศจีนคือ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ (เกิด พ.ศ. 2468 เมื่อแรกเกิดชื่อ ฮกเส่ง ฮกแปลว่าลาภ เส่งแปลว่าสำเร็จ) ที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยเพราะเห็นว่าเมืองไทยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์และมีชาวจีนอพยพมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมาอาศัยอยู่กับพ่อตาคือนายตงฮั้วและนางด่านตี๋ แซ่หง่าน ที่เดินทางล่วงหน้ามาก่อนแล้ว 2–3 ปี โดยมาช่วยกิจการร้านขายข้าวสารของพ่อตาที่ชื่อ อั้นฟงเหลา ต้้งอยู่ท่าช้าง วังหน้า

เตียงเริ่มประกอบธุรกิจของตัวเอง เปิดร้านกาแฟและขายของเบ็ดเตล็ดที่บางมด โดยยืมเงินพ่อตาจำนวน 300 บาท ต่อมาย้ายไปอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอบางขุนเทียน ตรงข้ามสถานีรถไฟวัดจอมทอง (วัดราชโอรส) ส่วนภรรยารับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า เขาตั้งชื่อร้านว่า "เข่งเส่งหลี" พอในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องเผชิญกับความยากลำบาก หวานผู้เป็นภรรยาเสียชีวิต สัมฤทธิ์ บุตรชายคนโตจึงมาช่วยดูแลธุรกิจ จนในปี พ.ศ. 2493 ครอบครัวของเตียงได้ขอให้ผู้ใหญ่ที่ครอบครัวเคารพนับถือตั้งชื่อนามสกุลให้ว่า "จิราธิวัฒน์" คำว่า จิระ หมายถึง ยืนนาน อธิ หมายถึง ความยิ่งใหญ่ และ วัฒน์ คือ วัฒนา เมื่อรวมแล้วหมายถึง ตระกูลที่มีความยิ่งใหญ่วัฒนาอย่างยาวนาน[4] ต่อมาครอบครัวเริ่มขยายใหญ่ขึ้นจนถึงเกือบ 30 ชีวิต จึงได้ตัดสินใจซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักอย่างถาวรที่ศาลาแดง พื้นที่ 3 ไร่ ใน เมื่อปี พ.ศ. 2499 เตียงเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2511 สัมฤทธิ์ในฐานะบุตรชายคนโตจึงรับหน้าที่ดูแลทรัพย์สินและมรดก

รุ่นที่ 2

แก้

รุ่นที่ 2 ที่มี สัมฤทธิ์เป็นพี่ใหญ่ ประกอบด้วยน้องอีก 25 คน คือ สัมฤทธิ์มีน้องที่เกิดจากมารดาเดียวกัน 7 คน ส่วนน้องที่เกิดกับภรรยาคนที่สอง ที่ชื่อ บุญศรี มี 13 คน และน้องที่เกิดจาก วิภา ภรรยาคนที่สาม 5 คน

สัมฤทธิ์ที่เคยทำหน้าที่เป็นพนักงานขาย นำหนังสือไปขายยังร้านใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ที่ร้านของเพื่อน ภายหลังเพื่อนเลิกกิจการ สัมฤทธิ์เห็นว่าธุรกิจนี้มีกำไรมากจึงได้ดำเนินธุรกิจนี้ โดยยืมเงินบิดา 2,000 บาท สร้อยคอทองคำของภรรยา (ของขวัญงานแต่ง) และเงินออมส่วนตัวจำนวนหนึ่งนำมาลงทุนธุรกิจนี้ เป็นธุรกิจนำเข้านิตยสารจากสหรัฐมาขาย ธุรกิจประสบความสำเร็จดี เพราะต้นทุนต่ำและได้เปรียบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและยังไม่เสียภาษีนำเข้าอีกด้วย สัมฤทธิ์นำผลกำไรมาเสนอแก่บิดาและชักชวนให้มาร่วมทุนด้วย ในปี พ.ศ. 2490 ได้เซ้งห้องแถวที่ถนนเจริญกรุง ปากตรอกกัปตันบุช สี่พระยา เปิดเป็นร้านขายหนังสือ ใช้ชื่อร้านว่า "ห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง" เป็นอาคาร 1 คูหา จำนวน 2 ชั้น ช่วงแรกเน้นขายหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศและสินค้าจากสำเพ็ง สัมฤทธิ์ไม่จ้างลูกจ้างมาช่วยงาน และยังดำเนินการเสียภาษีด้วยตัวเอง จากนั้นได้รับน้องชายสองคน คือ วันชัย และสุทธิพร มาช่วยงานหลังโรงเรียนเลิก ต่อมาสัมฤทธิ์นำสินค้าที่ลงโฆษณาในนิตยสารมาขาย อาทิ ถุงเท้า เน็คไท เสื้อกล้าม กระโปรงพลีท และชุดชั้นในสตรี เป็นต้น ขยับขยายสินค้าประเภทใหม่ ๆ และใช้วิธีเป็นตัวแทนจำหน่ายจากสินค้ามีแบรนด์ เช่น เครื่องสำอางเฮเลน่า รูบินสไตน์ (Helena Rubinsteim) น้ำมันใส่ผมแคร้ปเดอชีน (Crepe de Chine) และเสื้อเชิ้ตแมนฮัตตัน (Manhattan) เป็นต้น

ต่อมาย้ายร้านไปที่ย่านสุริวงศ์ ริมถนนเจริญกรุง มีขนาด 3 คูหา จนได้เปิดสาขาใหม่ที่วังบูรพา เมื่อ พ.ศ. 2499 ในชื่อ "ห้างเซ็นทรัล" เป็นครั้งแรกที่นำระบบติดป้ายราคาและไม่มีการต่อราคามาใช้ ต่อมาเปิดสาขาเยาวราชแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และ พ.ศ. 2507 เปิดสาขาใหม่ที่ราชประสงค์ เป็นตึกแถวขนาด 5 คูหา เปิดสาขาต่อมา สาขาสีลม เมื่อปี พ.ศ. 2511 ที่ถือเป็นห้างเซ็นทรัลแห่งแรกที่มีแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต ในช่วง 2 ปีแรกที่เปิดขาดทุน แต่ได้ทำการตลาดอย่างหนักจนประสบความสำเร็จ และเปิดสาขาต่อมาที่สาขาชิดลม (2516), ลาดหญ้า (2524), ลาดพร้าว (2526), หัวหมาก (2531)[5]

เดือนสิงหาคม 2532 สัมฤทธิ์ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดจึงแต่งตั้งน้องชายคนรอง วันชัย จิราธิวัฒน์ เป็นประธานคณะกรรมการเครือเซ็นทรัล และจัดองค์กรใหม่โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจผู้บริหารรับผิดชอบโดยตรง 5 กลุ่ม ไดแก่ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก (CRC) มีสุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ เป็นประธาน, กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (CPN) มีสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ เป็นประธาน, กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและค้าส่ง (CMG) มี สุทธิศักดิ์ เป็นประธาน, กลุ่มธุรกิจโรงแรมมีสุทธิเกียรติเป็นประธาน และกลุ่มธุรกิจฟาสต์ฟู้ด มีสุทธิเกียรติเป็นประธานขณะนั้น[6] จนสัมฤทธิ์เสียชีวิตในปี 2535 วันชัยเป็นผู้นำองค์กรคนที่ 3 ในยุคการบริหารของวันชัย ธุรกิจเติบโตไปหลายด้าน เป็นยุคแห่งการขยายกิจการ ทั้งประกอบธุรกิจมอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ทั้งค้าปลีก โรงแรม และผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แตกร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ซูเปอร์สปอร์ต ไทวัสดุ เป็นต้น[2]

รุ่นที่ 3

แก้

ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ได้ขยายธุรกิจออกตลาดต่างประเทศ ตามเป้าหมายรับไม้ต่อจากรุ่นที่ 2 ผู้บริหารในรุ่นที่ 3 อาทิ กอบชัย, ทศ, ปริญญ์, เกรียงศักดิ์, พิชัย, ธีรยุทธ, ธีรเดช, ชาติ, อิศเรศ, ธรรม์, วัลยา, ยุวดี ฯลฯ โดยมีทศ จิราธิวัฒน์ เป็นประธานกรรมการบริหาร สุทธิชัย จิราธิวัฒน์ จากรุ่นที่ 2 ประธานกรรมการ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เอ่ยว่า "ทศเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนธุรกิจทั้งเครือ เพราะทำงานในตำแหน่งระดับสูงของกลุ่มเซ็นทรัลมานาน มีความรอบรู้ลึกซึ้งในธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัล และเป็นผู้นำที่มีสไตล์การทำงานเชิงรุก"[7] ส่วนชาติ จิราธิวัฒน์ถูกวางตัวให้เป็นอันดับสองของรุ่นที่ 3 ทำหน้าที่บริหารเซ็นทรัล เอ็มบาสซี[8]

ในการบริหารของทศ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กลุ่มธุรกิจแบ่งเป็น 9 กลุ่มหลักคือ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า (CDG), กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (CFG), กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างสินค้าตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า (CHG), กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือ และออนไลน์, กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ (CPN), กลุ่มธุรกิจบริหารและการตลาดสินค้าแฟชั่น (CMG), กลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท (CHR), กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร (CRG) และ กลุ่มเซ็นทรัลเวียดนาม (CGVN)[9] ในปี 2560 เซ็นทรัลได้ก้าวสู่ธุรกิจโลกออนไลน์ มีการลงทุนต่อเนื่องด้านเทคโนโลยีและโลจิสติกส์ เปิดตัวธุรกิจเจดี เซ็นทรัล ร่วมทุนกับ เจดี.คอม และเข้าซื้อหุ้นแกร็บ ประเทศไทย บริการการเดินทาง การส่งอาหาร ส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต[10] ในปี พ.ศ. 2562 จะนำเซ็นทรัล รีเทล (CRC) ธุรกิจที่มีอายุยาวนานกว่า 72 ปี เข้าตลาดหลักทรัพย์[11]

รุ่นที่ 4

แก้

รุ่นที่ 4 ของตระกูลจิราธิวัฒน์ เริ่มเข้ามีบทบาททางธุรกิจ ได้มีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเปิดตัวทายาทรุ่นที่ 4 จำนวน 9 คน คือ ธาพิดา นรพัลลภ ออมนิ-แชนแนล เมอร์ชั่นไดซิ่ง ไดเร็กเตอร์ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด, จิระศักดิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ เจดีเซ็นทรัล, โชดก พิจารณ์จิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารสินค้า เจดีเซ็นทรัล, รวิศรา จิราธิวัฒน์ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด เจดีเซ็นทรัล, อาคาร จิราธิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายสินค้า เจดีเซ็นทรัล, ณพัทธ์ จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), อธิวัฒน์ จิราธิวัฒน์ ผู้จัดการโปรเจ็กต์พิเศษ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และ อธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท โรบินสัน จำกัด[9]

ตระกูลจิราธิวัฒน์ในธุรกิจอื่น

แก้

นอกเหนือจากที่ทำธุรกิจในเครือเซ็นทรัลแล้ว ศุภาวิตาและทยาวัต จิราธิวัฒน์ จากรุ่นที่ 4 ได้เริ่มสร้างธุรกิจตามความสนใจของตัวเอง คือ ทำธุรกิจคอนโดมิเนียมแกรนด์ดูเพล็กซ์[12]

ตระกูลจิราธิวัฒน์ยังมีบุคคลในวงการบันเทิง พิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการพลังงานหอการค้าไทย นอกจากจะกรรมการบริหารผู้แทนบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ยังรับหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการค่ายเพลงสไปซีดิสก์[13] ส่วนภัสสรกรณ์ จิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 3 บุตรชายคนเล็กของสุทธิเกียรติ เป็นนักร้อง นักแสดง ที่สมรสกับนักแสดง ราศรี บาเล็นซิเอก้า เปิดบริษัท ป๊อก 9 เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด รับผลิตงานบันเทิง ทุกรูปแบบ[14] พชร จิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 4 เป็นนักแสดง นักดนตรี ทำธุรกิจ ร้านเฟรนช์ฟรายส์ชื่อ Potato Corner มีสาขาในไทยมากกว่า 34 แห่ง พชรยังเป็นเป็นผู้บริหารโปรดักชั่นสตูดิโอสำหรับทำเพลงภาพยนตร์ และเป็นที่ปรึกษาสำหรับ Live Concert ที่ชื่อ Viveka & Vehement Recording and Live Music Production[15] ส่วน พิมพิศา จิราธิวัฒน์ (แพร) พี่สาวของพชร ก็เคยมีผลงานเพลงเช่นกัน[16]

สภาครอบครัวและธรรมนูญครอบครัว

แก้

ภายหลังจากเกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ วันชัย จิราธิวัฒน์ ผู้นำองค์กรคนที่ 3 ปรับโครงสร้างองค์กร เปลี่ยนจากธุรกิจแบบกงสีมาสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น โดยให้วิโรจน์ ภู่ตระกูล ซีอีโอคนแรกของลีเวอร์ บราเธอร์ (ประเทศไทย) หรือยูนิลีเวอร์ มาช่วยจัดทำสภาครอบครัวและร่างธรรมนูญครอบครัว ตั้งแต่ปี 2541 ใช้เวลา 4 ปี หรือปี 2545 จึงแล้วเสร็จ ธรรมนูญครอบครัวมีไว้สำหรับ ทายาทและคู่สมรส 5 รุ่น

โครงสร้างการปกครอง

แก้

สำหรับโครงสร้างการปกครอง แบ่งเป็น 3 ส่วน[3]

  • ครอบครัว มีสภาครอบครัว (Family council) มีสุทธิชัย จิราธิวัฒน์เป็นหัวหน้าสภา และมีผู้ใหญ่ในครอบครัว 14 คน มาจากสมาชิกทุกกลุ่มนั่งเป็นบอร์ดในสภา สภาครอบครัวทำหน้าที่ดูแลเรื่องพื้นฐานของสมาชิกครอบครัวจิราธิวัฒน์ อย่าง สวัสดิการ ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล การจัดงานแต่งงาน งานศพ ฯลฯ
  • ความเป็นเจ้าของ มี CG Board หรือมาจากเซ็นทรัล กรุ๊ป จากครอบครัวดูแล ยังมีคนนอกรวมเป็น 8-19 คน หน้าที่ของบอร์ดคือตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนมูลค่าเกินกว่า 3,000 ล้านบาท รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานของธุรกิจครอบครัว การจ่ายเงินปันผลด้วย
  • ธุรกิจ มีทศเป็นหัวหน้า และปริญญ์ จิราธิวัฒน์ คุมการเงิน สำหรับหน้าที่ของกรรมการบริหารนี้คือจะตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนมูลค่าต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยต้องแจ้ง CG Board ด้วย แต่ไม่ต้องตัดสินใจ

ธรรมนูญครอบครัว

แก้

ตระกูลจิราธิวัฒน์มีการกำหนดรายละเอียด​ กฎระเบียบ หรือข้อตกลงต่าง ๆ ดังนี้ การแบ่งผู้ถือหุ้น ในส่วนของความเป็นเจ้าของ ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล คือ รุ่นที่ 2 หรือลูกคุณเตียงโดยตรง ซึ่งมีอยู่ 26 คน (ปัจจุบันเหลือ 23 คน) ทั้งนี้ทายาทในแต่ละสายเป็นผู้ได้รับประโยชน์ต่อ สมาชิกทั้ง 3 สาย ได้รับหุ้นในจำนวนที่เท่ากัน เริ่มมีการจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้น ในปี พ.ศ. 2543 เป็นปีแรก ตระกูลไม่อนุญาตให้เขยหรือสะใภ้เข้ามาทำงานในเครือ เนื่องจากมองว่าแต่ละบ้านได้รับการเลี้ยงดู หรือเติบโตมาแตกต่างกัน ในด้านสวัสดิการ มีการกำหนดถึงขอบเขตของสิทธิ เช่น ฝั่งจิราธิวัฒน์ที่เป็นผู้หญิงอาจจะมีสิทธิในบางเรื่องบางอย่างน้อยกว่าผู้ชาย​ โดยเฉพาะในแง่ของการถ่ายทอดสิทธิสวัสดิการไปยังรุ่นถัดไป หรือในแง่ของการถือหุ้นที่อาจจะลดหลั่นลงมา ในการซื้อขายหุ้น ห้ามขายหุ้นให้แก่บุคคลอื่น แต่ขายหุ้นกันภายในครอบครัวได้[17]

ตระกูลมีเว็บไซต์ส่วนตัวเพื่อให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวเข้าไปศึกษารายละเอียดของสิทธิ บทบาท และขอบเขตที่สมาชิก จะได้รับ ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การศึกษา การรักษาพยาบาล การแต่งงาน รวมไปถึงการจัดการงานศพ นอกจากนั้นยังมีกำหนดวาระที่สมาชิกต้องมาพบปะกัน โดยสมาชิกครอบครัวจะมาพบปะกันทุกไตรมาสที่บ้านศาลาแดง โดยจะมาพบกันใน 2 เทศกาลสำคัญ คือ วันตรุษจีน กับวันคริสต์มาส และมีการจัด Chirathivat MIM​ (Management Information Meeting) อีกปีละ 2 ครั้ง ทั้งใน กรุงเทพและต่างจังหวัด

ธรรมนูญครอบครัวมีการกำหนดกฎและบทลงโทษ ทั้งมีการตักเตือน ทำทัณฑ์บน มีการตัดเงินสวัสดิการ และหากยังไม่มีการปรับปรุง หรือยังคงทำผิดมากเกินกว่า 3 ครั้งขึ้นไป ก็จะมีการใช้มาตรการสูงสุด เช่น ตัดเงินสวัสดิการที่เคยช่วยเหลือทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีข้อคิดจากผู้ใหญ่ในตระกูล เช่น ให้อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว, ประหยัด, ขยัน มานะบากบั่น และซื่อสัตย์, มีความยุติธรรม, รับผิดชอบต่อหน้าที่, มีความต่อเนื่องของผู้บริหารทั้งคนในและคนนอก รวมทั้งการคิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ ข้อควรหลีกเลี่ยง เช่น การสูบบุหรี่, พูดมากไร้สาระ,​ไม่ตรงต่อเวลา, โลภ เอาแต่ได้, อวดเก่งแต่ไม่เก่งจริง, เอาเปรียบผู้อื่น,​ เกียจคร้าน, โกง ปากกับใจไม่ตรงกัน, ไม่ฟังความเห็นผู้อื่น, ดื้อรั้น สติปัญญาน้อย[2]

อ้างอิง

แก้
  1. "Thailand's 50 Richest". Forbes. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 "เปิด 'ธรรมนูญเซ็นทรัล' ย้อนรอย 7 ทศวรรษ เส้นทางบริหารกงสี 4 แสนล้าน และวิธีปกครอง 'ตระกูลจิราธิวัฒน์'". brandbuffet. 27 กันยายน 2562. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. 3.0 3.1 สาวิตรี รินวงษ์ (29 กันยายน 2562). "เจาะ! ธรรมนูญครอบครัว 'จิราธิวัฒน์' เคลื่อนธุรกิจแสนล้าน". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  4. "เปิดบ้าน ประจำตระกูล 'จิราธิวัฒน์'". Truststore. 24 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. "กว่าจะเป็น "จิราธิวัฒน์" เจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ทำไมต้องใช้ชื่อ "เซ็นทรัล" ?". ศิลปวัฒนธรรม. 20 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  6. "เซ็นทรัลกรุ๊ปยุคที่ 3 ถึงเวลาไม้ต้องผลัดใบ". ผู้จัดการ. มีนาคม 2546. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  7. "ทศ จิราธิวัฒน์ สร้าง 'เซ็นทรัล' จาก "good" to "great"". wealthythai. 12 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)[ลิงก์เสีย]
  8. ""เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่" บทพิสูจน์ฝีมือทายาทรุ่นที่ 3 "ชาติ จิราธิวัฒน์"". ผู้จัดการออนไลน์. 4 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  9. 9.0 9.1 "เปิดตัวทายาทรุ่นที่ 4 ตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้สืบทอดธุรกิจ 6.6 แสนล้าน". แบรนด์เอจ. 25 กันยายน 2561. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-30. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  10. "ทศ จิราธิวัฒน์ ลูกคนเล็ก แม่ทัพใหญ่ "เซ็นทรัล" ปั้นโร้ดแมพสู่เบอร์หนึ่งค้าปลีกโลกดิจิทัล". เดอะพีเพิล. 4 กุมภาพันธ์ 2562. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  11. "ทำไม เซ็นทรัล รีเทล ถึงอยากเปลี่ยนนามสกุล จากจิราธิวัฒน์ สู่ มหาชน". MARKETEER ONLINE. 31 กรกฎาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  12. "ทยาวัต จิราธิวัฒน์". เฮลโล. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  13. จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ (7 มีนาคม 2561). "พิชัย จิราธิวัฒน์ นักธุรกิจเลือดศิลปินที่เป็นหัวเรือใหญ่ของเซ็นทรัลกรุ๊ปและค่ายเพลงอินดี้อย่าง SPICYDISC". เดอะคลาวด์. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  14. "'ป๊อก' เปิดบริษัทธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ สร้างฐานครอบครัวเพื่อลูก". ข่าวสด. 26 มิถุนายน 2561. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  15. "พชร จิราธิวัฒน์". เฮลโล. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  16. "สาวน้อยพันล้าน! แพร พิมพิศา จิราธิวัฒน์". ผู้จัดการออนไลน์. 26 มีนาคม 2553. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  17. "เปิดกงสี 'จิราธิวัฒน์' สมบัติแสนล้าน พี่น้องรักใคร่ ไม่ฆ่าฟัน จัดการอย่างไร?". ไทยรัฐออนไลน์. 18 กันยายน 2561. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)