การตั้งชื่อทวินาม
ระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแบบทวินาม (อังกฤษ: Binomial nomenclature) เป็นระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแต่ละสปีชีส์ที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ชื่อแต่ละชื่อในระบบนี้เรียกว่า ชื่อทวินาม (Binomial name) หรือ ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) คือชื่อที่ใช้เรียกแทนสิ่งมีชีวิตในสปีชีส์ต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ ชื่อทวินามจะเป็นภาษาละติน ประกอบด้วยคำศัพท์ 2 คำ คือ สกุล และ สปีชีส์ ซึ่งขึ้นอยู่กับสิ่งมีชีวิตที่ต้องการระบุ โดยรายละเอียดปลีกย่อยอาจแตกต่างกันออกไปบ้าง
ประวัติ
แก้ระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแบบทวินาม ถูกคิดขึ้นใช้เป็นครั้งแรกโดยคัสพาร์ เบาฮีน (Gaspard Bauhin) และโยฮันน์ เบาฮีน (Johann Bauhin) ซึ่งมีชีวิตก่อนคาร์ล ลินเนียสเกือบ 200 ปี ทว่าการใช้ระบบนี้ยังจำกัดอยู่ในวงแคบ ซึ่งในสมัยนั้นส่วนใหญ่ใช้ระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแบบไตรนาม แต่ต่อมาถึงสมัยของคาร์ล ลินเนียส ระบบนี้ก็เป็นที่แพร่หลายขึ้นมาก
กฎการตั้งชื่อ
แก้มีหลักเกณฑ์ในการเขียนดังนี้
- ชื่อทวินามจะเป็นภาษาละติน ประกอบด้วยคำศัพท์ 2 คำ คือ สกุล (genus) และ คำแสดงคุณลักษณะ (specific epithet)
- ชื่อทวินามมักจะถูกพิมพ์ด้วยตัวเอียง เช่น Homo sapiens หากเป็นการเขียนด้วยลายมือควรขีดเส้นใต้ลงไปแทน
- คำศัพท์คำแรก (ชื่อสกุล) ต้องขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่เสมอ นอกจากนั้นใช้อักษรตัวเล็กทั้งหมด[1][2]เช่น Canis lupus หรือ Anthus hodgsoni แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตที่ตั้งชื่อทวินามไว้ก่อนหน้าศตวรรษที่ 20 และขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่อยู่แล้ว ไม่ต้องเขียนเป็นตัวเล็กอีก เช่น Carolus Linnaeus
- ในสปีชีส์ย่อย ชื่อจะประกอบด้วยสามส่วนและสามารถเขียนได้สองแบบ โดยพืชและสัตว์จะเขียนต่างกัน[3] เช่น
- เสือโคร่งเบงกอลคือ Panthera tigris tigris และ เสือโคร่งไซบีเรียคือ Panthera tigris altaica
- ต้นเอลเดอร์ดำยุโรปคือ Sambucus nigra subsp. nigra และเอลเดอร์ดำอเมริกาคือ Sambucus nigra subsp. canadensis
- ในตำราเรียน มักมีชื่อสกุลย่อ หรือชื่อสกุลเต็มของนักวิทยาศาสตร์ผู้จัดทำชื่อนั้นต่อท้าย โดยชื่อสกุลย่อใช้กับพืช ส่วนชื่อสกุลเต็มใช้กับสัตว์ ในบางกรณีถ้าชื่อสปีชีส์เคยถูกกำหนดให้ชื่อสกุลที่ต่างออกไปจากชื่อในปัจจุบัน จะคร่อมชื่อสกุลนักวิทยาศาสตร์กับปีที่จัดทำไว้ เช่น Amaranthus retroflexus L., Passer domesticus (Linnaeus, 1758) ที่ใส่วงเล็บเพราะในอดีตชื่อหลังอยู่ในสกุล Fringilla
- หากใช้กับชื่อสามัญ เรามักใส่ชื่อทวินามไว้ในวงเล็บต่อท้ายชื่อสามัญ เช่น "นกกระจอกบ้าน (Passer domesticus) กำลังมีจำนวนลดลงอย่างน่าตกใจ"
- การเขียนชื่อทวินามเป็นครั้งแรกในรายงานหรือสิ่งพิมพ์ เราเขียนเป็นชื่อเต็มก่อน หลังจากนั้นเราสามารถย่อชื่อสกุลให้สั้นลงเป็นอักษรตัวแรกของชื่อสกุลและตามด้วยจุด เช่น Canis lupus ย่อเป็น C. lupus ด้วยเหตุที่เราสามารถย่อชื่อในลักษณะนี้ได้ ทำให้ชื่อย่อเป็นที่รู้จักและกล่าวถึงมากกว่าชื่อเต็ม เช่น T. Rex คือ Tyrannosaurus rex หรือ E. coli คือ Escherichia coli เป็นต้น
- บางกรณี เราเขียน "sp." (สำหรับสัตว์) หรือ "spec." (สำหรับพืช) ไว้ท้ายชื่อสกุล ในกรณีที่ไม่ต้องการเจาะจงชื่อสปีชีส์ และเขียน "spp." ในกรณีที่ต้องการกล่าวถึงหลายสปีชีส์ ตัวอย่างเช่น "Canis sp.", หมายถึงสปีชีส์หนึ่งในสกุล Canis
- สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งอาจมีชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งชื่อ ให้ใช้ชื่อตั้งขึ้นก่อนเป็นชื่อหลัก ส่วนชื่ออื่นเป็นชื่อพ้อง[4]
- ชื่อวิทยาศาสตร์มักจะบอกลักษณะบางอย่างกับสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น[4] ดังเช่น
ชื่อสามัญ | ชื่อวิทยาศาสตร์ | ความหมาย |
---|---|---|
ไส้เดือนดิน | Lumbricus terrestris | terrestris หมายถึง อาศัยอยู่บนบกหรือในดิน |
พยาธิใบไม้ในตับแกะ | Fasciola hepatica | hepatica หมายถึง ตับ |
ปลาซีลาแคนท์ | Latimeria chalumnae | Latimeria มาจากคำว่า Latimer ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่สนใจและพบปลาชนิดนี้ chalumnae มาจากคำว่า Chalumna ซึ่งเป็นชื่อของแม่น้ำที่พบปลาชนิดนี้บริเวณปากแม่น้ำ |
ไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส | Phuwiangosaurus sirindhornae | Phuwiangosaurus หมายถึงไดโนเสาร์ที่พบใน อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น |
ไม้รวก | Thyrsostachys siamensis | siamensis มาจากคำว่า siam ซึ่งหมายถึง ประเทศไทย |
มะม่วง | Mangifera indica | indica หมายถึง ประเทศอินเดีย |
ชื่อสามัญ | ชื่อวิทยาศาสตร์ | ความหมาย |
---|---|---|
จำปี | Michelia alba | alba หมายถึง สีขาว |
กล้วยชนิดหนึ่ง | Musa rubra | rubra หมายถึง สีแดง |
มะยม | Phyllantus acidus | acidus หมายถึง มีรสเปรี้ยว |
ปลาบึก | Pangasianodon gigas | gigas หมายถึง ใหญ่ที่สุด |
เชื้อโรคแอนแทรกซ์ | Bacillus anthracis | bacillus หมายถึง รูปท่อน anthrasis หมายถึง โรคแอนแทรกซ์ |
ชื่อสามัญ | ชื่อวิทยาศาสตร์ | ความหมาย |
---|---|---|
ปลาบู่มหิดล | Mahidoli mystasina | Mahidoli มาจากพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก |
ปูเจ้าฟ้า | Phricothalphusa sirindhorn | sirindhorn มาจากพระนามของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี |
กั้งเจ้าฟ้า | Acanthosquilla sirindhorn (Naiyanetr, 1995) | sirindhorn มาจากพระนามของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Naiyanetr คือชื่อย่อของ ศ. ไพบูลย์ นัยเนตร ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ตั้งชื่อเมื่อปี ค.ศ. 1995 |
กุ้งดีดขัน | Alpheus sudara | sadara มาจากชื่อสกุลของ ดร.สุรพล สุดารา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Heather Silyn-Roberts (2000). Writing for Science and Engineering: Papers, Presentation. p. 198. ISBN 0750646365.
- ↑ "Recommendation 60F". International Code of Botanical Nomenclature, Vienna Code. 2006. pp. 60F.1.
- ↑ Frank A. Bisby, Plant Names in Botanical Databases, Plant Taxonomic Database Standards No. 3, Version 1.00, December 1994, Published for the International Working Group on Taxonomic Databases for Plant Sciences (TDWG) by the Hunt Institute for Botanical Documentation, Carnegie Mellon University, Pittsburgh
- ↑ 4.0 4.1 ผศ.ประสงค์ หลำสะอาด และ ผศ.ดร.จิตเกษม หลำสะอาด, ชีววิทยา ม.6 เล่ม 5, บริษัท สำนักพิมพ์ พ.ศ. พัฒนา จำกัด, หน้า 259-260