จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก

จุดผ่านแดนถาวรของประเทศไทย

จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก[1] หรือ ด่านอรัญประเทศ[2] เป็นจุดผ่านแดนถาวรระหว่างประเทศไทย และกัมพูชาภายในพื้นที่สระแก้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านคลองลึก ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยมีคลองลึก[3]เป็นเส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ ตั้งอยู่ตรงข้ามเมืองปอยเปต อำเภอโอโจรว[4] จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา[5]


จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก
จุดผ่านแดนฝั่งกัมพูชา
ตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก
แผนที่
พื้นที่พรมแดนไทย (ซ้าย) และกัมพูชา (ขวา)
ที่ตั้ง
ประเทศ ไทย,  กัมพูชา
ที่ตั้ง
พิกัด13°39′44″N 102°32′55″E / 13.6621°N 102.5487°E / 13.6621; 102.5487
รายละเอียด
เปิดทำการพ.ศ. 2449 ด่านเก็บภาษี
พ.ศ. 2474 ด่านพรมแดน
พ.ศ. 2534 จุดผ่อนปรนการค้า
พ.ศ. 2540 จุดผ่านแดนถาวร
ดำเนินการโดย • กรมศุลกากร
 • สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ประเภทจุดผ่านแดนถาวร

ประวัติ แก้

จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก มีจุดเริ่มต้นมาจากการเสียเมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง และเมืองศรีโสภณ คืนให้กับประเทศฝรั่งเศษในปี พ.ศ. 2449 ทางการไทยจึงได้ตั้งด่านเก็บภาษีอรัญประเทศขึ้น เพื่อจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ในการเข้าออกของสินค้าต่าง ๆ ในจุดผ่านแดนดังกล่าว สังกัดกรมสรรพากรนอก กระทรวงมหาดไทย[5]

จากนั้นในปี พ.ศ. 2474เมื่อเปลี่ยนโครงสร้างของหน่วยงานด้านการจัดเก็บภาษีใหม่จึงได้โอนมาขึ้นกับกรมศุลกากร สังกัดในด่านพรมแดนของท่ากรุงเทพตามกฎเสนาบดี ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีที่ตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟอรัญประเทศ เพื่อจัดเก็บภาษีจากสินค้าที่มาพร้อมกับการขนส่งทางรถไฟจากกัมพูชาในขณะนั้น ซึ่งอยู่ห่างจากเขตแดนไทย - กัมพูชาประมาณ 6 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2528 ด่านศุลกากรอรัญประเทศจึงได้ย้ายที่ทำการมาอยู่บริเวณบ้านคลองลึก ถนนสุวรรณศร ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ โดยห่างจากเขตแดนประมาณ 1 กิโลเมตร[5]

ในช่วงปี พ.ศ. 2518 ประเทศไทยได้ประกาศปิดแนวชายแดน เนื่องจากปัญหาภายในของประเทศกัมพูชาคือสงครามกลางเมืองจนกระทั่งเกิดสงครามกัมพูชา–เวียดนามขึ้นมา แต่ถึงแม้ทางรัฐบาลจะประกาศปิดพรมแดน แต่ก็ยังมีประชาชนกัมพูชาลี้ภัยข้ามมายังฝั่งไทยอยู่ตลอด และยังคงมีการลักลอบค้าขายกันระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ จนกระทั่งเกิดตลาดมืดขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2522 - 2524 ซึ่งมีเงินหมุนเวียนมากกว่า 200 ล้านบาทในขณะนั้น[6]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 จังหวัดปราจีนบุรี (จังหวัดสระแก้วยังไม่แยกตัวในขณะนั้น) และกองกำลังบูรพาจึงได้ประชุมร่วมกันและมีความเห็นร่วมกันที่จะตั้งจุดผ่อนปรนขึ้น โดยแรกกองกำลังบูรพาได้เสนอให้เปิดจุดผ่อนปรนการค้าขึ้นบริเวณบ้านหนองเสม็ด อำเภอตาพระยา เนื่องจากในพื้นที่ตรงข้ามอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังกัมพูชาที่รักชาติ ง่ายต่อการรักษาความปลอดภัยในจุดผ่อนปรนดังกล่าว[6] ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นได้ผ่อนผันให้ทำการค้าขายได้บริเวณบ้านโนนหมากมุ่น อำเภอตาพระยา บ้านโคกสะแบง อำเภออรัญประเทศ และบ้านเขาดิน อำเภอคลองหาด ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือบริเวณบ้านโคกสะแบง มีการแลกเปลี่ยนสินค้าทางการเกษตรกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น โดยมีประชาชนข้ามแดนไปซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าฝั่งกัมพูชาวันละประมาณ 4,000-5,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มากเกินความควบคุมของกองกำลังบูรพา จึงได้เสนอให้มีการประชุมร่วมกับจังหวัดอีกครั้งในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2533 เพื่อเสนอให้เปิดจุดผ่อนปรนการค้าในบริเวณบ้านหนองเสม็ด อำเภอตาพระยา พร้อมด้วยบริเวณบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศอีกแห่ง และผ่อนผันให้ค้าขายที่บ้านโคกสะแบงได้จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2533 เท่านั้น โดยจังหวัดปราจีนบุรีได้เสนอการขอเปิดจุดผ่อนปรนดังกล่าวไปยังกระทรวงมหาดไทย และสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ และได้รับการตอบกลับมาว่าสามารถเปิดจุดผ่อนปรนการค้าได้เพียงแค่ที่บ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณและความพร้อมของพื้นที่บ้านคลองลึกที่มีความเหมาะสมมากกว่า[6]

จากนั้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2534 ได้มีการจัดการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา โดยผู้บัญชาการกองกำลังบูรพา และผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียนเจย (บันทายมีชัย) ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดตลาดการค้าขึ้นบริเวณสถานีรถไฟปอยเปตซึ่งห่างจากพรมแดนไทยประมาณ 500 เมตร โดยยังไม่กำหนดจุดแน่นอน และได้ประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2534 พร้อมทั้งกำหนดจุดที่จะเปิดพื้นที่การค้า ในฝั่งกัมพูชาคือบริเวณสถานีรถไฟปอยเปต และในฝั่งไทยบริเวณโรงเกลือเก่าซึ่งอยู่ทิศเหนือของทางรถไฟ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านไร่ ติดกับพื้นที่บ้านคลองลึก ในเขตของเทศบาลอรัญประเทศ โดยฝ่ายไทยและกัมพูชาได้เปิดจุดผ่อนปรนการค้าร่วมกันเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2534 เป็นที่รู้จักกันในชื่อตลาดโรงเกลือมาจนถึงปัจจุบัน[6]

หลังจากเปิดจุดผ่อนปรนการค้าบ้านคลองลึกแล้ว ได้มีการค้าขายระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งในขณะนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่อีกหลายข้อ อาทิ ยังมีการกำหนดประเภทสินค้าที่สามารถซื้อขายกัน ยังมีระยะเวลาปิดเปิดจุดผ่านแดนซึ่งต้องพิจารณาตามสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้มีการพิจารณาเพื่อยกระดับขึ้นเป็นจุดผ่านแดนถาวร จึงได้มีการขอความเห็นชอบจากรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศในขณะนั้น ซึ่งฝั่งไทยได้ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในประกาศกระทรวงมหาดไทยตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบ[6] โดยมีผลอย่างเป็นทางการตามที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2540[7]

การผ่านแดน แก้

 
เส้นทางเดินระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา มองไปยังจุดผ่านแดนฝั่งไทย

จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก เปิดทำการตั้งแต่เวลา 06.00 - 22.00 น.[4][8] สำหรับผู้ที่ต้องการจะเดินทางผ่านแดนนั้นจะต้องมีเอกสารประจำตัว อย่างใดอย่างหนึ่ง คือหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรผ่านแดน (Border Pass)[9][10]

กิจกรรม แก้

จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก มีตลาดการค้าชายแดนที่ถูกเรียกว่า ตลาดโรงเกลือ ซึ่งมาจากสถานที่ตั้งของตลาดเคยเป็นโรงเกลือเก่า ซึ่งเป็นตลาดการค้าชายแดนในภาคตะวันออกของประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่เต็มไปด้วยสินค้าชนิดต่าง ๆ จำหน่ายทั้งขายปลีก และขายส่ง รวมถึงสินค้ามือสองต่าง ๆ โดยภายในตลาดโรงเกลือนั้น มีตลาดย่อยภายในจำนวน 5 ตลาด[11] ได้แก่

  • ตลาดโกลเด้นเกต มีสินค้าหลายประเภทจำหน่าย ทั้งมือหนึ่งและมือสอง
  • ตลาดโรงเกลือใหม่ มีสินค้าประเภทแฟชั่นต่าง ๆ อาทิ กระเป๋าถือ กระเป๋าแบรนด์เนม
  • ตลาดโรงเกลือเก่า มีสินค้ามือสองในสภาพดีจำหน่าย โดยเน้นไปที่การขายส่ง
  • ตลาดเดชไทย มีสินค้าประเภทรองเท้าจำหน่ายเป็นส่วนใหญ่ ทั้งมือหนึ่งและมือสอง รวมถึงยังมีร้านรับซ่อมรองเท้าเก่า รองเท้าทหาร รองเท้าผ้าใบ และสินค้าประเภทอื่น ๆ ทั้งขายปลีก และขายส่ง
  • ตลาดเบญจวรรณ มีสินค้าใหม่มือหนึ่ง ในราคาขายส่งจากโรงงานมาจำหน่าย อาทิ กระเป๋าสะพาย เสื้อผ้า รองเท้า

นอกจากนี้ยังมีบ่อนคาสิโนขนาดใหญ่ในเมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก เปิดให้บริการเป็นจำนวนมากโดยในตลอดทั้งปีนั้นมีผู้ข้ามฝั่งไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในประเทศอื่น ๆ ที่เดินทางมาเที่ยวชมและเล่นการพนัน[12]

ด่านศุลกากร แก้

ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก[13] อยู่ภายในความดูแลของด่านศุลกากรอรัญประเทศ ตั้งอยู่เลขที่ 371 ถนนสุวรรณศร อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อยู่ห่างจากพรมแดนไทย - กัมพูชาประมาณ 1 กิโลเมตร[5]

ด่านตรวจคนเข้าเมือง แก้

ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก[14]

การเดินทาง แก้

จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก สามารถเดินทางมาได้ทั้งด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล และระบบขนส่งสาธารณะ[15] เพื่อเยี่ยมชมตลาดการค้าชายแดน และข้ามไปยังฝั่งกัมพูชา โดยก่อนหน้านี้จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึกเป็นเส้นทางหลักในการข้ามไปยังประเทศกัมพูชา ทำให้ในบางช่วงเวลาเกิดการจราจรที่ติดขัด[16] ทำให้ทางการไทยและกัมพูชาหารือกันเพื่แก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้ยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าบ้านเขาดินขึ้นเป็นจุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน เพื่อบรรเทาความหนาแน่นของจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก[17]

เส้นทาง แก้

จากจังหวัดสระแก้ว เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 (ถนนสุวรรณศร) ไปทางทิศตะวันออก มุ่งหน้าอำเภออรัญประเทศ เส้นทางจะสิ้นสุดบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก

ขนส่งสาธารณะ แก้

รถโดยสารประจำทาง แก้

ปัจจุบันมีการเดินรถโดยสารระหว่างกรุงเทพฯ อรัญประเทศ และการเดินรถจากกรุงเทพฯ ข้ามไปยังฝั่งกัมพูชา โดยมีปลายทางที่กรุงพนมเปญ ผ่านทางด่านพรมแดนถาวรบ้านคลองลึก ประกอบไปด้วย

  • การเดินรถภายในประเทศ
    • สายที่ 60 กรุงเทพฯ - อรัญประเทศ[18]
    • สายที่ 921 กรุงเทพฯ - องค์รักษ์ - อรัญประเทศ[18]
    • สายที่ 1675 อรัญประเทศ - สระแก้ว[18]
  • การเดินรถระหว่างประเทศ
    • เส้นทางสายที่ 12  กรุงเทพฯ – อรัญประเทศ – ปอยเปต – เสียมราฐ โดยบริษัท ขนส่ง จำกัด[19]
      • ขาไปออกจากกรุงเทพฯ เวลา 08.00 น. และ 09.00 น.
      • ขากลับออกจากเสียมราฐ เวลา 08.00 น. และ 09.00 น.
    • เส้นทางสายที่ 13  กรุงเทพฯ – อรัญประเทศ – ปอยเปต – พระตะบอง – พนมเปญ โดยบริษัท ขนส่ง จำกัด[20]
      • ขาไปออกจากกรุงเทพฯ เวลา 05.00 น.
      • ขากลับออกจากพนมเปญ เวลา 06.00 น.

รถไฟ แก้

 
ขบวนรถธรรมดาที่ 280 ขณะเข้าเทียบสถานีกรุงเทพซึ่งเป็นปลายทาง

สามารถนั่งรถไฟจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตามทางรถไฟสายตะวันออก มาที่สถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก มีการเดินขบวนรถทุกวัน โดยขบวนรถดังนี้

  • จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) กรุงเทพมหานคร
    • ขบวนรถธรรมดาที่ 275 ออกจากสถานีกรุงเทพ เวลา 05.55 น. ถึงสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก เวลา 11.17 น.
    • ขบวนรถธรรมดาที่ 279 ออกจากสถานีกรุงเทพ เวลา 13.05 น. ถึงสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก เวลา 17.27 น.
  • จากสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก จังหวัดสระแก้ว
    • ขบวนรถธรรมดาที่ 280 ออกจากสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก เวลา 06.58 น. ถึงสถานีกรุงเทพ เวลา 12.05 น.
    • ขบวนรถธรรมดาที่ 276 ออกจากสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก เวลา 13.53 น. ถึงสถานีกรุงเทพ เวลา 19.40 น.

โดยในอนาคตมีแผนที่จะกลับมาเดินรถเข้าไปในประเทศกัมพูชาอีกครั้ง ทั้งการบูรณะสะพานคลองลึกข้ามคลองพรมโหดที่เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาโดยฝ่ายไทย[21] และการเตรียมความพร้อมเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อและเดินรถ เหลือเพียงความพร้อมของกัมพูชาในการเริ่มเดินรถเท่านั้น[22]

การพัฒนา แก้

กรมศุลกากรได้ดำเนินการก่อสร้างด่านศุลกากรอรัญประเทศแห่งใหม่ บริเวณบ้านป่าไร่ หมู่ที่ 8ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว บนพื้นที่ราชพัสดุที่ได้รับมอบจากกรมธนารักษ์ เนื้อที่ 525 ไร่ 3 งาน อยู่ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึกประมาณ 10 กิโลเมตร[23] โดยวางศิลาฤกษ์อาคารด่านศุลกากรไปเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในปี พ.ศ. 2562[24]

สำหรับการพัฒนาดังกล่าวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น และรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยมีพื้นที่ของด่านศุลกากรสำหรับตรวจสินค้า และอาคารตรวจผู้โดยสารอยู่ในอาณาเขตเดียวกัน เพื่อความสะดวกรวดเร็วและรัดกุมในการควบคุมดูแลการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งบริเวณดังกล่าวเชื่อมต่อกับเมืองโอเนียง รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ปอยเปต - โอเนียง[24] แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนก็ตาม[25]

ปัจจุบันยังไม่มีการเชื่อมต่อเส้นทางและการเปิดใช้งานแต่อย่างใด[23] มีเพียงแนวคิดการใช้งานพื้นที่ชั่วคราวเพื่อใช้เป็นสถานที่กักตัวแรงงานจากประเทศกัมพูชาในการกักตัวเพื่อสังเกตอาการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปี พ.ศ. 2563[23]

อ้างอิง แก้

  1. "ปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก 14 วันเริ่มพรุ่งนี้เพื่อสกัดไวรัสโควิด-19". www.posttoday.com (ภาษาอังกฤษ). 2020-03-22.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "เปิดด่านอรัญฯ รับ 48 คนไทย จากบ่อนปอยเปต พบติดโควิด 37 ราย". www.thairath.co.th. 2021-06-10.
  3. "ชายแดนไทย กัมพูชา ตรงตลาดโรงเกลือ ใช้อะไรเป็นเขตแดนหรอครับ". Pantip.
  4. 4.0 4.1 "ข้อมูลช่องทางผ่านแดนและความตกลงเรื่องการสัญจรข้ามแดน - ตารางจุดผ่านแดนทั่วประเทศ 19 มี.ค. 2561 (ด้านกัมพูชา)". www.fad.moi.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "ประวัติด่านศุลกากรอรัญประเทศ | ด่านศุลกากรอรัญประเทศ - Arayaprathet Customs House". aranyaprathet.customs.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 พีรญา คงคาฉุยฉาย และ วัชรินทร์ ยงศิริ. (2549) ปฏิสัมพันธ์ของพ่อค้าชาวกัมพูชาในพื้นที่การค้าชายแดน : กรณีศึกษา ตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย:ม.ป.ท.
  7. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การขยายเวลาเปิดจุดผ่านแดนถาวรด้านจังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด และจังหวัดสุรินทร์. เก็บถาวร 2022-05-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่มที่ 120 ตอนพิเศษ 128 ง, วันที่ 7 พฤศจิกายน 2546. หน้า 12-13 (soc.go.th)
  8. "เปิดด่านคลองลึก-ปอยเปต วันแรกเงียบเหงา เฉลี่ยชั่วโมงละ 30 คน". bangkokbiznews. 2022-05-01.
  9. "คำถามที่พบบ่อยในช่วงสถานการณ์ COVID-19". สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ.
  10. "ตลาดชายแดนไทย-กัมพูชาเงียบเหงา หลังประกาศกฎหมายแรงงาน". Thai PBS. 2017-07-02.
  11. จังหวัดสระแก้ว. "Top 10 สถานที่ท่องเที่ยว - ตลาดโรงเกลือ". www.sakaeo.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  12. "5 คาสิโนดังในปอยเปต ที่มีความครบเครื่องเรื่องพนันมากที่สุด". เกมคาสิโนออนไลน์. 2020-11-21.[ลิงก์เสีย]
  13. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกรมศุลกากร ที่ 31/2563 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมศุลกากร ที่ 21/2561. เล่ม 137 ตอนพิเศษ 100 ง, วันที่ 29 เมษายน 2563. หน้า 27-28
  14. ตรวจเข้มชายแดนสระแก้ว สกัด ผกก.โจ้ หนีออกนอกประเทศ, สืบค้นเมื่อ 2022-05-25
  15. "ลงรถไฟไปเขมร! 1 ก.ค. ขยายเดินรถสายอรัญประเทศ ถึงด่านพรมแดนบ้านคลองลึก". mgronline.com. 2019-06-15.
  16. "รถติดหนักด่านคลองลึกชายแดนไทย-กัมพูชา". สำนักข่าวไทย อสมท. 2019-04-24.
  17. "รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-รัฐมนตรีเกษตรฯ ตรวจเยี่ยมด่านผ่านแดนบ้านเขาดิน จ.สระแก้ว". www.thaigov.go.th.
  18. 18.0 18.1 18.2 "หมายเลขเส้นทางเดินรถ - บขส". home.transport.co.th.
  19. "เส้นทางสายที่ 12 กรุงเทพมหานคร – เสียมราฐ - บขส". home.transport.co.th.
  20. "เส้นทางสายที่ 13 กรุงเทพมหานคร – พนมเปญ - บขส". home.transport.co.th.
  21. เนียมปาน, วันวิสข์ (2019-04-21). "ไทยจับมือกัมพูชาเชื่อมทางรถไฟ เตรียมนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปถึงพนมเปญ". The Cloud.
  22. "next station'ปอยเปต'นั่งฟินยาวๆไม่ต้องต่อรถให้เสียเวลา". dailynews. 2020-01-28.
  23. 23.0 23.1 23.2 "รมว.แรงงานตรวจชายแดนสระแก้ว เล็งใช้ด่านศุลกากรแห่งใหม่กักตัวแรงงานกัมพูชากว่าหมื่นคน - 77 ข่าวเด็ด". 2020-09-10.
  24. 24.0 24.1 "วางศิลาฤกษ์ด่านศุลกากรป่าไร่เชื่อมเมืองโอเนียง เสร็จปี 62". mgronline.com. 2017-08-02.
  25. "รมต.สำนักนายกฯลงพื้นที่ติดตามเขตเศรษฐกิจพิเศษ". bangkokbiznews. 2015-07-24.