จาง จฺวีเจิ้ง (จีนตัวย่อ: 张居正; จีนตัวเต็ม: 張居正; พินอิน: Zhāng Jūzhèng; เวด-ไจลส์: Chang Chü-cheng) (ชาตะ: 24 พฤษภาคม[1] ค.ศ. 1525, เทศมณฑลเจียงหลิง มณฑลหูเป่ย์; มตะ: 9 กรกฎาคม[2] ค.ศ. 1582, กรุงปักกิ่ง; (57 ปี 46 วัน)) เป็นมหาอำมาตย์ (จีน: 內閣; พินอิน: Nèigé, เน่ย์เก๋อ; อังกฤษ: Grand Secretary) แห่งราชวงศ์หมิงของประเทศจีน ในรัชศกหลงชิ่งและว่านลี่

จาง จฺวีเจิ้ง
เกิด24 พฤษภาคม ค.ศ. 1525
เทศมณฑลเจียงหลิง มณฑลหูเป่ย์
ถึงแก่กรรม9 กรกฎาคม ค.ศ. 1582
(57 ปี 46 วัน)
กรุงปักกิ่ง
ตำแหน่ง(内阁首辅)
เน่ย์เก๋อโฉวฝู่ลำดับที่ 47
วาระค.ศ. 1572ค.ศ. 1582
(10 ปี 0 วัน)
ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนเกา ก๋ง
ผู้สืบตำแหน่งจาง ซื่อเหวย์ (จีน: 張四維; พินอิน: Zhāng Sìwéi)

ประวัติ

แก้

จาง จฺวีเจิ้งได้เผชิญประสบการณ์ความผันผวนอันร้ายกาจทางการเมืองนับแต่เริ่มรับราชการเมื่ออายุยี่สิบหกปีในรัชศกหลงชิ่ง ซึ่งการปกครองอ่อนแอและเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างกว้างขวาง ก่อนจะไต่เต่าขึ้นมาตามตำแหน่งเรื่อย ๆ ต่อมาจาง จฺวีเจิ้งได้ร่วมมือกับมหาอำมาตย์เกา ก่ง (จีน: 高拱; พินอิน: Gāo Gǒng) ในการบริหารราชการร่วมกัน ก่อนจะหันไปร่วมมือกับมหาขันทีชื่อ เฝิง เป่า (จีน: 馮保; พินอิน: Féng Bǎo) เพื่อบีบบังคับให้เกา ก่งออกจากราชการกลับไปยังบ้านเกิด และจาง จฺวีเจิ้งก็เข้าสวมตำแหน่งมหาอำมาตย์แทน

แม้จะได้ตำแหน่งมาโดยวิธีการอันมิชอบ ทว่า การบริหารอย่างประเสริฐ และรัฐประศาสโนบายอันเข้มแข็งด้านการต่างประเทศและเศรษฐกิจ ซึ่งจาง จฺวีเจิ้งดำเนินไปในระยะเวลาสิบปีของการอยู่ในตำแหน่งมหาอำมาตย์นั้น ส่งผลให้ยุคสมัยของเขารุ่งเรืองที่สุดในราชวงศ์หมิง จาง จฺวีเจิ้งเป็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องการรวมศูนย์อำนาจการปกครอง การจำกัดเอกสิทธิ์ของชนชั้นสูง และการสำรวจที่ดินเพื่อปฏิรูประบบภาษี ในบั้นต้นรัชศกว่านลี่ซึ่งเสวยราชย์แต่ทรงพระเยาว์นั้น จาง จฺวีเจิ้งยังปฏิบัติหน้าที่สำคัญหลายประการ ทั้งเป็นพระอาจารย์ของพระมหากษัตริย์ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นอาทิ ในฐานะพระอาจารย์นั้น จาง จฺวีเจิ้งมีอิทธิพลต่อพระมหากษัตริย์ และพยายามประคับประคองพระมหากษัตริย์ตลอดพระชันษาอันเยาว์วัยให้ตลอดรอดฝั่ง ทว่าเมื่อว่านลี่เจริญพระชันษาขึ้น กลับทรงเบื่อหน่ายและมีพระราชหฤทัยรังเกียจจาง จฺวีเจิ้งขึ้นโดยลำดับ เหตุว่ามีพระราชสันดานใฝ่ในกามราคะ และมีพระราชประสงค์จำนงหมายจะบริหารอำนาจการปกครองโดยลำพัง ขณะที่จาง จฺวีเจิ้งกลับคอยกวดขันพระราชจริยวัตรเป็นอาจิณ นอกจากนี้ จาง จฺวีเจิ้งยังมิอาจควบคุมรายจ่ายของราชสำนัก เหตุว่าว่านลี่ทรงใช้พระราชทรัพย์เปลืองไปในทางปรนเปรอพระองค์เป็นอันมาก[3][4]

เมื่อจาง จฺวีเจิ้งถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1582 อันเนื่องมาจากความเหนื่อยล้าที่ทุ่มเทเพื่อแผ่นดินจนมิได้พักผ่อนติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ส่วนการปฏิรูปของจาง จฺวีเจิ้งที่กำลังไปได้ก็ดีนั้น ว่านลี่ก็มีพระราชโองการให้ยกเลิกบ้าง และไม่ทรงนำพาบ้าง ทั้งยังไม่ทรงปฏิบัติพระราชกิจเช่นที่เคย ไม่ทรงออกว่าราชการมากขึ้นโดยลำดับ กลับทรงแสวงแต่จะสำราญพระราชหฤทัย ทรงใช้จ่ายพระราชทรัพย์อย่างสุรุ่ยสุร่าย และขูดรีดประชาชนอย่างกว้างขวาง จนส่งผลให้ราชวงศ์หมิงล่มสลายอย่างช้า ๆ

อนึ่ง เมื่อจาง จฺวีเจิ้งถึงแก่อสัญกรรมแล้วไม่ถึงสองปีนั้น ว่านลี่ก็มีพระราชโองการให้ถอดยศจาง จฺวีเจิ้งย้อนหลัง ให้ทำลายป้ายเกียรติคุณและผลงานต่าง ๆ ของจาง จฺวีเจิ้ง ให้ประหารตระกูลจางทั้งตระกูล และให้ริบราชบาตรเสียสิ้น[3]

จนเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษหลังจากนั้น ในรัชสมัยฉงเจิน ผู้ทรงพระราชอุตสาหะจะกอบกู้บ้านเมืองที่กำลังล่มจมลงอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปกครองอันเหลวแหลกโดยพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ หน้า ฉงเจินได้ทรงพระอนุสรถึงจาง จฺวีเจิ้ง และได้มีพระราชโองการให้คืนเกียรติยศทั้งปวงให้แก่จาง จฺวีเจิ้ง ให้อนุรักษ์บ้านพักที่เขาเคยอาศัยในมณฑลหูเป่ย์ และให้สร้างรูปเคารพของเขาไว้หน้าบ้าน ซึ่งปัจจุบันจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจาง จฺวีเจิ้ง[5]

บทสนทนาเรื่องตำราสี่เล่ม

แก้

ใน ค.ศ. 1573 จาง จฺวีเจิ้งได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแก่ว่านลี่ซึ่งอรรถกถาตำราคำสอนขงจื๊อสี่เล่ม ขนานชื่อว่า "บทสนทนาเรื่องตำราสี่เล่ม" (จีน: 四书直解; พินอิน: Si Shu Zhijie; อังกฤษ: Colloquial Commentary on the Four Books) และอรรถกถาของจาง จฺวีเจิ้งได้รับตีพิมพ์เผยแพร่ในระหว่าง ค.ศ. 1573 ถึง ค.ศ. 1584

เมื่อจาง จฺวีเจิ้งถึงแก่อสัญกรรมแล้ว อรรถกถาดังกล่าวรอดพ้นจากการถูกล้างผลาญตามพระราชโองการของว่านลี่ และได้รับตีพิมพ์เผยแพร่อีกในราว ๆ ค.ศ. 1651 ถึง ค.ศ. 1683 ผู้อ่านต่างยกย่องว่าเป็นหนังสือดีอย่างประเสริฐเล่มหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน[6]

ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อรรถกถาดังกล่าวของจาง จฺวีเจิ้งก็เป็นที่เลื่องลือยิ่งขึ้น เมื่อคณะมิสชันนารีนิกายเยซูอิตเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในจีน เพราะจาง จฺวีเจิ้งตั้งใจเขียนให้เป็นปรัชญาสั่งสอนพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระเยาว์ในฐานะที่เป็นพระอาจารย์ โดยใช้ภาษาเรียบง่ายเพื่อให้เด็กอ่านแล้วเข้าใจ ชนิดเรียบง่ายยิ่งกว่าอรรถกถาที่ลัทธิขงจื๊อใหม่เขียนเผยแพร่ในภายหลัง ทำให้อรรถกถาของจาง จฺวีเจิ้งได้รับการอ้างถึงเป็นอันมาก และต่อมาก็ได้พิมพ์เผยแพร่ในกรุงปารีสเมื่อ ค.ศ. 1687[7]

ในวรรณกรรม

แก้
 
ป้ายโฆษณาภาพยนตร์จีนชุด "ว่านลี่โชวโฝ่วจางจฺวีเจิ้ง"

ในหนังสือสารคดีของ เรย์ หวง (อังกฤษ: Ray Huang) เรื่อง "1587 : อะเยียร์ออฟโนซิกนีฟีแคนซ์" (อังกฤษ: 1587: A Year of No Significance, "ค.ศ. 1587 ปีที่ไม่มีอะไรสำคัญ") จางจฺวีเจิ้งเป็นตัวละครเอก

ในวรรณกรรมอินเทอร์เน็ตอันเป็นที่นิยมมากในจีนแผ่นดินใหญ่ เรื่อง "เดอะหมิงไดนาสตีส์อีเวนส์" (อังกฤษ: The Ming Dynasty's Events, "เหตุการณ์บ้านเมืองหมิง") จางจฺวีเจิ้งก็เป็นตัวละครเอก

ใน ค.ศ. 2006 จีนแผ่นดินใหญ่ได้จัดทำภาพยนตร์ชุด เรื่อง "ว่านลี่โชวโฝ่วจางจฺวีเจิ้ง" (จีน: 万历首辅张居正; พินอิน: wàn lì shǒu fǔ zhāng jūzhèng, "มหาอำมาตย์จาง จฺวีเจิ้ง ของว่านลี่") ชื่อภาษาอังกฤษว่า "The Great Reformer" นำแสดงโดย ถัง กั๋วเฉียง และทีวีไทยนำออกฉายในประเทศไทยเมื่อกลาง ค.ศ. 2010 ให้ชื่อว่า "มหาบุรุษ จางจฺวีเจิ้ง"

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. http://baike.baidu.com/view/27396.htm
  2. http://baike.baidu.com/view/27396.htm
  3. 3.0 3.1 "Encyclopedia Britannica". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-05. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
  4. http://www.boysapolclub.com/Forums/index.php?topic=1781.0
  5. http://www.boysapolclub.com/Forums/index.php?topic=1781.0
  6. Mungello, David E. (1989). Curious Land: Jesuit Accommodation and the Origins of Sinology. University of Hawaii Press. p. 268–269. ISBN 0824812190.
  7. Mungello, p. 270
ก่อนหน้า จาง จฺวีเจิ้ง ถัดไป