จริยธรรมทางธุรกิจ

จริยธรรมทางธุรกิจ (Business Ethics) เป็นรูปแบบของการปรับใช้หลักจริยธรรม (ethics) กับการบริหารงานและการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจ กล่าวคือเมื่อการดำเนินธุรกิจเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการแสวงหากำไร การประกอบการดังกล่าวมักต้องประสบกับคำถามทางจริยธรรม เช่น ปัญหาเรื่องค่าแรง ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทำให้องค์กรธุรกิจต้องมีการประเมินว่าจะตัดสินใจอย่างไรระหว่างต้นทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ หรือกล่าวว่าธุรกิจจะต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นนอกจากการแสวงหากำไรและรับผิดชอบต่อผลสะเทือน (impact) ที่เกิดมาจากการตัดสินใจนั้น จริยธรรมทางธุรกิจจึงเป็นการนำเรื่องของคุณค่าเชิงปทัสถาน (normative value) เข้าไปพิจารณาร่วมกับการตัดสินใจทางธุรกิจที่เน้นการแสวงหากำไร (Kurian, 2011: 521-524)[1]

อรรถาธิบาย

แก้

จริยธรรม (ethics) หมายถึง หลักการหรือความสำคัญในการตัดสินใจว่าสิ่งใดถูกหรือผิดบนฐานของคุณธรรมบางประการ (morality) อันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของคนในสังคม หรือกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ทางสังคมจะกำหนดรูปแบบของคุณธรรมที่เป็นมาตรฐานคอยชี้วัดว่าสิ่งใดถูกหรือผิด เมื่อคำว่าจริยธรรมมาอยู่กับคำว่า “ธุรกิจ” ทำให้การประกอบธุรกิจในการแสวงหากำไรต้องคำนึงถึงคุณธรรมบางอย่างที่บอกว่าสิ่งใดถูกและสิ่งใดผิด จริยธรรมทางธุรกิจจึงเป็นอีกมาตรฐานหนึ่งที่ภาคเอกชนต้องคำนึงถึง โดยนายเดวิด แพคการ์ด (David Packard) ผู้ก่อตั้ง ฮิวเวตต์ แพคการ์ด (Hewlett-Packard) บริษัทคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีชื่อดัง ได้กล่าวไว้ว่า

…ใช่ การแสวงหากำไรเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่เราต้องทำ กำไรเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จและการเจริญเติบโตขององค์กร แต่มันไม่ใช่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในความเป็นจริงแล้วการเป็นผู้ชนะทางธุรกิจจะถูกตัดสินใจจากสายตาของลูกค้าและสิ่งที่ทำให้คุณภูมิใจ มันเป็นตรรกะที่สมเหตุสมผล ถ้าเราสามารถจัดหาสิ่งที่ลูกค้าพอใจมาได้ เราก็จะสามารถได้กำไร...” (U.S. Department of Commerce, 2004: 4)[2]

นอกจากนี้ นักเขียนทางเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมชื่อดังอย่างมิลตัน ฟรายด์แมน (Milton Friedman) ได้กล่าวไว้ว่า

“…บริษัทต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้างโดยตรง และความรับผิดชอบ (ของผู้บริหาร) โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการทำเงินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องทำให้สอดคล้องกับกติกาทางสังคมด้วย ทั้งในด้านของกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติเชิงจริยธรรม …” (Friedman, 1970)[3]

ในโลกตะวันตก จริยธรรมทางธุรกิจถูกให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นพร้อมกับแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบทางสังคมของบรรษัท (corporate social responsibility) ตัวอย่างเช่น มีการจัดทำนิตยสารออนไลน์ Business Ethics[4] เพื่อติดตามการทำงานของภาคธุรกิจในเรื่องของจริยธรรม ธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบของบริษัท และความรับผิดชอบต่อสังคมอันเนื่องมาจากการลงทุน โดยนิตยสารดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมจริยธรรมในการปฏิบัติงานทางธุรกิจ และสนับสนุนการเติบโตของชุมชนผู้ปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพและการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ

จริยธรรมทางธุรกิจ เป็นแนวคิดที่สำคัญมากในสังคมปัจจุบันในการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับองค์กรธุรกิจ เพื่อให้ต้องหาสมดุลระหว่างผลกำไรและความรับผิดชอบต่อสังคม จริยธรรมทางธุรกิจเป็นมาตรการคอยกำกับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนที่จะบอกว่าสิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิด ความเหมาะสม ของการแสวงหาผลประโยชน์อยู่ที่ใด นอกจากนี้ จริยธรรมทางธุรกิจทำให้การแสวงหากำไรจากการประกอบกิจการสามารถเป็นสิ่งที่ยอมรับได้จากสังคมและกลุ่มทางสังคมอื่นๆ เพราะประเมินแล้วว่าเป็นการแสวงหากำไรที่สมเหตุสมผล ไม่เกินพอดี หรือสร้างปัญหาให้แก่สภาพแวดล้อมและชุมชนในระยะยาว

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย

แก้

สำหรับสังคมไทย จริยธรรมทางธุรกิจเป็นมาตรฐานในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การผลิตสินค้า การบริโภค การบริหาร และการจัดจำหน่ายให้ได้รับผลตอบแทนตามสมควรและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ขาย ผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้บริโภค เพราะถือว่าทุกตัวแสดงที่เข้ามามีความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างกันจำเป็นต้องมีจริยธรรมในการปฏิบัติต่อกัน

ในทางปฏิบัติแล้ว เรื่องของจริยธรรมทางธุรกิจได้รับความสนใจหลังจากการเคลื่อนไหวใหญ่ของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และการส่งเสริมจริยธรรมและธรรมาภิบาลในระบบเศรษฐกิจหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 เรื่องของความโปร่งใส การตรวจสอบได้ และความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจในภาคเอกชน แต่เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เรื่องของจริยธรรมทางธุรกิจถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นคือความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองโดยตรงของนักธุรกิจ หรือการให้เงินอุดหนุนพรรคการเมืองเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ และกดดันโดยอ้อมผ่านองค์กรต่างๆ จนทำให้เกิดข้อกังขาในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และการขัดกันเองในทางจริยธรรมทั้งทางธุรกิจและการเมือง เช่น การประมูลและล้มประมูล 4G การออกกฎหมายเอื้อต่อธุรกิจโทรคมนาคมและดาวเทียม และการปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาลพม่า หรือการที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติจำนวนมากเปิดกิจการโมเดิร์นเทรดทุกมุมเมือง แข่งกับร้านขายของชำตามมุมถนนแบบดั้งเดิม ที่เรียกกันตามภาษาจีนว่าร้านโชห่วย ซึ่งทำให้ทุนขนาดเล็กหลายเจ้าต้องปิดกิจการไป เข้าลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงมาตรฐานทางจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ทั้งที่กำกับโดยรัฐ และโดยกลุ่มทุนเอง

ในทางปฏิบัติพบปัญหาว่า สังคมไทยแทนที่จะกล่าวถึงจริยธรรมทางธุรกิจเพื่อยกระดับความรับผิดชอบของกลุ่มทุนต่อลูกจ้าง ต่อลูกค้า ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม กลับมีการใช้คำว่าจริยธรรมทางธุรกิจเพื่อเป็นเครื่องมือจัดการฝ่ายตรงข้าม ซึ่งผลคือทำให้จริยธรรมถูกลดค่าเป็นเพียงอาวุธที่ไม่ได้มีเนื้อหา (substantive) ปัญหานี้จึงต้องกลับมาพิจารณาจริยธรรมในฐานะหลักการว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด จริยธรรมทางธุรกิจจึงเป็นเรื่องของกระบวนการ (process) ไม่ใช่แค่เรื่องของผลลัพธ์ (consequential) หรือเครื่องมือ (instrument)[5]

อ้างอิง

แก้
  1. Charney, Evan (2011). “Ethics, Political”. In George Thomas Kurian et al. The Encyclopedia of Political Science. Washington, D.C.: CQ Press.
  2. U.S. Department of Commerce (2004). Business Ethics: A Manual for Managing a Responsible Business Enterprise in Emerging Market Economics. Washington. D.C.: International Trade Administration.
  3. Friendman, Milton (1970). “The Social Responsibility of Business is to Increase Its Profits”. In The New York Times Magazine, September 13.
  4. http://business-ethics.com/
  5. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี (2557), คำและแนวคิดประชาธิปไตยสมัยใหม่, เข้าถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ใน http://www.fes-thailand.org/wb/media/documents/Democ%20Terms%20and%20Concept%20Handbook_Final28112014_compressed%282%29.pdf เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน