การแต่งกายของพม่า

การแต่งกายของพม่า การแต่งกายของพม่านั้นมีรูปแบบที่หลากหลายขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ, สภาพภูมิศาสตร์, สภาพภูมิอากาศ, ประเพณีวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละภูมิภาคของประเทศพม่า การแต่งกายที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของชาวพม่าคือ โลนจี เป็นโสร่งแบบหนึ่งจัดเป็นการแต่งกายประจำชาติ สวมใส่ทั้งชายและหญิงทั่วประเทศ เสื้อผ้าพม่ายังมีความหลากหลายในแง่ของสิ่งทอสาน เส้นใย สี และวัสดุ เช่น ผ้ากำมะหยี่ ผ้าไหม ผ้าลูกไม้ ผ้ามัสลิน และผ้าฝ้าย

ประวัติ แก้

สมัยพุกาม แก้

 
ภาพประกอบแสดงเสื้อผ้าในสมัยพุกาม

ในสมัยพุกามแม้ว่าผ้าฝ้ายจะเป็นวัสดุสิ่งทอที่ใช้กันมากที่สุด แต่สิ่งทอนำเข้าอื่น ๆ เช่น ผ้าไหม ผ้าซาติน และกำมะหยี่ ก็ถูกนำมาใช้ในเครื่องแต่งกายของชาวพม่าเช่นกัน[1] การค้าขายกับดินแดนใกล้เคียงมีมาตั้งแต่สมัยปยู และได้เสริมสร้างวัฒนธรรมทางวัตถุด้วยสิ่งทอนำเข้าที่ใช้สำหรับพิธีกรรมและการแต่งกาย[1] ตัวอย่างเช่น มีนกะลาเซดี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้านรสีหบดี ภายในบรรจุสิ่งของที่ทำด้วยผ้าซาตินและผ้ากำมะหยี่ซึ่งไม่ได้ผลิตในท้องถิ่น[1]

กษัตริย์และเจ้าชายในสมัยพุกามสวมเสื้อคลุมที่เรียกว่า วุทโลน (ဝတ်လုံ), ดุยิน (ဒုယင်), และ โตยีน (သိုရင်း) เป็นเครื่องแต่งกายชั้นสูง ขณะที่การสวมผ้าเตี่ยวคล้ายโดติ เป็นเครื่องแต่งกายชั้นต่ำ[1] สตรีชนชั้นสูงสวมเสื้อเกาะอกท่อนบนที่เรียกว่า ยีนซิ (ရင်စေ့) ทับเสื้อชั้นในสตรี ก่อนที่จะสวมชุดคลุมกายหลวม ๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายส่าหรีที่ยาวกว่าและกางเกงทรงหลวม ซึ่งได้รับความนิยมในสมัยพุกามตอนหลัง[1] มีการปักทองและเงินตามยศทางสังคม เครื่องแต่งกายและลายดอกไม้คุณภาพสูงสวมใส่โดยชนชั้นสูงและชนชั้นปกครอง[1]

สมัยโก้นบอง แก้

 
พระมหากษัตริย์และข้าราชบริพารชาวพม่าแต่งกายด้วยชุดพระราชพิธีในพิธีแรกนาขวัญ

การแต่งกายถือเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชีวิตในพม่าก่อนสมัยอาณานิคม นักเดินทางชาวต่างชาติรายงานว่ามีเครื่องทอผ้าในทุกครัวเรือน ซึ่งช่วยให้ผู้หญิงทุกคนสามารถทอเสื้อผ้าใช้ในชีวิตประจำวันของครอบครัวได้[2] วินเชนโซ ซันแกร์มาโน บาทหลวงชาวอิตาลีซึ่งประจำการอยู่ในอาณาจักรโก้นบอง ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สังเกตว่าคนในท้องถิ่นแต่งกายงดงามและฟุ่มเฟือย[3] พิธีเจาะหูสำหรับเด็กผู้หญิงถือเป็นพิธีกรรมสำคัญ ชาวบ้านเหล่านั้นประดับด้วยทองคำและเงิน รวมทั้งแหวนที่ตกแต่งด้วยอัญมณี สร้อยคอ กำไล และกำไลข้อเท้า[3] เครื่องประดับเหล่านี้มาพร้อมกับเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิม ประกอบด้วย ปาโซ ซึ่งสวมใส่โดยผู้ชาย และ ทะเมียน ซึ่งสวมใส่โดยผู้หญิง ทั้งสองอย่างทำจากผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม[3] สวมรองเท้าแตะไม้หรือรองเท้าหนัง[3] ชายและหญิงแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายที่ดีที่สุด รวมทั้งเสื้อคลุมที่มีการประดับเพื่อไปเยี่ยมชมเจดีย์และงานสำคัญอื่น ๆ[3]

กฎหมายป้องกันความฟุ่มเฟือย ที่เรียกว่า ยาซาไกง์ กำหนดวิถีชีวิตและการบริโภคสำหรับชาวพม่าในสมัยราชวงศ์โก้นบอง ทุกอย่างตั้งแต่รูปแบบของที่พักอาศัยไปจนถึงเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสถานะทางสังคมของคน ๆ นั้น กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพิธีศพและโลงศพ รวมไปถึงการใช้รูปแบบการพูดต่าง ๆ ตามลำดับสถานภาพทางสังคม[4][5][6] โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎระเบียบการแต่งกายในเมืองหลวงของราชวงศ์เป็นสิ่งที่เข้มงวดและมีความซับซ้อนมากที่สุด[7] กฎเกณฑ์ที่ควบคุมการแต่งกายและการประดับตกแต่งได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นแนวทางในการจัดลำดับชั้นทางสังคม

เครื่องหมายนกยูง ถูกสงวนไว้อย่างเคร่งครัดสำหรับราชวงศ์ เสื้อคลุมยาวประกบตัวถึงสะโพกอย่าง ไทง์มะเต้น ถูกสงวนไว้ให้ใส่สำหรับเจ้าหน้าที่ในราชสำนัก[8] ผ้าที่มีดิ้นโลหะเลื่อมและงานปักจำกัดเฉพาะราชวงศ์ เจ้าหน้าที่ระดับสูง และเจ้าประเทศราช (เจ้าฟ้า)[2] รองเท้ากำมะหยี่ถูกสงวนไว้สำหรับราชวงศ์และภรรยาขุนนางชั้นสูง[4] การประดับด้วยอัญมณีและหินมีค่ามีการควบคุมด้วยเช่นเดียวกัน การใช้ ฮีนตะปะด้า (ဟင်္သပဒါး) สีย้อมสีชาดที่สกัดจากซินนาบาร์ ก็มีการควบคุม[4]

สมัยอาณานิคม แก้

 
ภาพครอบครัวชาวพม่าแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20
 
หญิงชาวมัณฑะเลย์แต่งกายด้วยชุด ทะเมียน ที่สวมใส่กันทั่วไปจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

การปกครองอาณานิคมนำไปสู่การล่มสลายของกฎหมายควบคุม ซึ่งต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีนของฝรั่งเศส ระบอบกษัตริย์ของพม่าถูกล้มล้างอย่างสิ้นเชิง ทำให้เกิดสุญญากาศทันทีสำหรับการสนับสนุนวัฒนธรรมทางวัตถุ สถาบันต่าง ๆ และจารีตประเพณี[9] สมัยอาณานิคมเป็นจุดเริ่มต้นของคลื่น ผู้ดีใหม่ ที่ไม่ใช่ชนชั้นสูงเก่า มีการพยายามนำรูปแบบและการแต่งกายของชนชั้นสูงสมัยก่อนอาณานิคมมาใช้[2]

ในช่วงสมัยอาณานิคมของอังกฤษ เสื้อผ้าได้รับความหมายใหม่ในชีวิตของชาวพม่า โดยเป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านอาณานิคม[10] เหล่าชาตินิยมชาวพม่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยอโลนจี (ယောလုံချည်) รูปแบบหนึ่งของโลนจีจากแคว้นยอ และ ปีนนีไตโปนเอ้นจี (ပင်နီတိုက်ပုံအင်္ကျီ) เสื้อคลุมคอจีนสีเหลืองอมน้ำตาล ให้ความรู้สึกต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมและเสริมชาตินิยม ชาวพม่าที่สวมชุดลักษณะนี้ถูกตำรวจอังกฤษจับกุม[10][11] การสวมเสื้อผ้า "แบบดั้งเดิม" ถูกมองว่าเป็นรูปแบบของการต่อต้านเชิงตั้งรับในหมู่ชาวพม่า[11][10] ด้วยแรงบันดาลใจจากขบวนการสวาเดชีของ คานธี ชาวพม่าชาตินิยมยังได้รณรงค์คว่ำบาตรสินค้านำเข้า รวมทั้งเสื้อผ้า เพื่อส่งเสริมการบริโภคเสื้อผ้าที่ผลิตในท้องถิ่น[10]

รูปแบบเสื้อผ้าก็มีการพัฒนาในสมัยอาณานิคมเช่นกัน รูปแบบเสื้อผ้า ตองเช ปาโซ และ ทะเมียน หมดความนิยม มักนิยม โลนจี ที่เรียบง่ายและสวมใส่สะดวกกว่า[2] โสร่งแบบผู้หญิง ทะเมียน หรือ ทะบี (ထဘီ) สั้นลงไม่ยาวไปถึงเท้าถึงเพียงแต่ข้อเท้า และความยาวของผ้าซิ่นช่วงบนลดลงเปิดเผยรอบเอวมากขึ้น[12] ช่วงนี้ยังได้เห็นการนิยมเสื้อมัสลินสำหรับสตรี เผยให้เห็นชุดภายในของสตรีที่เรียกว่า ซาบอลี (ဇာဘော်လီ) การปกครองของอังกฤษยังมีอิทธิพลต่อแฟชั่นทรงผมและการแต่งกาย เครื่องประดับแบบตะวันตก เช่น เข็มขัดและรองเท้าหนัง มักสวมใส่กับเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิม[13] การตัดผมทรงสั้นที่เรียกว่า โบเก (ဗိုလ်ကေ) ถูกแทนที่การไว้ผมยาวซึ่งเป็นเรื่องปกติในหมู่ผู้ชายชาวพม่า[12] ในทำนองเดียวกันผู้หญิงเริ่มไว้ทรงผมเช่น อะเมาะ (အမောက်) ประกอบด้วยมวยผมแบบเรียบง่ายขดอยู่ด้านบนศีรษะ แทนการไว้มวยผมแบบดั้งเดิม (ဆံထုံး)[12] การสักแบบพม่าดั้งเดิมก็ได้รับความนิยมลดลงเช่นเดียวกัน

สมัยใหม่ แก้

 
นักดนตรีดีดซองเกาะ สวมเสื้อแบบดั้งเดิม อะเชะ ไทง์มะเต้น

หลังเอกราช ได้มีการเสริมบทบาทสำคัญของเสื้อผ้าให้เป็นอัตลักษณ์ประจำชาติพม่า ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พยายามที่จะปรับปรุงเสื้อผ้าสำหรับพลเมืองของตน (เช่น สยามที่ได้รับจากรัฐนิยม หรืออินโดนีเซียที่สนับสนุนให้ผู้ชายสวมกางเกงขายาวแทน โสร่ง) รัฐบาลพม่าได้สนับสนุนให้ทั้งชายและหญิงสวมใส่ โลนจี ในชีวิตประจำวัน[2] การปราศรัย ปี พ.ศ. 2494 ในการประชุมวัฒนธรรมอินเดียพม่า นายกรัฐมนตรี อู้นุ กล่าวว่าการแต่งกายเป็นสัญลักษณ์เด่นประการหนึ่งของชาติ[10][2] แนวคิดวิถีพม่าสู่สังคมนิยมยังส่งเสริมการสวมเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมพร้อมสนับสนุนเสื้อผ้าตะวันตก[9]

ชุดประจำชาติ แก้

โลนจี แก้

 
การแต่งกายของสตรีสมัยก่อนอาณานิคมในชุด ทะเมียน

ชุดประจำชาติของพม่าคือโลนจี (လုံချည်, เสียงอ่านภาษาพม่า: [lòʊ̯ɰ̃.d͡ʑì]) โสร่งยาวถึงข้อเท้าสวมใส่ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โลนจี ในรูปแบบใหม่เป็นที่นิยมในช่วงสมัยอาณานิคมของอังกฤษแทนที่ ปาโซ การแต่งกายแบบดั้งเดิมซึ่งสวมใส่โดยผู้ชาย และ ทะเมียน ซึ่งสวมใส่โดยผู้หญิงก่อนสมัยอาณานิคม

ทะเมียน ช่วงก่อนอาณานิคมมีรูปแบบลักษณะเป็นชุดยาว เรียกว่า เยตีน่า (ရေသီနား) จะเห็นได้ในยุคปัจจุบันเฉพาะเป็นเครื่องแต่งกายในงานแต่งงานหรือชุดเต้นรำ ในทำนองเดียวกัน ปาโซ ก่อนสมัยอาณานิคมมักสวมใส่ระหว่างการแสดงบนเวที รวมถึงการเต้นรำและการแสดงอะเญน ตลอดจนงานแต่งงานหรืองานสังคมชั้นสูง

ผ้าทออะเชะ แก้

 
สมาชิกสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐของพม่า แต่งกายในชุดโลนจีอะเชะ

ผ้าลวดลายพื้นเมืองพม่า เรียกว่า อะเชะ (အချိတ်, [ʔə.t͡ɕʰeɪ̯ʔ]) หรือ ลู่นตะยา อะเชะ (လွန်းတစ်ရာအချိတ်) มีลักษณะเป็นลายลอนคลื่นที่สลับซับซ้อนแถบแนวนอน ที่ประดับด้วยการออกแบบคล้ายลายอาหรับ ลู่นตะยา (လွန်းတစ်ရာ, [lʊ́ɰ̃.tə.jà]) ซึ่งแปลตรงตัวว่า "กระสวยร้อยอัน" สื่อถึงกระบวนการที่ต้องใช้เวลามาก มีราคาแพงและซับซ้อน ซึ่งต้องใช้กระสวย 50 ถึง 200 ตัว แต่ละอันมีสีผ้าไหมที่ต่างกัน[14][15] การทอผ้าต้องใช้แรงงานคนมาก โดยต้องใช้ช่างทออย่างน้อยสองคนจัดการกระสวยเพื่อให้ได้รูปแบบคล้ายเกลียวคลื่น[2]

อะเชะ มักใช้เป็นสิ่งทอสำหรับ ปาโซ ของผู้ชาย และ ทะเมียน ของผู้หญิง รูปแบบสีใน อะเชะ มักใช้สีที่ตัดกันเพื่อสร้างเอฟเฟกต์ ศิลปะเชิง 3 มิติ[2] รูปแบบสำหรับผู้ชายมักเป็นลวดลายซิกแซก หรือลวดลายที่ประสานกันง่ายกว่า ในขณะที่สำหรับผู้หญิงจะผสมผสานลายเกลียวคลื่นเข้ากับการตกแต่งแบบอาหรับ เช่น ลวดลายดอกไม้หรือไม้เลื้อย[2]

เมืองอมรปุระและวู่น-ดวี่น ยังคงเป็นศูนย์กลางการทอผ้า อะเชะ แบบดั้งเดิมในประเทศ แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะมีการเลียนแบบจากโรงงานที่มีราคาถูกกว่าจากจีน และ อินเดีย ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอแบบดั้งเดิมของพม่าอย่างมาก[16]

การทอผ้า อะเชะ มีต้นกำเนิดที่อมรปุระ ใกล้กับเจดีย์ปะโท่ดอจี้[17] ชื่อ อะเชะ อาจมาจากชื่อของย่านที่ช่างทออาศัยอยู่ และเชะด้าน (လက်ချိတ်တန်း) คำนี้เคยถูกเรียกมาก่อน ไวก์ (ဝိုက်) ซึ่งหมายถึงลวดลายทอซิกแซก[17]

แม้ว่าบางแหล่งอ้างว่ารูปแบบ อะเชะ ได้รับมาจากช่างทอผ้ามณีปุระช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ไม่มีสิ่งทอของมณีปุระที่เทียบเคียงลักษณะคล้ายกับ อะเชะ[2] รูปแบบคล้ายคลื่นอาจได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ (เช่น คลื่น เมฆ พืชและสัตว์พื้นเมือง)[17] ลวดลาย อะเชะ พบได้ในเครื่องปั้นดินเผาที่มีอายุย้อนกลับไปถึงนครรัฐปยู เช่นเดียวกับภาพวาดฝาผนังของวัดที่มีอายุย้อนกลับไปถึงสมัยอาณาจักรพุกาม[2] ของขวัญบรรณาการที่มอบให้กับราชสำนักพม่าอาจเป็นแหล่งบันดาลใจเพิ่มเติมด้วย[17] สิ่งทอดังกล่าวได้รับความนิยมในสมัยราชวงศ์โก้นบอง ซึ่งมีกฎหมายป้องกันความฟุ่มเฟือย ควบคุมว่าใครสามารถสวมเสื้อผ้า อะเชะ ได้[18] รูปแบบ อะเชะ สวมใส่โดยราชวงศ์ เจ้าหน้าที่ และผู้ติดตามเท่านั้น[17]

เสื้อคลุมไตปอน แก้

สำหรับงานธุรกิจและโอกาสที่เป็นทางการ ชายชาวพม่า จะแต่งชุดเสื้อแจ๊คแก็ตแบบแมนจู ที่เรียกว่า ไตปอนเอ้นจี (တိုက်ပုံအင်္ကျီ, [taɪ̯ʔ.pòʊ̯ɰ̃]) ใส่ทับเสื้อเชิ้ตคอปกแบบจีน ชุดนี้เป็นที่นิยมสมัยอาณานิคม

ชุดสตรี เอ้นจี แก้

ผู้หญิงพม่าสวมชุดสตรีที่เรียกว่า เอ้นจี (အင်္ကျီ, [ʔéɪ̯ɰ̃.d͡ʑì]) มีสองรูปแบบที่แพร่หลายคือ ยีนเซ (ရင်စေ့) จะติดกระดุมด้านหน้าและ ยีนโพน (ရင်ဖုံး) ติดกระดุมไว้ด้านข้าง สำหรับพิธีที่เป็นทางการและทางศาสนาผู้หญิงพม่ามักสวมผ้าคลุมไหล่

เสื้อคลุมไทง์มะเต้น แก้

 
ภาพสมัยอาณานิคมผู้หญิงสวมชุด ยีนคาน (เสื้อท่อนบน), และ ไทง์มะเต้น (เสื้อคลุม)

การแสดงออกอย่างเป็นทางการที่สุดของเครื่องแต่งกายประจำชาติพม่าสำหรับสตรี ได้แก่ เสื้อคลุมไร้กระดุมรัดรูปความยาวถึงสะโพกที่เรียกว่า ไทง์มะเต้น (ထိုင်မသိမ်း, [tʰàɪ̯ɰ̃.mə.θéɪ̯ɰ̃]) บางครั้งอาจมีท่อนล่างบานและปักเลื่อม ไทง์มะเต้น ในภาษาพม่าแปลว่า "ไม่รวมกันขณะนั่ง" หมายถึงเสื้อคลุมรัดรูปที่ไม่ยับขณะนั่ง เสื้อคลุมนี้ได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงสมัยราชวงศ์โก้นบอง และชนชั้นสูงในปัจจุบัน ปัจจุบันผู้หญิงมักสวมใส่เป็นชุดแต่งงาน หรือเป็นชุดเต้นรำแบบดั้งเดิม รวมถึงงานสังคมชั้นสูงในบางครั้ง ไทง์มะเต้น สวมทับเสื้อท่อนบนที่เรียกว่า ยีนคาน (ရင်ခံ, [jɪ̀ɴkʰàɴ]) ตามประวัติศาสตร์ ไทง์มะเต้น ยังมีชายที่ห้อยอยู่ทั้งสองข้างเรียกว่า กะลาโน (ကုလားနို့)

ก้องบ้อง แก้

 
นายพลอองซาน โพก ก้องบ้อง และสวม ไตปอน (เสื้อคลุม)

เครื่องแต่งกายประจำชาติของพม่าสำหรับผู้ชายประกอบด้วยผ้าโพกหัวที่เรียกว่า ก้องบ้อง (ခေါင်းပေါင်း, [ɡáʊ̯ɰ̃.báʊ̯ɰ̃]) ซึ่งสวมใส่สำหรับงานที่เป็นทางการ ในสมัยอาณานิคม ก้องบ้อง ถูกพัฒนาให้เป็นเครื่องแต่งกายสามัญของชายชาวพม่า การออกแบบ ก้องบ้อง สมัยใหม่เกิดขึ้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษ ​​1900 และเรียกว่า หม่องแจะตะเย (မောင့်ကျက်သရေ)[19] เป็นก้องบ้องทำจากผ้าที่มีโครงหวาย สามารถสวมใส่ได้เช่นสวมหมวก

ญะพะนะ แก้

รองเท้าแตะกำมะหยี่สวมใส่ได้ทั้งสองเพศ เรียกว่า ญะพะนะ (ကတ္တီပါဖိနပ်‌) หรือ พะนะมัณฑะเลย์ เป็นรองเท้าที่สวมใส่เป็นทางการ

การแต่งกายตามภูมิภาค แก้

กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพม่าทุกกลุ่มล้วนมีเสื้อผ้าและประเพณีสิ่งทอที่แตกต่างกัน

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Aye Aye Than (2017-06-12). "Myanmar Costume Style in the Bagan Period" (PDF). SOAS, University of London.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 Green, Alexandra (2008). Eclectic Collecting: Art from Burma in the Denison Museum (ภาษาอังกฤษ). NUS Press. ISBN 978-9971-69-404-3.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Sangermano, Vincenzo; Sangermano, Father (1833). A Description of the Burmese Empire (ภาษาอังกฤษ). Oriental Translation Fund of Great Britain and Ireland.
  4. 4.0 4.1 4.2 Scott 1882, p. 411.
  5. Scott 1882, p. 406-407.
  6. Andrus 1947, p. x.
  7. Scott 1882, p. 406.
  8. Scott 1882, p. 409.
  9. 9.0 9.1 Roces, Mina; Edwards, Louise P. (2007). The Politics of Dress in Asia and the Americas (ภาษาอังกฤษ). Sussex Academic Press. ISBN 978-1-84519-163-4.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 TARGOSZ, Tobiasz; Sławik, Zuzanna (2016). "Burmese Culture during the Colonial Period in the Years 1885-1931: The World of Burmese Values in Reaction to the Inclusion of Colonialism". Politeja. 13 (44): 277–300. doi:10.12797/Politeja.13.2016.44.18. ISSN 1733-6716. JSTOR 24920307.
  11. 11.0 11.1 Edwards, Penny (2008). "Nationalism by design. The politics of dress in British Burma" (PDF). IIAS Newsletter. International Institute for Asian Studies (46): 11.
  12. 12.0 12.1 12.2 Ikeya, Chie (2008). "The Modern Burmese Woman and the Politics of Fashion in Colonial Burma". The Journal of Asian Studies. Cambridge University Press. 67 (4): 1277–1308. doi:10.1017/S0021911808001782. S2CID 145697944.
  13. Egreteau, Renaud (2019-07-01). "Fashioning Parliament: The Politics of Dress in Myanmar's Postcolonial Legislatures". Parliamentary Affairs (ภาษาอังกฤษ). 72 (3): 684–701. doi:10.1093/pa/gsy026. ISSN 0031-2290.
  14. Green, Gillian (2012-05-25). "Verging on Modernity: A Late Nineteenth-Century Burmese Painting on Cloth Depicting the Vessantara Jataka". Journal of Burma Studies. 16 (1): 79–121. doi:10.1353/jbs.2012.0000. ISSN 2010-314X. S2CID 162846149.
  15. "Silk acheik-luntaya | V&A Search the Collections". collections.vam.ac.uk (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-12-05.
  16. Lynn, Kyaw Ye (26 January 2019). "Weavers of traditional textiles in Mandalay unite". Frontier Myanmar (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-03-28.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 Hardiman, John Percy (1901). Silk in Burma (ภาษาอังกฤษ). superintendent, Government printing, Burma.
  18. "The Tradition of Acheik Weaving in Myanmar – ICHCAP" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-03-28.
  19. "Myanmar gaung baung". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-22. สืบค้นเมื่อ 2017-12-05.