การอุปถัมภ์ ในความหมายโดยทั่วไป คือ การค้ำจุน การค้ำชู การสนับสนุน การเลี้ยงดู[1] ในทางการเมืองซึ่งใช้คำว่า ระบบอุปถัมภ์ หมายถึง การได้รับสิทธิพิเศษจากผู้ใหญ่หรือญาติมิตรของตน เป็นระบบที่ตรงกันข้ามกับระบบความชอบธรรมซึ่งนิยมใช้เป็นหลักในปัจจุบัน[2]

ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 5 – 16 และในสังคมไทยจะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันในสมัยพระบรมไตรโลกนาถจนถึงรัชกาลที่ 5 แห่งรัตนโกสินทร์ คำว่า “ผู้อุปถัมภ์” (patron) เป็นคำที่มาจากภาษาละติน คือ pratronus หมายถึง บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมหรือรับรอง (sanction) โดยคนเหล่านี้ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่าหรือเป็น “ผู้รับอุปถัมภ์” (client) ที่ต้องการความช่วยเหลือหรือป้องกัน โดยผู้อุปถัมภ์จะให้ประโยชน์กับผู้รับอุปถัมภ์โดยหวังจะได้ประโยชน์ตอบแทนกลับมาในรูปแบบของสินค้า ความจงรักภักดี การสนับสนุนทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ความสัมพันธ์ในเชิงตอบแทนซึ่งกันและกัน (reciprocal relationships) โดยทั่วไปความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองฝ่ายนี้ ฝ่ายผู้รับอุปถัมภ์มักจะเป็นผู้เสียเปรียบเพราะโดยคำจำกัดความว่าเป็นผู้ที่อ่อนแอกว่าทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง (Kurian, 2011: 1199-1200)[3]

อรรถาธิบาย แก้

เจมส์ ซี สกอตต์ (James C. Scott, 2539: 47-53)[4] ได้นิยามความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์และผู้รับอุปถัมภ์ไว้ว่า เป็นกรณีของความสัมพันธ์คู่ ที่เป็นกลไกของความสัมพันธ์ (instrumental relationship) ในลักษณะที่บุคคลหนึ่งจะมีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับสูงจะเป็นผู้อุปถัมภ์ ที่จะใช้อิทธิพลและทรัพยากรของตนในการช่วยปกป้องคุ้มครองหรือให้ผลประโยชน์หรือทั้งสองอย่างแก่บุคคลที่มีสถานภาพต่ำกว่าคือผู้รับอุปถัมภ์ ผู้ซึ่งจะต้องตอบแทนโดยการให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนให้บริการแก่ผู้อุปถัมภ์ ผู้อุปถัมภ์อาจจะสามารถใช้อำนาจในทางเห็นชอบ (sanction) หรือการใช้อำนาจบังคับอย่างแท้จริง (pure coercive) ก็ได้

การใช้คำว่าระบบอุปถัมภ์ในระดับสากลจะกล่าวถึงความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ (patron-client relationship) ซึ่งมีความเป็นมาจากระบบฟิวดัล (feudal) ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยโรมัน ความไร้เสถียรภาพทางสังคมก่อให้เกิดความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างผู้ที่มีฐานะทางสังคมแตกต่างกัน ความเดือดร้อน สถานการณ์ที่ระบบเครือญาติขาดทรัพยากรที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ปัจเจกบุคคล และในขณะเดียวกันอำนาจกลางก็อยู่ไกลเกินไปหรืออ่อนแอเกินกว่าที่จะคุ้มครองผู้ที่อ่อนแอได้ ปัจเจกบุคคลที่อ่อนแอจึงต้องหากลไกทางสังคมที่จะช่วยป้องกันให้เขาพ้นจากภัยต่างๆ จึงจำเป็นต้องมาฝากตัวกับผู้ที่มีอำนาจ ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ของบุคคลที่มีฐานะต่างกัน แต่จากความสัมพันธ์นี้ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ตอบแทนซึ่งกันและกัน ในปลายสมัยโรมัน เจ้าของที่ดินขนาดเล็กหรือชาวนาเข้าไปขอความคุ้มครองจากเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ และตอบแทนการคุ้มครองดังกล่าวด้วยการช่วยเพาะปลูก หรือเอาที่ดินของตนยกให้เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ แล้วทำกินบนที่ดินเดิมของตนต่อไปในฐานะผู้เช่า ระบบความสัมพันธ์เช่นนี้จึงเรียกว่าระบบอุปถัมภ์ (กุลลดา, 2552: 5-6)[5]

นอกจากนี้ ในบริบทปัจจุบัน คำว่าระบบอุปถัมภ์ มักใช้ในสังคมประเทศโลกที่สามหรือประเทศที่กำลังพัฒนา ความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์และผู้รับอุปถัมภ์สามารถเชื่อมโยงบุคคลที่มีสถานภาพต่ำไปจนถึงบุคคลระดับชาติโดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับระบบราชการที่เข้มงวด ในทางการเมืองการปกครองผู้อุปถัมภ์อาจจะสามารถช่วยเหลือผู้รับอุปถัมภ์ของตนในการติดต่อกับระบบราชการ เช่น การช่วยประกันตัว การช่วยฝากลูกเข้าโรงเรียนของรัฐ เป็นต้น อีกทั้ง เครือข่ายของระบบอุปถัมภ์ได้กลายมาเป็นวิธีการที่พรรคการเมืองใช้ในการหาคะแนนเสียงในชนบท เช่น การซื้อเสียง การสัญญาว่าจะให้ เป็นต้น หากมองโดยปราศจากอคติ สังคมอุปถัมภ์เป็นสังคมที่มีต้นทุนทางสังคมโดยรวมสูง การใช้ระบบอุปถัมภ์อาจเป็นภาพสะท้อนของการสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อลดความเสี่ยงในการดำรงชีวิตในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ในสังคมไทยมักมองว่าระบบอุปถัมภ์เป็นวิถีของคนในชนบท และเป็นที่มาของการซื้อเสียง แต่แท้จริงแล้ว สังคมเมือง และสังคมคนกรุงเทพก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบอุปถัมภ์ไม่น้อยไปกว่าสังคมต่างจังหวัด

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย แก้

อย่างไรก็ดี คำว่าระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยมีความแตกต่างกับความหมายในยุโรปอย่างมาก เพราะจะถูกใช้แทนการเรียกระบบการปกครองแบบ “ศักดินา” ซึ่งในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า “ฟิวดัล” (feudal) โดยระบบศักดินาของไทยเริ่มในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ที่กำหนดลำดับขั้นทางสังคมผ่านการจัดแบ่งว่าศักดิ์ใดมีสิทธิในการถือครองที่นาเท่าใด การแบ่งลักษณะนี้ไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องถือครองที่นาตามตัวเลขจริงๆ การบอกจำนวนไร่ของที่นาเป็นเพียงการจัดลำดับเชิงปริมาณเท่านั้น แต่นัยสำคัญอยู่ที่จำนวน “ไพร่” หรือ “ผู้รับอุปถัมภ์” ที่เข้ามาฝากตัว ผู้อุปถัมภ์คนใดมีไพร่จำนวนมากก็จะแสดงถึงอำนาจที่มากกว่า แตกต่างจากผู้อุปถัมภ์ในยุโรปที่ยึดครองที่นาจริงๆ ในการเป็นปัจจัยการผลิตทางสังคม แต่ไม่ได้ให้ความสนใจกับผู้รับอุปถัมภ์มากนัก

สำหรับการใช้คำว่าระบบอุปถัมภ์ในโครงสร้างสังคมไทย อคิน รพีพัฒน์ ได้กล่าวไว้ว่าเมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจในหมู่บ้านเป็นสาเหตุของการเลื่อนถอยของระบบอุปถัมภ์ ชาวชนบทได้เปลี่ยนแปลงการเพาะปลูกเพื่อการดำรงชีพมาเป็นการเพาะปลูกเพื่อการค้า มีถนนเข้าสู่หมู่บ้านทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น นอกจากพ่อค้าซึ่งมีอิทธิพลมีอำนาจทางการเมืองเข้ามาถึงหมู่บ้านแล้ว ข้าราชการจากหลายหน่วยงานเข้ามาในท้องที่ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกถึงอำนาจรัฐเข้ามากระทบโดยตรง กำนันผู้ใหญ่บ้านกลายมาเป็นผู้แทนของรัฐ แทนที่จะเป็นผู้แทนของชาวบ้าน ชาวบ้านจากที่เคยพึ่งพากำนันผู้ใหญ่บ้าน เมื่อเห็นว่าพึ่งพิงกับผู้แทนรัฐไม่ได้ ก็ต้องหันไปพึ่งพิงพ่อค้าหรือผู้ที่ร่ำรวย ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ระหว่างผู้ใหญ่บ้านกับลูกบ้านจึงค่อยๆ เลื่อนถอยไปในที่สุด ทำให้กลุ่มพ่อค้าเข้ามาแทนในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็นความสัมพันธ์อุปถัมภ์ระหว่างชาวบ้านกับนักธุรกิจท้องถิ่นที่เข้ามาเล่นการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นด้วย (สมหญิง, 2532: 21)[6]

การใช้คำว่าระบบอุปถัมภ์จึงต้องพึงระวังว่าบริบทของการใช้คำที่แตกต่างกันระหว่าง “อุปถัมภ์แบบยุโรป” กับ “อุปถัมภ์แบบไทย” แม้โดยทั่วๆ ไปแล้วคำว่า อุปถัมภ์ จะหมายถึงการที่คนคนหนึ่งที่มีอำนาจ และทรัพยากรน้อยกว่าจะต้องหันไปพึ่งพาผู้ที่มีอำนาจ และทรัพยากรที่มากกว่าเพื่อการได้มาซึ่งผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกันก็ตาม แต่ตามบริบทของแต่ละสังคมที่แตกต่างกันออกไปก็อาจทำให้มิอาจกล่าวได้ว่าการนิยามแบบใดผิดหรือถูก เพราะบริบทในสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่แตกต่างกันทำให้รายละเอียดในการแปลความหมายของคำแตกต่างกันไปด้วย แต่ใจความหลักของคำว่าระบบอุปถัมภ์ยังคงมีจุดร่วมกันอยู่ คือ ประชาชนที่มีฐานะด้อยกว่าทางสังคมจะกลายเป็นผู้รับอุปถัมภ์เมื่อได้เข้าไปฝากตัวกับผู้อุปถัมภ์ที่มีฐานะดีกว่า และความสัมพันธ์นี้ต่างได้ผลประโยชน์ทั้งคู่ เพราะผู้อุปถัมภ์จะดูแลด้านชีวิตความเป็นอยู่และเชื่อมต่ออำนาจในการเข้าถึงภาครัฐให้กับผู้รับอุปถัมภ์ ในขณะที่ผู้รับอุปถัมภ์จะต้องตอบแทบบางประการ เช่น การใช้แรงงานให้ หรือ การมอบสิทธิบางประการให้ เป็นต้น

อ้างอิง แก้

  1. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น, 2546. 1,488 หน้า. ISBN 974-9588-04-5
  2. เดโช สวนานนท์. พจนานุกรมศัพท์การเมือง. กรุงเทพฯ : หน้าต่างสู่โลกกว้าง, 2545. 328 หน้า. ISBN 974-547-045-7
  3. Kurian, George Thomas (2011). The encyclopedia of political science. Washington: CQ Press.
  4. เจมส์ ซี สกอตต์ (2539). “การเมืองในระบบผู้อุปถัมภ์กับผู้รับอุปถัมภ์ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”. ใน ปรีชา คุวินทร์พันธุ์ (ผู้แปล). ระบบอุปถัมภ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  5. กุลลดา เกษบุญชู-มิ้ด (2552). วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศส ในกระแสเศรษฐกิจโลก จากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.
  6. สมหญิง สุนทรวงษ์ (2532). ระบบอุปถัมภ์กับการกระจายผลประโยชน์ในการพัฒนาชนบท: กรณีศึกษาหมู่บ้านชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก. วิทยานิพนธ์สังคมศาสตร์มหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.