การก่อการกำเริบที่สัมลวต พ.ศ. 2510

การก่อการกำเริบที่สัมลวต พ.ศ. 2510 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา เป็นการต่อต้านระบอบสังคมในชนบท เหตุการณ์นี้ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองกัมพูชา ที่นำไปสู่ชัยชนะของเขมรแดงและการสถาปนากัมพูชาประชาธิปไตย

สาเหตุ แก้

เชื่อกันว่าสาเหตุของการลุกฮือครั้งนี้เกิดขึ้นจากการการที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาควบคุมการสร้างโรงงานน้ำตาลที่กำปงก็อล ตำบลบานัน ใน พ.ศ. 2509 ซึ่งมีการเวนคืนที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม กองทหารของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดเก็บภาษีและข้าวจากชาวนาในท้องที่ เหตุการณ์ต่อต้านนี้ได้เกิดเป็นลำดับมานานแล้วในจังหวัดพระตะบอง หลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2497 สมเด็จพระนโรดม สีหนุได้มองว่าพระตะบองเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกของประเทศ มีผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่[1]และมีการจ้างงาน บังคับให้ชาวนาต้องขายข้าวให้กับทางรัฐบาล และเกิดความตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ เหตุการณ์การต่อต้านที่เกิดขึ้นในต้นปี พ.ศ. 2510 พระนโรดม สีหนุได้ประณามฮู ยวน, ฮู นิม, และเขียว สัมพันว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง การประท้วงได้ลุกลามไปยังจังหวัดกำปงสปือและจังหวัดกำปอต พระนโรดม สีหนุได้เสด็จต่างประเทศจนถึงเดือนมีนาคม แต่ได้ให้กองกำลังรักษาความปลอดภัยเข้าควบคุมความรุนแรง

นักประวัติศาสตร์บางคนเช่น เบน เคียร์แนน ได้ระบุว่าพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาอยู่เบื้องหลังในการวางแผนจัดให้มีการลุกฮือขึ้นในประเทศ เพราะเหตุการณ์ได้แพร่หลายไปรวดเร็วในจังหวัดที่ห่างกัน เหตุการณ์นี้จึงเป็นความพยายามของฝ่ายซ้ายที่จะโค่นล้มระบอบสังคม แม้ว่าเอกสารที่เป็นทางการของเขมรแดงที่เผยแพร่โดยพล พต ปฏิเสธความเกี่ยวข้องนี้ โดยกล่าวว่าการก่อกบฏของพวกเขาเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2511 และเหตุการณ์ที่สัมลวตเป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดก่อนเวลา[2]

กบฏ แก้

ความรุนแรงได้เริ่มขึ้นในเดือนเมษายนที่จังหวัดพระตะบอง โดยในวันที่ 2 เมษายน ทหาร 2 คนที่ออกไปเก็บข้าวถูกฆ่าที่สัมลวต กลุ่มผู้ประท้วงได้บุกเข้าไปเผาหน่วยงานเกษตรตัวอย่างที่ก่อตั้งโดยขบวนการยุวชนของระบอบสังคม และโจมตีหน่วยงานของรัฐในตอนเย็น กองกำลังรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี นำโดยลน นลได้ตอบสนองต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น กองกำลังทหารและตำรวจถูกส่งเข้าไปยังบริเวณที่เกิดเหตุ ทหารบกและทหารอากาศได้เข้าล้อมหมู่บ้านและสังหารผู้อยู่อาศัยจำนวนมากและจับตัวผู้ต้องสงสัยส่งไปยังพนมเปญ[3]มีรายงานว่าระหว่างเหตุการณ์นี้มีรถบรรทุกที่เต็มไปด้วยศีรษะมนุษย์วิ่งออกจากพระตะบองไปพนมเปญ[4] ทางตะวันออกของประเทศ โส พิมซึ่งเป็นทหารของพรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้าไปในเมืองกันด็อลจรุม ฆ่าอดีตกำนันและคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไปสองคน สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่สำคัญบางคน เช่น เอียง ธิริทธ์ มีภูมิลำเนาที่สัมลวต[5] ในหลายพื้นที่ในช่วงเวลานั้น ผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ถูกจับ ยิงทิ้ง หรือหนีไปเข้าร่วมขบวนการใต้ดิน[6]

ในวันที่ 24 เมษายน พระนโรดม สีหนุสั่งจับเขียว สัมพัน, ฮู นิม และฮู ยวน โดยฮู ยวน และเขียว สัมพันนั้นหนีเข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ฮู นิมยังคงปรากฏตัวในที่สาธารณะ แต่เมื่อได้รับคำเตือนจากพระนโรดม สีหนุอีกครั้ง เขาก็หนีไปในช่วงปลายปี ทั้งสามคนนี้ ต่อมามีข่าวว่าถูกหน่วยตำรวจลับสังหาร และถูกเรียกว่าแพะทั้งสาม ต่อมา พวกเขาปรากฏตัวในรัฐบาลพลัดถิ่นในอีกสามปีต่อมา

ในช่วงปลายเดือนเมษายน ฝ่ายรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดลง ในวันที่ 18 มิถุนายน มีผู้คนมากกว่า 4000 คน อพยพออกจากพระตะบอง และพระนโรดม สีหนุได้ประกาศว่าเหตุการณ์สงบแล้ว และด้วยคำแนะนำของฝ่ายขวาในพรรคสังคม พระนโรดม สีหนุสั่งจับพ่อค้าจีนที่เป็นตัวกลางในการขายข้าวให้เวียดมิญ และรัฐบาลขึ้นภาษีอีก แม้ว่าเหตุการณ์จะสงบลงแล้ว แต่มีหลักฐานว่าทหารและตำรวจยังคงจับกุมชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับกบฏ เผาบ้านเรือน ฆ่าหรือขับไล่ผู้อยู่อาศัยออกไปหลังวันที่ 18 มิถุนายน[7] การลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสามปีต่อมา รวมทั้งชาวเขมรบนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เริ่มต่อต้านรัฐบาล

อ้างอิง แก้

  1. Tyner, J. The killing of Cambodia: geography, genocide and the unmaking of space, 2008, p.66
  2. Kiernan, B. How Pol Pot came to power, Yale UP, 2004, pp.267-267
  3. Rummel, R, Death by government, 1997, p.163
  4. Rummel, p.164
  5. Kiernan, p.250
  6. Kiernan, pp.254-255
  7. Kiernan, p.257