กอบศักดิ์ ภูตระกูล
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประเทศ การเงิน และตลาดทุน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ป.ช., ต.ภ. | |
---|---|
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 23 พฤศจิกายน 2560 – 29 มกราคม 2562 ดำรงตำแหน่งร่วมกับ | |
นายกรัฐมนตรี | พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา |
ก่อนหน้า | ออมสิน ชีวะพฤกษ์ สุวิทย์ เมษินทรีย์ |
ถัดไป | เทวัญ ลิปตพัลลภ |
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง | |
ดำรงตำแหน่ง 30 กรกฎาคม 2562 – 16 กรกฎาคม 2563[1] | |
รองนายกรัฐมนตรี | สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 23 สิงหาคม พ.ศ. 2511 |
พรรค | พลังประชารัฐ (2561–2563) |
ศาสนา | พุทธ |
ประวัติแก้ไข
กอบศักดิ์ ภูตระกูล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จาก Massachusetts Institute of Technology ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค และเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เมื่อปี 2540 หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้าน คณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ที่ Williams College ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2534 สำหรับมัธยมศึกษาตอนปลาย จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในปี 2529 และมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ในปี 2526
การทำงานแก้ไข
หลังสำเร็จการศึกษา ได้กลับมาปฏิบัติงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเวลา 14 ปี โดยมีประสบการณ์ทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ระบบการเงิน ในงานด้านต่างๆ ทั้งส่วนของนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน นโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และได้ถูกยืมตัวไปทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในตำแหน่งผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ดูแลด้านงานวิจัย และผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดูแลฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ ในระหว่างปี 2550-2551 ต่อมากลับมาทำงานที่ ธปท. ในตำแหน่งผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินและประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นเมื่อปี 2553 ได้ตัดสินใจลาออกเพื่อหาประสบการณ์ในภาคเอกชน โดยทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กิจการธนาคารต่างประเทศ เป็นเวลา 5 ปี
งานการเมืองแก้ไข
เริ่มทำงานในภาคการเมืองเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 โดยได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[2] เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยในด้านต่างๆ ต่อมาในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[3] กำกับดูแลสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภาวิจัยแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท.
นอกจากนี้ ดร. กอบศักดิ์ยังเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) กรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ประธานกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ[4] ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ [5] กรรมการในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน[6] กรรมการในคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายระยะเร่งด่วน รองประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น รวมทั้งยังเคยดำรงตำแหน่ง กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ[7] สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ธุรกิจ และการบริการในคณะกรรมการสภาการศึกษา[8] และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ[9]
ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เขาได้รับเลือกเป็น ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และกรรมการในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 67/2557
ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565 มติคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 62 แต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
งานวิชาการแก้ไข
ในด้านวิชาการ ดร.กอบศักดิ์ ได้ผลิตผลงานการศึกษาด้านต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ วันที่ 9 มีนาคม 2552 ได้รับรางวัล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2552 จากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ สถาบันทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ 7 สถาบัน และกองทุนป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย คำประกาศเกียรติคุณของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กลั่นกรองผลงานวิชาการในการมอบรางวัล เขียนไว้ว่า
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ซึ่งมีความแม่นยำและความลุ่มลึกในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ มีความรัดกุมในวิธีวิทยา ตลอดจนมีความสามารถในการประยุกต์ใช้วิธีการทางเทคนิคในการทดสอบแนวคิดทางทฤษฎีต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมไม่ฟุ่มเฟื่อย และมีความโดดเด่นที่สามารถตีความข้อมูลเชิงประจักษ์ที่คุ้นเคยให้เกิดมุมมองใหม่ที่น่าสนใจและเข้าใจได้ง่าย งานวิชาการของ ดร. กอบศักดิ์ หลายชิ้นสามารถก่อให้เกิดการถกเถียงและเปิดประเด็นให้เกิดการศึกษาวิจัยสื่บเนื่องอย่างกว้างขวาง
ผลงานวิชาการคุณภาพสูงจำนวนมากของ ดร. กอบศักดิ์ ได้แสดงให้เห็นถึงฉันทะทางวิชาการและความสนใจในการศึกษาวิจัยในเรื่องต่างๆ ที่หลากหลาย ครอบคลุมปริมณฑลทางวิชาการอย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องนโยบายการเงิน การออม สินเชื่อ ทุนมนุษย์ การประกันสังคม และการค้าระหว่างประเทศ โดยทุกเรื่องล้วนมีนัยทางนโยบายต่อการพัฒนาประเทศไทย...
ต่อมา ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ได้รับทุนพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย จากมูลนิธิ 50 ปี ธปท. เพื่อทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "ปัญหาการกระจายรายได้ในไทยและทางออก" ซึ่งบทวิจัยนี้ได้เป็นพื้นฐานเชิงวิชาการสำคัญ ในการกำหนดนโยบายของภาครัฐ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์แก้ไข
- พ.ศ. 2563 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[10]
- พ.ศ. 2560 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 3 ตติยดิเรกคุณาภรณ์ (ต.ภ.)[11]
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้าราชการการเมืองลาออกจากตำแหน่ง จำนวน 2 ราย
- ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี(นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-09-10. สืบค้นเมื่อ 2016-02-07.
- ↑ "พระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี (ครม. ประยุทธ์ 5)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 2017-11-24. สืบค้นเมื่อ 2017-11-25.
- ↑ นายกฯ แต่งตั้ง"กอบศักดิ์"นั่งหัวหน้าทีมติดตาม ศก.
- ↑ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป
- ↑ กรรมการในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
- ↑ ดำรงตำแหน่ง กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
- ↑ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- ↑ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๒, ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๐, เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔๘ ข หน้า ๓, ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐