กบฏมักกะสัน
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
กบฏมักกะสัน คือกลุ่มกบฏมุสลิมในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประมาณ 300 คน ตั้งบ้านเรือนอยู่ย่านคลองตะเคียน นอกพระนครศรีอยุธยา ได้สมคบกับเจ้านายพื้นเมืองกลุ่มอื่น ๆ ก่อความวุ่นวายขึ้น แต่ถูกปราบปรามจนต้องลงเรือหนีล่องตามแม่น้ำผ่านไปทางบางกอก เมื่อถูกสกัดกั้นจากกองทหารยุโรปที่รักษาเมือง พวกทหารพื้นเมืองกับพวกแขกมักกะสันเลยผสมโรงกันก่อความวุ่นวายทั่วเมืองธนบุรี ทั้ง ๆ ที่มีอาวุธประจำตัวเพียงอย่างเดียวคือกริช แต่กองทหารยุโรปมีปืนทันสมัย ก็ต้องล้มตายมากกว่าจึงปราบลงได้ มีบันทึกไว้หนังสือจดหมายเหตุของฟอร์บัง
กบฏมักกะสัน (1686) | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ภาพอยุธยาในปี ค.ศ.1665 วาดโดย Johannes Vingboons | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
อาณาจักรอยุธยาและพันธมิตร: | กบฏมักกะสันและกบฏหมอสอนศาสนาอิสลาม[1] | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระยาวิไชเยนทร์ เชอวาเลีย เดอ ฟอบัง จอห์น คอร์เตส † เอ็ดเวิร์ด ยูดัลล์l †[1] Vèret | เจ้าชายแห่งมักกะสัน † | ||||||
กำลัง | |||||||
บางกอก:
ทหารถือปืนคาบศิลาและพลหอกสยามและยุโรป 400 นาย[1] เรือแจว 22 ลำ |
บางกอก:
นักรบมักกะสัน 50 นาย | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
บางกอก:
ชาวสยามและยุโรปถูกฆ่า 366 นาย
อยุธยา:
ชาวยุโรปถูกฆ่า 17 นาย[1] |
บางกอก: ชาวมักกะสันถูกฆ่า 17 นาย[1] ยึดเรือแจว อยุธยา: ชาวมักกะสันทุกคนถูกฆ่าและถูกจับ[1] |
ภูมิหลัง
แก้โดย "มักกะสัน" เพี้ยนจากชื่อหมู่เกาะมากัสซาร์ (Makassar ปัจจุบันอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย) แต่คนที่ถูกเรียกว่า แขกมักกะสัน มีทั้งมาจากเกาะมากัสซาร์และเกาะซูลาเวซี (เซเลบีส)
ความดุร้ายบ้าเลือดของพวกแขกมากาซาที่คนไทยเรียกกันว่า “แขกมักกะสัน” เป็นเรื่องลือลั่นอยู่ในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อพวกแขกจากเกาะเซเลบีส หรือ ซูลาเวซี ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระนารายณ์ เกิดความคับแค้นใจจากพวกฝรั่งที่มีอิทธิพลในยุคนั้น จึงวางแผนจะชิงอำนาจสำเร็จโทษสมเด็จพระนารายณ์ แล้วบังคับพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ให้นับถือศาสนาเดียวกับตน พวกมากาซามีกริชคนละเล่มเป็นอาวุธประจำกาย แต่ฆ่าพวกฝรั่งและไทยที่ถือปืนไปเป็นจำนวนมาก ด้วยความอำมหิตผิดมนุษย์ ไม่กลัวแม้ความตาย
พวกมากกาซามีถิ่นฐานเดิมอยู่ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก นับถือศาสนาอิสลาม เมื่อถูกฮอลันดาโจมตีระหว่างปี พ.ศ. 2159–2210 จึงกระจัดกระจายหลบไปอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ทั้งของอินเดียและมลายู รวมทั้งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาด้วย
เจ้าชายองค์หนึ่งซึ่งอยู่ที่หมู่เกาะเซเลบีส ได้พาผู้ติดตามหนีร้อนมาพึ่งเย็นในราชอาณาจักรสยาม ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงเมตตาต่อเจ้าชายผู้ตกระกำลำบาก พระราชทานที่ดินและบ้านให้อยู่ที่บริเวณปากคลองตะเคียน ซึ่งต่อมาที่แห่งนั้นเรียกว่า “ทุ่งมักกะสัน”
เมื่อคับแค้นใจจากพวกฝรั่งที่มีอิทธิพลอยู่ในราชสำนัก ทั้งยังได้รับการยุยงจากขุนนางแขกที่มีอยู่มากในยุคนั้น ทั้งแขกดำแขกขาว แต่ถูกลดอำนาจโดยเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ในปี พ.ศ. 2229 พวกมักกะสันจึงวางแผนจะยกพวกจู่โจมเข้าจับสมเด็จพระนารายณ์สำเร็จโทษ แล้วยกเจ้าฟ้าอภัยทศ พระอนุชา ขึ้นครองราชย์ โดยบังคับให้พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นับถือศาสนาของพระมะหะหมัด ส่วนประชาชนหากใครไม่ยอมนับถือก็ให้ฆ่าเสีย แต่ความแตกเสียก่อนเมื่อขุนนางแขกจามคนหนึ่งล่วงรู้ความลับ แล้วนำความไปแจ้งกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีชาวกรีกจึงจัดทัพใหญ่ปราบกบฏถึง 7,000 คน มีนายทัพนานาชาติ 40 คน ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ โปรตุเกส ฮอลันดา ประกาศจะจับหัวหน้ากบฏให้ได้ แต่พวกมักกะสันก็ประกาศสวนออกมาว่า ถ้าใครมาจับก็จะฆ่าทุกคนไม่ให้เหลือ และขุดสนามเพลาะรอบหมู่บ้านพระราชทาน
เมื่อทหารยกไปถึง พวกมักกะสันทำเป็นหนี นายทัพฝรั่งก็นำทหารไล่ติดตาม พอล่อทหารให้แตกเป็นกลุ่มเล็กๆแล้ว มักกะสันก็หันมาสู้ นายทัพฝรั่งตายไป 17 คน ทหารไทยก็ตายไปมาก วิชเยนทร์เองก็เกือบไม่รอด ต้องโดดน้ำหนีจนเกือบจมน้ำตาย ผู้ติดตามช่วยให้เกาะเรือไว้ได้ แล้วจ้ำพายหนี ขณะที่มักกะสันว่ายน้ำตาม
เหตุการณ์
แก้วิชเยนทร์เห็นว่ารบกับแขกมักกะสันต้องเสียไพร่พลอีกมากแน่ จึงเปลี่ยนแผนเป็นเอาน้ำเย็นเข้าลูบ เรียกเจ้าชายมักกะสันมาเจรจา เจ้าชายขอเดินทางออกนอกประเทศพร้อมผู้ก่อการ 50 คน วิชเยนทร์ก็ยอม พร้อมกับเขียนหนังสืออนุญาตให้ผ่านด่าน แต่ก็แอบส่งม้าเร็วไปสั่งเชวาเลียร์ เดอ ฟอร์บัง ผู้บังคับการป้อมบางกอก ให้ขึงโซ่ขวางแม่น้ำไว้ แล้วจับพวกมักกะสันไว้ให้ได้
เมื่อสำเภาของพวกมักกะสันมาถึงเมืองบางกอก เห็นมีโซ่ขวางไว้ ต้นหนจึงนำกลาสีอีก 6 คนขึ้นมาขอพบฟอร์บังที่ป้อม ฟอร์บังทำเป็นไม่รู้เรื่องถามว่ามาจากไหนจะไปไหน ต้นหนก็เอาหนังสือผ่านด่านให้ดู ฟอร์บังว่าไม่มีปัญหา แต่เขาก็เป็นคนต่างประเทศเหมือนกัน ขอทำตามหน้าที่ไม่ให้ถูกตำหนิได้ ให้ทุกคนในเรือขึ้นมาขอตรวจดู ถ้ามีแต่มากาซาก็ออกไปได้ทุกคน เพราะตอนนั้นห้ามคนไทยออกนอกพระราชอาณาจักร ต้นหนก็ไม่ขัดข้อง แต่ขอพกกริชขึ้นมาด้วย ฟอร์บังหัวเราะแล้วว่า “เวลานี้เราทำสงครามกันอยู่หรือ” ต้นหนว่า “เราไม่ได้ทำสงครามกันจริงอยู่ แต่กริชที่เหน็บอยู่ข้างตัวนี้ เป็นอาวุธที่เรามีอยู่แก่ตัวเสมอ เป็นเครื่องหมายอันมีเกียรติที่ประจำตัวของเรา และเราไม่ยอมวางอาวุธนั้นให้ได้รับความอัปยศ” ฟอร์บังเห็นว่าอาวุธนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอะไรเลย จึงยอมอนุโลม แต่ต่อมาเขาได้บันทึกไว้ว่า
“...แต่การหาเป็นเช่นนั้นไม่ มันเป็นอาวุธที่ร้ายกาจมาก ดังที่เห็นกับตา...”
ฟอร์บังบันทึกไว้ว่า “กริชนั้นเป็นมีดแหลมชนิดหนึ่ง ยาวประมาณ 1 คืบ 4 นิ้ว และที่ต่อกับด้ามก็ยาวประมาณครึ่งนิ้ว รูปคดเหมือนละลอกในกระแสน้ำ ปลายแหลมคล้ายลิ้นงู ทำด้วยเหล็กกล้า ทั้งสองข้างคมเหมือนใบมีดโกน เหน็บไว้ในฝักที่ทำด้วยไม้”
ขณะที่ต้นหนส่งคนไปเรียกมักกะสันอีก 47 คนในเรือให้ขึ้นมาที่ป้อม ฟอร์บังก็แอบไปกระซิบนายทหารโปรตุเกสแก่ ๆ คนหนึ่งที่เขาตั้งให้เป็นนายพันตรี และยืนรอคำสั่งอยู่ ให้ไปสั่งทหารที่วางกำลังซุ่มไว้แล้วระหว่างทางที่ขึ้นจากเรือมาป้อม ให้จับมักกะสันทั้งหมด
นายทหารโปรตุเกสได้ฟังก็ตกใจ บอกว่า
“ขอรับประทานโทษ ที่ท่านสั่งเช่นนั้น ไม่มีใครปฏิบัติตามได้ ท่านไม่รู้จักแขกมักกะสันเหมือนฉันรู้จักมัน ฉันเกิดมาในบูรพทิศประเทศ รู้จักมันดี ขอให้เชื่อถ้อยคำฉันเถิด คนเหล่านี้หายอมแพ้ง่าย ๆ ไม่ ต้องฆ่ามันก่อนถึงจะจับตัวมันได้ ฉันขอเรียนให้ทราบด้วยว่า ถ้าท่านทำท่าทางที่จะจับต้นหนที่อยู่ในปะรำนั้น เขาและคนของเขาจะฆ่าพวกเราไม่ให้เหลืออยู่สักคนเดียว”
ฟอร์บังไม่เชื่อ เห็นว่าเรื่องแค่นี้ไม่ยากเย็นอะไร จึงบอกเขาให้ไปทำตามคำสั่ง
นายทหารโปรตุเกสเดินหน้าเศร้าไป หลังจากเตือนอีกครั้งว่า
“ขอให้ท่านระวังตัวให้มาก มันคงฆ่าท่านเป็นแน่ เชื่อฉันเถิด ฉันเตือนโดยความหวังดีแท้ ๆ”
คำเตือนข้อหลังนี้ฟอร์บังยอมรับ เขาคัดเลือกทหารไทย 20 คนให้เป็นองครักษ์ 10 คนถือหอก อีก 10 คนถือปืน แล้วบอกขุนนางไทยคนหนึ่งที่เป็นล่าม ให้บอกต้นหนว่ามีความเสียใจที่ได้รับคำสั่งให้จับเขา ขอให้เชื่อเถิดว่าเขาจะเลี้ยงดูเป็นอย่างดีในระหว่างที่ถูกคุมขัง
ขุนนางไทยผู้น่าสงสารได้ปฏิบัติตามคำสั่งของฟอร์บัง พออ้าปากคำแรกว่าจะจับ มักกะสันทั้ง 6 คนก็โยนหมวกลงพื้น ชักกริชออกจากฝัก กระโจนเข้ามาอย่างมัจจุราช แทงขุนนางไทยคนนั้นและอีก 6 คนในปะรำ ฟอร์บังถอยออกมาแล้วสั่งทหารที่ติดตามยิงกราด มักกะสันคนหนึ่งยังฝ่ากระสุนเข้าถึงฟอร์บังได้ เขาจึงแทงด้วยหอกเข้าที่ท้อง แต่มักกะสันที่มีหอกทะลุคาท้องก็ไม่ได้แสดงอาการเจ็บปวด กลับดันเข้ามาจะแทงฟอร์บังให้ได้ ฟอร์บังไม่กล้าชักหอกออกจากท้อง และใช้ดันมักกะสันบ้าเลือดไว้ขณะที่ต้องถอยกรูด จนทหารคนหนึ่งได้ฆ่ามักกะสันตาย
ฟอร์บังคิดถึงคำเตือนของนายทหารโปรตุเกส เชื่อว่าอีก 47 คนที่กำลังขึ้นจากเรือมาก็ต้องไม่ยอมให้จับแน่ จึงสั่งนายร้อยเอกอังกฤษคนหนึ่งซึ่งคุมทหารโปรตุเกส 40 คน ให้ไปหยุดพวกนั้นไว้ ถ้าขืนเข้ามาก็ให้ยิงได้ นายทหารอังกฤษไปยันไว้ในระยะห่าง 1 เส้น แล้วบอกว่าถ้าจะกลับลงเรือก็กลับไปได้เลย และคิดว่าจะยิงทุกคนเมื่อไปถึงเรือที่ไม่มีที่กำบัง แต่มักกะสันว่าจะยอมกลับลงเรือถ้าคืนต้นหนมา เจรจากันอยู่พัก นายทหารอังกฤษเห็นว่าพูดกันไม่รู้เรื่องก็สั่งให้ทหารจับ แต่พอทหารขยับตัว มักกะสัน 47 คนที่นั่งยองๆอยู่ก็ลุกขึ้นพร้อมกัน แก้ผ้าพันเอวออกมาพันที่แขนเป็นโล่ห์ แล้วพุ่งเข้าหากองทหารโปรตุเกสที่ยังงง ๆ แทงด้วยกริชจนเนื้อหลุดเป็นชิ้น ๆ แล้วพุ่งไปที่ป้อมซึ่งฟอร์บังตั้งแถวทหารรอรับถึงพันคน แต่ก่อนที่จะทำอะไรถูก ทหารหลายคนก็ถูกกริชทะลวงไส้ เกิดการต่อสู้ประชิดตัวจนโกลาหล ทหารหลายคนหนีเข้าไปในป้อมและระดมยิงลงมา
เมื่อฆ่าคนจนไม่มีใครจะฆ่าแล้ว และรู้ว่าตัวเองก็ไม่รอด พวกมักกะสันได้กลับไปเผาเรือตัวเอง แล้วยังขึ้นมาเผาค่ายทหาร ก่อนบุกต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา ฆ่าทุกคนที่พบไม่ว่าเด็กและผู้หญิง รวมทั้งฆ่าพระหมดทั้งวัด
เมื่อพวกมักกะสันไปแล้ว ทหารที่ป้อมก็ออกมา เห็นศพทั้งไทยและฝรั่งเกลื่อนกราด บ้างก็ถูกกริชทะลวงหัวใจ บางคนก็ถูกคว้านท้องจนไส้ไหลออกมา จึงพากันลงเรือตามล่าพวกมักกะสันไปด้วยความโกรธแค้น และไม่ยอมเข้าประชิดตัว ใช้ปืนอย่างเดียว พวกมักกะสันหนีเข้าไปซ่อนในกระท่อมของชาวบ้าน ทหารก็ไม่กล้าเข้าไป ใช้ธนูไฟยิงเผาบ้าน แม้ไฟจะโหมหนักมักกะสันก็ยังไม่ออกมา จนตัวไหม้เกรียมจึงพุ่งออกมาเพื่อให้ศัตรูช่วยฆ่าให้พ้นความเจ็บปวด
เมื่อกลับมาสำรวจความเสียหายโดยรอบป้อมบางกอก พบทหารและชาวบ้านเสียชีวิต 366 คน มักกะสันตายเพียง 17 คน โดยตายที่ป้อม 6 คน หลังป้อม 5 คน และที่วัด 6 คน
หลังจากสิ้นสุด
แก้ส่วนทางกรุงศรีอยุธยา เจ้าพระยาวิชเยนทร์นำทหารฝรั่งทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา ลงเรือ 200 ลำล่องไปที่ปากคลองตะเคียนอย่างเงียบ ๆ ในเวลากลางคืน พอรุ่งสางเรือรบที่เรียงรายกันเต็มผืนน้ำก็เปิดฉากถล่มด้วยปืนใหญ่ ตามด้วยธนูไฟไปที่หมู่บ้านมักกะสันเป็นห่าฝน ไฟได้ไหม้โชติช่วงทั้งหมู่บ้าน ไม่ว่าผู้หญิง เด็ก และคนชรา บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีการโต้ตอบจากพวกมักกะสันที่มีแค่กริช รอแต่ให้ศัตรูบุกขึ้นมาบนบกเท่านั้น
ทหารชะล่าใจจึงเทียบเรือขึ้นฝั่ง ทหารฝรั่งบางคนก็ใส่เกราะกันคมกริชขึ้นไปด้วย ทันใดมักกะสันก็กระโจนออกมาจากที่ซ่อน ฆ่าทหารตายทันทีไปหลายคน ที่เหลือต่างกระโจนลงน้ำหนี คนที่ใส่เกราะเลยจมน้ำตายเพราะเกราะ
ในบันทึกไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของเจ้าชายในการทำศึกครั้งนี้ ก็คงจะถูกทหารของวิชเยนทร์ฆ่าในกลุ่มของมักกะสันบ้าเลือด ส่วนโอรส 2 คนของเจ้าชายในวัย 12 และ 13 ปี แม้จะฉวยหอกเข้าสู้ทหารด้วย แต่ก็ไม่มีใครทำร้าย และได้รับอุปการะโดยบาทหลวง ถูกนำตัวไปฝรั่งเศส ต่อมาเข้ารับราชการเป็นทหารเรือที่นั่น
กบฏมักกะสัน นับเป็นเหตุการณ์โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งไทยและฝรั่งต่างไม่คาดคิดว่า พวกมักกะสันจะบ้าเลือดอำมหิตถึงเพียงนั้น และยอมตายแต่ไม่ยอมให้จับเป็น เพราะทุกคนถูกฝังหัวให้เชื่อว่า เมื่อตายไปแล้วจะได้ขึ้นไปรับใช้พระเจ้าบนสวรรค์ ส่วนคนที่ถูกตนฆ่า ก็ได้ไปเป็นทาสของตัวบนสวรรค์ด้วย
อ้างอิง
แก้บรรณานุกรม
แก้- สมศรี เอี่ยมธรรม (1997). มักกะสัน. อภิธานศัพท์คำไทยที่มีต้นเค้าจากภาษาต่างประเทศ. กลุ่มแปลและเรียบเรียง สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. pp. 159–. ISBN 9789744191489.
- ชุลีพร วิรุณหะ. แขกมักกะสัน. โครงการหมายเหตุสังคม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ( องค์กรมหาชน). เก็บถาวร 23 กันยายน 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.