เฮดจ์ฮอก

(เปลี่ยนทางจาก Erinaceinae)
เฮดจ์ฮอก
เฮดจ์ฮอกยุโรป (Erinaceus europaeus)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Eulipotyphla
วงศ์: Erinaceidae
วงศ์ย่อย: Erinaceinae
G. Fischer, 1814
สกุล

เฮดจ์ฮอก (อังกฤษ: hedgehog) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็กที่อยู่ในวงศ์ย่อย Erinaceinae ในวงศ์ใหญ่ Erinaceidae มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับเม่น ซึ่งเป็นสัตว์ในอันดับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) ซึ่งอยู่กันคนละอันดับกัน คือ ด้านหลังของลำตัวปกคลุมไปด้วยขนที่มีลักษณะแข็งคล้ายหนาม ซึ่งไว้สำหรับป้องกันตัว แต่เฮดจ์ฮอกมีขนาดที่เล็กกว่ามาก และมีหนามที่สั้นกว่ามาก โดยขนของเฮดจ์ฮอกมีลักษณะเล็กแข็งคล้ายเสี้ยนหรือหนามมากกว่า มีส่วนใบหน้าคล้ายหนู แต่มีจมูกที่เรียวยาวที่ขมุบขมิบสำหรับดมกลิ่นอยู่ตลอด

เฮดจ์ฮอก นับเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับ Eulipotyphla ซึ่งสัตว์ในอันดับนี้จะหากินตามพื้นดินในเวลากลางคืน และกินแมลงเป็นอาหารหลัก เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถือกำเนิดมาแล้วบนโลกไม่ต่ำกว่า 15 ล้านปี โดยไม่เปลี่ยนแปลงรูปร่าง[1] จัดว่าที่มีความเก่าแก่มากที่สุดจำพวกหนึ่ง[2]

นิรุกติศาสตร์

แก้

ชื่อ hedgehog พบมีการใช้ในราวปี ค.ศ. 1450 ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษสมัยกลาง: heyghoge จาก heyg, hegge ("hedge") เพราะมันมักจะออกจากพุ่มไม้และ hoge, hogge ("hog") จากจมูกคล้ายหมู[3] ชื่ออื่น ๆ ได้แก่ urchin, hedgepig และ furze-pig

ลักษณะ

แก้

ขนของเฮดจ์ฮอกตลอดทั้งตัวมีประมาณ 7,000 เส้น ในเส้นขนมีลักษณะกลวงแต่แข็งแรงด้วยสารประกอบเคราติน จึงมีน้ำหนักเบา[1] และซับซ้อนเพื่อช่วยในการรับแรงกระแทกของสัตว์ใหญ่ที่เข้ามาจู่โจมหรือรับแรงกระแทกหากตัวเฮดจ์ฮอกต้องตกจากที่สูง[4] ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีความเชื่อว่า เฮดจ์ฮอกใช้เส้นขนนี้ในการเขย่าต้นแอปเปิลแล้วใช้ขนเสียบลูกแอปเปิล นำไปกินเป็นอาหารในรัง[1]

เฮดจ์ฮอก เมื่อพบกับศัตรูจะขดตัวเป็นวงกลม และตั้งขนที่แหลมชูชันขึ้นมา โดยที่ช่วงท้องจะนุ่มไม่มีอะไรป้องกัน เฮดจ์ฮอกจะตกเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่กว่าเสมอ เช่น แบดเจอร์, วีเซล หรือมาร์เท็น เมื่อยามปกติขนของเฮดจ์ฮอกจะลู่ลงแนบกับลำตัว ลูกเฮดจ์ฮอกเมื่อแรกคลอดจะมีหนังหนาหลายชั้นปกคลุมขนแหลม หลังจากไม่กี่ชั่วโมงเมื่อคลอดออกมาขนแหลมชุดแรกจะแทงทะลุออกมา แต่จะเป็นสีขาว หลังจากนั้นไม่นานขนชุดแรกจะร่วง และมีขนชุดใหม่ที่สีเข้มและแข็งกว่างอกขึ้นมาแทน เฮดจ์ฮอกสามารถผลัดขนและงอกขึ้นใหม่ได้หลายครั้งตลอดชีวิต เมื่อพบกับสิ่งที่แปลกประหลาดหรือวัตถุที่มีพิษ เฮดจ์ฮอกจะกัดขนตัวเองและเลียจนกระทั่งมีฟองเต็มปาก และนำเอาฟองน้ำลายนี้ไปปายกับขน พฤติกรรมอันนี้ยังไม่ทราบสาหเตุที่แน่ชัด เชื่อว่าเป็นการกระทำเพื่อปกปิดตัวเอง หรือทำให้สัตว์นักล่าไม่สนใจในตัวเฮดจ์ฮอก หรือแม้กระทั่งเชื่อว่าเป็นไปเพื่อติดต่อสื่อสารกันเองหรือดึงดูดเพศตรงข้าม[1]

พบกระจายพันธุ์ในทวีปยุโรป, แอฟริกา และบางส่วนในเอเชีย แบ่งออกได้เป็น 5 สกุล (ดูในกล่องข้อมูล)[5] 16 ชนิด บางชนิดนิยมเป็นสัตว์เลี้ยง เช่น เฮดจ์ฮอกสี่นิ้ว (Atelerix albiventris) ซึ่งชื่อเรียกติดปากในภาษาไทยจะนิยมเรียกว่า "เม่นแคระ" เนื่องจากมีลักษณะคล้ายกับเม่น ปัจจุบันได้มีการจำแนกสีของเฮดจ์ฮอกที่เพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้มากถึง 92 สีด้วยกัน ซึ่งผู้เลี้ยงสามารถให้อาหารแมวกินได้ประจำ และให้แมลงอย่าง หนอนนก เป็นอาหารเสริมบ้าง[4]

ในยุคกลาง เฮดจ์ฮอกเคยถูกเชื่อว่าเป็นตัวการที่ขโมยนมวัวในเวลากลางคืน รัฐสภาอังกฤษในยุคสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 จึงตั้งค่าหัวไว้หัวละ 3 เพนนี และทำให้เฮดจ์ฮอกถูกฆ่าไปเป็นจำนวนหลายพันตัว[1] เฮดจ์ฮอกยังถูกอ้างอิงถึงในวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายประการ อาทิ เป็นตัวการ์ตูนชื่อ โซนิค เดอะ เฮดจ์ฮอก เป็นต้น[6][7]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "ท่องโลกกว้าง: เจาะความลับของธรรมชาติ ตอน สัตว์ใส่เสื้อเกราะ และ ชีวิตในความมืด". ไทยพีบีเอส. 6 January 2015. สืบค้นเมื่อ 7 January 2015.[ลิงก์เสีย]
  2. Reiter C, Gould GC, "Thirteen Ways of Looking at a Hedgehog." Natural History, Jul–Aug 1998
  3. Oxford English Dictionary, Online edition. Retrieved 13 July 2007.
  4. 4.0 4.1 Pets 101- Hedgehogs, ทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: พฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2556
  5. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  6. The Year of The Hedgehog, สารคดีทางโทรทัศน์: ทรูวิชันส์ช่อง Explore 1
  7. sonic the hedgehog (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้