อัปแซ็งต์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
(เปลี่ยนทางจาก Absinthe)

อัปแซ็งต์ (ฝรั่งเศส: absinthe, ออกเสียง: [apsɛ̃t]) เป็นเหล้าอาหนีชนิดหนึ่ง กลั่นจากสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ ดอกและใบของพรรณไม้ชนิด Artemisia absinthium ร่วมกับเมล็ดเทียนสัตตบุษย์, เมล็ดยี่หร่าฝรั่ง และสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ที่ใช้เป็นยาหรือทำอาหาร[1] แต่เดิมจะมีสีเขียวตามธรรมชาติ แต่อาจไม่มีสีก็ได้ วรรณคดีตะวันตกเรื่องต่าง ๆ มักเรียกเหล้าชนิดนี้ว่า "เจ้าภูตเขียว" (la fée verte) ตามธรรมเนียมแล้ว อัปแซ็งต์จะถูกบรรจุขวดโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์โดยปริมาตรในระดับสูง โดยได้รับการอธิบายว่าเป็นเครื่องดื่มกลั่นที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ร้อยละ 45–74 โดยปริมาตร[2][3][4][5] แต่ตามปกติก็ถูกทำให้เจือจางด้วยน้ำก่อนบริโภค แม้ว่าบางครั้งอัปแซ็งต์จะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเหล้าหวาน (liqueur) แต่ก็ไม่มีการบรรจุอัปแซ็งต์ลงขวดโดยเติมน้ำตาลเพิ่ม ดังนั้นจึงจัดว่าเป็นเหล้า (spirit) ชนิดหนึ่ง[6]

แก้วและช้อนที่ใช้เพื่อละลายน้ำตาลก้อนลงไปในอัปแซ็งต์
ภาพเขียน ภูตเขียว โดยอาลแบร์ แมญ็อง (ค.ศ. 1895) แสดงภาพกวีคนหนึ่งที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของภูตเขียว

อัปแซ็งต์มีต้นกำเนิดในรัฐเนอชาแตลของสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และได้รับความนิยมอย่างสูงในฐานะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในฝรั่งเศสช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ศิลปินและนักเขียนชาวปารีส แต่เนื่องจากเหล้าชนิดนี้มีความเกี่ยวข้องบางอย่างกับวัฒนธรรมโบฮีเมีย การบริโภคอัปแซ็งต์จึงถูกต่อต้านจากนักอนุรักษนิยมทางสังคมและผู้นิยมหลักการห้าม (prohibitionism) แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่านักเขียน กวี จิตรกร และนักประพันธ์ดนตรีหลายคนต่างเป็นนักดื่มอัปแซ็งต์ เช่น เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, เจมส์ จอยซ์, ชาร์ล โบดแลร์, ปอล แวร์แลน, อาร์ตูร์ แร็งโบ, อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก, อาเมเดโอ โมดิลยานี, ปาโบล ปีกัสโซ, ฟินเซนต์ ฟัน โคค, ออสการ์ ไวลด์, มาร์แซล พรุสต์, แอลัสเตอร์ โครว์ลีย์, เอริก ซาตี, เอดการ์ แอลลัน โพ, ลอร์ด ไบรอน, อาลแฟรด ฌารี เป็นต้น[7]

ในอดีต อัปแซ็งต์มักได้รับการพรรณนาว่าเป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและสารก่อประสาทหลอนที่มีอันตรายมาก[8] โดยเชื่อกันว่าสารประกอบเคมีชนิดหนึ่งชื่อทูโจน (thujone) เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดผลดังกล่าว เมื่อถึงปี ค.ศ. 1915 อัปแซ็งต์ถือเป็นของต้องห้ามในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปซึ่งรวมถึงฝรั่งเศส, เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย-ฮังการี แม้ว่าอัปแซ็งต์จะถูกกล่าวหาเช่นนั้น แต่ก็ไม่เคยมีการพิสูจน์ให้เห็นจริงว่ามันมีอันตรายมากกว่าเหล้าธรรมดาแต่อย่างใด ผลการวิจัยในยุคหลังแสดงให้เห็นว่าในอัปแซ็งต์มีสารทูโจนอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสมบัติการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทของอัปแซ็งต์ (นอกเหนือจากที่มีอยู่ในแอลกอฮอล์) ก็ถูกขยายให้เกินความจริง[8] การฟื้นฟูการผลิตอัปแซ็งต์เริ่มต้นในคริสต์ทศวรรษ 1990 หลังจากมีการประกาศใช้กฎหมายอาหารและเครื่องดื่มของสหภาพยุโรปซึ่งกำจัดอุปสรรคที่มีมายาวนานต่อการผลิตและการจำหน่าย เมื่อถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีอัปแซ็งต์เกือบ 200 ยี่ห้อได้รับการผลิตในประเทศต่าง ๆ ประมาณ 12 ประเทศ ที่เด่นที่สุดได้แก่ ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, สเปน และเช็กเกีย

รากศัพท์ แก้

คำว่าอัปแซ็งต์ (absinthe) ในภาษาฝรั่งเศส นอกจากจะหมายถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งแล้ว ยังหมายถึงวอร์มวุด พืชสมุนไพรในสกุลอาร์ทีมิเซียได้อีกด้วย อัปแซ็งต์เป็นคำยืมมาจากภาษาละติน absinthium ซึ่งแผลงมาจากภาษากรีก ἀψίνθιον apsínthion มีความหมายถึงต้นวอร์มวุด[9] การใช้ Artemisia absinthium หรือวอร์มวู๊ดในการทำเครื่องดื่มนั้น ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในบทกวีชื่อ De Rerum Natura ของลูเครเตียส นักปรัชญาและนักกวีชาวโรมันในยุคก่อนคริสตกาล ในบทกวีของลูเครเตียสกล่าวว่า เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของวอร์มวุดนั้นใช้เป็นยาสำหรับเด็ก ใส่ในถ้วยที่มีน้ำผึ้งทาอยู่บนขอบเพื่อให้สามารถดื่มได้ง่าย[10]

อ้างอิง แก้

  1.   Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). "Absinthe" . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 1 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 75.
  2. "Traite de la Fabrication de Liqueurs et de la Distillation des Alcools", P. Duplais (1882 3rd Ed, pp 375–381)
  3. "Nouveau Traité de la Fabrication des Liqueurs", J. Fritsch (1926, pp 385–401)
  4. "La Fabrication des Liqueurs", J. De Brevans (1908, pp 251–262)
  5. "Nouveau Manuel Complet du Distillateur Liquoriste", Lebead, de Fontenelle, & Malepeyre (1888, pp 221–224)
  6. 'Traite de la Fabrication de Liqueurs et de la Distillation des Alcools' Duplais (1882 3rd Ed, Pg 249)
  7. The Appeal of 'The Green Fairy' เก็บถาวร 2016-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Sarasota Herald-Tribune, September 18, 2008
  8. 8.0 8.1 Padosch, Stephan A; Lachenmeier, Dirk W; Kröner, Lars U (2006). "Absinthism: a fictitious 19th century syndrome with present impact". Substance Abuse Treatment, Prevention, and Policy. 1: 14. doi:10.1186/1747-597X-1-14.
  9. ἀψίνθιον in Liddell and Scott.
  10. Lucretius. "Titi lvcreti cari de rervm natvra liber qvartvs". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 August 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-09-17.