ปาโบล ปิกาโซ

(เปลี่ยนทางจาก ปาโบล ปีกัสโซ)

ปาโบล ดิเอโก โฆเซ ฟรันซิสโก เด เปาลา ฆวน เนโปมูเซโน มาริอา เด โลส เรเมดิโอส ซิเปรียโน เด ลา ซานติซิมา ตรินิดัด รุยซ์ อี ปิกาโซ (สเปน: Pablo Ruiz Picasso, ออกเสียง: [ˈpaβlo piˈkaso]; 25 ตุลาคม ค.ศ. 1881 – 8 เมษายน ค.ศ. 1973) จิตรกรเอกของโลก เป็นบุคคลที่นิตยสาร ไทม์ ยกย่องให้เป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์มากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ปิกาโซเกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1881 ที่เมืองมาลากา แคว้นอันดาลูซิอา ทางตอนใต้ของประเทศสเปน เป็นบุตรชายคนโตของโฆเซ รุยซ์ อี บลัสโก (ค.ศ. 1838–1913) กับมาริอา ปิกาโซ อี โลเปซ บิดาเป็นครูสอนศิลปะในมหาวิทยาลัย งานของปิกาโซเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ แต่การเปลี่ยนแปลงทิศทางรูปแบบของผลงานนั้นเกิดจากหรืออาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากแฟร์น็องด์ ออลีวีเย (Fernande Olivier) ซึ่งเป็นคนรักคนแรกของเขา และเขาได้แต่งงานครั้งที่ 2 กับฌาเกอลีน ร็อก ในปี ค.ศ. 1961 และเขาจบชีวิตศิลปินลงในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1973 เสียชีวิตในวัย 91 ปี

ปาโบล ปิกาโซ
ปาโบล ปิกาโซ ใน ค.ศ. 1908
เกิดปาโบล ดิเอโก โฆเซ ฟรันซิสโก เด เปาลา ฆวน เนโปมูเซโน มาริอา เด โลส เรเมดิโอส ซิเปรียโน เด ลา ซานติซิมา ตรินิดัด รุยซ์ อี ปิกาโซ[1]
25 ตุลาคม ค.ศ. 1881(1881-10-25)
มาลากา สเปน
เสียชีวิต8 เมษายน ค.ศ. 1973(1973-04-08) (91 ปี)
มูแฌ็ง ฝรั่งเศส
สัญชาติชาวสเปน
มีชื่อเสียงจากจิตรกรรม
ขบวนการบาศกนิยม, ลัทธิเหนือจริง
คู่สมรสโอลกะ คะโคลวะ (สมรส 1918; 1955)
ฌาเกอลีน ร็อก
(สมรส 1961)

วัยเด็ก

แก้

ในวัยเด็ก เขาฉายแววการเป็นศิลปินระดับโลกด้วยการพูดคำว่า "ปิซ ปิซ" (มาจากคำว่า ลาปิซ ที่แปลว่าดินสอในภาษาสเปน) เป็นคำแรก แทนที่จะพูดคำว่า "แม่" เหมือนเด็กทั่วไป บิดาของเขาเป็นอาจารย์สอนวาดภาพ ซึ่งอาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาได้รับพรสวรรค์นี้มาตั้งแต่ยังเด็ก ปิกาโซได้รับจานสีและพู่กันเป็นของขวัญวันเกิดตอนอายุ 6 ขวบจากบิดา ครั้งนึงที่บิดาของปิกาโซกำลังวาดรูปนกพิราบของเขาอยู่นั้น สิ่งที่น่าทึ่งก็ได้บังเกิดขึ้น เมื่อบิดาของเขาออกไปจากห้องเพื่อทำอะไรบางอย่าง ปิกาโซได้เข้าไปในห้อง แล้ววาดภาพนกพิราบต่อจนเสร็จ เมื่อบิดาเขากลับเข้ามาจึงได้พบว่าภาพที่วาดนั้น เสร็จสมบูรณ์และเห็นว่าสวยกว่าที่ตนเองวาดเสียอีก และเมื่อเขาอายุเพียงแค่ 15 ปี เขาได้มีสตูดิโอเป็นของตัวเอง

วัยทำงาน

แก้

หลังจากเริ่มต้นอย่างผิดพลาดด้วยการเป็นนักเรียนด้านศิลปะที่เมืองมาดริดและช่วงโบฮีเมี่ยนในเมืองบาร์เซโลนา เขาได้เดินทางมาที่ปารีสครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1900 ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงด้านศิลปะ และได้ย้ายอาศัยอยู่อย่างถาวรเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1904

ภาพเขียนของปิกาโซแบ่งเป็นช่วงต่าง ๆ ได้ดังนี้

  1. ยุคสีน้ำเงิน
  2. ยุคสีชมพู
  3. ยุคอิทธิพลแอฟริกา
  4. ยุคบาศกนิยม
  5. ยุคนิยมแบบแผนและเหนือจริง
  6. ยุคสุดท้าย

ยุคสีน้ำเงิน

แก้

อยู่ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1901–1904 ปิกาโซจมลงไปในภาวะซึมเศร้ารุนแรง เขาวาดภาพสีเดียวเป็นหลักในเฉดสีของสีฟ้า สีเขียวและสีฟ้าอ่อนผสมกับสีอื่น ๆ ทำให้งานของเขาในช่วงนี้มีลักษณะที่อึมครึม เขาได้รับแรงบันดาลใจในการวาดภาพลักษณะนี้จากการเดินทางผ่านประเทศสเปนและการฆ่าตัวตายของการ์ลัส กาซาแฌมัส เพื่อนของเขา แต่วาดผลงานในเมืองปารีส เขาเลือกใช้สีที่เรียบง่ายและถ่ายทอดเรื่องเศร้าโศก เช่นเรื่องโสเภณี ขอทาน ขี้เมา เป็นภาพวาดที่สะท้อนชีวิตของผู้คนในสังคมเมืองปารีสที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่เพื่อเป็นการเสียดสีหรือวิจารณ์สังคมในขณะนั้น เป็นต้น

ยุคสีชมพู

แก้
ไฟล์:Garçon à la pipe.jpg
Pablo Picasso, Garçon à la pipe, (Boy with a Pipe), 1905 (ยุคสีชมพู)

อยู่ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1904–1906 เป็นภาพที่วาดด้วยโทนสีที่สดใส เช่น สีส้ม สีชมพู และสีเนื้อ ซึ่งเป็นโทนสีที่ตรงกันข้ามกับยุคสีน้ำเงิน ซึ่งในช่วง ค.ศ. 1904 เป็นช่วงที่เขามีความสุขจากความสัมพันธ์กับคนรักคนแรกของเขาคือ แฟร์น็องด์ ออลีวีเย และประกอบกับสภาพจิตใจที่ดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้งานของเขามีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เขามักวาดภาพในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับลวดลายข้าวหลามตัด นักแสดง และตัวตลกเป็นต้น

ยุคอิทธิพลแอฟริกา

แก้

อยู่ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1906–1909 เป็นช่วงเวลาที่ปิกาโซได้รับอิทธิพลจากงานประติมากรรมแอฟริกาที่ถูกนำกลับไปยังพิพิธภัณฑ์ในกรุงปารีส เป็นผลมาจากการขยายตัวของจักรวรรดิฝรั่งเศสในแอฟริกา โดยงานประติมากรรมจากแอฟริกาเป็นแรงบันดาลใจสำหรับบางส่วนของการทำงานของเขา ความสนใจของเขาถูกจุดประกายโดยอ็องรี มาติส ที่แสดงให้เขาเห็นหน้ากากจากภูมิภาคในทวีปแอฟริกา โดยผลงานในช่วงยุคนี้ได้มีอิทธิพลพัฒนาส่งต่อมาช่วงบาศกนิยมอีกด้วย

ยุคบาศกนิยม

แก้

บาศกนิยมเป็นยุคความเคลื่อนไหวทางศิลปะล้ำยุคในศตวรรษที่ 20 ริเริ่มโดยปิกาโซ และฌอร์ฌ บรัก ได้เปลี่ยนรูปโฉมของจิตรกรรมและประติมากรรมยุโรป รวมไปถึงดนตรีและงานเขียนที่เกี่ยวข้อง สาขาแรกของบาศกนิยมเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "บาศกนิยมแบบวิเคราะห์" (analytical cubism) เป็นความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่มีอิทธิพลรุนแรงและมีความสำคัญอย่างมากในฝรั่งเศส แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนักระหว่าง ค.ศ. 1907–1911 ความเคลื่อนไหวในช่วงที่สองนั้นถูกเรียกว่า "บาศกนิยมแบบสังเคราะห์" (synthetic cubism) ได้แพร่กระจายและตื่นตัวจนกระทั่ง ค.ศ. 1919 เมื่อความเคลื่อนไหวของลัทธิเหนือจริงเป็นที่นิยม

ปิกาโซและบราคพยายามเน้นคุณค่าของปริมาตรกับอากาศซึ่งสัมพันธ์กันเต็มไปหมดในภาพ อีกทั้งไม่เห็นด้วยในหลักการของผู้นิยมลัทธิประทับใจ ซึ่งละเลยความสำคัญของรูปทรงและปริมาตร ศิลปินต่างสำรวจความละเอียดของสิ่งที่พวกเขาต้องการวาด ด้วยการทำลายรูปทรงเหล่านั้นให้กลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่ปะติดปะต่อกัน รูปทรงบางรูปอาจทับซ้อนกัน หรือเหลื่อมล้ำกันและกัน โดยมีจุดประสงค์สำคัญในเรื่องปริมาตรเป็นเป้าหมายสูงสุด การสร้างภาพที่มีการจัดวางแบบผสมผสานแปลกใหม่ ไม่เน้นกฎเกณฑ์ และนำเสนอภาพแง่มุมต่าง ๆ และที่สำคัญศิลปินทั้งสองเน้นว่า ผลงานบาศกนิยมไม่ใช่งานสามมิติ แต่มีมิติที่สี่เข้ามา ซึ่งได้แก่ มิติของเวลา ที่สัมพันธ์กับการรับรู้ของมนุษย์ พร้อมกันนี้อันนาสันได้เปรียบเทียบระหว่างคติโฟวิสต์กับบาศกนิยมไว้ว่า แนวทางของคติโฟวิสต์มีลักษณะการสร้างงานในการใช้สีที่โดดเด่นกว่าลัทธิอื่น แต่การนำเสนอรูปร่างของคนที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในขณะที่บาศกนิยมสามารถนำไปเป็นแนวทางการสร้างศิลปะลัทธิอื่น ๆ ได้ต่อไป เช่น งานโครงสร้าง (constructivism) งานเหนือจริง (surrealism) รูปแบบของบาศกนิยม เป็นต้น

ในผลงานศิลปะของบาศกนิยมนั้น วัตถุจะถูกทำให้แตกเป็นชิ้น วิเคราะห์ และประกอบกลับขึ้นมาใหม่ในรูปลักษณ์ที่เป็นนามธรรมแทนที่จะแสดงวัตถุให้เห็นจากเพียงมุมมองเดียว จิตรกรนั้นได้ถ่ายทอดวัตถุจากหลายแง่มุมเพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงวัตถุที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่กว้างขึ้น บ่อยครั้งนักที่ผืนราบดูเหมือนจะตัดกันในมุมที่เป็นไปโดยบังเอิญ ปราศจากความสอดคล้องของความลึก ส่วนพื้นหลังและผืนราบแทรกเข้าไปในระหว่างกันและกันเพื่อที่จะทำให้เกิด พื้นที่ที่ไม่ชัดเจนอย่างผิวเผิน ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณลักษณะเฉพาะของบาศกนิยม

ยุคนิยมแบบแผนและเหนือจริง

แก้

ในช่วงเวลาดังต่อไปนี้เป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปิกาโซเริ่มผลิตงานในรูปแบบลัทธิคลาสสิกใหม่ การ "กลับไปทำงานแบบตามสั่ง" ตามรูปแบบที่เคยมีมานี้เห็นได้ชัดในการทำงานของศิลปินชาวยุโรปจำนวนมากในช่วง ค.ศ. 1920 รวมทั้งอ็องเดร เดอแร็ง, จอร์โจ เด กีรีโก, จีโน เซเวรีนี, ศิลปินกลุ่ม น็อยเออซัคลิชไคท์ และกลุ่ม โนเวเชนโตอีตาเลียโน ภาพวาดปิกาโซและภาพวาดจากช่วงเวลานี้คล้ายคลึงกับรูปแบบผลงานของราฟาเอลและฌ็อง-โอกุสต์-ดอมีนิก แอ็งกร์ เนื้อหางานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของปิกาโซคือ เกร์นิกา เป็นภาพของเขาจากการระเบิดของเยอรมนีในช่วงสงครามกลางเมืองในสเปนบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ แสดงถึงความไร้มนุษยธรรมทารุณโหดร้ายและความสิ้นหวังของสงคราม

ยุคสุดท้าย

แก้
 
The Chicago Picasso

ผลงานสุดท้ายของปิกาโซเป็นการผสมของรูปแบบวิธีในการแสดงออกในงานของเขาจนกระทั่งจบชีวิต ปิกาโซเพิ่มเติมและแสดงออกผลงานของเขาอย่างมีมีสีสันและจาก ค.ศ. 1968 จนกระทั่งถึง ค.ศ. 1971 เขาผลิตผลงานออกมามากมายทั้งภาพวาดและแกะสลักทองแดงหลายร้อยชิ้น โดยผลงานส่วนใหญ่นั้นถูกปฏิเสธไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากเป็นผลงานที่สื่อความอย่างอนาจาร แต่ภายหลังเมื่อปิกาโซได้เสียชีวิตลง กระแสทิศทางของศิลปะก็ได้เปลี่ยนแปลงจากลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมและกระแสรูปแบบศิลปะแบบลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ใหม่ (neo-expressionism) ในเวลาต่อมา

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • The life and works of Picasso / Nathaniel Harris,UK : Parragon, 2002.
  • โลกส่วนตัวของพีคัสโซ่ ศิลปินอัจฉริยะ / เดวิด ดักลาส ดันแคน ; แปลโดย ณรงค์ จันทร์เพ็ญ.,กรุงเทพฯ : แม่น้ำ, 2531
  • ประวัติ ปิกาโซ
  • จิตรกร ปิกาโซ