ฌอร์ฌ บรัก (ฝรั่งเศส: George Braque) เป็นศิลปินในคติโฟวิสต์และต่อมาในบาศกนิยม บรักเกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1882 เติบโตในเมืองเลออาฟร์ (Le Havre) และเริ่มศึกษาศิลปะที่โรงเรียนศิลปะในเมืองนี้เมื่ออายุ 17 ปี เขาได้รับการฝึกฝนเป็นช่างทาสีและตกแต่งบ้านเหมือนพ่อและปู่ของเขา บรักมุ่งมั่นจะเป็นมัณฑนากรมากกว่าจิตรกร เขาใช้เวลากลางวันทำงาน และในช่วงเย็นก็ได้เรียนทักษะงานจิตรกรรมด้วยตั้งแต่ปี 1897-1899 ในปีถัดมาเขาก็ได้ย้ายเข้าสู่กรุงปารีสเพื่อศึกษาต่อ และเมื่อชีวิตของเขาก็ได้มาพบกับดูฟีและฟิทซ์ ศิลปินในคติโฟวิสต์ ทำให้เขาหันเหสู่การสร้างสรรค์จิตรกรรมและรวมกลุ่มกับศิลปินคติโฟวิสต์

ฌอร์จ บรัก
George Braque
เกิด13 พฤษภาคม ค.ศ. 1882
Le Havre
เสียชีวิตค.ศ. 1963 (81 ปี)
สัญชาติฝรั่งเศส
อาชีพศิลปิน

รูปแบบการทำงาน แก้

คติโฟวิสต์ แก้

งานเริ่มแรกของบรักนั้นเป็นงานแบบอย่างลัทธิประทับใจ แต่หลังจากที่เขาได้เห็นผลงานของกลุ่มคติโฟวิสต์ ซึ่งในตอนนั้นบรักเป็นศิษย์ของลิออง บองนาท์ ที่เอกอลเดโบซาร์ ซึ่งที่นี่เขาได้พบกับดูฟี และ ฟิทซ์ ผู้ที่เป็นชาวเมืองเลออาฟร์เช่นเดียวกัน และทั้งคู่ต่างสนใจและปฏิบัติตามหลักของคติโฟวิสต์ จึงโน้มน้าวบรักให้เข้าร่วมกลุ่มด้วย ซึ่งตัวของบรักเองก็มีความประทับใจในผลงานของศิลปินกลุ่มนี้อยู่แล้ว เมื่อคราวเปิดงานแสดงเป็นครั้งแรกที่ ซาลงโดตอน (Salon d’Automme) เขาจึงเข้าร่วมกลุ่มทำการวาดภาพตามหลักของคติโฟวิสต์ และในระยะเวลาไม่กี่ปีที่เข้ามาสู่วงการศิลปะ บรักประสบความสำเร็จด้านการเงินจากการจำหน่ายภาพได้มากคนหนึ่ง เพราะเป็นคนมีฝีมือและเทคนิคดี เห็นได้จาก ในค.ศ. 1907 บรักประสบความสำเร็จในการแสดงผลงานแบบโฟวิสต์ ซึ่งคาห์น ไวเลอร์ นักธุรกิจศิลป์ผู้สนับสนุนศิลปะร่วมสมัย ได้ทำสัญญาผูกขาดซื้องานของบรักทั้งหมด อีกทั้งยังช่วยจัดงานแสดงส่วนตัวเป็นครั้งแรกที่หอศิลป์ของเขาเองอีกด้วย

รูปแบบของบรักค่อย ๆ มีวิวัฒนาการไปอย่างช้า ๆ โดยได้รับอิทธิพลจากผลงานเก่า ๆ ของปอล เซซาน ที่ซาลงโดตอน และเกิดผลกระทบอย่างมากต่อศิลปินล้ำยุคในปารีส และในปีเดียวกันนี้อาปอลีแนร์ ผู้เป็นนักวิจารณ์และกวีคนสำคัญคนหนึ่ง ได้แนะนำบรักให้รู้จักกับปาโบล ปีกัสโซ และทั้งสองต่างสนิทสนมจนกลายเป็นเพื่อนรักในระยะเวลาอย่างรวดเร็ว และต่างช่วยกันค้นคิดหาแนวทางศิลปกรรมแนวใหม่ อีกทั้งยังร่วมมือศึกษาและทำงานร่วมกันบ่อยครั้ง จนทำให้เกิดลัทธิใหม่อย่างบาศกนิยมขึ้นมาในที่สุด

บาศกนิยม แก้

 
George Braque,Portugese,1911 ,Oil on canvas 116.8 cm × 81 cm Kunstmuseum Basel, Switzerland

งานจิตรกรรมของบรักในปี 1908-1913 ได้แสดงให้เห็นถึงความสนใจใหม่ของบรักในเรื่องของรูปทรงเรขาคณิตและทัศนียภาพที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ซึ่งเขาทำการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้แสงและทัศนียวิทยา ในภาพวาดคนเปลือยของเขาระยะนี้เน้นให้เห็นถึงการเอาใจใส่ในโครงสร้างของรูปทรงอย่างชัดเจน รูปร่างมีความง่ายและตัดเส้นรอบนอกด้วยรูปสีดำ หนักและหนา พื้นหลังภาพมีรายละเอียดปรากฏเป็นรูปเหลี่ยมใหญ่ มีแง่มุม ซึ่งในระหว่างปี ค.ศ. 1908-1909 นั้นเขาได้วาดภาพทิวทัศน์ไว้หลายภาพ โดยเริ่มต้นจากหลักความคิดของพอล เซซาน แล้วค่อยพัฒนาเข้าสู่หลักทฤษฎีของลัทธิคิวบิสม์ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้หลักเกณฑ์เก่าๆ ที่ทำให้ภาพเกิดมิติและรูปวัตุในช่องว่าง เขาได้สร้างภาพให้เต็มไปด้วยพื้นระนาบ มีการใช้เส้นแบบเรขาคณิต ไม่เพียงเท่านั้น เขากับปิกัสโซ ร่วมมือกันคิดค้นให้ลึกซึ้งลงไปอีก มีการวิเคราะห์ความเป็นนามธรรมของรูปทรง ทั้งคู่ได้ถึงจุด เฮอเมทิคสไตล์ (Hermetic Style) คือรูปทรงที่ทึบตัน ประมาณปี ค.ศ. 1911

บรักถือได้ว่าเป็นจิตรกรคนแรกที่นำตัวหนังสือมาใช้กับภาพจิตรกรรม ซึ่งอาจมีผู้ทำมาก่อนแต่ไม่เด่นชัดมากเท่านี้ เห็นได้จากภาพชื่อ “ชาวโปรตุเกส” ที่วาดขึ้นในปี ค.ศ. 1911 ส่วนการใช้เศษวัสดุต่างๆเช่น กระดาษ ผ้า หรือที่เรียกกันว่า งานคอลลาจ นั้น ได้ใช้ในปีถัดมา ซึ่งบรักสามารถผสมสิ่งที่อ่านได้ เช่น ตัวหนังสือ เข้ากับความจริงอันเป็นรูปธรรมปรากฏในผลงาน ทั้งยังเพิ่มคุณค่าในด้านความงามแบบมัณฑนศิลป์ หรือแบบศิลปะตกแต่ง ดังเช่นการใช้กระดาษที่หยาบหรือมีลวดลายต่างๆกัน เพิ่มรอยพื้นผิว (อังกฤษ: texture) ทำให้ผลงานของเขานั้นดูสนุกตามากยิ่งขึ้น และเมื่อต้นปี ค.ศ. 1930 ความเคลื่อนไหวของลัทธิคิวบิสม์เบาลง เมื่อศิลปะนิยมแบบเซอเรียลลิสม์ได้รับความนิยมแทนที่ ในขณะที่ผลงานของปิกัสโซหันเหไปทำงานตามแนวลัทธิใหม่ แต่บรักยังคงยืนหยัดทำงานแนวคิวบิสม์ต่อไป นอกจากนี้ยังหันไปทำงานประติมากรรมด้วย ส่วนมากจะเป็นภาพของสัตว์ต่างๆ เช่น ม้า ปลา เป็นงานชิ้นเล็กๆ และมีลักษณะแบนซึ่งให้ความงามแบบเรียบๆ และมีเสน่ห์ ได้รับความนิยมจากนักออกแบบที่ระลึกนำไปดัดแปลงเป็นศิลปะตกแต่งบ้าน


อ้างอิง แก้

  • Dora Vallier .Braque : the complete graphics ( New York : Gallery Books, 1982)
  • Braque : still lifes and interiors (London : South Bank Centre, 1990)
  • Jean Leymarie. Georges Braque (New York : Solomon R. Guggenheim Museum, 1988)
  • กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554)
  • จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20 (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2545).

แหล่งข้อมูลอื่นๆ แก้