ลัทธิประทับใจ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ลัทธิประทับใจ[1] หรือ อิมเพรสชันนิซึม[2] (อังกฤษ: impressionism) เป็นขบวนการศิลปะที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเริ่มต้นจากการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ ของจิตรกรทั้งหลายที่มีนิวาสถานอยู่ในกรุงปารีส พวกเขาเริ่มจัดแสดงงานศิลปะในช่วงทศวรรษที่ 1860 ชื่อของขบวนการนี้มีที่มาจากภาพวาดของโกลด มอแน ที่มีชื่อว่า Impression, Sunrise (Impression, soleil levant ในภาษาฝรั่งเศส) และนักวิจารณ์ศิลปะนามว่าหลุยส์ เลอรัว (Louis Leroy) ก็ได้ให้กำเนิดคำคำนี้ขึ้นมาอย่างไม่ตั้งใจในบทวิจารณ์ศิลปะเชิงเสียดสีซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เลอชารีวารี (Le Charivari) อิทธิพลของลัทธิประทับใจยังแผ่ออกจากวงการศิลปะไปยังดนตรีและวรรณกรรม
ลักษณะ
แก้ลักษณะของภาพวาดแบบลัทธิประทับใจคือการใช้พู่กันตวัดสีอย่างเข้ม ๆ ใช้สีสว่าง ๆ มีส่วนประกอบของภาพที่ไม่ถูกบีบ เน้นไปยังคุณภาพที่แปรผันของแสง (มักจะเน้นไปยังผลลัพธ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเวลา) เนื้อหาของภาพเป็นเรื่องธรรมดา ๆ และมีมุมมองที่พิเศษ
จิตรกรแนวประทับใจได้ฉีกกรอบการวาดที่มาตั้งแต่อดีต พวกเขาจึงได้ชื่อว่าเป็นพวกขบถ พวกเขาได้วาดภาพจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้าในปัจจุบันให้ดูประหลาดและไม่สิ้นสุดสำหรับสาธารณชนที่มาดูงานของพวกเขานักวาดแนวนี้ปฏิเสธที่จะนำเสนอความงามในอุดมคติ และมองไปยังความงามที่เกิดจากสิ่งสามัญแทน พวกเขามักจะวาดภาพกลางแจ้ง มากกว่าในห้องสตูดิโอ อย่างที่ศิลปินทั่วไปนิยมกัน เพื่อที่จะลอกเลียนแสงที่แปรเปลี่ยนอยู่เสมอในมุมมองต่าง ๆ
ภาพวาดแบบลัทธิประทับใจ ประกอบด้วยการตวัดพู่กันแบบเป็นเส้นสั้น ๆ ของสีซึ่งไม่ได้ผสมหรือแยกเป็นสีใดสีหนึ่ง ซึ่งได้ให้ภาพที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมีชีวิตชีวา พื้นผิวของภาพวาดนั้นมักจะเกิดจากการระบายสีแบบหนา ๆ ซึ่งทำให้พวกเขาแตกต่างจากนักเขียนยุคเก่าที่จะเน้นการผสมผสานสีอย่างกลมกลืนเพื่อให้ผู้อื่นคิดว่ากำลังมองภาพวาดบนแผ่นแฟรมให้น้อยที่สุด องค์ประกอบของลัทธิประทับใจยังถูกทำให้ง่ายและแปลกใหม่ และจะเน้นไปยังมุมมองแบบกว้าง ๆ มากกว่ารายละเอียด
ประวัติ
แก้ในช่วงที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงของฝรั่งเศสนั่นคือจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงบูรณะกรุงปารีสและทำสงคราม อากาเดมีเดโบซาร์ (Académie des Beaux–Arts) มีอิทธิพลต่อศิลปะของฝรั่งเศสในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ศิลปะในช่วงนั้นถือว่าเป็นออกไปทางอนุรักษนิยมซึ่งไม่ว่าจะคิดใหม่ทำใหม่อย่างไรก็ต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของสถาบัน จึงกล่าวได้ว่า สถาบันได้วางมาตรฐานให้กับการวาดภาพของฝรั่งเศส นอกจากจะกำหนดเนื้อหาของภาพวาดแล้ว (ยกย่องแนวศาสนาและประวัติศาสตร์รวมไปถึงภาพเหมือนของคน) สถาบันยังกำหนดเทคนิคที่ศิลปินต้องใช้ พวกเขายกย่องสีแบบทึบ ๆ ตามแบบเก่า ๆ ยิ่งสะท้อนภาพให้เหมือนกับความจริงเท่าไรยิ่งดี สถาบันยังสนับสนุนให้เหล่าจิตรกรลบร่องรอยการตระหวัดแปรง และที่สำคัญต้องแยกศิลปะออกจากบุคลิกภาพ อารมณ์ และเทคนิคการทำงานของตัวศิลปินเอง
ในปี ค.ศ. 1863 คณะกรรมการได้ปฏิเสธผลงานที่ชื่อว่า "มื้อเที่ยงบนสนามหญ้า" (Le déjeuner sur l’herbe) โดยเอดัวร์ มาแน เพราะว่ามันแสดงภาพผู้หญิงเปลือยนั่งอยู่ข้าง ๆ ผู้ชายใส่เสื้อผ้าสองคนขณะที่ทั้งสามกำลังไปปิกนิกกัน ตามความเห็นของคณะกรรมการ ภาพเปลือยนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ในภาพวาดเชิงประวัติศาสตร์และเชิงสัญลักษณ์ แต่จะมาแสดงกันผ่านภาพธรรมดาดาด ๆ เช่นนี้ถือว่าต้องห้าม
เอดัวร์ มาแน (ไม่ใช่มอแน) อับอายยิ่งนักกับการที่พวกกรรมการปฏิเสธโดยใช้คำพูดแบบเจ็บแสบ ซึ่งทำให้บรรดาศิลปินฝรั่งเศสทั้งหลายเริ่มแสดงความไม่พอใจกันมาก ถึงแม้มาแนจะไม่ถือว่าตัวเองเป็นพวกลัทธิประทับใจ เขาก็เป็นคนเปิดอภิปรายในร้านกาแฟแกร์บัว (Guerbois) ที่ซึ่งกลุ่มศิลปินในลัทธิประทับใจมารวมตัวกันและมีอิทธิพลต่อการค้นหารูปแบบใหม่ของกลุ่มกลุ่มนั้น
ภายหลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ได้ทอดพระเนตรงานหลายชิ้นที่ถูกปฏิเสธ ก็ทรงออกกฎหมายว่าสาธารณชนมีสิทธิ์ในการตัดสินงานศิลปะด้วยตัวเอง และงานแสดงภาพที่ถูกปฏิเสธ (Salon des refusés) ก็ถูกจัดขึ้น แต่ถูกนักวิจารณ์ศิลปะโจมตีอย่างมากเป็นเวลาหลายปี และในปี ค.ศ. 1874 นั่นเอง บรรดาศิลปินในลัทธิประทับใจ (ถึงแม้จะไม่รู้จักว่าชื่ออะไรกันบ้าง) ก็ได้จัดงานแสดงภาพวาดของตัวเอง ภายหลังจากที่ไปร่วมงานแสดง นักวิจารณ์นามว่า หลุยส์ เลอรัว (นักแกะสลัก จิตรกร และนักเขียนบทละครที่มีชื่อเสียง) ได้เขียนบทวิจารณ์แบบเจ็บ ๆ แสบ ๆ ลงในหนังสือพิมพ์เลอชารีวารี โดยเน้นการโจมตีไปที่ภาพวาดโดยจิตรกรที่ไม่มีชื่อเสียงในขณะนั้น และตั้งชื่อบทความนั้นว่า "การแสดงภาพวาดของจิตรกรลัทธิประทับใจ" เลอรัวประกาศว่า ภาพวาดที่ชื่อว่า Impression, Sunrise ของมอแนนั้นอย่างมากสุดก็เป็นแค่ภาพร่างแบบลวก ๆ จะให้เรียกว่าเป็นผลงานที่สมบูรณ์แล้วก็อย่าหวังเลย
ถึงแม้คำว่าลัทธิประทับใจจะเป็นคำเสียดสีของนักเขียนท่านนี้ แต่พวกศิลปินกลับชื่นชอบมันและเห็นว่าเป็นคำเรียกแบบให้เกียรติกัน ถึงแม้รูปแบบและมาตรฐานของแต่ละคนจะแตกต่างแปรเปลี่ยนไปแต่สิ่งที่ร้อยรัดพวกเขาให้เป็นหนึ่งเดียวคือจิตวิญญาณแห่งความเป็นขบถและความเป็นตัวของตัวเองถึงแม้ในอดีต การวาดภาพจะถูกมองอยู่เสมอว่านำเสนอสิ่งต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์และทางศาสนาในลักษณะที่เป็นทางการ แต่ความจริงศิลปินหลายท่านก็วาดภาพถึงสิ่งที่สามารถพบเห็นในชีวิตประจำวัน จิตรกรชาวดัตช์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อย่างเช่นยัน สเตน มุ่งเน้นไปที่วัตถุธรรมดา แต่ว่างานของพวกเขาก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการจัดองค์ประกอบภาพแบบเก่า ๆ ในการจัดวางฉาก เมื่อศิลปะในลัทธิประทับใจเกิดขึ้น พวกศิลปินก็สนใจในการวาดภาพต่อสิ่งธรรมดาดาด ๆ และนิยมการเก็บภาพด้วยวิธีใหม่
ในช่วงนั้นภาพถ่ายก็กำลังเป็นที่นิยมและกล้องถ่ายรูปก็พกพาได้ง่ายขึ้น ส่วนภาพถ่ายก็ให้ความสมจริงขึ้นเรื่อย ๆ ภาพถ่ายก็เป็นแรงบันดาลใจให้พวกศิลปินในลัทธิประทับใจ บันทึกไม่ใช่เฉพาะแสงที่มาตกกระทบต่อภูมิประเทศเท่านั้นหากแต่เป็นชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ภาพถ่ายและภาพพิมพ์แบบญี่ปุ่น (Japonisme) ผสมผสานกันกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้พวกศิลปินในลัทธิประทับใจ ค้นคิดวิธีแบบใหม่และใช้มุมมองของภาพที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว
ภาพวาดของแอดการ์ เดอกา ที่ชื่อว่า "ชั้นเรียนเต้นรำ" (La classe de danse) แสดงให้เห็นว่าได้รับอิทธิพลทั้งสองด้าน หนึ่งในนั้นเป็นภาพนักเต้นรำกำลังจัดชุดของหล่อนและด้านล่างขวามือเป็นภาพของพื้นว่างเปล่า
ลัทธิประทับใจ
แก้มูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดศิลปะในลัทธิประทับใจ พอสรุปได้ดังนี้
- เป็นไปตามกฎวิวัฒนาการของธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอยางย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามครรลองของชีวิต จากสภาพหนึ่งสู่สภาพหนึ่ง ไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ และความคิดร่วมสมัยย่อมเบื่อหน่ายกับสิ่งซ้ำซากจำเจ มีกฎเกณฑ์ยุ่งยาก ไม่มีอิสระ ไม่มีการท้าทายสติปัญญา คตินิยมศิลปะแบบเก่า ๆ อาทิ คลาสสิกใหม่ (neoclassicism), จินตนิยม (romanticism) และสัจนิยม (realism) ซึ่งเกิดขึ้นและหมดความนิยมลง ล้วนเป็นบทพิสูจน์อันดีสำหรับกฎวิวัฒนาการ อนึ่ง สภาพของสังคม เศรษฐกิจ และปรัชญาของชีวิตได้แปรเปลี่ยนไป คำว่าอิสรภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ เป็นหลักทั่วไปในการแสวงหาทางออกใหม่ ลัทธิปัจเจกชนได้รับการนับถือ ทางด้านเศรษฐกิจเป็นไปตามแนวเสรีนิยม ศิลปินต้องดำรงชีพอยู่ด้วยตนเองไม่มีข้อผูกพันหรือรับคำสั่งในการทำงานดังแต่ก่อน
- ความก้าวหน้าทางวิชาการต่าง ๆ รุดไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์การค้นคว้าทฤษฎีแม่สีแสงอาทิตย์เพิ่มเติม และนักวิทยาศาสตร์ชื่อ เชอวเริล (Chevreul) ได้เขียนตำราเกี่ยวกับทฤษฎีสี เป็นมูลเหตุจูงใจให้ศิลปินเห็นทางใหม่ในการแสดงออก ประกอบกับได้มีการประดิษฐ์กล้องถ่ายรูป ทำให้เขียนภาพเหมือนจริงลดความนิยมลงไป เพราะสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ให้ผลิตผลที่เหมือนจริงและรวดเร็วกว่า
- การคมนาคมโดยทั่วไปได้รับการพัฒนาให้รวดเร็วขึ้น ความเคลื่อนไหวถ่ายเททางศิลปวัฒนธรรมของชาติต่างเป็นไปโดยสะดวก ทำให้ศิลปินมีทรรศนะกว้างขวาง มีความเข้าใจต่อโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1867 มีการแสดงนิทรรศการศิลปกรรมของญี่ปุ่นขึ้นในปารีสซึ่งก่อให้เกิดแรงดลใจต่อศิลปินหนุ่มสาว หัวก้าวหน้าในยุคนั้นอย่างมากเป็นต้น
- มีการพัฒนาสืบทอดความคิดของศิลปินรุ่นก่อนหน้านี้ ได้แก่ พวกสัจนิยมซึ่งนิยมสร้างจากความเป็นจริงที่สามารถมองเห็นได้ และพวกจิตรกรหนุ่มกลุ่มธรรมชาตินิยม โดยเฉพาะพวกกลุ่มบาร์บีซงซึ่งไปรวมกันอยู่ที่หมู่บ้านบาร์บีซง ใกล้ป่าฟงแตนโบล อยู่ไม่ห่างจากปารีสเท่าใดนัก กลุ่มนี้จะยึดถือเอาธรรมชาติ อันได้แก่ ขุนเขาลำเนาไพร เป็นสิ่งที่มีความงามอันบริสุทธิ์และมีคุณค่าสูงสุดพวกเขาจะออกไปวาดภาพ ณ สถานที่ที่ต้องการ ไม่มัวนั่งจินตนาการอยู่ในห้องดังแต่ก่อน นอกจากนี้ยังได้รับแรงดลใจจากจิตรกรอังกฤษสองคน คือ จอห์น คอนสเตเบิล และวิลเลียม เทอร์เนอร์ ซึ่งมีแนวการสร้างงานคล้ายกลับกลุ่มบาร์บีซง
รายชื่อจิตรกร
แก้- ลูซี เอ. เบคอน (Lucy A. Bacon)
- เฟรเดริก บาซีย์
- ฌ็อง เบอโร (Jean Beraud)
- แมรี คัสซาตต์
- กุสตาฟว์ กายบ็อต (Gustave Caillebotte)
- แอดการ์ เดอกา
- จอร์จ วอร์ตัน เอดเวิดส์ (George Wharton Edwards)
- Frederick Carl Frieseke
- Eva Gonzalès
- อาร์ม็อง กีโยแม็ง
- Childe Hassam
- โยฮัน โยงกินด์ (Johan Jongkind)
- เจ. ออลเดน เวียร์ (J. Alden Weir)
- เอดัวร์ มาแน
- Willard Metcalf
- Laura Muntz Lyall
- โกลด มอแน
- แบร์ต มอรีโซ (Berthe Morisot)
- William McGregor Paxton
- Lilla Cabot Perry
- กามีย์ ปีซาโร
- ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์
- ทีโอดอร์ รอบินสัน (Theodore Robinson)
- Zinaida Serebryakova
- อัลเฟรด ซิสลีย์
- John Henry Twachtman
อ้างอิง
แก้- ↑ ศัพท์ศิลปะ เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ราชบัณฑิตยสถาน
- ↑ ศัพท์วรรณกรรม เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ราชบัณฑิตยสถาน