อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก

อ็องรี มารี แรมง เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก-มงฟา (ฝรั่งเศส: Henri Marie Raymond de Toulouse-Lautrec-Monfa; 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1864 - 9 กันยายน ค.ศ. 1901) เป็นจิตรกร ช่างพิมพ์ ช่างเขียนแบบ และอิลลัสเตรเตอร์ (Illustrator) สมัยอิมเพรสชันนิสม์สมัยหลังคนสำคัญของประเทศฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนโปสเตอร์ของชีวิตผู้คนในบริเวณมงมาตร์ และผู้ชอบใช้ชีวิตในวงการของความฟุ้งเฟ้อและโรงละครในสมัยปลายคริสต์ศตวรรษ (fin de siècle) ของปารีส

อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก
“ลากูลู (หลุยส์ เวเบ) มาถึงมูแล็งรูฌ” (La Goulue arriving at the Moulin Rouge) (ค.ศ. 1892)

ชีวิตเบื้องต้น แก้

อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็กเกิดที่อาลบีในแคว้นมีดี-ปีเรเน เป็นลูกคนแรกของเคานต์อัลฟงส์และเคาน์เตสส์อาแดล เดอ ตูลูซ-โลแทร็กซึ่งเป็นครอบครัวผู้ดีตกยาก เคานต์อัลฟงส์และเคานต์เทสอาแดลเป็นลูกพี่ลูกน้องกันและมิใช่เป็นรุ่นแรกของครอบครัวโลแทร็กที่แต่งงานกันเอง ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่อ็องรีมีโรคหลายโรคมาตั้งแต่กำเนิดและโรคที่ว่านี้อาจจะมีสาเหตุมาจากการแต่งงานระหว่างพี่น้องในสายเลือดเดียวกัน น้องชายของอ็องรีเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1867 และเสียชีวิตปีต่อมา

เมื่ออายุ 13 และ 14 ปีกระดูกสะโพกของอ็องรีหักทั้งสองข้างและไม่หายดี แพทย์สมัยใหม่สันนิษฐานว่าสาเหตุที่ไม่ยอมหายคงเป็นเพราะความไม่ปกติทางกรรมพันธุ์ซึ่งอาจจะมาจากโรค “pycnodysostosis” หรือบางทีก็รู้จักกันในชื่อ “กลุ่มอาการตูลูซ-โลแทร็ก” (Toulouse-Lautrec Syndrome)[1] หรืออาจจะเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับโรคกระดูกต่าง ๆ[2] หรืออาจจะเป็นโรคกระดูกอ่อนและ praecox virilism ผสมกัน ตั้งแต่นั้นส่วนขาของอ็องรีหยุดเจริญเติบโต ฉะนั้นอ็องรีจึงสูงเพียง 1.54 เมตร หรือ 5 ฟุต 1 นิ้ว[3] แต่ร่างกายส่วนบนเติบโตตามปกติแต่เพียงขาเท่านั้นที่สั้นอย่างเด็ก นอกจากนั้นยังกล่าวกันว่าอ็องรีมีปัญหาของการเติบโตอย่างผิดปรกติของอวัยวะเพศ (Hypertrophy))[4]

เพราะความที่ไม่สามารถทำอะไรอย่างที่คนอื่น ๆ ทำกันได้ อ็องรีจึงหันความสนใจทั้งหมดมาทางศิลปะ และกลายมาเป็นเป็นจิตรกรคนสำคัญของสมัยโพสต์อิมเพรสชันนิสม์, อิลลัสเตรเตอร์แบบอาร์ตนูโว, และ lithographer อ็องรีบันทึกชีวิตแบบโบฮีเมีย (Bohemianism) ในปารีสในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไว้มาก นอกจากนั้นยังเป็นนักเขียนภาพประกอบของนิตยสาร “Le Rire” ระหว่างกลางคริสต์ทศวรรษ 1890

ปารีส แก้

อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็กเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น “หัวใจของมงมาทร์” (The soul of Montmartre) ซึ่งเป็นบริเวณที่อ็องรีและศิลปินอื่นอาศัยอยู่ อ็องรีชอบเขียนภาพชีวิตที่มูแล็งรูฌ (Moulin Rouge) ซึ่งเป็นคาบาเรต์ที่สร้างเมื่อ ค.ศ. 1889; ชีวิตในมงมาตร์และในคาบาเรต์อื่น ๆ ในปารีส; ชีวิตในโรงละคร และโดยเฉพาะในซ่องโสเภณีที่อ็องรีชอบไป และกล่าวกันว่าไปติดซิฟิลิสมาจากโรซา ลารูฌผู้ทำงานในซ่อง อ็องรีอาศัยอยู่กับผู้หญิงเหล่านี้เป็นเวลานานจนมีความสนิทสนมและเป็นที่ไว้วางใจจนสามารถเข้าสังเกตในสิ่งที่เป็นส่วนตัวต่าง ๆ ได้ อ็องรีนำประสบการณ์ที่เห็นนี้มาวาดและเขียนในฉากเลสเบี้ยน และอื่นของมงมาตร์และมูแล็งรูฌ ในบรรดาภาพที่เขียนอ็องรีเขียนภาพอีแว็ต กีลแบร์ (Yvette Guilbert), หลุยส์ เวเบ (Louise Weber) ผู้รู้จักกันบนเวทีในนาม “ลากูลู” หรือคนตะกละ ผู้เป็นผู้เริ่มการเต้นรำแบบ “แคน-แคน”, และนักเต้นรำ เจน อาวริล (Jane Avril) ส่วนซูซาน วาลาดง (Suzanne Valadon) อ็องรีสอนวาดภาพให้กับ ซูซาน อาจจะเป็นผู้หญิงคนหนึ่งของอ็องรี

อ็องรีป็นโรคติดสุราเรื้อรังเกือบตลอดชีวิต และในที่สุดก็ถูกส่งไปโรงพยาบาลสำหรับผู้เป็นโรคเรื้อรังไม่นานก่อนที่จะเสียชีวิต และในที่สุดก็ตายด้วยโรคพิษสุราเรื้อรังและซิฟิลิสที่บ้านของครอบครัวที่มาลโรเม (Malromé) เมื่ออายุได้เกือบ 37 ปี ร่างของอ็องรีถูกฝังไว้ไม่ไกลจากบ้านเกิด กล่าวกันว่าคำสุดท้ายก่อนตายของอ็องรี คือ “Le vieux con” (เจ้าโง่!)[5]

อ็องรีใช้เวลาทั้งหมดกว่า 20 ปีในการสร้างงานศิลปะ เขียนภาพบนผ้าใบทั้งหมด 737 ภาพ, ภาพสีน้ำ 275 ภาพ, ภาพพิมพ์และโพสเตอร์ 363 ภาพ, ภาพวาด 5,084 ภาพ, และงานเขียนภาพลามกอีก 300 ภาพ, งานเซรามิก งานกระจกสี และงานอื่นที่สูญไป[1] หลังจากที่อ็องรีเสียชีวิตไปแล้ว เคาน์เตสอาเดล ผู้เป็นแม่และ มอริซ โจยังท์ผู้ซึ้อขายงานศิลปะก็ช่วยกันเผยแพร่งานเขียนของอ็องรี นอกจากนั้นเคาน์เตสอาแดลก็ยังอุทิศเงินสร้างพิพิธภัณฑ์ที่อัลบีที่บ้านเกิดของอ็องรีเพื่อใช้เป็นที่ตั้งแสดงผลงาน

ประวัติชีวิตของอ็องรีสร้างเป็นภาพยนตร์สองเรื่อง:

  • “Moulin Rouge” (ค.ศ. 1952) สร้างโดยจอห์น ยูสตัน โดยมีโฮเซ เฟร์เรร์แสดงเป็นอ็องรี
  • “Lautrec” (ค.ศ. 1998) กำกับโดยโรเจอร์ พลานชอง[6]
  • “Moulin Rouge” (ค.ศ. 2001) โดยมีจอห์น เลกุยซาโมแสดงเป็นอ็องรี

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Angier, Natalie (June 6, 1995). "What Ailed Toulouse-Lautrec? Scientists Zero In on a Key Gene". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2007-12-08.
  2. "Noble figure". The Guardian. November 20, 2004. สืบค้นเมื่อ 2007-12-08.
  3. "Why Lautrec was a giant". The Times. December 10, 2006. สืบค้นเมื่อ 2007-12-08. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  4. Ayto, John, and Crofton, Ian, Brewer's Dictionary of Modern Phrase & Fable, page 747. Excerpted from Google Book Search. [1]
  5. "Toulouse Lautrec: The Full Story". Channel 4. สืบค้นเมื่อ 2007-12-08.
  6. www.imdb.com

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

สมุดภาพ แก้