ไทระ โนะ โทกูโกะ
ไทระ โนะ โทกูโกะ (ญี่ปุ่น: 平 徳子; โรมาจิ: Taira no Tokuko; ค.ศ. 1155 – 25 มกราคม ค.ศ. 1214)[1] ภายหลังมีพระนามว่า เค็นเรมงอิง (ญี่ปุ่น: 建礼門院; โรมาจิ: Kenreimon-in) เป็นพระธิดาในไทระ โนะ คิโยโมริกับไทระ โนะ โทกิโกะ พระองค์เป็นพระมเหสีและจักรพรรดินีของจักรวรรดิทากากูระ
ไทระ โนะ โทกูโกะ 平徳子 | |
---|---|
จักรพรรดินีญี่ปุ่น | |
ดำรงพระยศ | 6 มีนาคม ค.ศ. 1172 – 1 มกราคม ค.ศ. 1182 |
ประสูติ | ค.ศ. 1155 |
สวรรคต | 25 มกราคม ค.ศ. 1214 เฮอังเกียว (เกียวโต) | (58–59 ปี)
คู่อภิเษก | จักรพรรดิทากากูระ |
พระราชบุตร | จักรพรรดิอันโตกุ |
ราชวงศ์ | ยามาโตะ |
พระราชบิดา | ไทระ โนะ คิโยโมริ |
พระราชมารดา | ไทระ โนะ โทกิโกะ |
โทกูโกะเป็นบุคคลเดียวที่รอดชีวิตจากยุทธนาวีที่ดันโนะอุระ[2]
ชีวิตทของพระองค์กลายเป็นเนื้อเรื่องน่าติดตามทั้งในประวัตศาสตร์และวรรณกรรม[3]
ประวัติ
แก้ไทระ โนะ โทกูโกะ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1155 ที่เขตโระกุฮะระ นครเฮอัง เมืองเกียวโตในปัจจุบัน เป็นธิดาคนแรกของไทระ โนะ คิโยโมริ กับนางไทระ โนะ โทะกิโกะ มีพี่ชายร่วมมารดาสองคนได้แก่ ไทระ โนะ มุเนะโมะริ และ ไทระ โนะ โทะโมะโมะริ มีน้องชายร่วมมารดาหนึ่งคนได้แก่ ไทระ โนะ ชิเงะฮิระ และมีน้องสาวร่วมมารดาอีกสองคนได้แก่ ไทระ โนะ โมะริโกะ กับ ไทระ โนะ ซะดะโกะ
ช่วงวัยเยาว์ของโทะกุโกะนั้นเป็นช่วงเวลาที่คิโยโมริผู้เป็นบิดากำลังเรืองอำนาจอยู่ในราชสำนักเมืองเฮอัง เมื่อค.ศ. 1171 โทะกุโกะอายุสิบหกปีกลายเป็นพระธิดาบุญธรรมของอดีต จักรพรรดิโกะ-ชิระกะวะ และเข้าถวายตัวเป็นพระชายาในพระ จักรพรรดิทะกะกุระ พระราชโอรสองค์ที่ 4 ของอดีตจักรพรรดิโกะ-ชิระกะวะ (ซึ่งพระจักรพรรดิทะกะกุระมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของโทะกุโกะ พระมารดาของจักรพรรดิคือชิเงะโกะเป็นน้องสาวของโทะกิโกะ ซึ่งเป็นมารดาของโทะกุโกะ) เพื่อเสริมอำนาจของตระกูลไทระ และในค.ศ. 1172 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ชูงู หรือพระจักรพรรดินี ในค.ศ. 1178 พระจักรพรรดินีโทะกุโกะประสูติพระโอรสองค์แรกแก่พระจักรพรรดิทะกะกุระ พระนามว่า องค์ชายโทะกิฮิโตะ
ในค.ศ. 1180 คิโยโมริผู้เป็นบิดาได้บังคับให้พระจักรพรรดิทะกะกุระสละราชสมบัติ แล้วยกองค์ชายโทะกิฮิโตะพระชนมายุเพียงสองพระชันษาขึ้นเป็นพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ คือ พระจักรพรรดิอันโตะกุ พระจักรพรรดินีโทะกุโกะจึงเลื่อนตำแหน่งเป็น โคไตโง หรือพระพันปี มีพระนามตามตำหนักที่ประทับว่า เคนเรมง-อิน (建礼門院) ปีต่อมาค.ศ. 1181 พระสวามีอดีตพระจักรพรรดิทะกะกุระสวรรคตลง และในปีเดียวกันคิโยโมริผู้เป็นบิดาก็ถึงแก่อสัญกรรมลงเช่นกัน
ต่อมาเกิดสงครามเก็มเป มินะโมะโตะ โนะ โยะชินะกะ ยกทัพเข้ายึดนครเฮอังในค.ศ. 1183 พระพันปีโทะกุโกะจึงเสด็จหนีไปพร้อมกับพระจักรพรรดิอันโตะกุพระโอรสและสมาชิกตระกูลไทระคนอื่นๆ ไปประทับที่เมืองยะชิมะ (ปัจจุบันคือเมืองทะกะมะซึ จังหวัดคะงะวะ) ในปีต่อมาค.ศ. 1185 มินะโมะโตะ โนะ โยะชิสึเนะ เข้าบุกยึดเมืองยะชิมะได้ ทำให้บรรดาสมาชิกตระกูลไทระต้องหลบหนีอีกครั้งโดยลงเรือแล่นไปยังทะเลตะวันตก โยะชิซึเนะยกทัพเรือติดตามไป จนเข้าต่อสู้กันในยุทธนาวีที่ดันโนะอุระ ซึ่งตระกูลไทระพ่ายแพ้ราบคาบ สมาชิกตระกูลไทระทั้งหลายต่างพากันกระโดดลงทะเลเสียชีวิตเพื่อหนีความพ่ายแพ้ นางโทะกิโกะผู้เป็นมารดาได้อุ้มพระจักรพรรดิอังโตะกุกระโดดลงทะเลสวรรคตไปพร้อมกับของวิเศษสามอย่างอันเป็นสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิ ส่วนพระพันปีโทะกุโกะก็ได้กระโดดลงทะเลไปเช่นกัน แต่ผมที่ยาวสยายของพระนางไปติดกับคราดของชาวประมง จึงทรงได้รับการช่วยเหลือขึ้นมา
เมื่อทรงรอดชีวิตมาแล้ว พระพันปีโทะกุโกะก็ได้ทรงบวชเป็นชีประทับอยู่ที่กระท่อมเล็กแห่งหนึ่ง ในบริเวณที่ใกล้กับเมืองไมซุรุในปัจจุบัน แต่ทว่าประทับได้เพียงสองเดือนเกิดเหตุแผ่นดินไหว ทำให้กระท่อมที่ประทับพังทลายลง จึงทรงย้ายไปประทับที่วัดจักโก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครเฮอัง ปีต่อมาค.ศ. 1186 อดีตพระจักรพรรดิโกะ-ชิระกะวะ เสด็จมาเยี่ยมพระพันปีโทะกุโกะที่วัด พระนางโทะกุโกะใช้ชีวิตอย่างเศร้าโศกเป็นเวลานานถึงยี่สิบเก้าปี จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ลงในค.ศ. 1214 พระชนมายุ 59 ชันษา
อ้างอิง
แก้- ↑ Brown, Delmer M. et al. (1979). Gukanshō, p. 333.
- ↑ Kitagawa, Hiroshi et al. (1975). The Tale of the Heike, pp. 652-678; Titsingh, Isaac. (1834). Annales des empereurs du Japon, pp. 211-212.
- ↑ The Tales of the Heike. แปลโดย Burton Watson. Columbia University Press. 2006. pp. 148–169. ISBN 978-0-231-13803-1.
บรรณานุกรม
แก้- Brown, Delmer M. and Ichiro Ishida. (1979). The Future and the Past: a translation and study of the 'Gukanshō'. Berkeley: University of California Press. ISBN 0-520-03460-0
- Kitagawa, Hiroshi and Bruce T. Tsuchida. (1975). The Tale of the Heike. Tokyo: University of Tokyo Press. ISBN 0-86008-189-3
- McCullough, Helen Craig. (1988). The Tale of the Heike. Palo Alto: Stanford University Press. ISBN 0-8047-1803-2
- Ponsonby-Fane, Richard. (1959). The Imperial House of Japan. Kyoto: Ponsonby Memorial Society. OCLC 194887
- Sansom, George Bailey. (1958). A History of Japan to 1334. Stanford, California: Stanford University Press.
- Titsingh, Isaac. (1834). Annales des empereurs du Japon (Nihon Ōdai Ichiran). Paris: Oriental Translation Fund of Great Britain and Ireland.--Click link to digitized, full-text copy of this book (in French)
- Varley, H. Paul. (1980). "A Chronicle of Gods and Sovereigns: Jinnō Shōtōki of Kitabatake Chikafusa. New York: Columbia University Press. ISBN 0-231-04940-4
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Meiji Gakuin University: Heike monogatari (in English)
- University of Virginia: Heike monogatari (in Japanese)
- Kyoto City Tourism and Culture Information System -- Jakkō-in (Ōhara) เก็บถาวร 2009-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Kyoto City Tourism and Culture Information System -- Chōraku-ji (Kyoto) เก็บถาวร 2008-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน