ไกวัล กุลวัฒโนทัย

ไกวัล กุลวัฒโนทัย
ไกวัล กุลวัฒโนทัย
ไกวัล กุลวัฒโนทัย
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510
ไกวัล ติโลกะวิชัย
อาชีพนักแต่งเพลง นักวิชาการ คอนดักเตอร์ ศิลปินดนตรีร่วมสมัย
สุพรรณหงส์ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม

พ.ศ. 2550 - พระพุทธเจ้า

พ.ศ. 2551 - แปดวัน แปลกคน
ชมรมวิจารณ์บันเทิงดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
พ.ศ. 2552 - "October Sonata รักที่รอคอย"
ฐานข้อมูล
IMDb

ประวัติ

แก้

Kaiwan Kulavadhanothai ไกวัล กุลวัฒโนทัย ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรีปี 2563 จากกระทรวงวัฒนธรรม

เริ่มศึกษาวิชาดนตรีเมื่ออายุ 10 ปี ที่วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร กับอาจารย์ Motoko Funakoshi ในวิชาเอกขับร้อง ในปี พ.ศ. 2525 ได้เข้าร่วมกับคณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย ขับร้องแสดง ณ โรงละครแห่งชาติ ในโอกาสฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ และได้ร่วมขับร้องเพลงในหลายปีต่อมา ในปี 2529 ได้รับทุนด้านดนตรีและการขับร้องจาก Bangkok Music Society เนื่องด้วยมีความสนใจในวิชาร้องเพลงและประพันธ์เพลงมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน จึงศึกษาด้วยตนเองเรื่อยมา ในปี 2528 และ 2529 ได้มีผลงานประพันธ์เพลง ชนะการประกวด Thailand Popular Song Festival ได้รับรางวัล Best Song Award 2 ปีติดต่อกัน หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาดนตรี ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวิชาเอกขับร้อง ในช่วงเวลานั้นเองที่ได้พบกับ อ. บรูซ แกสตัน และ ได้เข้าร่วมกับ วงดนตรีฟองน้ำ เดินทางไปแสดงดนตรีที่งาน World Expositon ’86 ที่ประเทศแคนาดา และได้เดินทางไปแสดงดนตรีไทยร่วมสมัยในอีกหลายประเทศในปีต่อๆ มา เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย และอเมริกา อีกทั้งยังได้มีโอกาสศึกษาการประพันธ์เพลงกับ อ. บรูซ แกสตัน ทั้งประเภท ดนตรีคลาสสิก ดนตรีไทย ดนตรีไทยประยุกต์ ดนตรีร่วมสมัย ดนตรีป๊อป ดนตรีแจ๊ส ดนตรี Electronic และ Computer เป็นต้น ในช่วงเวลา 16 ปี ที่ได้ร่วมงานกับวงดนตรีฟองน้ำ และมีความใกล้ชิดกับปรมาจารย์ดนตรีไทยอย่าง ครูบุญยงค์ เกตุคง ครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ และครูดนตรีไทยท่านอื่นๆ มีอิทธิพลต่อแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานการประพันธ์ดนตรีของไกวัลในลำดับต่อๆ มา

นอกจากผลงานดนตรีกับ วงดนตรีฟองน้ำ ไกวัล กุลวัฒโนทัย ได้สร้างผลงานด้านดนตรีไว้หลายประเภทดังนี้

ผลงานด้านดนตรีขับร้องประสานเสียง

แก้

จากการศึกษาวิชาการขับร้องเพลงตะวันตกมาตั้งแต่ต้น และเคยเป็นสมาชิกของ คณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย ไกวัลได้รับคำแนะนำจาก อ. ดุษฎี พนมยงค์ ให้ไปสอนการขับร้องประสานเสียงที่ ชมรมคณะนักร้องประสานเสียง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตั้งแต่ในช่วงปี 2529 - 2549 เป็นเวลานานถึง 20 ปี ได้สร้างพื้นฐานวงขับร้องประสานเสียงของมหาวิทยาลัย และเรียบเรียงเพลงให้กับมหาวิทยาลัยหลายเพลง และทดลองเทคนิคที่หลากหลายในการสอนร้องเพลงประสานเสียงให้กับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานดนตรีมาก่อน จนได้เทคนิควิธีการในแบบฉบับของตนเอง

ในปี 2531 ได้ประพันธ์เพลง "ม่วงฟ้าสถาบัน" ซึ่งได้กลายเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากชมรมคณะนักร้องมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้การพัฒนาวงเป็นไปได้ยาก ในช่วงปี 2549 อ. ดุษฎี พนมยงค์ ได้ชักชวนให้มาเป็นคอนดักเตอร์ของวง "สวนพลูคอรัส[1]" หรือชื่อทางการ "คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู" จึงได้ลาออกจากการสอนชมรมคณะนักร้องประสานเสียงธุรกิจบัณฑิตย์ โดยตั้งใจจะสร้างวงประสานเสียงที่มีเอกลักษณ์ไทย ที่ไม่มีใครทำมาก่อน จึงได้ทดลองสร้างผลงานประสานเสียงเพลงไทย ทั้งเรียบเรียงเพลงเก่า และประพันธ์ขึ้นมาใหม่ และนำบทเพลงเหล่านี้ไปแข่งขันในการขับร้องประสานเสียงระดับนานาชาติอย่าง World Choir Games ปี 2549 ที่เมือง Xiamen สาธารณรัฐประชาชนจีน ในประเภท Folklore A Cappella โดยสวนพลูคอรัส ได้รับรางวัลระดับเหรียญทองแดง แต่สิ่งที่สร้างปรากฏการณ์คือหลังจากการแข่งขัน สวนพลูคอรัส ได้รับเชิญให้ไปออกรายการทีวี "คุณพระช่วย" ของ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้บันทึกเทปเพลง "พม่าทุงเล"​ และ "รำวงเมดเล่ย์" แบบประสานเสียง หลังจากรายการออกอากาศ ทั้งสองเพลงนี้กลายมาเป็นสัญลักษณ์และภาพจำของวง สวนพลูคอรัส และไกวัล กุลวัฒโนทัย

ผลงานประพันธ์เพลงที่เด่นที่ทำให้กับ คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู อีกชิ้นคือ "เพลงการละเล่นเด็กไทย" หรือเพลง "งูกินหาง" โดยการนำการละเล่นของเด็กสมัยก่อนเช่น งูกินหาง รีรีข้าวสาร มอญซ่อนผ้า มาแต่งเป็นเพลงและสร้างสรรค์ท่าทางประกอบการแสดงขึ้น นำออกแสดงครั้งแรกในปี 2552 ณ สำนักงานใหญ่องค์การ  UNESCO กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ไกวัล กุลวัฒโนทัย ทำหน้าเป็นคอนดักเตอร์และประพันธ์เพลงให้กับ คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู เดินทางไปแข่งและแสดงหลายประเทศ เช่น เยอรมัน ออสเตรีย จีน ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา จนถึง ปี 2556 หลังจากนั้นจึงได้ออกมาก่อตั้งวงประสานเสียงตามแนวทางของตนเอง ร่วมกับสมาชิกที่มีแนวทางคล้ายคลึงกัน ในชื่อวง "ประสานเสียงไท" ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เสียงไทยคอรัส" หรือ Siang Thai Chorus เป็นการทำวงประสานเสียงแบบอาสาสมัครกึ่งอาชีพ ซึ่งต้องใช้ความพยายามผลักดันจนวงเสียงไทยเริ่มเป็นที่รู้จัก โดยใช้เวทีประกวด Thailand's Got Talent ซีซัน 6 ในปี 2559 โดย เสียงไทยคอรัส สามารถผ่านเข้าไปได้ถึงรอบรองชนะเลิศ ผลงานที่เป็นภาพจำของผู้ชมทั่วประเทศคือการแสดงเพลง "ส้มตำ" พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในรูปแบบประสานเสียงที่มีการแสดงประกอบ ที่เรียกว่า Show Choir ในการแข่งขันรอบออดิชั่น และเพลง "ตำนานรักขวัญเรียม" ในรอบรองชนะเลิศ ซึ่งเป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด

ผลงานของไกวัล ที่ทำให้กับ เสียงไทยคอรัส ได้รับการยอมรับและได้ร่วมงานกับรายการคุณพระช่วยหลายครั้ง รวมถึงคอนเสิร์ต คุณพระช่วยสำแดงสด ๖ ปี 2559 คุณพระช่วยสำแดงสด ๘ ปี 2561 และ คุณพระช่วยสำแดงสด ๙ ปี 2562

ผลงานดนตรีด้านละครเพลง

แก้

การประพันธ์เพลงในด้านละครเพลง หรือ Musical เป็นผลงานที่เขามีความถนัดอย่างยิ่งด้านหนึ่ง สไตล์การแต่งเพลงที่สะท้อนออกมาและเทคนิคที่ใช้ เป็นผลมาจากการคลุกคลีกับละครตั้งแต่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งในช่วงปี 2529 ยังเป็นช่วงเวลาที่ อ. บรูซ แกสตัน เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และ อ. บรูซ แกสตัน ได้มาสอนดนตรีที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่ ไกวัล เรียนอยู่ด้วย จึงได้ช่วยงานดนตรี เวลาที่ภาควิชาศิลปะการละครจัดทำละคร ซึ่งมีละครหลายเรื่องในช่วงนั้นเช่น แม่ค้าสงคราม ขอรับฉัน หรรษาราตรี เป็นต้น ไกวัล ได้ช่วย อ. บรูซ ประพันธ์ดนตรีในหลายเรื่อง และฝึกฝนเทคนิคของละครเพลงไปพร้อมๆ กัน ซึ่งในช่วงเริ่มต้นนี้ ไกวัล ยังได้ช่วย อ. บรูซ และวงฟองน้ำในละครเด็ก "ฉันจะปลูกต้นไม้" และ "ศรีธนญชัย" อีกด้วย

ผลงานการประพันธ์ละครเพลงที่สำคัญของ ไกวัล เริ่มต้นเมื่อเขาได้ร่วมงานกับ บริษัท แดส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นบริษัท ดรีมบ็อกซ์ จำกัด) ละครเพลงสำคัญเรื่องแรกที่สร้างชื่อเสียงคือ “คู่กรรม เดอะมิวสิคัล” ปี 2546 ซึ่งเป็นละครเพลงเรื่องแรกของประเทศไทยที่อยู่ในรูป Sung-through แบบตะวันตก คือร้องทั้งเรื่องโดยไม่มีบทสนทนาเลย ด้วยบทเพลงจำนวน 50 คิว ที่ร้อยต่อกัน คู่กรรม เดอะมิวสิคัล ได้สร้างปรากฏการณ์ที่สำคัญหลายอย่างให้เกิดขึ้นในวงการละครเพลง นอกจากการเป็นละครร้องทั้งเรื่องแล้ว ยังเป็นละครที่สร้างดาวเด่นขึ้นมาประดับวงการละครเพลง โดยเป็นผลงานละครเพลงแจ้งเกิดเรื่องแรกของ "น้ำมนต์" ธีรนัย ณ หนองคาย และทำให้เกิดทีมงานและบุคลากรที่เริ่มเข้ามาทำงานในแวดวงละครเพลงอีกมากมาย

ผลงานละครเพลงที่สำคัญถัดมาคือ แม่นาค เดอะมิวสิคัล ในปี 2552 กับบริษัท ดรีมบ็อกซ์ จำกัด ซึ่งเป็น Sung-through เช่นกัน ประสบความความสำเร็จได้รับความชื่นชมจากสื่อและผู้ชมมากมาย และถือเป็นละครที่คนเรียกร้องให้นำกลับมาแสดงใหม่มากที่สุด จนได้นำกลับมาแสดงใหม่อีกครั้งในปี 2562

งานด้านละครเพลง เป็นโปรดักชันที่ใหญ่ มีเวลาและทรัพยากรที่จำกัดในการทำ ไกวัล ได้ร่วมงานกับนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงอีก 2 ท่าน ที่ได้มาช่วยทั้งคู่กรรม และ แม่นาค เดอะมิวสิคัล คือ สุธี แสงเสรีชน และ พลรักษ์ โอชกะ ประพันธ์เนื้อร้องโดย ดารกา วงศ์ศิริ

ละครเพลงที่สำคัญยังมี นางพญางูขาว เดอะมิวสิคัล ปี 2556 และ น้ำเงินแท้ เดอะมิวสิคัล ปี 2562 ซึ่งเป็นละครเพลง Sung-through ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างมาก

นอกจากละครที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังละครอีกมากมายหลายเรื่องที่ได้ประพันธ์เพลงให้ เช่น แผ่นดินของเรา เดอะมิวสิคัล (12-28 มิ.ย 2558) พระร่วง เดอะมิวสิคัล (22 ก.พ. - 4 มี.ค. 2560)

ผลงานดนตรีประกอบละครเวทีอื่นๆ เช่น เรื่อง “ผู้มาเยือน” ของคณะละคร 28, “ขอรับฉัน” และ “เฟาสท์” ของคณะละครมรดกใหม่

ผลงานดนตรีประกอบภาพยนตร์

แก้

ผลงานดนตรีประกอบาพยนตร์มีจำนวนหลายเรื่อง ดนตรีที่ได้รับรางวัลคือ ดนตรีประกอบภาพยนตร์แอนิเมชัน “พระพุทธเจ้า” ซึ่งได้รับ รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2550 และดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง “แปดวัน แปลกคน” ซึ่งได้รับ รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2551 จากสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย และ October Sonata รักที่รอคอย ได้รับรางวัล รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 18 และ รางวัล STARPICS THAI FILM AWARDS ครั้งที่ 7

ผลงานดนตรีด้านอื่นๆ

แก้

ผลงานด้านประพันธ์เพลงมีมากมาย อาทิ ผลงานร่วมกับวงดนตรีฟองน้ำในหลายอัลบั้ม งานแสง-เสียงหน้าพระที่นั่ง “คนดีศรีอยุธยา” (ปี 2535 และ 2538) เพลงประกอบการแสดงแสง-เสียงของการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย ในชุด “อยุธยายศยิ่งฟ้า” ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ปี 2540) เพลง Original Score งานเสียง-เสียง “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” จังหวัดกาญจนบุรี อัลบั้ม “น้ำใจน้องพี่สีชมพู” ของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ อัลบั้ม “ตะวันรุ่งทุ่งรังสิต” ของมหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากนั้น ยังมีเพลงประจำสถาบันต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ การปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย ฯลฯ และ เพลงสำหรับวง Symphony Orchestra “Jamjuree Fantasia”(ปี 2540) ซึ่งประพันธ์ให้กับวง CU Symphony Orchestra บรรเลงร่วมกับคณะนักร้องประสานเสียง ในวาระฉลอง 80 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้ง, ละครเพลง “คู่กรรม เดอะมิวสิคัล” ของ Dreambox ดนตรีประกอบการแสดงชุด “แม่น้ำของแผ่นดิน” ปีที่ 3 ถึง ปีที่ 5 ของสำนักพระบรมมหาราชวัง ฯลฯ ผลงาน

ปัจจุบันยังคงทำงานสร้างสรรค์ดนตรีอิสระ และเป็นอาจารย์สอนขับร้องเพลงประสานเสียงให้กับ เสียงไทยคอรัส และอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

ผลงาน

แก้

วงดนตรี

แก้

ประพันธ์เพลงประจำหน่วยงานหรือสถาบัน

แก้
  • ปี พ.ศ. 2531 เพลงประจำมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • ปี พ.ศ. 2531 เพลงประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ปี พ.ศ. 2537 เพลงประจำมหาวิทยาลัย หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
  • ปี พ.ศ. 2551 "เพลงลูกพระจอมเกล้า" เพลงประจำ 3 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ
  • ปี พ.ศ. 2534 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เรื่อง "หลวงตา 3"
  • ปี พ.ศ. 2534 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เรื่อง "แฝดแบบว่า"
  • ปี พ.ศ. 2546 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เรื่อง “191 ½ มือปราบทราบแล้วป่วน” ของ บริษัท ซี.เอ็ม. ฟิลม์ จำกัด
  • ปี พ.ศ. 2547 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เรื่อง "สุริยะฆาต” ของ บริษัท ซี.เอ็ม. ฟิลม์ จำกัด
  • ปี พ.ศ. 2548 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เรื่อง “โคตรเพชฌฆาต” ของ บริษัท ซี.เอ็ม. ฟิลม์ จำกัด
  • ปี พ.ศ. 2549 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เรื่อง “สุดสาคร” ของ บริษัท MONO FILM จำกัด
  • ปี พ.ศ. 2550 ดนตรีประกอบภาพยนตร์แอนิเมชั่น เรื่อง “พระพุทธเจ้า” โดย บริษัท มีเดียแสนดาร์ด จำกัด
  • ปี พ.ศ. 2551 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เรื่อง “แปดวัน แปลกคน” โดย บริษัท เอ แอนด์ เอ เน็ตเวิร์ค จำกัด
  • ปี พ.ศ. 2551 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เรื่อง "หนุมานคลุกฝุ่น” ของบริษัท พระนครฟิลม์ จำกัด
  • ปี พ.ศ. 2551 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เรื่อง “หลวงพี่เท่ง ๒” ของบริษัท พระนครฟิลม์ จำกัด
  • ปี พ.ศ. 2551 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เรื่อง “ปาฏิหาริย์รักต่างพันธ์” ของ บริษัท พระนครฟิลม์ จำกัด
  • ปี พ.ศ. 2551 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ TV Animation Series เชลล์ดอน “Shelldon” Season 1 โดย บริษัท เชลล์ฮัทเอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด ออกอากาศทางไทยทีวีสี ช่อง 3
  • ปี พ.ศ. 2552 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เรื่อง "October Sonata รักที่รอคอย” ของ NGR และ M Pictures
  • ปี พ.ศ. 2551 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ TV Animation Series เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ โดย บริษัท เชลล์ฮัทเอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด ออกอากาศทางไทยทีวีสี ช่อง 3
  • ปี พ.ศ. 2555 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เรื่อง "She เรื่องรักระหว่างเธอ”
  • ปี พ.ศ. 2557 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เรื่อง “วังพิกุล” Village of Hope  ของบุญส่ง นาคภู่ รางวัลหนังไทยแห่งปี 2014 จากนิตยสาร Bioscope

ประพันธ์เพลงประกอบโฆษณาหรือสารคดี

แก้
  • ปี พ.ศ. 2533 ดนตรีประกอบสารคดีชุด "ช้าง…เพื่อนผู้ถูกลืม" ของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า
  • ปี พ.ศ. 2549 ดนตรีประกอบสารคดีโทรทัศน์ เชิดชูเกียรติ 12 ศิลปิน ของประเทศไทย “สยามศิลปิน” (รางวัลโทรทัศน์ทองคำ สารคดีดีเด่น)
  • ปี พ.ศ. 2530 เพลงประกอบละคร เรื่อง "ไร่แสนสุข" ของ Dass Entertainment
  • ปี พ.ศ. 2532 เพลงประกอบละครเรื่อง "ผู้มาเยือน" ของคณะละคร สองแปด
  • ปี พ.ศ. 2533 เพลงประกอบการแสดงแสง เสียง และสื่อผสม ชุด "ฤๅ โลก ร้าย" ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ปี พ.ศ. 2535 เพลงประกอบละครเพลงเรื่อง "ซินเดอเรอลา" ของ Dass Entertainment
  • ปี พ.ศ. 2535 เพลงประกอบการแสดงแสง-เสียง ชุด "คนดีศรีอยุธยา" ณ วัดไชยวัฒนาราม จ. อยุธยา
  • ปี พ.ศ. 2543 เพลงประกอบละครเวที เรื่อง "นางพญางูขาว" ของ Dass Entertainment
  • ปี พ.ศ. 2550 เพลงประกอบละครเวที เรื่อง "คู่กรรม เดอะมิวสิคัล" ของ dreambox
  • ปี พ.ศ. 2552 เพลงประกอบละครเวที เรื่อง "แม่นาค เดอะมิวสิคัล" ของ dreambox
  • ปี พ.ศ. 2556 เพลงประกอบละครเวที เรื่อง "นางพญางูขาว เดอะมิวสิคัล" ของ dreambox
  • ปี พ.ศ. 2562 เพลงประกอบละครเวที เรื่อง "นางฟ้า เดอะมิวสิคัล" ของ dreambox
  • ปี พ.ศ. 2562 เพลงประกอบละครเวที เรื่อง "น้ำเงินแท้ เดอะมิวสิคัล" ของ dreambox

งานประพันธ์เพลงอื่นที่สำคัญ

แก้
  • ปี พ.ศ. 2545 ดนตรีประกอบการแสดง "แม่นำ้ของแผ่นดิน ปีที่ 3 ชุด มหาราชจอมราชัน
  • ปี พ.ศ. 2546 ดนตรีประกอบการแสดง "แม่นำ้ของแผ่นดิน ปีที่ 4 ชุด มหาบุรุษแห่งหิมพานต์
  • ปี พ.ศ. 2547 ดนตรีประกอบการแสดง "แม่นำ้ของแผ่นดิน ปีที่ 5 ชุด พระคู่พระบารมี
  • ปี พ.ศ. 2550 ดนตรีประกอบการแสดง "สยามนิรมิต"
  • ปี พ.ศ. 2560 ดนตรีประกอบการแสดง "หิมพานต์ อวตาร"

รางวัล

แก้
ปี พ.ศ. รางวัล สาขา ผล จากผลงาน
2528 THAILAND POPULAR SONG ได้รับรางวัลเพลงดีเด่น เพลง "ดินน้ำมัน"
2529 THAILAND POPULAR SONG ได้รับรางวัลเพลงดีเด่น เพลง "มายา""
2551 รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 17 ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล พระพุทธเจ้า
2552 รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 18 ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล แปดวัน แปลกคน
2553 รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 18 ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล October Sonata รักที่รอคอย
2553 รางวัล STARPICS THAI FILM AWARDS ครั้งที่ 7 ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล October Sonata รักที่รอคอย
2563 รางวัลศิลปินศิลปาธร จากกระทรวงวัฒนธรรม สาขาดนตรี ได้รับรางวัล ศิลปินด้านดนตรีร่วมสมัย

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  1. https://www.ryt9.com/s/prg/584587