โสมกานดา ภาษวัธน์

โสมกานดา ภาษวัธน์ (เดิม หม่อมเจ้าโสมกานดา จันทรทัต; 10 มกราคม พ.ศ. 2461 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2553) เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ประสูติแต่หม่อมอาบ จันทรทัต ณ อยุธยา

ท่านหญิง

โสมกานดา ภาษวัธน์
เกิดหม่อมเจ้าจำรูญจันทราภา
10 มกราคม พ.ศ. 2461
วังถนนสำราญราษฏร์ จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต24 มีนาคม พ.ศ. 2553 (92 ปี)
โรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสพลตำรวจตรี พิบูลย์ ภาษวัธน์
บุตร6 คน
บิดามารดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา
หม่อมอาบ จันทรทัต ณ อยุธยา

ประวัติ

แก้

โสมกานดา ภาษวัธน์ มีพระนามเมื่อประสูติว่า หม่อมเจ้าจำรูญจันทราภา ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามใหม่จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "โสมกานดา" เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ประสูติแต่หม่อมอาบ จันทรทัต ณ อยุธยา ณ วังถนนสำราญราษฏร์ จังหวัดพระนคร มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมอุทร 4 องค์ ได้แก่

  • พันโท หม่อมเจ้าจันทรศิริปริวัตร จันทรทัต (3 มกราคม พ.ศ. 2445 – 25 มีนาคม พ.ศ. 2518)
  • หม่อมเจ้าอุรคินทร์ จันทรทัต (22 มีนาคม พ.ศ. 2456 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2511)
  • หม่อมเจ้าศศวินทุวิศาล จันทรทัต (2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2460 – 2 กันยายน พ.ศ. 2527)
  • หม่อมเจ้าจุฑาจันทรทัต จันทรทัต (สิ้นชีพตักษัยในวันประสูติเมื่อ พ.ศ 2473)

และมีเจ้าพี่ต่างมารดาซึ่งประสูติแต่หม่อมราชวงศ์แข กุญชร (พระธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์) 4 องค์ ได้แก่

  • หม่อมเจ้าทัตจันทร์จำรูญ จันทรทัต (20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 – พ.ศ. 2485)
  • หม่อมเจ้าวิบูลย์จันทรา จันทรทัต (9 กุมภาพันธ์ 2429 – 1 มกราคม พ.ศ. 2473)
  • หม่อมเจ้าประภาจันทรี (พ.ศ. 2436 – 4 มีนาคม พ.ศ. 2455)
  • หม่อมเจ้าเฉลิมศรีจันทรทัต จันทรทัต (16 กรกฎาคม พ.ศ. 2438 – 6 สิงหาคม พ.ศ. 2507)

เยาว์วัย

แก้

ในช่วงเยาว์วัย โสมกานดาได้มีโอกาสไปประทับในพระบรมมหาราชวังกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี ผู้เป็นเสด็จป้าอยู่ระยะหนึ่ง หลังจากพระบิดาสิ้นพระชนม์ได้ย้ายไปประทับที่บ้านจันทรจุฑา (ปากซอยสุขุมวิท 13 ในปัจจุบัน) กระทั่งปี พ.ศ. 2506 จึงได้ย้ายมาประทับที่บ้านซอยกลาง สุขุมวิท 49 และสุดท้ายทรงใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่หมู่บ้านสัมมากร ถนนรามคำแหง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536

การศึกษา

แก้

ในด้านการศึกษา ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด เมื่อได้ย้ายมาประทับที่บ้านจันทรจุฑา ไม่สะดวกที่จะเสด็จไปโรงเรียนราชินี เพราะระยะทางไกล หม่อมมารดาจึงได้ย้ายโสมกานดามาเรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยอยู่ระยะหนึ่ง และได้ทรงย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์แมรี่ เอส.พี.จี. (Society for the Propagation of the Gospel) ซึ่งเป็นโรงเรียนของมิชชันนารีที่เผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปแตสแตนท์ โดยมีการสอนอบรมแบบอังกฤษ[1]

สมรส

แก้

หม่อมเจ้าโสมกานดา จันทรทัต ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2489[2] เพื่อสมรสกับพลตำรวจตรีพิบูลย์ ภาษวัธน์ (บุตรขุนผลาพิบูลย์ (ชื่น ภาษีผล) และนางผลาพิบูลย์ (โม)) มีบุตร–ธิดา 6 คน ได้แก่

  • อภิพร ภาษวัธน์ สมรสกับพจมาน ภาษวัธน์ (ราชสกุลเดิม สุทัศน์ ณ อยุธยา) มีธิดา 2 คน
  • พรรณโสม ภาษวัธน์ สมรสและหย่ากับเกียรติศักดิ์ โพธยานนท์ มีบุตร 1 คน
  • อนุพช ภาษวัธน์ สมรสกับพัฒน์ชนัน ภาษวัธน์ (เดิม ลัดดาวัลย์ ศรีชยาภรณ์) มีธิดา 1 คน
  • โสมภาณี ภาษวัธน์ สมรสกับดร.ศรีวิชัย ศรีสุวรรณ มีบุตร–ธิดา 3 คน
  • เพ็ญโสม ภาษวัธน์
  • พิมพ์โสม ภาษวัธน์

นอกจากนี้ยังมีบุตรบุญธรรม 1 คน คือ สนั่น อังอุบลกุล สมรสกับเมย์ จูน ฟ๊อกซ์ (ถึงแก่กรรม) มีบุตร-ธิดา 2 คน ต่อมาสมรสกับคุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน มีธิดา 2 คน

สิ้นชีพตักษัย

แก้

โสมกานดา ถึงชีพิตักษัยเนื่องจากหทัยล้มเหลวด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553 สิริชันษา 92 ปี นับเป็นหม่อมเจ้าองค์สุดท้ายของราชสกุลจันทรทัต การนี้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในพิธีพระราชทานเพลิงศพโสมกานดา ภาษวัธน์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ณ เมรุวัดธาตุทอง

อ้างอิง

แก้
  1. หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ท่านหญิงโสมกานดา (จันทรทัต) ภาษวัธน์
  2. ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ออกจากฐานันดรศักดิ์ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/D/040/785.PDF