โมฆียกรรม (อังกฤษ: voidable act) หมายถึง นิติกรรมซึ่งอาจบอกล้าง เพิกถอน หรือให้สัตยาบันได้, ถ้าบอกล้างก็เป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ถ้าให้สัตยาบันก็มีผลสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก ทั้งนี้ กฎหมายเขียนเป็น "โมฆียะกรรม" ตามรูปแบบการเขียนโบราณสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งยังไม่มีการบังคับให้การเขียนสะกดคำต้องเป็นไปตามพจนานุกรมของทางราชการ[1]

โมฆียกรรมที่มีความผิดปรกติแต่ไม่ร้ายแรง กฎหมายจึงยอมให้โมฆียกรรมมีผลชั่วคราวจนกว่าจะมีการบอกล้างอันจะมีผลให้โมฆียกรรมกลายเป็นโมฆกรรม (อังกฤษ: invalid act) หรือให้สัตยาบันอันจะมีผลให้โมฆียกรรมกลายเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ ขณะที่โมฆกรรมไม่ได้มีความผิดปรกติเบาบางขนาดนั้น กฎหมายจึงไม่อาจยอมให้มีผลในทางกฎหมายได้[2]

คำว่า "โมฆียะ" เป็นคำวิเศษณ์ซึ่งมีความหมายในทางกฎหมายว่า "ที่อาจเป็นโมฆะได้เมื่อมีการบอกล้าง หรือมีผลสมบูรณ์เมื่อมีการให้สัตยาบัน"[1] มีความหมายตรงตัวว่า "อันน่าจะเป็นโมฆะ"

นิยาม

แก้

โมฆียกรรม หรือนิติกรรมที่อาจเป็นโมฆะ คือ นิติกรรมที่กฎหมายถือว่าสมบูรณ์ตราบที่ยังไม่ถูกบอกล้าง ที่เป็นเช่นนี้เพราะนิติกรรมนี้มีความผิดปรกติอย่างไม่ร้ายแรงนัก กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้บุคคลผู้เกี่ยวข้องโดยตรงได้มีโอกาสตัดสินใจว่าจะเอาไว้หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองบุคคลเหล่านี้เอง[3]

ในตำราโบราณของไทยมักอธิบายว่า โมฆียกรรมนั้นมีความสมบูรณ์เต็มร้อยแล้ว แต่อาจถูกบอกล้างให้กลายเป็นโมฆะไปเสียได้[4] ขณะที่นักกฎหมายปัจจุบันเห็นต่างไปจากนั้น โดยเห็นว่า โมฆียกรรมนั้นหามีความสมบูรณ์เต็มร้อยไม่ หากแต่กฎหมายถือว่าให้มีความสมบูรณ์เพียงชั่วคราวจนกว่าจะบอกล้างให้เป็นโมฆะไป หรือรับรองโดยการให้สัตยาบันก็จะสมบูรณ์ตลอดไป เพราะลำพังแต่การเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นอย่างมีความผิดปรกติแล้วจะว่าสมบูรณ์เต็มร้อยไม่ได้[5] ซึ่งความผิดปรกตินี้เองก่อให้เกิดสิทธิของผู้เกี่ยวข้องที่จะตัดสินใจว่าจะเอาโมฆียกรรมนั้นอยู่หรือไม่

สารานุกรมของเวสต์ว่าด้วยกฎหมายอเมริกัน (อังกฤษ: West's Encyclopedia of American Law) อธิบายถึงโมฆียกรรมไว้ว่า ในกฎหมายว่าด้วยสัญญา คำว่า "โมฆียกรรม" หมายถึง สัญญาที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและผูกพันคู่สัญญา จนกว่าคู่สัญญาฝ่ายที่มีสิทธิจะใช้สิทธิบอกล้างหรือรับรองด้วยการให้สัตยาบันซึ่งโมฆียกรรมนั้น สัญญาจะตกเป็นโมฆียะโดยเนื่องมาจากกลฉ้อฉล ความสำคัญผิด การแถลงข้อความเป็นเท็จ (เพื่อฉ้อฉล) การมีความสามารถบกพร่องตามกฎหมาย และการผิดต่อความไว้วางใจที่ได้รับ สัญญาที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสิ่งดังกล่าวนี้มิได้ตกเป็นโมฆะโดยอัตโนมัติ แต่จะตกเป็นโมฆะตามความเห็นชอบของคู่สัญญาฝ่ายที่มีสิทธิจะบอกล้างสัญญานั้น ตัวอย่างเช่น บุคคลผู้ถูกล่อลวงโดยกลฉ้อฉลให้เข้าทำสัญญาอาจขอเลิกสัญญาโดยกระทำการบางอย่างตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อแสดงเจตนาว่าไม่ยอมรับสัญญานั้น หรือผู้ถูกล่อลวงโดยกลฉ้อฉล หลังจากเขาทราบความแล้วแล้วอาจพิจารณาให้สัตยาบันแก่สัญญานั้นเพื่อให้มีผลสมบูรณ์ต่อไปก็ได้[6]

พจนานุกรมศัพท์กฎหมายสหรัฐอเมริกา (อังกฤษ: A Law Dictionary, Adapted to the Constitution and Laws of the United States.) ว่า "โมฆียะ" นั้น หมายถึง มีอำนาจใช้บังคับหรือมีผลตามกฎหมายอยู่ แต่ด้วยลักษณะบางอย่างในตัวของมัน ทำให้การนั้นอาจถูกบอกล้างไปเสียตามกฎหมายได้ ตัวอย่างเด่นชัดที่สุดคือกรณีของสัญญาที่ผู้เยาว์กระทำขึ้น ผู้เยาว์อาจบอกล้างไปเสียเมื่อเขาบรรลุนิติภาวะแล้วได้ สัญญาที่เป็นโมฆียะนั้นโดยปรกติแล้วมีผลผูกพันคู่สัญญาจนกว่าคู่สัญญาฝ่ายที่มีสิทธิจะใช้สิทธิบอกล้างมันเสีย[6]

สาเหตุ

แก้

นิติกรรมใดจะกลายเป็นโมฆียะ ย่อมมีสาเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

ความสามารถบกพร่อง

แก้

กฎหมายไทยว่า "การใดมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล การนั้นเป็นโมฆียะ" สำหรับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคลนั้น ได้แก่ (ม. 153 ป.พ.พ.)

1. ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย ไม่ว่าจะยังโดยอายุหรือโดยการสมรสก็ตาม ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม (ม.19-20 ป.พ.พ.)

2. คนไร้ความสามารถทำนิติกรรม (ม.29 ป.พ.พ.)

3. คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมบางประเภทตามที่กฎหมายระบุไว้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์

4. คนวิกลจริตทำนิติกรรมขณะวิกลจริต และคู่กรณีอีกฝ่ายรู้ถึงอาการวิกลจริตนั้น (ม.30 ป.พ.พ.)

เจตนาบกพร่อง

แก้

นิติกรรมจะเป็นโมฆียะได้เมื่อกระทำขึ้นด้วยการแสดงเจตนาโดยวิปริตเท่านั้น ซึ่งได้แก่

1. การแสดงเจตนาโดยมีความเข้าใจในคุณสมบัติอันเป็นสาระสำคัญของบุคคลหรือทรัพย์สินผิดไปจากความจริง ซึ่งหากไม่ได้มีความสำคัญผิดนี้ ก็คงไม่มีนิติกรรมนั้น แต่คุณสมบัติอันเป็นสาระสำคัญของบุคคลหรือทรัพย์สินดังกล่าว ไม่ได้หมายเอาแต่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น หากหมายถึงคุณสมบัติทั้งหลายทั้งปวงที่กระทบกระเทือนถึงความเชื่อถือในคุณค่าแห่งบุคคลหรือทรัพย์สินนั้น[7] (ม.157 ป.พ.พ.)

2. การแสดงเจตนาโดยมีความเข้าใจในข้อเท็จจริงผิดไปจากความจริง เพราะถูกบุคคลอื่นซึ่งอาจเป็นได้ทั้งคู่กรณีหรือบุคคลภายนอกก็ได้ใช้กลฉ้อฉล โดยรวมถึงการฉ้อฉลด้วยการนิ่งไม่บอกความจริงในกรณีที่ควรบอกด้วย ทั้งนี้ กรณีที่บุคคลภายนอกกระทำกลฉ้อฉล นิติกรรมจะเป็นโมฆียะหากอีกฝ่ายที่ไม่ได้ถูกกลฉ้อฉลได้รับรู้หรือควรจะรับรู้ถึงกลนั้น (ม.161 ป.พ.พ.)

3. การแสดงเจตนาโดยถูกข่มขู่ให้เกรงกลัวว่าจะเกิดภยันตรายที่ใกล้จะถึง (อังกฤษ: imminent danger) ต่อตัวผู้แสดงเจตนาเอง หรือต่อญาติพี่น้องหรือทรัพย์สินของเขา (ม.164-166 ป.พ.พ.)

เหตุที่กฎหมายกำหนด

แก้

นอกเหนือจากสาเหตุข้างต้น นิติกรรมยังเป็นโมฆียะได้ถ้ากฎหมายกำหนดให้เป็น เช่น การสมรสที่ถูกข่มขู่ถึงขนาดที่หากไม่ถูกข่มขู่การสมรสนั้นก็จะไม่เกิด ให้เป็นโมฆียะ (ม.1507 ป.พ.พ.) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในกรณีการสมรสเป็นโมฆียะนี้ แม้จะเป็นโมฆียกรรมตามโมฆียกรรมทั่ว ๆ ไปก็ดี แต่ผลในทางกฎหมายและวิธีการบอกล้างกลับแตกต่างกัน เพราะการสมรสเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของบุคคล จึงเพิกถอนได้ก็แต่โดยคำพิพากษาของศาลที่สั่งให้การสมรสเป็นโมฆะเท่านั้น แต่การกลับคืนสู่สถานะเดิมของคู่กรณีเช่นในโมฆกรรมทั่ว ๆ ไป จะเป็นไปไม่ได้ในทางข้อเท็จจริง[8]

การรับรองหรือไม่รับรองโมฆียกรรม

แก้
"โมฆียกรรม เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน

ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่า บุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ

ห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่งเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม"
ม.176 ป.พ.พ.

โมฆียกรรมนั้นเป็นนิติกรรมที่มีความบกพร่องเนื่อง จึงมีลักษณะไม่สมบูรณ์เต็มร้อย แต่สามารถใช้บังคับได้ชั่วคราวจนกว่าจะมีการรับรองโดยการให้สัตยาบัน (อังกฤษ: confirmation) ก็จะกลับกลายมีผลสมบูรณ์ตลอดไป หรือจนกว่าจะมีการไม่รับรองโดยการบอกล้าง (อังกฤษ: annulment, avoidance หรือ nullification) เสีย ก็จะกลับกลายเป็นโมฆกรรมทันที

สัตยาบันนั้นกฎหมายไทยไม่ได้ให้นิยามไว้อย่างชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมาย คือ ม.176 และ ม.177 ป.พ.พ. แล้ว จะสรุปนิยามของสัตยาบันได้ว่าคือ การเห็นชอบและรับรองโมฆียกรรมให้มีผลสมบูรณ์เพื่อสามารถใช้บังคับกันได้ต่อไปในระหว่างคู่กรณีแห่งนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆียนะนั้น[9]

ผู้มีสิทธิให้สัตยาบันหรือบอกล้างโมฆียกรรม

แก้

ตามกฎหมายไทยแล้ว บุคคลผู้มีสิทธิให้สัตยาบันหรือบอกล้างโมฆียกรรมนั้นเป็นบุคคลเดียวกัน โดย ม.177 ป.พ.พ. บัญญัติว่า "ถ้าบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียกรรมตาม ม.175 ผู้หนึ่งผู้ใดได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรม ให้ถือว่าการนั้นเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก แต่ทั้งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก" ซึ่ง ม.175 ป.พ.พ. กำหนดว่าได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

1. นิติกรรมที่บุคคลผู้มีความสามารถบกพร่องตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ และคนวิกลจริต กระทำขึ้นนั้นจะตกเป็นโมฆียะ ดังนั้น ผู้เยาว์จะมีสิทธิให้สัตยาบันหรือบอกล้างโมฆียกรรมของตนเมื่อตนพ้นจากความเป็นผู้เยาว์คือบรรลุนิติภาวะแล้ว สำหรับคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถจะมีสิทธิเมื่อศาลสั่งให้เขาพ้นจากความเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะใช้สิทธิดังกล่าวก่อนพ้นจากความเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้ ถ้าผู้แทนของเขาตามกฎหมาย คือ ผู้พิทักษ์ ได้ให้ความยินยอมแล้ว ส่วนคนวิกลจริตจะมีสิทธิเช่นนั้นเมื่อเขาไม่วิกลจริต

2. นิติกรรมที่กระทำขึ้นโดยการแสดงเจตนาอันวิปริต คือ เกิดจากความสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน หรือถูกข่มขู่ หรือถูกกลฉ้อฉล จะตกเป็นโมฆียะ ดังนั้น ผู้มีสิทธิให้สัตยาบันหรือบอกล้างโมฆียกรรมในกรณีนี้ได้แก่ตัวผู้กระทำโมฆียกรรมนั้น เมื่อเขาทราบได้ว่าตนสำคัญผิดหรือต้องกลฉ้อฉลเช่นนั้น หรือเมื่อพ้นจากการถูกข่มขู่แล้ว

3. ผู้แทนตามกฎหมายของบุคคลผู้มีความสามารถบกพร่องมีสิทธิให้สัตยาบันหรือบอกล้างโมฆียกรรมที่ผู้มีความสามารถบกพร่องกระทำขึ้น ผู้แทนเช่นว่า ได้แก่ ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ ผู้อนุบาลคนไร้ความสามารถ หรือผู้พิทักษ์คนเสมือนไร้ความสามารถ

4. ทายาทของบุคคลผู้กระทำนิติกรรมอันป็นโมฆียะ มีสิทธิให้สัตยาบันหรือบอกล้างโมฆียกรรมเมื่อตัวผู้กระทำโมฆียกรรมนั้นถึงแก่ชีวิตแล้ว แต่ต้องเป็นกรณีที่ตัวผู้กระทำตายลงก่อนจะได้ใช้สิทธิเท่านั้น ทายาทจึงจะใช้สิทธิแทนได้

ระยะเวลาการใช้สิทธิ

แก้

ตามกฎหมายไทยแล้ว กำหนดจุดเริ่มต้นของระยะเวลาในการใช้สิทธิบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมว่า ให้เริ่มเมื่อมูลเหตุที่ทำให้นิติกรรมกลายเป็นโมฆียะสิ้นสุดลง กล่าวคือได้แก่ เมื่อพ้นจากมูลเหตุแห่งการแสดงเจตนาโดยวิปริต คือ พ้นจากภาวะสำคัญผิด พ้นจากการถูกกลฉ้อฉลหรือทราบความจริงแห่งกลฉ้อฉล หรือพ้นจากการถูกข่มขู่, เมื่อผู้เยาว์พ้นจากความเป็นผู้เยาว์ คือ บรรลุนิติภาวะ, เมื่อ

วิธีการใช้สิทธิ

แก้

ตามกฎหมายไทยแล้ว ไม่มีวิธีการบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมกำหนดไว้ ดังนั้น การดังกล่าวจึงกระทำได้โดยวิธีการใด ๆ ก็ดีที่ให้คู่กรณีรับรู้ได้ว่าตนแสดงเจตนาบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมแล้ว ซึ่งคู่กรณีที่ว่านั้นต้องเป็นผู้มีตัวตนแน่นอน สามารถระบุตัวตนได้ชัดแจ้ง (ม.178 ป.พ.พ.)

และแม้การบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมจะเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว แต่ก็ต้องบอกให้คู่กรณีรับทราบด้วย การนี้จึงเข้าหลักการแสดงเจตนาที่มีว่า การแสดงเจตนาต่อผู้อยู่เฉพาะหน้ากัน จะมีผลเมื่อเขารับทราบแล้ว ที่ว่าอยู่เฉพาะหน้ากันนี้ไม่เพียงแต่อยู่ประจันหน้ากันเท่านั้น ยังหมายถึงกรณีที่โต้ตอบกันได้เสมออยู่ประจันหน้ากัน อาทิ กรณีสนทนากันทางโทรศัพท์ หรือทางโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น (ม.168 ป.พ.พ.), ส่วนการแสดงเจตนาต่อผู้มิได้อยู่เฉพาะหน้ากันนั้น จะมีผลเมื่อการแสดงเจตนาไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้นแล้ว (ม.169 ป.พ.พ.) สำหรับกรณีหลังนี้ กล่าวคือ ไม่ว่าผู้รับการแสดงเจตนาจะรับทราบเจตนาที่ส่งมาหรือยัง แต่เมื่อเจตนานั้นไปถึงเขาแล้ว อาทิ เจตนาส่งมาทางจดหมายมาถึงบ้านผู้รับการแสดงเจตนา แม่บ้านรับไว้ให้ เท่านี้ก็มีผลตามกฎหมายแล้ว

ดังที่กล่าวว่า การแสดงเจตนาบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมสามารถกระทำโดยวิธีการใดก็ได้ที่ทำให้คู่กรณีรับรู้ถึงเจตนานั้น เช่นนี้ หากกระทำโดยการแสดงออกที่สามารถรับรู้ได้ทันทีหรือโดยกระจ่างชัด เช่น พูด เขียน ฯลฯ ก็เรียกว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยตรง (อังกฤษ: direct declaration) อย่างไรก็ดี ยังมีพฤติการณ์บางอย่างที่กฎหมายกำหนดให้ถือหรือสามารถตีความได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมด้วย เรียกว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยาย (อังกฤษ: implied declaration) ซึ่งได้แก่

1. ปฏิบัติการชำระหนี้ (อังกฤษ: performance) ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน เช่น นาย ก ขณะเป็นผู้เยาว์ ไปกู้เงินนาย ข โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมของตน ทำให้สัญญากู้เป็นโมฆียะ เมื่อนาย ก บรรลุนิติภาวะแล้วได้นำเงินไปชำระดอกเบี้ยให้นาย ข เช่นนี้แสดงว่านาย ก ยอมรับหนี้ในสัญญากู้นั้นแล้ว จึงถือว่านาย ก ให้สัตยาบันแก่สัญญากู้อันเป็นโมฆียะนั้นโดยปริยาย

2. เรียกให้ฝ่ายลูกหนี้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามที่เป็นหนี้กันไว้ เช่น นาย ก ขณะเป็นผู้เยาว์ ได้ซื้อแหวนวงหนึ่งจากนาย ข โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมของตน ทำให้สัญญาซื้อขายนี้เป็นโมฆียะ เมื่อนาย ก บรรลุนิติภาวะแล้วได้เรียกให้นาย ข ส่งมอบแหวนดังกล่าวให้ เช่นนี้แสดงว่านาย ก ยอมรับว่าตนมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว จึงถือว่านาย กใ ห้สัตยาบันสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะนั้นโดยปริยาย

3. ได้มีการแปลงหนี้ใหม่ (อังกฤษ: novation) คือ การที่คู่กรณีตกลงเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของหนี้เดิม ทำให้เกิดเป็นหนี้ใหม่และกฎหมายถือว่าหนี้เดิมเป็นอันระงับไป (ม.349 ว.1 ป.พ.พ.) เช่น นาย ก ถูกนาย ข ทำกลฉ้อฉลให้ตกลงขายรถจักรยานยนต์ให้ ทำให้สัญญาซื้อขายนี้เป็นโมฆียะ เมื่อ นาย ก ทราบความจริงแล้วกลับตกลงให้นาย ข นำข้าวสารมาชำระหนี้ที่มีอยู่คือค่าจักรยานยนต์นั้น ซึ่งโดยปรกติแล้วการชำระราคาย่อมกระทำด้วยเงิน เช่นนี้มีการตกลงกันให้แปลงหนี้เดิมคือการชำระด้วยเงิน เป็นหนี้ใหม่คือการชำระด้วยข้าวสาร ถือว่านาย ก ยอมรับสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะนั้นแล้ว จึงชื่อว่าเป็นการให้สัตยาบันโดยปริยาย

4.

ผลของการใช้สิทธิ

แก้

เชิงอรรถ

แก้
  1. 1.0 1.1 ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
  2. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2551 : 142.
  3. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2551 : 157-158.
  4. จิ๊ด เศรษฐบุตร, 2522 : 192.
  5. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2551 : 157.
  6. 6.0 6.1 Legal Dictionay, the Free Dictionary by Farlex; 2009 : Online.
  7. ประกอบ หุตะสิงห์, 2518 : 50.
  8. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2551 : 159.
  9. ไชยยศ เหมะรัชตะ, 2550 : 17525.

อ้างอิง

แก้

ภาษาไทย

แก้
  • กิตติศักดิ์ ปรกติ. (2552). "ส่วนที่ 3 เงื่อนไขความมีผลแห่งนิติกรรม." เอกสารประกอบการศึกษาวิชากฎหมายลักษณะนิติกรมและสัญญา (น. 101). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <1[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  • ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549, มีนาคม). พจนานุกรมกฎหมาย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9742883653.
  • เข็มชัย ชุติวงศ์ และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ. (2522). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา. กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • จิ๊ด เศรษฐบุตร. (2522). หลักกฎหมายแพ่งลักษณะนิติกรรมและหนี้. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • ไชยยศ เหมรัชตะ.
    • (2520). กฎหมายว่าด้วยนิติกรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    • (2550). "สัตยาบัน". สรานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยวถาน, (เล่ม 27 : สถานเสาวภา-สาละ, ต้น). กรุงเทพฯ : ด่านสุธาการพิมพ์.
  • ประกอบ หุตะสิงห์. (2518). คำสอนชั้นปริญญาตรี กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์.
  • พระยาเทพวิทุร (บุญช่วย วณิกกุล).
    • (2503). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1-2. พระนคร : เนติบัณฑิตยสภา.
    • (2545). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรียงมาตรา บรรพ 1 หลักทั่วไป นิติกรรม ระยะเวลา อายุความ. กรุงเทพฯ : กองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9749010655.
  • ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. (2551). คำอธิบายนิติกรรม-สัญญา. (พิมพ์ครั้งที่ 13, แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9789742886653.
  • โสภณ รัตนากร. (2521-2522). "นิติกรรม." สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (15 : ธรรมวัตร-นิลเอก). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์.
  • ราชบัณฑิตยสถาน.
    • (2543). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123529.
    • (2544). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123758.
    • (2551, 7 กุมภาพันธ์). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <1 เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
    • (ม.ป.ป.). ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <1 เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  • ศักดิ์ สนองชาติ. (2536). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา. กรุงเทพฯ : นิติบรรณการ.
  • ศาลฎีกา. (2550, 26 มกราคม). ระบบสืบค้นคำพิพากษาและคำสั่งคำร้องศาลฎีกา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <1 เก็บถาวร 2010-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน> (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  • สุชาติ รุ่งทรัพยธรรม. (2547). ย่อหลักทรัพย์และนิติกรรม. มปท. ISBN 9749248902.
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มีนาคม). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <1 เก็บถาวร 2003-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน> เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  • เสนีย์ ปราโมช. (2523). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและหนี้ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์.
  • เสริม วินิจฉัย. (2515). คำอธิบายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและหนี้. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมสรรพสามิต.
  • อนุมัติ ใจสมุทร. (2515). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ว่าด้วยนิติกรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสาสน์.
  • อักขราทร จุฬารัตน.
    • (2520). คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยนิติกรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เฟิสท์การพิมพ์.
    • (2531). คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์. (2551). "การเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ." ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 9789740321316.

ภาษาต่างประเทศ

แก้
  • Legal Dictionay, the Free Dictionary by Farlex. (2009). Voidable. [Online]. Available: <1>. (Accessed: 31 May 2009).