ส. ธรรมยศ
ส. ธรรมยศ (11 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2495) ครู นักเขียน นักปรัชญาและนักเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ นามจริง แสน ธรรมยศ เกิดที่ตำบลปงพระเนตช้าง ลำปาง ในตระกูล ณ ลำปาง มีพี่สาวชื่อจันทร์สม
แสน ธรรมยศ | |
---|---|
เกิด | 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 จังหวัดลำปาง ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 (37 ปี) จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย |
นามปากกา | ส. ธรรมยศ, สันติภาพ |
อาชีพ | นักเขียน นักวิจารณ์ นักประวัติศาสตร์ |
ประวัติ
แก้แสน ธรรมยศ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 ณ ตำบลปงพระเนตรช้าง จังหวัดลำปาง (ปัจจุบันยังปรากฏชื่อ ตรอกปงพระเนตรช้าง ที่เชื่อมระหว่างถนนทิพย์ช้าง กับ ถนนตลาดเก่า ใกล้กับสำนักงานไปรษณีย์ลำปาง) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี และไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ พระนคร จนมีโอกาสไปเรียนมหาวิทยาลัยเอี๋ยง จั้ง ทั่น ที่ฮานอย เวียดนาม
แสน ผู้อายุสั้น (ด้วยวัยเพียง 38ปี) เกิดในยุคที่ประเทศกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ จากยุคบุกเบิกของรถไฟ(สายเหนือมาถึงลำปางเมื่อ พ.ศ. 2459) อยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยังมีประสบการณ์ได้ร่ำเรียนปรัชญาจาก เวียดนามอีกต่างหาก จึงมีหัวคิดที่ก้าวหน้า ชอบถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ มีความสามารถเป็นนักปรัชญา นักเขียน นักปาฐกถา[1] แสน ธรรมยศ ซึ่งได้พบหากับ น.ส.อำพัน ไชยวรศิลป์ (เจ้าของนามปากกา อ.ไชยวรศิลป์) ด้วยความสนิทสนม แล้วใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอยู่นาน จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยมิได้แต่งงานเป็นคู่สมรสด้วยกัน[2]
การทำงาน
แก้แต่อย่างไรก็ตาม แสน ก็ถูกวิพากษ์กลับว่า เป็นประเภทเอาหลักไม่ได้ เป็นคนเจ้าอารมณ์ (โดย สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์) เป็นคนรีบร้อนเกินไป ไม่ได้ศึกษาให้กว้างขวางเสียก่อน (โดย วิทย์ ศิวะศริยานนท์ นักวรรณกรรม) ไม่ใช่คนเก่งประวัติศาสตร์...ไม่เรียนซ้ายขวามาเปรียบเทียบกัน เพื่อหาข้อยุติที่ถูกต้อง(โดย ลาวัณย์ โชตามระ นักเขียนสารคดี)
แต่ด้วยความกล้าหาญ และสำนวนที่เป็นหนึ่งไม่เป็นสองของเขา จึงได้รับฉายาว่า "ราชสีห์แห่งการเขียน" ดั่งในหนังสือพระเจ้ากรุงสยาม อันเป็นหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 4 อย่างตรงไปตรงมา ข้อความหลายหน้า อาจทำให้นักอ่านหัวอนุรักษ์สะดุ้ง มิเพียงเท่านั้น ความก้าวหน้าของแสน ยังปรากฏในข้อเสนอพัฒนาประเทศต่อรัฐบาลด้วย เช่น การเสนอให้เปิดการเรียนการสอนวิชาปรัชญาขึ้น ที่เป็นการศึกษาเพื่อยกระดับความคิดในการรับใช้และสร้างสรรค์สังคมด้วยซ้ำ ขณะที่วิชาดังกล่าวแม้ในปัจจุบันจะเปิดสอนกันเกร่อแต่ก็มิได้เปิดหูเปิดตาร่วมกับสังคมให้เป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด บางที่เป็นเพียงวิชาพื้นฐานทั่วไป ปราศจากความสำคัญไปก็มี มีอ้างกันว่าเคยเสนอผู้ใหญ่ในรัฐบาลตั้งสภาการค้นคว้าแห่งชาติ เสนอให้สร้างชาติด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับที่อังกฤษและญี่ปุ่นได้ทำสำเร็จมาแล้ว โดยเห็นว่าการนำเข้าความรู้เป็นเพียงแค่ชั้นสอง ไม่สามารถจะสร้างขึ้นมาเองได้
นอกจากนั้น แสน ธรรมยศยังเคยเป็นผู้แทนหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย จากประเทศไทย กลับมาเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2478 เคยบวชเป็นภิกษุ แต่ไม่ได้แต่งงาน หลังกลับมาอยู่เมืองไทย เริ่มต้นอาชีพครูที่โรงเรียนสตรีจุลนาคของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
แสน ธรรมยศยังเคยเป็นบรรณาธิการนิตยสารโยนก ของสมาคมชาวเหนือ เขียนเรื่องสั้นไว้ประมาณ 40 เล่ม สารคดี และวิชาปรัชญาอีกหลายเล่ม เขียน บทนำแห่งปรัชญาศาสตร์ หนา 289 หน้า เมื่ออายุได้ 26 ปี เขียน พระเจ้ากรุงสยาม หนาร่วม 800 หน้า ขณะที่ป่วย นอนอยู่ที่โรงพยาบาล
แสน ธรรมยศถึงแก่กรรมด้วยสาเหตุจากวัณโรคขึ้นสมอง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 ที่โรงพยาบาลวัณโรคกลาง จังหวัดนนทบุรี รวมอายุ 38 ปี[1]
ผลงานเขียน
แก้ด้านปรัชญา
- บทนำแห่งปรัชญาศาสตร์ (Introduction to Philosophy) (2485)
- ประวัติศาสตร์ปรัชญา
- อภิปรัชญา
- ศาสตร์ปรัชญา
- ปรัชญาฝ่ายปฏิบัตินิยม
ด้านประวัติศาสตร์
- REX SIAMEN SIUM หรือ พระเจ้ากรุงสยาม (2495)
- ประวัตินครลำปาง
- ลานนาไทยกับประวัติศาสตร์
- ดร. ดิลกแห่งสยาม
- ดิลกมหาราช
- นเรศวรมหาราช
- ตากสินมหาราช
- นครวัด
- อารยธรรมตะวันตก
- อารยธรรมตะวันออก
- ฯลฯ
ด้านศิลปวรรณคดี
- ศิลปแห่งวรรณคดี (2480)
- ปรัชญากับการกวี (2516)
- เรื่องของวรรณคดี
ด้านวิจารณ์
- ศิลปะแห่งการวิจารณ์ (2508)
- ปรัชญาของท่านเทียนวรรณ
- ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตและงาน
- ชีวิตและงานศรีปราชญ์
- ความปราชญ์ของสุนทรภู่
- วิจารณ์งานของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- วิจารณ์งานของหลวงวิจิตรวาทการ
- ทำไมประเทศสยามจึงไม่เจริญ?
เรื่องสั้น
- แมงดา (2492)
- หลงรูปสุดาพรรณ (2495)
- คำสาปวีนัส (2493)
- เสาชิงช้า (รวมเรื่องสั้น)
เรื่องประเภทอื่น ๆ
- วิถีแห่งสันติภาพถาวร
- ตำราเรียนอังกฤษวิธีลัดใน 90 ชั่วโมง
- เทนนิสโต๊ะ (2509)
- คู่มือวัณโรค