สะพานสมมตอมรมารค

(เปลี่ยนทางจาก แยกเมรุปูน)

สะพานสมมตอมรมารค [สม-มด-อะ-มอน-มาก] เป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุงในส่วนของคลองบางลำพู ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง ในพื้นที่แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร และแขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

สะพานสมมตอมรมารค
เส้นทางถนนบำรุงเมือง
ข้ามคลองรอบกรุง
ที่ตั้งแขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร และแขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
ชื่ออื่นสะพานเหล็กประตูผี
ตั้งชื่อตามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
ผู้ดูแลกรุงเทพมหานคร
สถานะเปิดใช้งาน
เหนือน้ำสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
ท้ายน้ำสะพานระพีพัฒนภาค
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทสะพานแบบโค้ง
วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก
ความยาว23 เมตร
ความกว้าง7.5 เมตร
ทางเดิน2
ประวัติ
สร้างใหม่พ.ศ. 2455
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนสะพานสมมตอมรมารค
ขึ้นเมื่อ21 กันยายน พ.ศ. 2541
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000051
ที่ตั้ง
แผนที่

เดิมเป็นสะพานไม้ที่มีโครงเหล็กรองรับพื้นที่ชักเลื่อนออกจากกัน มีชื่อเรียกโดยผู้คนที่อาศัยอยู่แถบนี้ว่า "สะพานเหล็กประตูผี" เนื่องจากตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของประตูพระบรมมหาราชวัง หรือที่นิยมเรียกกันว่า "ประตูผี" อันเป็นทางที่ใช้สำหรับขนถ่ายศพของผู้เสียชีวิตในพระบรมมหาราชวังออกมาปลงศพด้านนอก ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สะพานแห่งนี้มีความทรุดโทรมมาก จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะใหม่ พร้อม ๆ กับการสร้างถนนและสะพานอีกหลายแห่งเพื่อรองรับความเจริญของบ้านเมือง โดยเป็นสะพานปูนปั้นเสริมโครงเหล็กเหมือนแบบเก่า และพระราชทานชื่อให้ว่า "สะพานสมมตอมรมารค" เมื่อแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2455 เพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ พระอนุชา ต้นราชสกุลสวัสดิกุล (ภายหลังสถาปนาเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) โดยมีความหมายว่า "สะพานของพระราชา" เป็นสะพานที่มีความยาว 23 เมตร กว้าง 7.50 เมตร ลูกกรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบไอโอนิก มีฐานเสาเซาะร่องตลอดแนว[1]

และหลังจากมีการสร้างสะพานใหม่แล้ว พร้อมกับเปลี่ยนย่านนี้จากประตูผีเป็น "สำราญราษฎร์" เพื่อความเป็นสวัสดิมงคล ผู้คนจึงย้ายมาอยู่อาศัยมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน มีชุมชนเก่าแก่ คือ "ชุมชนบ้านบาตร" ซึ่งเป็นชุมชนที่ชาวชุมชนมีอาชีพทำบาตรพระด้วยมือ และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน บริเวณที่ตั้งของสะพานสมมตอมรมารคใกล้กับแยกสำราญราษฎร์ เป็นแหล่งรวมของร้านอาหารที่ได้รับความนิยมและมีความคึกคักอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาค่ำคืน และเชิงสะพานฝั่งเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายติดกับแยกเมรุปูน อันเป็นทางแยกที่ตัดกันระหว่างถนนบำรุงเมืองกับถนนบริพัตร ซึ่งในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เคยเป็นที่ตั้งของเมรุเผาศพที่สร้างขึ้นด้วยปูน สำหรับปลงศพเจ้านายชั้นรองและขุนนางต่าง ๆ ต่อมาได้รื้อออก เนื่องจากมีการสร้างเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส และที่ตั้งของเมรุปูนนั้นได้กลายมาเป็นที่โรงเรียนสารพัดช่างพระนคร และวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร ในปัจจุบัน[2] [3]

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "เปิดหูเปิดตา ตอน ชื่อสะพานที่อ่านยากที่สุดในโลก (6มี.ค.59)". บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์. 2016-03-06.
  2. ประมาณพาณิชย์, ธนาชัย (2016-03-04). ""บ้านบาตร" ภูมิปัญญาที่รอการสืบต่อ". คมชัดลึก.
  3. pongsakornlovic (2011-04-18). "CHN 295 แยกเมรุปูน". ชื่อนั้น...สำคัญไฉน ?.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°45′08″N 100°30′19″E / 13.752211°N 100.505217°E / 13.752211; 100.505217

สะพานข้ามคลองรอบกรุงในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
 
สะพานสมมตอมรมารค
 
ท้ายน้ำ
สะพานระพีพัฒนภาค