แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส

แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Cnidaria
ชั้น: Hydrozoa
อันดับ: Siphonophora
วงศ์: Physaliidae
สกุล: Physalia
สปีชีส์: P.  physalis
ชื่อทวินาม
Physalia physalis
(Linnaeus, 1758)
ชื่อพ้อง[1]
  • Medusa utriculus Gmelin, 1788
  • Physalia pelagica Lamarck, 1801
  • Physalia utriculus (Gmelin, 1788)

แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส หรือ แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส (อังกฤษ: Portuguese man-of-war, Portuguese Man o' War, Blue bubble, Floating terror) เป็นไซโฟโนฟอร์ชนิดหนึ่ง [2] อยู่ในไฟลัมไนดาเรีย ในชั้นไฮโดรซัว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physalia physalis แม้จะถูกเรียกว่าเป็นแมงกะพรุน แต่เป็นสัตว์คนละชั้นกับแมงกะพรุนแท้ทั่วไป

รูปร่างลักษณะและอันตราย แก้

ที่ได้ชื่อว่าหมวกโปรตุเกสหรือเรือรบโปรตุเกส เนื่องจากรูปร่างคล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกสในยุคศตวรรษที่ 18[3] หรือเรือรบของโปรตุเกสในยุคล่าอาณานิคมที่เรียกว่า "Man-of-war"[4]

มีรูปร่างสีฟ้าหรือสีม่วง มีหนวดยาว จัดอยู่ในวงศ์ Physaliidae และสกุล Physalia ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดเท่านั้น โดยปกติจะไม่พบในน่านน้ำไทย โดยจะพบในทะเลเปิดของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ, ทะเลเมดิเตอเรเนียน, มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย แต่จะอาจจะถูกกระแสน้ำพัดมาเกยตื้นหรือเข้าสู่น่านน้ำไทยได้ในบางฤดูกาล[5] หนวดที่มีเข็มพิษอาจยาวได้ถึง 30 เมตร และมีปากมากกว่าหนึ่งปาก เป็นสัตว์ที่อยู่เป็นฝูง และเป็นสัตว์ที่เกิดมาจากเอมบริโอของสัตว์ที่แตกต่างกันหลายชนิดมารวมกัน ซึ่งแต่ละตัวจะมีลักษณะเด่นและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป และมีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง อาจมากกว่า 1,000 ตัวขึ้นไป[6]

จัดเป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก เทียบเท่าแมงกะพรุนกล่องหรือแมงกะพรุนอิรุคันจิ และเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลกด้วย ซึ่งพิษนั้นจะทำลายระบบประสาท ผิวหนัง หัวใจ เมื่อถูกต่อยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างมาก ส่วนใหญ่ผู้ที่โดนพิษจะช็อค และหัวใจล้มเหลวก่อนที่จะกลับเข้าถึงฝั่ง วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้แก่ล้างแผลด้วยน้ำทะเล ใช้วัสดุแข็งเขี่ยหนวดออก ห้ามถูหรือนวดบาดแผล จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาล[7]

และแม้จะมีพิษร้ายแรง แต่แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสก็ยังตกเป็นอาหารของทากทะเลหรือทากเปลือยบางชนิด โดยที่เข็มพิษของแมงกะพรุนไม่สามารถทำอันตรายทากทะเลได้[6]

คลังภาพ แก้

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Physalia physalis (Linnaeus, 1758)". WoRMS. สืบค้นเมื่อ July 19, 2016.
  2. [https://web.archive.org/web/20100118144115/http://animals.nationalgeographic.com/animals/invertebrates/portuguese-man-of-war เก็บถาวร 2010-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Portuguese Man-of-War จาก National Geographic]
  3. [https://web.archive.org/web/20111126014522/http://osotho.com/th/content/indexdetail.php?ContentID=1340&myGroupID=5 เก็บถาวร 2011-11-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แมงกะพรุน จากอ.ส.ท.]
  4. Greene, Thomas F. Marine Science Textbook.
  5. แมงกะพรุนพิษเกยตื้นหาดภูเก็ต จากช่อง 7
  6. 6.0 6.1 "ท่องโลกกว้าง: สัตว์ทะเลสุดแปลก". ไทยพีบีเอส. 18 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-05. สืบค้นเมื่อ 18 June 2014.
  7. วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดน “แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส” พิษรุนแรงที่สุดในโลก. Sanook. July 6, 2017. สืบค้นเมื่อ May 23, 2018.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Physalia physalis ที่วิกิสปีชีส์