แคโรไลน์ มาทิลดาแห่งบริเตนใหญ่
เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดาแห่งเวลส์ หรือ เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดาแห่งบริเตนใหญ่ (อังกฤษ: Caroline Mathilde; 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2294 — 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2318) ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2309 ถึง พ.ศ. 2318 โดยการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าคริสเตียนที่ 7 แห่งเดนมาร์ก พระนางทรงเป็นหนึ่งในสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ และทรงเป็นหนึ่งในราชินีแห่งเดนมาร์กที่มีบทบาทในการปฏิรูปการปกครอง พระนางทรงพยายามนำพาประเทศไปสู่นโยบายปรับปรุงประเทศเดนมาร์กให้หลุดพ้นจากแนวคิดการปกครองและวัฒนธรรมประเพณีรูปแบบเก่าตั้งแต่ยุคกลางโดยทรงร่วมในนโยบายของโจฮันน์ ฟรีดิช สตรูเอนซีผู้เป็นชู้รักที่เกี่ยวกับเรื่องนี้และทรงเป็นตัวแทนของสตรียุคใหม่ที่ฝ่ากฎอันเข้มงวดของสิทธิสตรีในเดนมาร์กและทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาว ทำให้ทรงเป็นราชินีที่โดดเด่นและมีเรื่องอื้อฉาวมากที่สุดในสายตาประชาชนชาวเดนมาร์กซึ่งนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระราชินีหลุยส์แห่งเดนมาร์ก พระปิตุจฉาของพระนางเป็นพระราชินีที่พยายามปรับปรุงประเทศนี้มาก่อนในอดีต[1]
แคโรไลน์ มาทิลดาแห่งบริเตนใหญ่ | |
---|---|
พระสาทิสลักษณ์ในปี ค.ศ. 1771 | |
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ | |
ระหว่าง | 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1766 – เมษายน ค.ศ. 1772 |
ราชาภิเษก | 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1767 |
พระราชสมภพ | 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2294 ณ พระตำหนักไลเชสเตอร์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ |
สวรรคต | 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2318 ณ เชลล์ ประเทศเยอรมนี (พระชนมายุ 23 พรรษา) |
พระราชสวามี | พระเจ้าคริสเตียนที่ 7 แห่งเดนมาร์ก |
พระราชบุตร | พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 แห่งเดนมาร์ก เจ้าหญิงหลุยส์ ออกัสตาแห่งเดนมาร์ก |
ราชวงศ์ | ฮาโนเวอร์ โอลเดนบวร์ก (โดยการอภิเษกสมรส) |
พระราชบิดา | เจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ |
พระราชมารดา | เอากุสทาแห่งซัคเซิน-โกทา-อัลเทินบวร์ค |
ช่วงต้นพระชนม์ชีพ
แก้เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดาเป็นพระราชธิดาพระองค์สุดท้องในเจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์กับเจ้าหญิงออกัสตาแห่งแซ็กซ์-ก็อตธา พระราชบิดาของเจ้าหญิงมาทิลดาเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่กับสมเด็จพระราชินีคาโรลีนแห่งบริเตนใหญ่ พระราชมารดาของเจ้าหญิงมาทิลดาเป็นพระราชธิดาในดยุคเฟรเดอริคที่ 2 แห่งแซ็กซ์-ก็อตธา-อัลเทนเบิร์กกับเจ้าหญิงแมกเดเลนา ออกัสตาแห่งอัลฮัลท์-เซิร์บส์ พระราชบิดาของเจ้าหญิงมาทิลดาสิ้นพระชนม์ 3 เดือนก่อนการประสูติกาลของเจ้าหญิง ซึ่งทำให้พระนางทรงมิได้พบพระพักตร์พระราชบิดา เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดาประสูติในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2294 ณ พระตำหนักไลเชสเตอร์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เจ้าหญิงทรงได้รับพระอิศริยยศเป็น "เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดา" เนื่องด้วยเป็นพระราชธิดาในเจ้าชายแห่งเวลส์ พระนางจึงได้รัยพระอิสริยยศเป็น "เจ้าหญิงแห่งเวลส์" และเนื่องจากพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ ตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์จึงผ่านไปทางพระเชษฐาของพระนางคือ เจ้าชายจอร์จ พระนามของพระนางได้เอามาจากพระนามของพระปิตุจฉาของพระนาง
เจ้าหญิงทรงได้รับพิธีศีลจุ่มใน 10 วันต่อมาโดยโธมัส เฮย์เตอร์ บิชอปแห่งนอร์วิช พระบิดาและพระมารดาอุปถัมภ์ของเจ้าหญิงคือ เจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ พระเชษฐา,เจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งเกรตบริเตน พระปิตุจฉาและเจ้าหญิงออกัสตา เฟรเดอริกาแห่งเกรตบริเตน พระเชษฐาภคินี[2] พระนางทรงพำนักอาศัยกับพระมารดาที่เข้มงวดึ่งทรงพาเจ้าหญิงไปประทับนอกราชสำนักในลอนดอน เจ้าหญิงทรงพอพระทัยในธรรมชาติของชนบทซึ่งพระนางทรงชอบวิ่งเล่น พระนางสามารถตรัสภาษาอิตาเลียน ฝรั่งเศสและเยอรมัน และทรงได้รับการบรรยายถึงทักษะในการร้องเพลงและมีพระสุรเสียงที่ไพเราะ เจ้าหญิงทรงชื่นชอบในการปลูกผัก เรียนเต้นรำและเย็บปักถักร้อย
การอภิเษกสมรส
แก้เมื่อมีพระชนมายุได้ 15 พรรษา เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดาทรงถูกบังคับให้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ 7 แห่งเดนมาร์ก พระญาติของพระนาง พระชนมายุ 17 พรรษา พระนามที่ทรงเป็นที่รู้จักในเดนมาร์ก คือ มาทิลด์ หรือ มาทิลดา เมื่อเจ้าหญิงทรงทราบข่าวการอภิเษกสมรส พระนางทรงพระกันแสงตลอดทางจากอังกฤษถึงเดนมาร์ก[3]
ระหว่างการเจรจาตกลงกันเรื่องการอภิเษกสมรส เอกอัครราชทูตเดนมาร์กได้กล่าวสรรเสริญพระเจ้าคริสเตียนว่า "ทรงมีบุคลิกสุภาพอ่อนโยนเป็นที่รู้กันไปทั่วประเทศ วิถีทางในการดำรงพระชนม์ชีพเรียบง่าย สงบเสงี่ยม เสวยพระกระยาหารได้มากและไม่เสวยเหล้าองุ่นหรือเสวยก็แต่น้อย ขณะนี้ทรงกระวนกระวายพระทัย เพราะต้องการให้การอภิเษกสมรสเป็นไปด้วยความสำเร็จ"[4] แต่ในความเป็นจริงคือ พระเจ้าคริสเตียนที่สุภาพอ่อนโยนทรงเที่ยวประทับรถม้าไล่ชนประชาชนตามท้องถนนและทุบตีทหารยามในเวลากลางคืน ทรงมีบุคลิกชอบแกล้งและบางครั้งทรงมีบุคลิกแบบผู้สติวิปลาส พระองค์ทรงติดสุราตั้งแต่ครั้งทรงเป็นเจ้าชายและทรงหวั่นหวั่นกลัวการอภิเษกสมรส อีกทั้งในขณะนั้นพระเจ้าคริสเตียนที่ 7 แห่งเดนมาร์กทรงได้รับการกล่าวว่า ทรงเป็นกษัตริย์ที่มั่วหญิงโสเภณีและติดสุราที่มีอำนาจมากที่สุดในศตวรรษที่ 18
เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดาทรงต้องอภิเษกสมรสเพื่อกระชับความสัมพันธ์โปรแตสแตนท์เพื่อคานอำนาจฝรั่งเศส เมื่อถึงเดนมาร์กเจ้าหญิงทรงได้รับการแนะนำให้รู้จักกับพระสวามี พระนางทรงบรรยายว่า ทรงพบผู้ชายตัวเล็กที่พระเศียรสูงไม่ถึงพระอังสา (ไหล่) ของเจ้าหญิงด้วยซ้ำ แต่จากกิริยาภายนอกพระเจ้าคริสเตียนทรงรู้จักทำพระองค์ให้มีเสน่ห์ มีพระวรกายผอมได้สัดส่วน พระพักตร์ยาวเรียว พระเนตรสีฟ้า มีพระนาสิกยาวปลายงุ้ม พระนลาฎกว้าง พระเกศาสีเหลืองอ่อน บางครั้งทรงมีอารมณ์แปรปรวนจนเข้าขั้นรุนแรง ในบางครั้งทรงแสดงแววหลักแหลมออกมาให้เห็น พระเจ้าคริสเตียนทรงเต้นรำได้งามสง่าและสนทนาได้ไพเราะ เมื่อพระเจ้าคริสเตียนทอดพระเนตรรูปโฉมของเจ้าหญิงซึ่งพระพักตร์เป็นสีชมพูเข้ม พระองค์ก็ถลันเข้าสวมกอดเจ้าหญิงด้วยความพอพระทัย[5]
หลังจากพบพระสวามี เจ้าหญิงทรงได้พบกับสมเด็จพระพันปีหลวงจูเลียนา มาเรีย พระมารดาเลี้ยงในพระเจ้าคริสเตียน พระนางทรงต้อนรับเจ้าหญิงอย่างดี แต่ต่อมาในภายหลังพระพันปีหลวงจะกลายเป็นศัตรูของพระนางมาทิลดา
พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2309 ณ พระราชวังคริสเตียนเบอร์ก ในกรุงโคเปนเฮเกน แม้พระเชษฐาของพระนางจะทรงเป็นห่วงที่พระขนิษฐาต้องอภิเษกสมรสกับพระสวามีที่มีสติวิปลาส หลังการอภิเษกสมรสพระนางจึงได้รับพระอิศริยยศ "สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก" หลังการอภิเษกสมรสไม่กี่วัน พระเจ้าคริสเตียนทรงตระหนักว่าความจริงผู้ชายที่รักภรรยานั้นเป็นเรื่องโบราณ พระองค์ได้เริ่มกลับไปมั่วหญิงโสเภณีและบุกทลายโรงเหล้า พระนางมาทิลดาทรงไม่ได้รับอนุญาตให้พาพระสหายจากอังกฤษมาด้วยทำให้พระนางเศร้าพระทัยมาก
สมเด็จพระราชินีแคโรไลน์ มาทิลดาแห่งเดนมาร์ก
แก้ฝรั่งเศสรู้สึกหวั่นใจในการอภิเษกสมรสครั้งนี้แต่แล้วกลับปิติยินดียิ่ง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำเดนมาร์กทรงมีหนังสือกราบทูลไปยังพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสว่า "เจ้าหญิงไม่สามารถทำให้กษัตริย์ประทับใจได้และต่อให้เจ้าหญิงทรงทำพระองค์น่ารักกว่านี้ พระองค์ก็ต้องพบชะตากรรมเดียวกัน เพราะพระองค์จะมีปัญญาเอาอกเอาใจสวามีที่เชื่ออย่างจริงจังว่า การที่สามีแสดงความรักต่อภรรยาเป็นเรื่องไม่งามได้อย่างไร"[6] จากการที่ทรงไม่เป็นที่นิยมในราชสำนักและพระนางต้องทรงประทับเพียงลำพัง พระนางจึงสนิทกับหลุยส์ ฟาน เพลสเซน นางพระกำนัลซึ่งไม่ชอบพระสหายของพระราชาจึงปล่อยข่าวลือว่าพระเจ้าคริสเตียนทรงเป็นพวกรักร่วมเพศ
ถึงแม้พระนางมาทิลดาจะไม่มีพระสิริโฉมเป็นที่งามยิ่ง แต่พระนางทรงเป็นคนที่มีเสน่ห์ เหล่ารัฐมนตรีที่มาเข้าเฝ้าต่างบรรยายว่า "มีพระเกศาที่เป็นสีบลอนด์เงิน พระฉวีผุดผาดสะดุดตา พระพักตร์น่ารัก และพระเต้าที่ยากจะหาชายใดมองโดยไม่เกิดอารมณ์ได้ พระนางจึงเป็นสตรีที่ทำให้ผู้ชายทุกคนในราชสำนักเกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านทางเพศ ยกเว้นพระสวามีของพระองค์เอง"[7] เมื่อพระสหายของพระเจ้าคริสเตียนชื่อ รีแวร์ดิล ขอร้องให้พระองค์ปฏิบัติต่อพระราชินีเหมือนผู้ที่ภรรยาพึงได้รับ พระเจ้าคริสเตียนตรัสตอบว่า "สำหรับข้า ข้ารู้สึกว่าเมื่อใดก็ตามที่อยู่บนเตียงเดียวกันกับนางที่เป็นสายเลือดแห่งกษัตริย์ นางควรได้รับการนับถือเกินกว่าจะเป็นคู่รัก"[8] และในขณะน้นพระเจ้าคริสเตียนทรงชื่นชอบสตอฟเล็ท-แคทรีนและทรงรักยิ่งกว่าพระมเหสี แต่แคทรีนได้ถูกพระพันปีจูเลียนาสั่งจับกุมและเนรเทศออกจากเดนมาร์ก เนื่องจากพระนางทรงเกรงว่าแคทรีนจะเข้ามามีอิทธิพลในราชสำนัก ซึ่งเกิดความบาดหมางระหว่างกษัตริย์และพระพันปีหลวง
แต่มีครั้งหนึ่งพระเจ้าคริสเตียนทรงร่วมแท่นบรรทมกับพระราชินี ซึ่งทำให้พระนางมาทิลดาทรงพระครรภ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2310 แต่สุขภาพจิตของพระเจ้าคริสเตียนกลับเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว ตอนที่พระนางมาทิลดาทรงประสูติพระโอรสพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ พระนามว่า เจ้าชายเฟรเดอริค ก็ไม่ทำให้พระอาการทุเลาขึ้น รีแวร์ดิลได้เสนอให้พระเจ้าคริสเตียนเสด็จท่องเที่ยวทั่วยุโรปให้สำราญพระทัยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2311 เสด็จประพาสอัลโทนา ปารีสและลอนดอน ระหว่างที่พระสวามีเสด็จประพาส พระนางมาทิลดาเสด็จพระราชดำเนินในกรุงโคเปนเฮเกนและเสด็จด้วยรถม้าในแต่ละเมือง ในฤดูร้อน ทรงพำนักที่พระราชวังเฟรเดอริคเบอร์กพร้อมกับพระราชโอรส
การก้าวขึ้นสู่พระราชอำนาจและเรื่องอื้อฉาว
แก้ระหว่างที่พระเจ้าคริสเตียนเสด็จประพาสเมืองอัลโทนา ทรงได้พบกับแพทย์ชายเยอรมันคือ โจฮันน์ ฟรีดิช สตรูเอนซี ซึ่งกำลังศึกษาโรคจิตเภท เนื่องจากเป็นคนที่พูดเก่ง พูดจาดี อ่อนน้อมถ่อมตน พระองค์จึงรู้สึกประทับใจในสตรูเอนซี และทรงให้เขาตามเสด็จพระองค์ไปด้วย เพราะทรงรู้สึกว่าพระองค์ทรงต้องการเขาคอยอยู่เป็นพระสหาย ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2312 พระองค์ได้เสด็จกลับโคเปนเฮเกนและแต่งตั้งเขาเป็นนักฟิสิกส์ของราชสำนัก และทำหน้าที่เป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์
หลังจากที่สตรูเอนซีเข้าสู่พระราชวังคริสเตียนเบอร์ก เขาได้ผลิตยาขนานพิเศษแก้อาการทางประสาทของพระเจ้าคริสเตียน ทำให้เขาสามารถชนะพระทัยได้อย่างเด็ดขาด การสนทนาของเขามีเหตุผลซึ่งทำให้ความกระวนกระวายพระทัยของพระองค์สงบลง ด้วยนิสัยที่อ่อนน้อมถ่อมตนทำให้คนในราชสำนักไว้วางใจ
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2312 พระนางมาทิลดาทรงพระประชวรอย่างหนัก ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พระสวามีทรงติดมาจากหญิงโสเภณี ทำให้พระนางทรงเศร้าและหดหู่พระทัย เพราะความละเอียดอ่อนของโรค พระราชินีจึงไม่มีพระประสงค์ให้แพทย์ทำการวินิจฉัย พระนางประชวรและทรงประทับในห้องบรรทมหลายสัปดาห์ พระเจ้าคริสเตียนมีพระทัยเป็นห่วงและทรงให้ราชินีเข้ารับการตรวจจากสตรูเอนซี ระหว่างการตรวจพระอาการพระนางทรงบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวเขาและมีพระประสงค์ให้เขาเข้าเฝ้าอีกในวันต่อมาซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องอื้อฉาว
สตรูเอนซีทราบว่าความหดหู่เป็นศัตรูของอาการเจ็บป่วยทางกายของพระราชินี เขาได้แนะนำว่า "พระนางทรงไม่ต้องการยาขนานใดมากไปกว่าการออกกำลังกายกับอากาศบริสุทธิ์และการหย่อนใจ"[9] เขาแนะนำให้พระนางเสด็จทรงม้าเล่น ซึ่งเป็นกีฬาที่สุภาพสตรีชาวเดนมาร์กไม่นิยมนัก พระนางทรงไม่เคยประทัยหลังม้าเลย แต่พระนางก็กลายเป็นนักขี่ม้าที่ชำนาญ นอกจากนี้ทรงออกกำลังกายด้วยการเดินซึ่งสร้างความตื่นตะลึงแก่ชาวเดนมาร์ก เนื่อจากไม่มีสตรีชาวเดนมาร์กคนใดไปที่ไหนด้วยการเดินมาก่อน ซึ่งมักจะเดินทางด้วยเกี้ยวหรือรถม้า และพระนางได้เสด็จพระราชดำเนินไปงานการกุศลต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง ซึ่งส่งผลให้พระสรีระดีขึ้นมาก น้ำหนักลดลงมาก
หลังจากทรงหายจากพระอาการประชวร พระนางทรงไว้วางพระทัยในสตรูเอนซีมากยิ่งขึ้น เขาได้แนะนำให้พระราชินีหวนกลับไปปรองดองกับพระสวามีและโน้มน้าวให้พระนางเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เขากราบทูลพระราชินีว่า พระเจ้าคริสเตียนจะมีสุขภาพจิตที่ปกติต่อไปอีกไม่นาน อีกไม่ช้าพระองค์จะจมดิ่งในห้วงวิปลาสโดยไม่อาจฟื้นคืนได้อีก ซึ่งจะมีใครบางคนยึดอำนาจแทนกษัตริย์และประกาศเป็นศัตรูกับพระนาง เขาได้กล่าวว่า ใครบางคนที่ว่าอาจจะเป็น สมเด็จพระพันปีหลวงจูเลียนา มาเรีย พระมารดาเลี้ยงของกษัตริย์ ซึ่งก่อนที่พระพันปีหลวงจะได้อำนาจนั้น พระนางควรชิงอำนาจเสียก่อน เพื่อประโยชน์ของเดนมาร์ก ต่อมาในเดือนพฤษภาคมปีพ.ศ. 2313 พระนางทรงใช้เวลาอยู่กับแพทย์ส่วนพระองค์วันละหลายชั่วโมง และทรงมักมีรับสั่งให้นางพระกำนัลออกไปจากห้องทุกครั้ง ซึ่งต่อมาสตรูเอนซีได้เล่าให้รัแวร์เดิลฟังว่า เขาได้ร่วมรักกับพระราชินีแล้ว โดยพระนางทรงไม่มีพระกิริยาขัดขืน เมื่อพระเจ้าคริสเตียนทรงทราบ พระองค์กลับรักพระราชินีมากยิ่งขึ้นและไว้วางพระทัยในสตรูเอนซี พระองค์ได้ทรงสารภาพกับรีแวร์เดิลซึ่งตื่นตระหนกยิ่งกว่าว่า ทรงพอพระทัยที่พระมเหสีมีสัมพันธ์รักกับสตรูเอนซี ผู้สนองความต้องการของราชินีได้ครบถ้วนและทรงต้องการให้พระนางได้รับความสุขที่พระองค์ไม่อาจประทานให้ได้เนื่องจากควมแปรปรวนทางจิตใจของพระองค์
พระเจ้าคริสเตียนทรงรู้สึกสบายพระทัยเมือ่ทรงประทับร่วมกับพระนางมาทิลดาและสตรูเอนซี พระองค์จะกระสับกระส่ายทันทีเมื่อทั้งสองลับไปจากสายพระเนตร พระนางมาทิลดาและสตรูเอนซีได้ช่วยพระเจ้าคริสเตียนบริหาราชกิจรัฐบาลซึ่งทำให้พระองค์ดีพระทัยอย่างยิ่งเมื่อไม่มีใครนำเรื่องการเมืองมาปรึกษา และบังคับให้พระองค์ไปร่วมประชุมสภา พระนางมาทิลดาทรงมีความสุขมากเมื่อทรงสามารถรักสตรูเอนซีได้และพระสวามีทรงเห็นชอบ ดังนั้นพระนางไม่จำเป็นต้องปิดบังความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งพระองค์ทรงดำเนินตามรอยเจ้าหญิงออกัสตาแห่งแซ็กซ์-ก็อตธาพระมารดา ซึ่งพระมารดาของพระนางเมื่อพระสวามีสิ้นพระชนม์ ทรงคบหากับจอห์น สจ๊วต มาควิสแห่งบิวท์ซึ่งเป็นทั้งมิตรและที่ปรึกษา และเขามีความสัมพันธ์กับเจ้าหญิงออกัสตาอย่างเปิดเผยซึ่งสามารถเข้าออกพระราชวังคิวได้ทุกเมื่อ
ต่อมาพระนางมาทิลดาทรงแต่งตั้งสตรูเอนซีเป็นราชเลขาส่วนพระองค์ของพระราชา เหล่าขุนนางสังเกตเห็นความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของบุรุษชาวต่างชาติผู้นี้ จึงเริ่มวิตกว่าชาวต่างชาติอาจเข้ามามีอำนาจในเดนมาร์ก โดยสัมพันธ์รักกับพระราชินี ต่อมาพระนางทรงสร้างความตกใจแก่ผู้คยโดยทรงริเริ่มทรงเครื่องแต่งกายแบบบุรุษ โดยสตรูเอนซีสนับสนุนให้พระนางแหวกประเพณีที่เคร่งครัดของเดนมาร์ก พระนางเริ่มทรงกางเกงหนังสัตว์รัดรูปกับเสื้อกั๊กและเสื้อคลุมแบบบุรุษ พร้อมรองเท้าบู๊ตทหารสูงเทียมเข่า และแทนที่จะเกล้าผมสูงตามความนิยมในสมัยนั้น พระนางกลับถักเปียห้อยยาวถึงพระปฤษฎางค์ พระราชินีทรงเปลี่ยนวิธีทรงม้าแบบไพล่ขาแบบสตรีทั่วไปมาเป็นทรงคร่อมเช่นเดียวกับบุรุษ ทรงสร้างความตื่นตะลึงมากในศตวรรษที่ 18 และพระนางทรงร่วมการแข่งขันยิงธนูประจำปีในโคเปนเฮเกน พระนางทรงเครื่องทรงเยี่ยงบุรูษยิงธนูเข้ากลางเป้า ขณะที่พระราชาทรงประทับคุดคู้ พระเนตรเหม่อลอย หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า "ระหว่างทั้งสองพระองค์ ราชินีทรงมีลักษณะคล้ายชายชาตรีมากกว่า"[10]
เพื่อหลีกเลี่ยงสายตาของพวกสอดแนมและระเบียบในวัง พระเจ้าคริสเตียน พระนางมาทิลดาและสตรูเอนีได้ย้ายไปที่พระราชวังเฮิร์สโชล์ม ที่สันโดษตั้งอยู่บนเกาะไม่ไกลจากโคเปนเฮเกน ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2313 หลังจากพระเจ้าคริสเตียนทรงลงพระปรมาภิไธยเรียบร้อย สตรูเอนซีได้ขึ้นนั่งตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีแทน โยฮันน์ เบิร์นสตอร์ฟฟ์ ที่ประชาชนชื่นชอบ เขากำหนดให้การติดต่อกับคณะรัฐมนตรีกับพระราชาต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรและมีคำสั่งไม่ให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ สตรูเอนซีปกครองเดนมาร์กอย่างสมบูรณ์และความปรารถนาสูงสุดคือ การพยายามปรับปรุงประเทศเดนมาร์กให้หลุดพ้นจากแนวคิดการปกครองและวัฒนธรรมประเพณีรูปแบบเก่าตั้งแต่สมัยยุคกลาง ซึ่งพยายามทำให้เดนมาร์กที่ยังล้าหลังกว่าประเทศอื่นในยุโรปก้าวขึ้นสู่โลกสมัยใหม่ สตรูเอนซีเน้นแนวทางเสรีนิยมซึ่งเป็นประโยชน์แก่ชนชั้นล่าง เช่น ได้ประกาศลดภาษีเกลือซึ่งเป็นภาระหนักแก่ประชาชนและลดราคาข้าวสาลีลงครึ่งหนึ่ง และนำเงินทุนมาสร้างโรงพยาบาล โรงเรียนแก่ชนชั้นล่าง และได้ประกาศเปิดสวนในพระราชวังให้ประชาชนสามารถเข้าไปได้ อีกทั้งเขายังริเริ่มกฎหมายกำหนดหมายเลขบ้านและทำความสะอาดถนน ซึ่งทำให้คนชนชั้นล่างสำนึกในคุณของเขาและพระนางมาทิลดา พระนางมาทิลดายังทรงเป็นตัวแทนของสตรีที่พยายามฝ่ากฎเกณฑ์ดั้งเดิมของสตรีเดนมาร์กที่ต้องอยู่ดูและปรนนิบัติสามี พระนางทรงสนับสนุนให้สตรีมีสิทธิเท่าเทียมกับบุรุษ โดยทรงสวมฉลองพระองค์ทหารแบบบุรุษเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปิดประตูแห่งยุคสมัยกลาง ซึ่งนับตั้งแต่สมัยหลุยส์แห่งบริเตนใหญ่ สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก ทรงพยายามปรับปรุงประเทศโดยทรงให้สตรีสามารถร่วมงานสังคมกับบุรษได้และทรงปฏิรูปด้านศิลปะและวัฒนธรรม เนื่องจากพระนางหลุยส์สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชนมายุ 27 พรรษาทำให้ทรงไม่สามารถดำเนินนโยบายที่ประสงค์ได้และพระนางมาทิลดาทรงสามารถสานต่อนโยบายของพระนางให้สำเร็จ แต่นโยบายพระนางมาทิลดาและสตรูเอนซีกลับสร้างความไม่พอใจแก่คนชนชั้นสูงซึ่งสูญเสียประโยชน์รวมทั้งพระพันปีจูเลียนาด้วยและพยามยามปฏิวัติยึดอำนาจกลับมา [11]
พะนางมาทิลดาทรงปิติอย่างยิ่งกับความเจริญก้าวหน้าที่ชู้รักนำมาสู่เดนมาร์ก พระนางมักเปรียบองค์เองกับสมเด็จพระจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซียบ่อยๆ แต่พระนางมาทิลดาทรงขาดความหลักแหลมและปราศจากไหวพริบทางการเมือง พระนางแคทเทอรีนมหาราชินีทรงพระสรวลดังลั่นเมื่อได้ยินว่าราชินีมาทิลดาแห่งเดนมาร์กทรงเปรียบเทียบองค์เองกับพระนาง พระนางแคทเธอรีนทรงตระหนักดีว่าสตรูเอนซีคือตัวการที่ทำให้ความสัมพันธ์เดนมาร์กและรัสเซียเย็นชาลง จึงลงความเห็นว่า"อยากจะทำอะไรก็ปล่อยพวกเขาไปเถิด รนหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวแท้ๆ"[12].
สุขภาพจิตของพระเจ้าคริสเตียนทรุดลงอย่างต่อเนื่อง พระองค์ทรงหลงทางในพระราชวังบ่อยครั้งจนสตรูเอนซีต้องให้เจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด พระนางมาทิลดาจึงเสด็จออกรับแขกแต่เพียงลำพัง พระนางมีพระราชปฏิสันถารกับข้าราชบริพาร คณะรัฐมนตรีและคณะทูตานุทูตเป็นประจำซึ่งถือว่าทรงทำหน้าที่แทนกษัตริย์
วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2314 พระราชินีทรงพระประสูติกาลพระธิดาองค์หนึ่งอย่างลับๆ ที่พระราชวังเฮิร์สโชล์ม สตรูเอนซีประคองพระราชินีตลอดเวลาที่ทรงเจ็บพระครรภ์และเป็นแพทย์ให้ด้วย ทั้ง 2 ตั้งชื่อพระธิดาว่า หลุยส์ ออกัสตา ไม่มีการประกาศล่วงหน้าว่าราชินีทรงพระครรภ์เพื่อให้ประชาชนช่วยกันสวดภาวนาขอให้พระองค์มีพระประสูติกาลอย่างปลอดภัย ซึ่งผิดธรรมเนียมการปฏิบัติของพระบรมวงศ์ ประชาชนชาวเดนมาร์กประหลาดใจมากที่ได้เจ้าหญิงพระองค์ใหม่โดยไม่รู้ตัว
เมื่อข่าวการประสูติประกาศออกไป หนังสือพิมพ์ได้วิพากย์วิจารณ์ว่า "ลบหลู่พระเกียรติบนพระแท่นบรรทมของกษัตริย์อย่างไร้ยางอาย และให้กำเนิดทายาทที่ต่ำช้า เข้ามาเป็นสมาชิกราชวงศ์"[13] เพื่อเป็นการตอบโต้เสียงวิพากย์วิจารณ์ สตรูเอนซีได้ให้พระเจ้าคริสเตียนทรงลงพระปรมาภิไธยว่าพระองค์เป็นพระบิดาที่แท้จริงของพระธิดา และพระเจ้าคริสเตียนก็ทรงเชื่อจริงๆว่า หลุยส์ ออกัสตา เป็นพระธิดาทางสายพระโลหิตของพระองค์จริงๆ และทรงสนุกอย่างยิ่งในการเตรียมพิธีรับศีลล้างบาปให้พระธิดา หลังการประสูติพระธิดา สตรูเอนซีได้แต่งตั้งตนเองเป็นองคมนตรีและดำรงยศเป็นท่านเคานท์ ซึ่งงานกิจการของประเทศทำให้เขารู้สึกเหนื่อย เคยมีผู้ถามเขาว่าเหตุใดจึงไม่ออกไปจากที่นี่ เขาตอบว่า "จะมีที่ไหนอีกล่ะที่เราจะได้เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี พระสหายของพระราชา และชู้รักของพระราชินีเหมือนที่นี่"[14]
รัฐประหาร พ.ศ. 2315
แก้ในปี พ.ศ. 2314 การเพาะปลูกประสบความแห้งแล้ง พ่อค้าในโคเปนเฮเกนประสบความทุกข์ยากแสนสาหัส เนื่องจากนโยบายของสตรูเอนซีได้เนรเทศขุนนางชั้นสูงที่มีกำลังในการซื้อมากกลับไปยังชนบทเป็นส่วนใหญ่ และเหล่าคณะสงฆ์ได้ออกมาโจมตีว่า ที่บ้านเมืองต้องประสบทุพภิกขภัยอยู่นี้ เป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงขัดเคืองพระทัยกับเรื่องชั่วช้าที่เกิดชึ้นในสถาบันเบื้องสูง ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงการก่อจลาจลในไม่ช้า สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรทรงตกพระทัยอย่างมากที่พระนางมาทิลดา พระขนิษฐาของพระองค์มีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับนายกรัฐมนตรีที่เป็นที่เกลียดชัง พระองค์จึงส่งเจ้าหญิงออกัสตาแห่งแซ็กซ์-ก็อตธา พระมารดาไปอบรมพระนางมาทิลดาที่เดนมาร์ก แต่พระนางมาทิลดากลับระงับการต่อว่าของพระมารดาทันควัน โดยย้อนอ้างถึงลอร์ดบิวท์ ชู้รักของพระมารดา จนทำให้พระมารดาทรงพิโรธประทับรถม้ากลับและไม่เคยตรัสคำพูดใดกับพระธิดาอีกเลย
เมื่อนางพระกำนัลในพระนางมาทิลดาอ้อนวอนให้พระราชินีไล่สตรูเอนซีไปเสีย พระนางเพียงตรัสตอบว่า
“ | พวกหล่อนน่ะโชคดีมาก ที่ได้แต่งงานกับคนที่พวกหล่อนอยากแต่งด้วย ถ้าข้าเป็นม่ายละก็ ข้าจะแต่งงานกับคนที่ข้ารักและยินดีสละบัลลังก์กับประเทศที่เป็นของข้าเสีย[15] | ” |
พระพันปีหลวงจูเลียนาทรงพยายามอย่างหนักเพื่อหาหลักฐานทุกอย่างในการคบชู้ของพระราชินีมาทิลดา ผุ้เป็นพระสุนิสา ทรงจ้างนางพระกำนัลสี่คนของพระนางมทิลดาเพื่อทำหน้าที่สายลับ ได้พบหลักฐานเช่น รอยเปื้อนบนผ้าปูพระแท่นบรรทมและผ้าเช็ดหน้าผู้ชายที่มีคราบน้ำอสุจิ เมื่อหลักฐานครบถ้วน พระนางทรงวางแผนเชิญชวนคนชั้นสูงมาร่วมก่อการ หนึ่งในนั้นคือ เคานท์ซัค คาร์ล แรนต์เซา สหายของสตรูเอนซี ซึ่งโกรธแค้นเขาเนื่องจากถูกมองข้ามความสำคัญ โดยกำหนดเอาเช้าตรู่วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2315 เป็นวันก่อการ [16]
ในคืนวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2315 เป็นวันจัดงานเต้นรำสวมหน้ากากในราชสำนัก เมื่อพระเจ้าคริสเตียนกลับเข้าสู่ห้องบรรทมแล้ว ส่วนพระนางมาทิลดาและสตรูเอนซีเต้นรำจนถึงตีสาม พระนางมาทิลดาก็เสด็จกลับห้องพระนาง ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 17 มกราคม พระนางจูเลียนาทรงรีบสาวพระบาทไปยังห้องบรรทมของพระเจ้าคริสเตียน พระนางแจ้งว่าจะเกิดการปฏิวัติและให้พระองค์ลงพระปรมาภิไธยในคำสั่งจับกุมพระราชินีมาทิลดาและสตรูเอนซี แม้พระเจ้าคริสเตียนทรงไม่ยินยอมแต่พระนางจูเลียนาได้บีบบังคับให้ทรงลงพระปรมาภิไธยได้ พระนางได้กุมตัวกษัตริย์ซึ่งถือว่าทรงได้อำนาจมาไว้ในพระหัตถ์แล้ว ทหารได้บุกเข้าไปจับกุมตัวสตรูเอนซีในห้องและล่ามโซ่เขาในคุก[17]. และในเวลา 04.30 นาฬิกา เคานต์แรนต์เซาได้นำทหารไปเชิญพระราชินีมาทิลดาเพื่อไปจองจำ และเมื่อทราบว่าสตรูเอนซีถูกจับกุมไปแล้วและมีทหารหลายนายมายืนอยู่หน้าห้องบรรทม พระนางตรัสว่า "ข้าถูกหักหลังเสียแล้ว จบกัน! แต่ก็ปล่อยให้พวกเขาเข้ามาเถอะ ไอ้พวกทรยศ! ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรข้าก็พร้อมแล้ว"[18]. เคานท์แรนต์เซาได้ทูลขอร้องให้พระราชินีทรงทำตามรับสั่งของพระเจ้าคริสเตียน พระนางตรัสตอบว่า "พระองค์ต้องไม่รู้เรื่องอะไรพวกนี้แน่ๆ เพราะความชั่วช้าของท่าน ท่านอาศัยพระอาการวิกลจริตให้เป็นประโยชน์ ไม่มีทาง...ในฐานะของราชินี ข้าจะไม่มีวันเชื่อฟังคำสั่งเช่นนี้เด็ดขาด!" เคานท์แรนต์เซาจึงสั่งทหารเข้าจับกุม พระนางทรงพยายามขัดขืนตลอดทางจนถึงห้องคุมขัง
พระนางจูเลียนาทรงอนุญาตให้นำ เจ้าหญิงหลุยส์ ออกุสตาตามพระมารดาไปในคุกด้วยเนื่องจากทรงยังไม่หย่านม พระนางมาทิลดาทรงถูกนำไปคุมขังที่ปราสาทโครนเบอร์ก ป้อมปราการที่ปกคลุมไปด้วยหมอกทึบและวิญญาณสิงสู่ ซึ่งวิลเลียม เชคสเปียร์เคยใช้เป็นฉากในละครเรื่อง แฮมเล็ต พระนางจูเลียนาทรงจัดให้พระนางมาทิลดาประทับในห้องบนสุดที่ไม่มีเตาผิงและสกปรก ในห้องมีเพียงเตียงและม้านั่งเล็กๆ ไม่มีเตาผิงและบานเกร็ด มีโต๊ะสำหรับคุกเข่าสวดมนต์บูชา ในระหว่างคุมขัง พระนางตรัสถามสภาพความเป็นอยู่ของสตรูเอนซีกับนางพระกำนัล นางพระกำนัลคนนั้นได้ลอบจดบันทึกความเป็นห่วงเป็นใยของราชินีต่อชู้รักส่งไปให้พระพันปีหลวงเพื่อใช้เป็นหลักฐาน
ต่อมาด้วยความกลัวจักรวรรดิอังกฤษ ยกทัพมาเดนมาร์ก จึงจัดให้ประทับที่ห้องชุดที่ดีกว่าเดิม และจัดให้เสวยพระกระยาหารที่ดีขึ้นกว่าเดิม และอนุญาตให้เสด็จในอุทยานได้ แต่มีเสียงแสดงความไม่พอใจของพสกนิกรชาวอังกฤษที่โกรธแค้น พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงทราบดีว่าพระขนิษฐาคบชู้จึงปิเสธที่จะช่วยเหลือ และจะไม่เข้าไปก้าวก่ายกับการลงโทษพระขนิษฐาที่สมควรได้รับเป็นอย่างยิ่งกับสิ่งที่ทรงกระทำลงไป พระองค์ทรงเพิกเฉยต่อคำวิงวอนอย่างน่าสะเทือนใจ และทรงเผาจดหมายของพระนางมาทิลดาทิ้ง ชาร์ลอตต์แห่งเม็คเคล็นเบิร์ก-สเตรลิตซ์ สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร พระมเหสีของพระองค์ทรงประกาศไม่ขอข้องเกี่ยวเพราะละอายพระทัยในพฤติกรรมพระขนิษฐาของพระสวามี หลังจากรู้ข่าวว่า พระธิดาถูกจับอย่างน่าอัปยศ เจ้าหญิงออกัสตา พระมารดาซึ่งกำลังประชวร ทรงประกาศเช่นกันว่า ไม่ประสงค์ให้ผู้ใดเอ่ยพระนามพระนางมาทิลดาอีก พระองค์ตรัสว่า "ข้าไม่มีอะไรต้องพูด ไม่มีอะไรต้องทำ ไม่มีอะไรต้องห่วง" จากนั้นก็สิ้นพระชนม์[19]
ในระหว่างการสอบสวน สตรูเอนซีปฏิเสธความสัมพันธ์ที่ผิดทำนองคลองธรรมกับราชินีโดยตลอด แม้จะใช้การทรมานเพื่อข่มขู่ พระพันปีหลวงจูเลียนาจึวางแผนโกหกเขา โดยบอกว่าพระนางมาทิลดาได้สารภาพแล้วว่าตนคบชู้ เขาเสียใจอย่างมาก ยกมือปิดหน้าและร้องไห้ คณะผู้ไต่สวนได้ยินเสียงสะอื้นของเขาว่า "คนที่ข้ารักมากที่สุดในโลก...นี่ข้าทำอะไรลงไป...อัปยศ...น่าละอาย"[20] เขาอ่านคำสารภาพอย่างเศร้าหมองว่า "เป็นเรื่องจริง เราเริ่มมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกันในฤดูใบไม้ผลิปี 1770 และความสัมพันธ์นั้นก็ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่นั้น" แล้วเขาก็เริ่มแจกแจงรายละเอียดเดกี่ยวกับความสัมพันธ์ เขากล่าวว่า "ข้าขอสารภาพผิดตามข้อกล่าวหา และข้ายินดีรับโทษทัณฑ์ทุกประการ หากมันจะทำให้พระราชินีและมิตรสหายของข้าได้รับการอภัยโทษ"[21].
ต่อมา คณะผู้ไต่สวนพร้อมคำสารภาพของสตรูเอนซีได้ไปโครนเบอร์ก และบอกพระนางว่า สตรูเอนซีได้สารภาพแล้ว พระนางทรงตกพระทัยอย่างยิ่งและปฏิเสธที่จะเป็นความจริง เมื่อทรงทราบว่าเขาถูกตัดสินประหารชีวิต พระองค์จึงเป็นลมล้มฟุบไปทันที เมื่อทรงฟื้น พระนางทรงตัสถามว่า ถ้าทรงสารภาพแล้วจะไว้ชีวิตเขาหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบตกลง พระนางจึงลงนามในเอกสารสารภาพความผิดของพระนางโดยทรงไม่รู้ว่าเป็นกลอุบายของพระพันปีหลวง
พระนางมาทิลดาทรงถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงและให้หย่าขาดกับพระเจ้าคริสเตียน โดยประกาศชัดว่า ราชินีคบชู้แต่กลับมีการยืนยันสถานภาพของพระโอรสและพระธิดาว่าเป็นบุตรโดยชอบธรรมของกษัตริย์ และสตรูเอนซีได้ถูกตัดสินประหารชีวิต ทำให้พระนางทรงสั่นสะท้านและเริ่มกันแสง ตรัสว่า "บอกเขาด้วยว่าข้าอโหสีให้กับความผิดที่ทำไว้กับข้า"
พระเจ้าคริสเตียนทรงขัดเคืองพระทัยกับการอบรมชี้แนะของพระมารดาเลี้ยง ทรงแข็งข้อต่อพระนางขึ้นเรื่อยๆ มีรับสั่งถามพระนางจูเลียนาเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพระนางมาทิลดา ทำให้จูเลียนาทรงรำคาญพระทัยมากแต่พระนางก็ทรงไม่บอก ครั้งหนึ่งพระเจ้าคริสเตียนทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารทรงเขียนว่า "คริสเตียนที่ 7 กษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ข้ารับใช้ของพระเป็นเจ้า ร่วมกับ จูเลียนา มาเรีย ข้ารับใช้ของปีศาจ"[22]
สตรูเอนซีถูกตัดสินประหารชีวิตพร้อมกับเคานท์เอเนอโวลด์ แบรนดท์ ผู้ให้การสนับสนุนสตรูเอนซี ด้วยความผิดฐานกบฏ การประหารชีวิตกำหนดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2315 ในวันนั้นพระนางจูเลียนาบังคับให้พระเจ้าคริสเตียนและพระบรมวงศานุวงศ์ไปชมละครโอเปราและงานเลี้ยง แท่นประหารถูกสร้างให้สูงจากพื้น 27 ฟุต เพื่อให้พระพนางจูเลียนาทอดพระเนตรด้วยกล้องส่องทางไกลได้สะดวกจากหอสูงของพระราชวังคริสเตียนเบอร์ก พระนางทรงมีรับสั่งกับนางกำนัลว่า "ข้าชอบห้องพวกนี้มาก ชอบยิ่งกว่าห้องชุดหรูหราของข้าเสียอีก เพราะจากหน้าต่างแห่งนี้ ข้าเคยได้เห็นซากที่เหลือของศัตรูที่ข้าเกลียดชังที่สุดอย่างถนัดตา"[23]
สตรูเอนซีเดินขึ้นลานประหาร หลังจากการประหารแบรนดท์แล้ว "ทีนี้ถึงศัตรูรายสำคัญแล้ว" พระนางตรัสกับนางกำนัลอย่างปิติ[24] สตรูเอนซีคุกเข่าลงบนกองเลือดแล้ววางมือด้านขวาที่นำความแปดเปื้อนมาสู่ราชินี เพชรฆาตสับมือข้างนั้นขาดกระเด็น สตรูเอนซีลุกขึ้นบิดตัวเร่า เลือดพุ่งกระฉูดออกจากข้อมือที่กุด ผู้ช่วยเพชรฆาตจำเป็นต้องกดศีรษะเขาแนบกับขอนไม้และในที่สึดดาบฟันลงมา ศีรษะสตรูเอนซีขาดกระเด็น พระนางจูเลียนาร้องอย่างปิติ จากนั้นทรงบอกกับพระสหายว่า เรื่องเดียวที่ทรงเสียพระทัยที่สุดคือเรื่องที่ทรงไม่ได้เห็นพระนางมาทิลดา ผู้เป็นพระสุนิสาไม่ได้ขึ้นแท่นประหารแบบคนอื่น และพระนางไม่ได้เห็นพระหัตถ์และพระเศียรมาทิลดาหลุดออกจากร่าง ไม่ได้เห็นซากศพราชินีแห่งเดนมาร์กถูกกรีดจากพระศอจนถึงพระอุรุ ไม่ได้เห็นอวัยวะภายในถูกล้วงออกมาตอกติดกับล้อรถ ไม่ได้เห็นแขนขาถูกตัดออกมาตอกกับอวัยวะภายใน ไม่ได้เห็นพระเศียรถูกเสียบปลายไม้ทิ้งให้เน่าเปื่อยกลางทุ่งท้ายเมือง ตรัสต่อไปว่า ภาพเหล่านั้นจะทำให้พระนางมีความสุขที่สุดในพระชนม์ชีพ"[25] เมื่อพระนางมาทิลดาทรงทราบข่าวการประหารสตรูเอนซี พระองค์ถึงกับเป็นลม หมดสติ
เมื่อศีรษะสตรูเอนซีหลุดออกจากบ่า เขาได้กลายเป็นนักบุญผู้พลีชีพในสายตาชาวเดนมาร์ก ส่วนสมเด็จพระพันปีหลวงกลับกลายเป็นจอมเผด็จการที่ชาวเดนมาร์กเกลียดชัง พระนางได้ยกเลิกกฎหมายที่สตรูเอนซีบัญญัติขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในถนนหลายสายของโคเปนเฮเกน พระนางจูเลียนาจำต้องนำกฎหมายบางอย่างของสตรูเอนซีกลับมาใช้อีกครั้ง เมื่อพระเจ้าคริสเตียนทรงทราบการประหารพระองค์ทรงเศร้าโศกมากและตรัสขอพบพระนางมาทิลดา เนื่องจากยังเป็นพระมเหสีอยู่ เมื่อพระนางมาทิลดาทราบข่าวการประหารพระองค์ทรงเป็นลมล้มฟุบทันที มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนตามถนนต้องการให้ พระนางมาทิลดาขึ้นสำเร็จราชการแทนพระนางจูเลียนาจนเป็นการจลาจลอีกครั้ง พระนางจูเลียนาจึงเนรเทศพระสุนิสาออกจากแผ่นดินเดนมาร์กเสีย
บั้นปลายพระชนม์ชีพ
แก้พระนางมาทิลดาทรงหวังจะได้เสด็จกลับอังกฤษ และดำรงพระชนม์ชีพอย่างเงียบๆ แต่เมื่อพระราชินีชาร์ล็อต ทรงปฏิเสธไม่ให้สตรีที่นอกใจสามีมาใช้ชีวิตในอาณาจักร เพราะทรงกลัวว่าจะนำความแปดเปื้อนมาสู่พระธิดาที่บริสุทธิ์ผุดผ่องของตน พระเจ้าจอร์จ ผู้เป็นพระเชษฐาทรงตัดสินพระทัยให้พระขนิษฐาไปประทับที่อาณาจักรฮาโนเวอร์ ในเยอรมนี พระนางต้องไปประทับที่ปราสาทเชลล์ที่ทิ้งร้างมานาน 70 ปีตั้งแต่สมัยของพระปัยกาของพระนาง พระนางทรงโศกเศร้าที่ต้องจากพระโอรสและพระธิดาแต่ทรงประทับใจที่พระธิดาได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ของเดนมาร์ก ในวันที่ทรงต้องเสด็จออกเดินทางทรงต้องอำลาพระโอรสและธิดา หลังจากทรงอำลาเสร็จทหารได้พยายามบังคับให้พระนางเสด็จออกจากที่นั่น พระนางทรงร้องโวยวายว่า "ปล่อยข้านะ ข้าไม่เหลืออะไรอีกแล้ว!"[26] และพระนางก็ทรงพระกันแสงตลอดทางจนถึงเรือพระที่นั่ง
ระหว่างการเดินทางออกจากเดนมาร์ก พีนางมาทิลดาทรงไม่ทราบเลยว่ามีเลียงสนับสนุนพระองค์มากขึ้นเรื่อยๆใน 3 ประเทศ ประชาชนชาวอังกฤษหลายคนแสดงความชิงชังพระเจ้าจอร์จที่ 3 ที่ทอดทิ้งพระขนิษฐาซึ่งตกเป็นเหยื่อสุนัขจิ้งจอกในราชสำนักเดนมาร์กที่มีแต่อันตรายรอบด้าน ส่วนประชาชนชาวเดนมาร์กก็มิได้ใส่ใจในพฤติกรรมนอกใจพระสวามีของพระราชินี พวกเขาพยายามหาวิธีที่จะให้พระนางมาทิลดากลับมาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนสมเด็จพระพันปีหลวงจูเลียนาที่เป็นเผด็จการ และขณะเดียวกันราษฎรชาวเยอรมันในเชลล์จัดงานเฉลิมฉลองต้อนรับพระนางราวกับว่าทรงดำรงพระยศเป็นพระราชินีอยู่ พระนางมาทิลดาทรงดำรงพระชนม์ชีพในเชลล์อย่างสงบ พระนางทรงไม่โปรดการทรงม้าอีกต่อไปเพราะจะทำให้นึกถึงสตรูเอนซี ซึ่งทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก พระนางทรงดำเนินงานการกุศลและรับเด็กหญิงกำพร้าชื่อ โซฟี มาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมในวังด้วย
เนื่องจากพระอุปนิสัยที่โหดเหี้ยมและผูกพยาบาทของพระพันปีหลวงจูเลียนา ทำให้ทรงมีศัตรูมากมาย กลุ่มอิทธิพลต่างๆลุกขึ้นมาปลุกระดมเรียกร้องให้พระนางมาทิลดากลับมาแทนที่พระพันปีหลวง ในที่สุดผู้สมรู้ร่วมคิดคือ เอิร์นส์ ไฮน์ริช ฟาน สชิมเมลแมน นักการเมืองชาวเดนมาร์กและ นาธาเนียล แร็กซ์ออล นักเดินทางชาวอังกฤษวัย 22 ปี ได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้าอดีตราชินี และบอเล่าแผนการให้พระนางทรงทราบ พระนางได้ตกลงทันที จากนั้นแร็กซ์ออลได้เดินทางไปลอนดอนเพื่อขอพระราชทานกำลังสนับสนุนของพระเจ้าจอร์จที่ 3 แต่ไม่เป็นผล
เมื่อแร็กซ์ออลกลับมาเข้าเฝ้าพระนางมาทิลดา พระนางประกาศว่า พร้อมที่จะเสด็จกลับไปกุมอำนาจรัฐบาลโคเปนเฮเกนได้ในทันที พระนางมาทิลดากลับกลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิดไปยังโคเปนเฮเกน ทั้งหมดจะลอบเข้าพระราชวัง ตามหาพระเจ้าคริสเตียนและให้พระองค์ลงพระนามในเอกสารมอบอำนาจการปฏิวัติ หลังการวางแผนสิ้นสุดลง พระนางทรงหวังจะได้กลับสู่เดนมาร์ก
แร้กซ์ออลเดินทางกลับไปยังลอนดอน วึ่งขณะนั้นในเชลล์เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ระบาดและมหาดเล็กคนหนึ่งของพระนางเสียชีวิต อีกทั้งโซฟี พระธิดาเลี้ยงก็เริ่มมีอาการป่วย พระนางทรงกังวลต่อสุขภาพของพระธิดาเลี้ยงโดยไม่ได้พักผ่อน พระนางจึงทรงพระประชวรไปด้วยอีกคน ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2318 พระนางทรงทราบข่าวว่าโซฟีพ้นขีดอันตรายแล้ว ตรัสว่า "เช่นนี้ข้าก็นอนตายตาหลับแล้วสินะ"[27] พร้อมกับหลับพระเนตร แล้วพระเนตรไม่เปิดอีกเลยจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ขณะมีพระชนมายุเพียง 23 พรรษา พระบรมศพได้ถูกฝังที่ โบสถ์เซนต์แมรีแห่งเชลล์ เคียงข้างพระศพของ โซเฟีย โดโรเธียแห่งเซลล์ พระปัยยิกาของพระองค์ ซึ่งทรงมีชะตากรรมที่คล้ายคลึงกัน
พระโอรสและพระธิดา
แก้พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรส (ประสูติและสิ้นพระชนม์) และพระโอรส-ธิดา | |
พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 แห่งเดนมาร์ก | พ.ศ. 2311 |
28 มกราคมพ.ศ. 2382 |
3 ธันวาคมอภิเษกสมรส 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2333 เจ้าหญิงมารี โซฟีแห่งเฮสส์-คาสเซิล (พ.ศ. 2310–2395) พระราชโอรส 2 พระองค์และพระราชธิดา 6 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายคริสเตียน เจ้าหญิงมารี หลุยส์ เจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งเดนมาร์ก เจ้าหญิงหลุยส์ เจ้าชายคริสเตียน เจ้าหญิงจูเลียนา หลุยส์ เจ้าหญิงเฟรเดอริเก มารี เจ้าหญิงวิลเฮลมิเน มารีแห่งเดนมาร์ก มีพระบุตรกับพระสนม เฟรเดอริเก เดนเนมานด์ พระราชโอรส 2 พระองค์และพระราชธิดา 2 พระองค์ ได้แก่ โลวีซา เคานท์เตสแห่งเดนเนมานด์ คาโรไลน์ เคานท์เตสแห่งเดนเนมานด์ เฟรเดอริก เคานท์แห่งเดนเนมานด์ วัลเดมาร์ เคานท์แห่งเดนเนมานด์ | |
เจ้าหญิงหลุยส์ ออกัสตาแห่งเดนมาร์ก ดัสเชสแห่งออกัสเตนเบิร์ก | พ.ศ. 2314 |
7 กรกฎาคมพ.ศ. 2386 |
13 มกราคมอภิเษกสมรส 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2329 เฟรเดอริค คริสเตียนที่ 2 ดยุคแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บวร์ก-ออกัสเตนเบิร์ก (พ.ศ. 2308–2357) พระราชโอรส 2 พระองค์และพระราชธิดา 1 พระองค์ได้แก่ แคโรไลน์ อเมลีแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บวร์ก-ออกัสเตนเบิร์ก พระราชินีแห่งเดนมาร์ก คริสเตียน ออกัสที่ 2 ดยุคแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บวร์ก-ออกัสเตนเบิร์ก เจ้าชายเฟรเดอริคแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บวร์ก-ออกัสเตนเบิร์ก |
พระอิศริยยศ
แก้ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระราชินีแคโรไลน์ มาทิลดา | |
---|---|
ตราประจำพระอิสริยยศ | |
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | Hendes Majestæt (ใต้ฝ่าละอองพระบาท) |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | Deres Majestæt (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ) |
- 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2294 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2309 : เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดาแห่งบริเตนใหญ่
- 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2309 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2318 : สมเด็จพระราชินีแคโรไลน์ มาทิลดาแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์
ราชตระกูล
แก้การปรากฏในสื่อ
แก้หลังจากพระนางสิ้นพระชนม์ได้มีการประพันธ์หนังสือ เพลงและภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวประวัติของพระนางแคโรไลน์ มาทิลดามากมาย อาทิ เช่น
นวนิยาย
แก้- โรเบิร์ต จี. นิวแมน - The Favourite of the Queen (Der Favorit der Königin)(พ.ศ. 2478)
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพระนางแคโรไลน์ มาทิลดากับสตรูเอนซี แพทย์ชาวเยอรมันซึ่งทรงโปรดปราน และสร้างอิทธิพลในราชสำนักเดนมาร์กอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาเดนมาร์ก
- เอ็ดการ์ มาร์เอส - The Queen's Physician (พ.ศ. 2491)
เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติของโยฮันน์ ฟรีดิช สตรูเอนซีซึ่งใช้ชื่อว่า The Queen's Physician อันเนื่องมาจากสตรูเอนซีศึกษาด้านฟิสิกส์และการแพทย์จนเป็นที่พอพระทัยของพระนางมาทิลดาและได้รับกล่าวขานว่าเป็น "นักฟิสิกส์ของพระราชินี" หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ
- โนอาห์ ลอฟท์ - The Lost Queen (พ.ศ. 2511)
เป็นหนังสือเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระนางแคโรไลน์ มาทิลดาซึ่งเป็นพระราชประวัติตั้งแต่ทรงก้าวขึ้นสู่อำนาจและสิ้นสุดพระราชอำนาจ จนกระทั่งทรงถูกเนรเทศจากประเทศ โดยจะเน้นในเรื่องการอภิเษกสมรสระหว่างพระราชวงศ์เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอันนำพาซึ่งโศกนาฏกรรม โดยได้นำเรื่องราวของพระนางซึ่งเป็นหนึ่งในการอภิเษกสมรสระหว่างพระราชวงศ์เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ[28]
- เปอร์ โอลอฟ แอนควิสท์ - The visit of the royal physician (Livläkarens besök)(พ.ศ. 2542)
เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติของโยฮันน์ ฟรีดิช สตรูเอนซีและพระนางแคโรไลน์ มาทิลดา ซึ่งเกี่ยวกับการเดินทางมาของเขาในฐานะนักฟิสิกส์และแพทย์ในราชสำนักเดนมาร์กซึ่งได้เข้ามามีอำนาจและได้ตกหลุมรักพระราชินี และกายเป็นจุดกำเนิดของ"ยุคสตรูเอนซี"ซึ่งได้ทำการปฏิรูปเดนมาร์กสู่ความทันสมัย แต่ต่อมาได้ถูกปฏิวัติล้มล้างโดยเขาได้ถูกประหารส่วนพระราชินีถูกเนรเทศ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เขียนในเชิงย้อนรอยประวัติศาสตร์แฝงไปด้วยแง่คิดมุมมองทางการเมืองของตัวละครในเรื่อง โดยหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ทั้งในภาษาสวีเดน,ภาษาเดนมาร์กและภาษาอังกฤษ[29]
- เอเลนอร์ เฮอร์แมน - Sex with the Queen(พ.ศ. 2553)
เป็นหนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ซึ่งเกี่ยวกับชู้รักของพระราชินีในยุโรปหลายพระองค์ ซึ่งรวมถึงพระนางแคโรไลน์ มาทิลดาที่มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับสตรูเอนซี อันทำให้ต้องประสบชะตากรรมที่เลวร้ายในเวลาต่อมา เฮอร์แมนเปิดเผยรายละเอียดที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิตของบรรดาพระราชินี หนังสือเริ่มนี้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศสและหลากหลายภาษารวมทั้งในภาษาไทยใช้ชื่อว่า "เร้นรักราชินี"[30]
ภาพยนตร์
แก้- ในเรื่องThe Dictator - เมดเดอลีน คาร์โรล แสดงเป็นพระนางแคโรไลน์ มาทิลดา(พ.ศ. 2478)
เรื่อง The Dictator เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ของอังกฤษ อำนวยการสร้างโดยวิกเตอร์ เซวิลล์ เป็นเรื่องราวเริ่มต้นในพ.ศ. 2319 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพระเจ้าคริสเตียนที่ 7 กับพระนางแคโรไลน์ มาทิลดา และความสัมพันธ์ของพระนางกับสตรูเอนซี และรวมถึงการต่อต้านพระราชอำนาจของพระพันปีหลวงจูเลียนา และสุดท้ายพระนางแคโรไลน์และสตรูเอนซีต้องประสบชะตากรรมที่โหดร้าย[31]
- ในเรื่องA Royal Affair - อลิเซีย วิคันเดอร์ แสดงเป็นพระนางแคโรไลน์ มาทิลดา(พ.ศ. 2555)
ดนตรี
แก้- ปีเตอร์ แม็กซ์เวล เดวีส์ ประพันธ์เพลงแคโรไลน์ มาทิลด์ซึ่งเป็นเพลงสำหรับบัลเลต์ ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักเดนมาร์กเพื่อสดุดีพระนางแคโรไลน์ มาทิลดา และได้รับการเล่นครั้งแรกในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2534 ณ โรงละครคอนเกลีก กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งเป็นการแสดงการเต้นบัลเล่ต์
อ้างอิง
แก้- ↑ Eleanor Herman. เร้นรักราชินี (Sex with the Queen).2553 หน้า 349
- ↑ Yvonne's Royalty Home Page: Royal Christenings
- ↑ Eleanor Herman.เร้นรักราชินี(Sex with the Queen).2553 หน้า 318
- ↑ Caroline Matilda, Queen of Denmark, 1751-75 โดย Hester W Chapman หน้า 35
- ↑ Eleanor Herman.เร้นรักราชินี(Sex with the Queen).2553 หน้า 321
- ↑ Chapman หน้า 54
- ↑ Memoires of the Courts of Denmark and Sweden,vol I หน้า 118
- ↑ Chapman หน้า 54
- ↑ Chapman หน้า 81
- ↑ Chapman หน้า 97
- ↑ Eleanor Herman.เร้นรักราชินี(Sex with the Queen).2553 หน้า 332 - 333
- ↑ Chapman หน้า 102
- ↑ Wilkins,A Queen of Tears,vol. I หน้า 332
- ↑ Chapman หน้า 120
- ↑ Chapman หน้า 125
- ↑ Eleanor Herman.เร้นรักราชินี(Sex with the Queen).2553 หน้า 338
- ↑ Chapman หน้า 137
- ↑ Chapman หน้า 139
- ↑ Wilkins,A Queen of Tears,vol. II หน้า 115
- ↑ Chapman หน้า 147
- ↑ Chapman หน้า 148
- ↑ Wilkins,A Queen of Tears,vol. II หน้า 270
- ↑ Chapman หน้า 169
- ↑ Chapman หน้า 169
- ↑ Chapman หน้า 169
- ↑ Chapman หน้า 174
- ↑ Morald หน้า 206
- ↑ http://www.fictiondb.com/author/norah-lofts~the-lost-queen~23281~b.htm
- ↑ http://www.amazon.com/Royal-Physicians-Visit-Novel/dp/0743458036
- ↑ บทวิจารณ์ของเอ็นเตอร์เท็นเมนต์วีกลีย์ต่อหนังสือ Sex with the Queen ของเอเลนอร์ เฮอร์แมน
- ↑ http://www.imdb.com/title/tt0026657/plotsummary
- (เดนมาร์ก) Amdisen, Asser. Til nytte og fornøjelse Johann Friedrich Struensee (1737–1772). Denmark: Akademisk Forlag, 2002. ISBN 8750037307.
- (เดนมาร์ก) Bregnsbo, Michael. Caroline Mathilde: magt og skæbne : en biografi. Denmark: Aschehoug, 2007. ISBN 9788711118566
- Tilliyard, Stella. A Royal Affair: George III and his Scandalous Siblings. London: Chatto & Windus, 2006. ISBN 9780701173067
- Henry Churchyard "Royal Genealogies, Part 10" เก็บถาวร 1999-05-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน