เสม็ดขาวใบยาว
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Myrtales
วงศ์: Myrtaceae
สกุล: Melaleuca
สปีชีส์: M.  leucadendra
ชื่อทวินาม
Melaleuca leucadendra
ชื่อพ้อง[1]
รายการ
  • Cajuputi leucadendron (L.) Rusby ex A.Lyons
  • Leptospermum leucodendron (L.) J.R.Forst. & G.Forst.
  • Melaleuca latifolia Raeusch. nom. inval., nom. nud.
  • Melaleuca leucadendra (L.) L.f. leucadendra
  • Melaleuca leucadendra (L.) L. var. leucadendra
  • Melaleuca leucadendra var. mimosoides (A.Cunn. ex Schauer) Cheel
  • Melaleuca leucadendron L.f. orth. var.
  • Melaleuca leucadendron L.f. var. leucadendron orth. var.
  • Melaleuca leucadendron var. mimosoides Cheel orth. var.
  • Melaleuca mimosoides A.Cunn. ex Schauer
  • Metrosideros coriacea Salisb.
  • Myrtus leucadendra L.

เสม็ดขาวใบยาว หรือ เสม็ดกือแล (ชื่อวิทยาศาสตร์: Melaleuca leucadendra) หรือรู้จักกันทั่วไปว่า เสม็ดขาว (ชื่อสามัญ อังกฤษ: weeping paperbark, long-leaved paperbark, white paperbark) เป็นพืชในสกุลเมอร์เทิล ของวงศ์ชมพู่ (Myrtaceae) และแพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ภาคเหนือของ ประเทศออสเตรเลีย, นิวกีนี และช่องแคบทอร์เรส มีความสูงของต้นได้มากกว่า 20 เมตร ลำต้นปกคลุมด้วยเปลือกสีขาวลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ เรียงซ้อนกันเป็นปึกหนานุ่ม ลอกออกได้เป็นแผ่น ๆ กิ่งก้านที่บางกว่า และมีลักษณะเด่นคือกิ่งที่มักห้อยลง ออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี มักปลูกเป็นต้นไม้ในสวนสาธารณะและริมถนน เป็นพืชในสกุลเมอร์เทิลชนิดแรกที่ได้รับการตั้งชื่อจากตัวอย่างที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

 
ภาพประกอบศตวรรษที่ 19 ของ M. leucadendra
 
ทรงต้นเสม็ดขาวใบยาว

เสม็ดขาวใบยาว (Melaleuca leucadendra) จัดอยู่ในวงศ์ชมพู่ (Myrtaceae) เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นทั่วไป 5–20 เมตร แต่สูงได้ถึง 25 เมตร มีเรือนยอดแคบเป็นพุ่มทรงสูง ลำต้นมักบิด เปลือกลำต้นเป็นสีขาวนวล สีชมพูหรือครีม จนถึงสีน้ำตาลเทา เปลือกเป็นแผ่นบาง ๆ เรียงซ้อนกันเป็นปึกหนานุ่ม ลอกออกได้เป็นแผ่น ๆ

กิ่งก้านมักห้อยลง (ในภาษาอังกฤษเรียกลักษณะกิ่งที่ห้อยลงว่า weeping - ร้องไห้) ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเสม็ดขาวใบยาว

ใบและกิ่งอ่อนปกคลุมด้วยขนละเอียดสั้นสีขาวเมื่อยังอ่อน แต่จะเรียบเป็นมันเมื่อใบแก่ ออกใบเรียงรอบกิ่งไม่เป็นระเบียบ ใบยาว 75–270 มิลลิเมตร กว้าง 6.5–40 มิลลิเมตร 6.5–40 mm (0.3–2 in) ใบแบน รูปใบหอก ทรงยาวเรียว มีเส้นใบตามยาว 5 เส้น (บางครั้งมากถึง 9 เส้น) และมักไม่สมมาตร คือมีลักษณะโค้งหรือรูปเคียว[2][3][4] (รูปพระจันทร์เสี้ยว) และในต้นที่มีใบที่ยาวใบส่วนมากมักห้อยลง

ดอกมีสีครีม สีขาว หรือสีขาวอมเขียว เป็นพู่ ออกที่ปลายกิ่ง ซึ่งสามารถเติบโตผลิยอดต่อไปหลังจากดอกโรยทางปลายช่อดอกได้ บางครั้งออกดอกที่ด้านบนของซอกใบ ดอกพู่กระจุกเป็นช่อ 7 ถึง 22 ดอก คล้ายแปรงล้างขวดแต่กระจายกันแบบหลวม ๆ ปลายกิ่งเดียวมีได้มากถึง 3 ช่อ และช่อดอกอาจมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 35 มิลลิเมตร ยาวได้สูงสุดถึง 80 มิลลิเมตร กลีบดอกยาวประมาณ 3–4 มิลลิเมตร และร่วงหล่นตามวัยเมื่อดอกบานเต็มที่แล้ว มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ซึ่งกระจุกกันเป็นมัด 5 มัดรอบ ๆ แต่ละมัดมีเกสรเพศผู้ 5 ถึง 12 เส้น ออกดอกได้ตลอดทั้งปี

ผล แตกออกได้เป็น 3 พู ลักษณะของผลเป็นรูปถ้วย ปลายปิด ขนาดเล็ก ยาว 3.9–4.9 มิลลิเมตร ผลออกเป็นกระจุกหลวม ๆ เรียงยาวรอบกิ่ง[2][3][4] ผลแก่เป็นสีน้ำตาลอมเทาถึงสีคล้ำคล้ายสีเปลือกไม้ ผลแห้งแตกด้านบน ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี

เสม็ดขาวใบยาว มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกันมากกับ เสม็ดขาว (Melaleuca cajuputi) ที่พบในประเทศไทย และ เสม็ดใบกว้าง (Melaleuca quinquenervia) ที่พบในประเทศออสเตรเลีย ทั้งสามเป็นพืชในสกุล Melaleuca ลักษณะเด่นของเสม็ดขาวใบยาวที่ต่างจากอีกสองชนิด คือ ใบที่ยาว โค้งเป็นรูปเคียว กิ่งก้านมักห้อยลง ช่อดอกยาว ดอกและผลกระจุกกันหลวม ๆ และทั้งสามชนิดมีถิ่นกำเนิดต่างกัน

อนุกรมวิธานและการตั้งชื่อ แก้

เสม็ดขาวใบยาว (M. leucadendra) ถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1762 โดยลินเนียส (Carl Linnaeus) ใน Species Plantarum โดยให้ชื่อว่า Myrtus leucadendra[5][6] ลินเนียสใช้ชื่อชนิดที่ระบุโดยรัมฟีอุส (Georg Eberhard Rumphius) ในปี 1741 ก่อนที่ระบบการเรียกชื่อสมัยใหม่จะถูกคิดค้น (โดยลินเนียส) รัมฟีอุสได้ระบุถึงพืชที่เติบโตในอินโดนีเซียชนิดนี้ ต่อมาลินเนียสได้ตระหนักว่าพืชชนิดนี้มีความเหมือนร่วมกับพืชอื่น ๆ ในสกุล Myrtus เพียงเล็กน้อย จึงแยกและตั้งชื่อสกุล Melaleuca ขึ้นใหม่เพื่อรองรับพืชชนิดนี้[7] ดังนั้น Melaleuca leucadendra จึงกลายเป็นพืชในสกุล melaleuca ชนิดแรกที่ได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ และถูกตีพิมพ์ในปี 1767 ใน Mantissa plantarum[8][9] แม้ว่า Melaleuca เกือบทั้งหมดจะพบเฉพาะในออสเตรเลีย แต่ตัวอย่างของชนิดต้นแบบแรกนั้นมาจากอินโดนีเซีย

ชื่อเฉพาะ leucadendra มาจากคำภาษากรีกโบราณ λευκός (leukós) แปลว่า ขาว [10] : 856  และ δένδρον (déndron) แปลว่า ต้นไม้[10] : 813  หมายถึง พืชที่มีเปลือกสีขาว[2]

เสม็ดขาวใบยาว (M. leucadendra) นั้นดูเผิน ๆ คล้ายกับต้นเสม็ดชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะเสม็ดขาว (Melaleuca cajuputi), เสม็ดใบกว้าง (Melaleuca quinquenervia), Melaleuca linariifolia และ Melaleuca viridiflora ทำให้บางครั้งถูกเรียกว่า Cajuput หรือ Cajeput ซึ่งเป็นชื่อสามัญภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกน้ำมันที่ได้จากใบของเสม็ดขาว (M. cajuputi) ซึ่งคำนี้อาจเป็นการทับศัพท์จากคำว่า kayu putih ในภาษาอินโดนีเซีย[11] ในภาษามลายู เสม็ดขาวใบยาว (M. leucadendra) เรียกว่า Gelam [12] และสันนิษฐานว่าใช้อ้างอิงในการตั้งชื่อให้กับเขตกัมปุงเกอลัมในสิงคโปร์ [13]

การแพร่กระจายและถิ่นกำเนิด แก้

 
มีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลีย นิวกินี และอินโดนีเซีย

เสม็ดขาวใบยาว (M. leucadendra) แพร่กระจายอยู่ทั่วไปทางตอนเหนือของออสเตรเลียตะวันตก ในนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี และควีนส์แลนด์ ทางตอนใต้ของอ่าวโชลวอเตอร์ นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นในนิวกินีและอินโดนีเซีย[2] เจริญเติบโตได้ดีมากในสภาพที่ลุ่มมีน้ำขัง มักพบได้ทั่วไปตามชายทะเล ป่าชายหาดใกล้ทะเล ในที่ลุ่มน้ำขัง ตามขอบของป่าพรุ[14]

การใช้ประโยชน์ แก้

เปลือกไม้ที่เหมือนกระดาษนั้น ชาวอะบอริจินใช้ในการรอง คูลามอน (ถาดทรงยาวคล้ายฟักผ่าครึ่ง) ใช้เปลือกไม้จากต้นไม้นี้และมัดไว้กับโครงของกิ่งก้าน Dodonaea เพื่อสร้างกระท่อมที่กันน้ำได้ เปลือกไม้ใช้ห่ออาหารก่อนปรุงในเตาอบใต้ดินที่เรียกว่า kap mari นอกจากนี้ยังใช้ห่อศพของพวกเขา มีการนำเปลือกจากลำต้นของต้นไม้ขนาดใหญ่มาทำเรือแคนู[15] ใบบดใช้รักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และนำดอกมาทำเป็นเครื่องดื่มรสหวาน[4]

ในออสเตรเลีย มักปลูกเสม็ดขาวใบยาวในสวนสาธารณะ และเป็นต้นไม้ริมถนนในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งร้อนเช่น บริสเบน[3] และไกลไปทางใต้ของซิดนีย์[16] ชอบสถานที่ที่มีแสงแดดส่องถึง แต่ทนต่อดินเหนียว ดินพรุ และดินที่มีน้ำขัง[17] นอกจากนี้ยังถูกใช้เป็นต้นไม้ข้างถนนในฮ่องกง[18]

น้ำมันหอมระเหย แก้

น้ำมันหอมระเหยหลายชนิดสามารถกลั่นได้จากพืชชนิดนี้ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ที่ต้นไม้เติบโต น้ำมันที่กลั่นได้เรียกว่า “น้ำมันเขียว” (Cajuput oil) หรือ “น้ำมันเสม็ด” ซึ่งจะมีกลิ่นคล้ายกับการบูร น้ำมันเสม็ดนี้มีคุณสมบัติในทางยาคล้ายกับน้ำมันยูคาลิปตัส แต่มีสีเหลืองอ่อน สารสำคัญที่พบมากที่สุดสองชนิดคือ เมทิลยูจีนอล และ อี-เมทิลไอโซ ยูจีนอล[2] เป็นน้ำมันที่ไม่เป็นพิษ และทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้น้อยมาก[14]

ไม้ แก้

ไม้ซุงจาก M. leucadendra สามารถใช้สำหรับงานก่อสร้างทั่วไป เนื้อไม้เสม็ดขาวมีคุณสมบัติคงทนต่อสภาพที่เปียกชื้นและในน้ำเค็มได้ดี ในเวียดนามใช้สำหรับทำเสาเข็ม ไม้ฟืน และเศษไม้วัสดุปลูกหรือโรยหน้าดิน[2]

อ้างอิง แก้

  1. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ WCSP
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Brophy, Joseph J.; Craven, Lyndley A.; Doran, John C. (2013). Melaleucas : their botany, essential oils and uses. Canberra: Australian Centre for International Agricultural Research. pp. 224–225. ISBN 978-1-922137-51-7.
  3. 3.0 3.1 3.2 Holliday, Ivan (2004). Melaleucas : a field and garden guide (2nd ed.). Frenchs Forest, N.S.W.: Reed New Holland Publishers. pp. 170–171. ISBN 1-876334-98-3.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Melaleuca leucadendra". James Cook University. Retrieved 25 January 2018. https://www.jcu.edu.au/discover-nature-at-jcu/plants/plants-on-cairns-campus/melaleuca-leucadendra
  5. Linnaeus, Carl (1762). Species Plantarum (Volume 1) (2 ed.). p. 676. Retrieved 13 May 2015. https://www.biodiversitylibrary.org/item/42877#page/692/mode/1up
  6. "Myrtus leucadendra". APNI. Retrieved 13 May 2015. https://biodiversity.org.au/nsl/services/rest/instance/apni/630984
  7. Brophy, Joseph J.; Craven, Lyndley A.; Doran, John C. (2013). Melaleucas : their botany, essential oils and uses (PDF). Canberra: Australian Centre for International Agricultural Research. p. 15. ISBN 978-1-922137-52-4. Archived from the original (PDF) on 28 May 2015. Retrieved 13 May 2015. https://web.archive.org/web/20150528213958/http://aciar.gov.au/files/mn156-prelims_1.pdf
  8. Linnaeus, Carl (1767). Mantissa plantarum. p. 105. Retrieved 13 May 2015. https://bibdigital.rjb.csic.es/records/item/10315-redirection
  9. "Melaleuca leucadendra". APNI. Retrieved 13 May 2015. https://biodiversity.org.au/nsl/services/rest/instance/apni/513481
  10. 10.0 10.1 Brown, Roland Wilbur (1956). The Composition of Scientific Words. Washington, D.C.: Smithsonian Institution Press.
  11. Brophy, Joseph J.; Craven, Lyndley A.; Doran, John C. (2013). Melaleucas : their botany, essential oils and uses (PDF). Canberra: Australian Centre for International Agricultural Research. p. 104. ISBN 978-1-922137-52-4. Retrieved 13 May 2015. https://aciar.gov.au/files/mn156-species-a-c_1.pdf เก็บถาวร 2014-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  12. "Gelam or Kayu putih". Wild Singapore. Retrieved 13 May 2015. http://www.wildsingapore.com/wildfacts/plants/coastal/melaleuca/cajuputi.htm
  13. Keng, Hsuan (1990). The Concise Flora of Singapore: Gymnosperms and dicotyledons. Singapore: Singapore Univ. Press. p. 222. ISBN 9971-69-135-3
  14. 14.0 14.1 https://www.matichonweekly.com/column/article_224476
  15. Calvert, Greg. "Bush tucker: White paperbark (Melaleuca leucadendra)". Society for growing Australian plants, Queensland. Retrieved 25 January 2018. https://www.sgapqld.org.au/information-and-publications/bush-tucker-articles/254-white-paperbark เก็บถาวร 2018-01-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  16. Wrigley, John W.; Fagg, Murray (1983). Australian native plants : a manual for their propagation, cultivation and use in landscaping (2nd ed.). Sydney: Collins. pp. 351–352. ISBN 0-00-216575-9
  17. "Melaleuca leucadendra" (PDF). Waverley Council. Retrieved 13 May 2015. www.waverley.nsw.gov.au/__data/assets/pdf_file/0003/3000/Melaleuca_leucadendra.pdf
  18. Jim, C. Y. (1986). "Street trees in high-density urban Hong Kong". Journal of Arboriculture. International Society of Arboriculture. 12 (10): 257–263. Retrieved 12 August 2012.