เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช
เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช (อังกฤษ: Bhumibol Adulyadej-class frigate) เป็นชุดเรือฟริเกตของกองทัพเรือไทย ออกแบบมาจากแบบของเรือพิฆาตชั้นควังแกโทมหาราช ของกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลี
เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ในการจัดกระบวนเรือร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐระหว่างการฝึกผสม Guardian Sea 2019
| |
ภาพรวมชั้น | |
---|---|
ผู้สร้าง: | แดวู ชิปบิลดิ้ง แอนด์ มารีน เอ็นจิเนียริ่ง, ปูซาน, เกาหลีใต้ |
ผู้ใช้งาน: | กองทัพเรือไทย |
ก่อนหน้าโดย: | เรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร |
สร้างเมื่อ: | พ.ศ. 2556–2560 |
ในประจำการ: | พ.ศ. 2562–ปัจจุบัน |
วางแผน: | 2 ลำ |
เสร็จแล้ว: | 1 ลำ |
ใช้การอยู่: | 1 ลำ |
ลักษณะเฉพาะ | |
ประเภท: | เรือฟริเกตล่องหนหลากบทบาท |
ขนาด (ระวางขับน้ำ): | 3,700 ตัน (เต็มกำลัง) |
ความยาว: | 124.1 เมตร (407 ฟุต 2 นิ้ว) |
ความกว้าง: | 14.4 เมตร (47 ฟุต 3 นิ้ว) |
กินน้ำลึก: | 8 เมตร (26 ฟุต 3 นิ้ว) |
ระบบพลังงาน: | 4 × เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าประจำเรือ (แต่ละเครื่องให้พลังงาน 830 กิโลวัตต์) |
ระบบขับเคลื่อน: |
|
ความเร็ว: | 33.3 นอต (61.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 38.3 ไมล์ต่อชั่วโมง) |
พิสัยเชื้อเพลิง: | 4,000 ไมล์ทะเล (7,400 กิโลเมตร; 4,600 ไมล์) at 18 นอต (33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 21 ไมล์ต่อชั่วโมง) |
อัตราเต็มที่: | 141 นาย |
ระบบตรวจการและปฏิบัติการ: |
|
สงครามอิเล็กทรอนิกส์และเป้าลวง: |
|
ยุทโธปกรณ์: |
|
อากาศยาน: | 1 × เอส-70บี ซีฮอว์ก หรือ เอ็มเอช-60 เอส ไนท์ฮอว์ก |
ประวัติ
แก้เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรือชุดที่ต่อขึ้นเพื่อทดแทนเรือฟริเกตชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งปลดปลดประจำการในปี พ.ศ. 2560 โดยกองทัพเรือได้เปลี่ยนเงินงบประมาณซึ่งจากเดิมจะนำไปจัดหาเรือดำน้ำแบบ U-206A จากประเทศเยอรมนี จำนวน 6 ลำ งบประมาณ 7.6 พันล้านบาท ซึ่งถูกระงับโครงการเนื่องจากเลยกรอบระยะเวลาที่ทางการเยอรมนีกำหนด[2] มาใช้งานในโครงการจัดซื้อเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ซึ่งได้รับการอนุมัติโครงการภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในปี พ.ศ. 2555 ในการจัดหา[3]
กองทัพเรือได้ลงนามในการผลิตเรือลำแรกกับบริษัท แดวู ชิปบิลดิ้ง แอนด์ มารีน เอ็นจิเนียริ่ง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เพื่อสร้างเรือฟริเกตที่มีสมรรถนะสูง มีความทันสมัย และมีโครงสร้างที่แข็งแรง ด้วยวงเงิน 14,600 ล้านบาท กำหนดส่งมอบเรือลำแรกภายในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2561[4] โดยกองทัพเรือทำพิธีต้อนรับเรือเพื่อเข้าประจำการเมื่อวัที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ[5] แต่เดิมชื่อว่า เรือหลวงท่าจีน ต่อมาได้รับการพระราชทานชื่อเป็น เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นพระนามของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[6][7]
สำหรับเรือลำที่สองของชุด คือเรือหลวงประแส วางแผนที่จะต่อในประเทศไทย คาดว่าที่อู่มหิดลอดุลเดช[8] หรือ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ผ่านบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) กับกองทัพเรือ ในการซ่อม สร้าง และการดัดแปลงเรือ[9][3] แต่ถูกระงับในปี พ.ศ. 2562 เนื่องจาก พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเห็นความสำคัญของโครงการต่อเรือดำน้ำของประเทศจีนมากกว่า จึงได้นำงบประมาณในการต่อเรือหลวงประแส และงบประมาณในการจัดหาอากาศยานลาดตระเวนไปจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ซึ่งจะใช้เป็นเรือพี่เลี้ยงของเรือดำน้ำก่อน ในงบผูกพันธ์กับเรือดำน้ำลำที่ 2[10] ต่อมาได้มีการเสนอต่อเรือในปี พ.ศ. 2565 - 2566 หลังจากกองทัพเรือยอมถอนงบประมาณในการต่อเรือดำน้ำลำที่ 2 - 3 ออกไป[9] ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนจัดทำแผน และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี[3]
การออกแบบ
แก้เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรือที่พัฒนามาจากแบบของเรือพิฆาตชั้นควังแกโทมหาราช ของกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลีที่ใช้มาตรฐานเดียวกับกองทัพเรือสหรัฐ คือแบบเรือ DW3000F[9] ซึ่งเพิ่มเติมคุณสมบัติด้านการล่องหน[11] เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงของกองทัพเรือไทย สามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ คือบนผิวน้ำ ใต้น้ำ และอากาศ สามารถปฏิบัติการได้ในสภาวะแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนทางเคมี ชีวะ รังสี และนิวเคลียร์ สามารถทนทะเลได้ในระดับ 8 ความสูงคลื่นประมาณ 12 เมตร[12] ทำความเร็วได้สูงสุด 30 นอต มีระยะในการปฏิบัติการไกล 4,000 ไมล์ทะเล ปฏิบัติการต่อเนื่องได้ 21 วัน[12] ใช้กำลังพลปฏิบัติงานทั้งหมด 141 นาย โดยมีนายทหารระดับนาวาเอก เป็นผู้บังคับการเรือ[4]
โดยเรือมีการออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีในการล่องหน (ตรวจจับได้ยาก) สามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติคือ ผิวน้ำ ผ่านระบบอำนวยการรบที่สามารถปฏิบัติการร่วมกับเรือลำอื่น ๆ ของกองทัพเรือเพื่อปฏิบัติการในรูปแบบของกองเรือ รวมถึงปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานทั้งของกองทัพเรือและกองทัพอากาศเองในการโจมตีเรือผิวน้ำ ใต้น้ำ ผ่านการตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำด้วยโวนาร์ลากท้ายและโซนาร์ใต้ลำเรือ และต่อต้านทำลายด้วยตอร์ปิโด หรืออาวุธระยะไกล และทางอากาศ ผ่านเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล 3 มิติ และเรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลางสำหรับค้นหาอากาศยานและตรวจจับพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเรือและอากาศยานที่ร่วมการปฏิบัติการรบ และโจมตีด้วยขีปนาวุธหรือปืนประจำเรือ[4]
สำหรับระบบป้องกันตนเองของ เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ประกอบไปด้วยระบบอาวุธปล่อยนำวิถี ปืนต่อสู้อากาศยาน ปืนใหญ่เรือ อาวุธป้องกันระยะประชิด ระบบเป้าลวงอิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุมความเสียหายของเรือที่สามารถทำได้ทั้งจากศูนย์กลางและแบบแยกส่วน รวมไปถึงระบบป้องกันการแพร่สัญญาณต่าง ๆ ออกจากตัวเรือและการดักจับรบกวนสัญญาณต่าง ๆ[4]
นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณท้ายเรือซึ่งเป็นดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์และโรงเก็บเครื่องบินนั้นสามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์น้ำหนักไม่เกิน 10 ตัน รวมถึงสามารถดัดแปลงโรงเก็บอากาศยานให้เป็นพื้นที่พักสำหรับผู้ประสบภัยได้ชั่วคราวประมาณ 100 คน[12]
ยุทโธปกรณ์
แก้เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช มีการติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ ขีปนาวุธต่อต้านเรือดำน้ำแบบ VL ASROC (Vertical Launch Anti-Submarine Rocket) หรือ แอสร็อก ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศแบบ ESSM (Evolved SeaSparrow Missile) จากแท่นยิงขีปนาวุธแนวดิ่งแบบ Mk.41 VLS อาวุธปืนประจำเรือคือปืนใหญ่เรือแบบออโตเมราล่า 76/62 คาลิเบอร์ อาวุธปล่อย่อต้านเรือผิวน้ำแบบ อาร์จีเอ็ม-84ดี ฮาร์พูน และอากาศยานปีกหมุนประจำเรือสำหรับการปฏิบัติการต่อเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำ[4]
เรือในชุด
แก้ชื่อ | หมายเลข | สร้างโดย | วางกระดูกงู | ปล่อยลงน้ำ | ประจำการ | สถานะ |
---|---|---|---|---|---|---|
เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช | FFG-471 | แดวู ชิปบิลดิ้ง แอนด์ มารีน เอ็นจิเนียริ่ง | 15 พฤษภาคม 2559 | 23 มกราคม 2560 | 7 มกราคม 2562 | ประจำการ |
เรือหลวงประแส | FFG-472 | อู่มหิดลอดุลยเดช | อยู่ในแผน |
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ ATLAS ELEKTRONIK to deliver Bow and Towed Sonar systems for new Royal Thai Navy frigate
- ↑ "ปิดฉากกองทัพเรือซื้อ "เรือดำน้ำเยอรมนี" ยื้อจนเลยกรอบเวลา คาด "เกาหลีใต้-จีน" จ่อคิวแทน - ThaiPublica". thaipublica.org. 2012-03-15.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 ""เรือดำน้ำ"ไม่โผล่ "เรือพี่เลี้ยง"เทียบท่า กำเนิด "เรือฟริเกต" ลำที่ 2". bangkokbiznews. 2022-12-03.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือรบทรงอานุภาพของ ทร.ไทย". www.thairath.co.th. 2019-01-09.
- ↑ "พิธีต้อนรับเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือฟริเกตสมรรถนะสูง เสริมเขี้ยวเล็บให้ราชนาวีไทย". workpointTODAY.
- ↑ Voytenko, Mikhail (26 October 2019). "Thai Navy News – new frigate, another one postponed, submarine keel laying ceremony". FleetMon (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 9 January 2019.
- ↑ "'ร.ล.ภูมิพลฯ'ฟริเกตสมรรถนะสูงราคาเกือบ 1.5 หมื่นล้านเดินทางถึงไทยแล้ว". Thai Post | อิสรภาพแห่งความคิด (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "เพื่อนบ้านจับตา ฮ.โจมตีบนเรือจักรีนฤเบศร-เรือฟริเกตขนาบข้าง... "ผู้พิทักษ์อ่าวไทย" วีรภาพใหม่ในยุคเรือดำน้ำ". mgronline.com. 2017-05-06.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 "กองทัพเรือ อาจจัดหาเรือหลวงภูมิพล ลำที่สองในปีงบประมาณ 2566". thaiarmedforce. 2022-01-22.
- ↑ matichon (2019-09-22). "ทร.เปลี่ยนใจ ชะลอต่อเรือฟริเกตเกาหลีใต้ หันต่อเรือจากจีน ไว้เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ". มติชนออนไลน์.
- ↑ Nanuamy, Wassana (19 December 2018). "Navy prepares to receive new ship". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 9 January 2019.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 "แข็งแกร่ง ล้ำสมัย! ยลโฉม "ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช" เขี้ยวเล็บลำใหม่ทัพเรือไทย (คลิป)". www.thairath.co.th. 2019-04-26.