เปอไร (มลายู: Perai) หรือภาษาไทยถิ่นใต้ว่า แปไหร[2] เป็นเขตชุมชนเมืองของเซอเบอรังเปอไร รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเปอไรซึ่งคั่นเมืองบัตเตอร์เวิร์ททางทิศเหนือ และเป็นที่มาของชื่อเซอเบอรังเปอไร ซึ่งเป็นดินแดนภาคพื้นทวีปของรัฐปีนัง

เปอไร
การถอดเสียงอื่น ๆ
 • ยาวีڤراي
 • จีน北赖 (ตัวย่อ)
北賴 (ตัวเต็ม)
 • ทมิฬபிறை
เปอไร (ขวา) กับย่านบากันดาลัมของเมืองบัตเตอร์เวิร์ท (ซ้าย) ถูกคั่นด้วยแม่น้ำเปอไร
เปอไร (ขวา) กับย่านบากันดาลัมของเมืองบัตเตอร์เวิร์ท (ซ้าย) ถูกคั่นด้วยแม่น้ำเปอไร
ธงของเปอไร
ธง
เปอไรตั้งอยู่ในมาเลเซียตะวันตก
เปอไร
เปอไร
พิกัด: 5°22′40.263″N 100°23′56.9898″E / 5.37785083°N 100.399163833°E / 5.37785083; 100.399163833พิกัดภูมิศาสตร์: 5°22′40.263″N 100°23′56.9898″E / 5.37785083°N 100.399163833°E / 5.37785083; 100.399163833
ประเทศมาเลเซีย
รัฐปีนัง
เมืองเซอเบอรังเปอไร
อำเภอเซอเบอรังเปอไรเตองะฮ์
การปกครอง
 • การปกครองส่วนท้องถิ่นสภาเมืองเซอเบอรังเปอไร
 • นายกเทศมนตรีเซอเบอรังเปอไรโรซาลี โมฮามุด
 • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเปอไรรามจามี ปฬณิจามี (DAP)
 • สมาชิกรัฐสภาบาตูกาวันกัสตูริ ปัฏฏู (DAP)
ประชากร
 (2010[1])
 • ทั้งหมด14,433 คน
เขตเวลาUTC+8 (MST)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)ไม่ได้สังเกต
รหัสไปรษณีย์136xx to 137xx
รหัสโทรศัพท์+6043
เว็บไซต์www.mbsp.gov.my

พื้นที่เปอไรนี้ตกเป็นของบริษัทอินเดียตะวันออกของบริเตนเมื่อ ค.ศ. 1800 โดยมีแม่น้ำเปอไรเป็นเส้นเขตแดนระหว่างดินแดนใหม่ของสหราชอาณาจักรกับรัฐเกอดะฮ์ (หรือไทรบุรี) ทางตอนเหนือ[3][4][5] ครั้นมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างเปอไรกับเปรักช่วงคริสต์ทศวรรษ 1890 ทำให้เปอไรเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับส่งออกดีบุกไปทางทะเล[6][7] และปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เปอไรก็กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่[8][9]

ปัจจุบันเปอไรเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับเมืองเซอเบอรังจายาซึ่งอยู่ติดกัน[8] รวมทั้งยังเป็นเมืองที่เชื่อมการเดินทางระหว่างแผ่นดินใหญ่กับเกาะปีนังผ่านสะพานปีนัง และยังเป็นพื้นที่สำหรับอำนวยความสะดวกแก่ท่าเรือปีนัง[10]

ศัพทมูลวิทยา แก้

เปอไรตั้งอยู่ริมแม่น้ำเปอไร เมื่อบริษัทอินเดียตะวันออกเข้าครอบครองพื้นที่ใน ค.ศ. 1800 จึงตั้งนามเมืองตามชื่อแม่น้ำสายดังกล่าว โดยชื่อแม่น้ำเปอไร มาจากคำในภาษาไทยว่า ปลาย แปลว่า "ส่วนสุด, ส่วนท้าย" เพราะเป็นปลายเขตแดนระหว่างมณฑลไทรบุรีซึ่งเป็นประเทศราชของสยาม กับพรอวินซ์เวลส์ลีย์ (หรือสมารังไพร) ของสหราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้แม่น้ำเปอไรจึงเป็นจุดใต้สุดและจุดสิ้นสุดของอิทธิพลจากราชสำนักสยาม[3][4][5] แผนที่ฝ่ายสหราชอาณาจักรจึงระบุภูมินามของดินแดนฝั่งใต้ของแม่น้ำว่า พราย (Prye)[4][5] ใน จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ระบุว่าชาวไทยถิ่นใต้ที่เรียกกันว่าชาวนอก ออกเสียง เปอไร ซึ่งเป็นคำควบสองตัวไม่ได้ จึงออกเสียงเป็น แปไหร ใช้เรียกแผ่นดินส่วนที่สหราชอาณาจักรเช่าไปจากพระยาไทรบุรี (คือเซอเบอรังเปอไร) และใช้เรียกเมืองตรงข้ามเกาะปีนัง (หรือเกาะหมาก)[2]

ประวัติ แก้

มีผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่เปอไรในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังสหราชอาณาจักรครอบครองพื้นที่ดังกล่าว[5] ช่วงแรกถูกพัฒนาเป็นสวนอ้อยใกล้ ๆ กับเขตนิคม จะเห็นได้ว่าเปอไรในยุคแรกมีระบบเศรษฐกิจอิงเกษตรกรรม[6] ครั้นปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เปอไรพัฒนาขึ้นเป็นเมืองท่าที่ลักษณะเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า[6] โดยเฉพาะหลังการสร้างทางรถไฟเชื่อมกับรัฐเปรักในคริสต์ทศวรรษ 1890[6][7] ซึ่งตรงกับยุคดีบุกรุ่งเรืองในคาบสมุทรมลายูพอดี เปอไรจึงกลายสภาพเป็นเมืองศูนย์กลางในการขนส่งสินค้า ดีบุกที่ขุดได้จากรัฐเปรักจะถูกส่งต่อไปยังเมืองท่าจอร์จทาวน์บนเกาะปีนัง

เปอไรเริ่มมีการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเมื่อ ค.ศ. 1970 โดยปีนังดิเวลเลิปเมนต์คอร์เพอเรเชิน (Penang Development Corporation) ด้วยการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเปอไร และนิคมอุตสาหกรรมเซอเบอรังจายา ซึ่งอยู่ใกล้กัน[8][9] ครั้น ค.ศ. 1974 ท่าเรือปีนังถูกย้ายจากเมืองจอร์จทาวน์ข้ามไปฝั่งเซอเบอรังเปอไร[11] คลังสินค้า และลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ ถูกสร้างขึ้นในเขตเปอไร และบัตเตอร์เวิร์ท ซึ่งส่งเสริมเศรษฐกิจแก่เปอไรเป็นอันมาก[8][10][11]

ภูมิศาสตร์ แก้

เปอไรตั้งอยู่ริมแม่น้ำเปอไรซึ่งลงในสู่ช่องแคบปีนังในมหาสมุทรอินเดีย ทางตอนเหนือติดกับเมืองบัตเตอร์เวิร์ท และทางตะวันออกติดกับเมืองเซอเบอรังจายา ส่วนเขตนิคมอุตสาหกรรมเปอไรตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเกือบทั้งหมด เริ่มตั้งแต่แม่น้ำเปอไรไปจนถึงสะพานปีนัง[12]

ประชากร แก้

ใน โคลงภาพคนต่างภาษา ที่ระบุถึงคนเชื้อชาติต่าง ๆ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุว่าเมืองแปะไหร คือเปอไร มีประชากรเป็นชาวมลายูนับถือศาสนาอิสลามและมีขนบธรรมเนียมเช่นเดียวกับเมืองไทรบุรีและเมืองยะหริ่ง[13] ดังปรากฏความตอนหนึ่ง ความว่า

๏ เข้าสุเหร่าข้อนอกแทบ ถอดใจ
อ่านมุหลุดลำนำ สอดคล้อง
ยะหริ่งแปะไหรไทร มุหงิด ก็ดี
เพลงประพฤติพร้องต้อง อย่างกัน ฯ
กรมหมื่นไกรสรวิชิต[14]

จากการสำรวจสำมะโนครัวประชากร ค.ศ. 2010 จัดทำขึ้นโดยกรมสถิติ ประเทศมาเลเซีย ระบุว่าเปอไรมีประชากร 14,433 คน มีกลุ่มชาติพันธุ์หลักอยู่สามกลุ่ม ได้แก่ ชาวจีน ร้อยละ 36.38 มลายู ร้อยละ 28.07 และอินเดีย ร้อยละ 27.31[1] ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน แต่ชาติพันธุ์หลักแต่ละกลุ่มมีประชากรราวหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งเมือง[1] นอกจากนี้ยังมีภูมิบุตรอื่น (ที่ไม่ใช่ชาวมลายู) ร้อยละ 0.17 และอื่น ๆ อีกร้อยละ 0.55[1]

เนื่องจากเปอไรเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนัก ทำให้ผู้คนนอกพื้นที่หลั่งไหลกันเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเปอไร[15] ใน ค.ศ. 2010 พบว่ามีประชากรต่างด้าวอาศัยในเปอไรมากถึงร้อยละ 7.52 ของประชากร[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "Key Summary Statistics For Local Authority Areas, Malaysia 2010" (PDF). Department of Statistics, Malaysia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 5 February 2015. สืบค้นเมื่อ 19 April 2012.
  2. 2.0 2.1 อุดมสมบัติ (จัน), หลวง. จดหมายหลวงอุดมสมบัติ. พระนคร : ศิวพร. 2505, หน้า 136
  3. 3.0 3.1 "The Founding of Penang". www.sabrizain.org. สืบค้นเมื่อ 2017-05-25.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Bringing life back to the river that Perai is named after". 2017-07-21. สืบค้นเมื่อ 2018-03-22.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "P 01. A brief history of Prai". butterworthguide.com.my (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2018-03-22.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Lees, Lynn Hollen (2017). Planting Empire, Cultivating Subjects. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 9781107038400.
  7. 7.0 7.1 Singapore, National Library Board. "Railway in Singapore | Infopedia". eresources.nlb.gov.sg. สืบค้นเมื่อ 2018-03-17.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Sue-Ching Jou, Hsin-Huang Michael Hsiao, Natacha Aveline-Dubach (2014). Globalization and New Intra-Urban Dynamics in Asian Cities. Taipei: National Taiwan University. ISBN 9789863500216.
  9. 9.0 9.1 "Penang's development still depends on the PDC". Penang Monthly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-22. สืบค้นเมื่อ 2018-03-22.
  10. 10.0 10.1 "General Info". Port of Penang. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-01. สืบค้นเมื่อ 2023-01-28.
  11. 11.0 11.1 Joshua Woo (September 2016). "The Mainland Awakens". Penang Monthly (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-28. สืบค้นเมื่อ 2023-01-28.
  12. "Executive Summary Draft District Local Plan: Central Seberang Perai 2006 – 2020". Seberang Perai Municipal Council.
  13. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน. กรุงเทพฯ : มติชน. 2548, หน้า 197
  14. จารึกวัดพระเชตุพนตอนโคลงภาพฤๅษีดัดตน โคลงภาพคนต่างภาษา และ โคลงด้านการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน. พระนคร : การพิมพ์พาณิชย์. 2507, หน้า 97
  15. "Penang's mainland – Seberang Perai by the numbers". Penang's mainland – Seberang Perai by the numbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-06. สืบค้นเมื่อ 2017-05-02.