เตียวเต๊ก (มีบทบาทในช่วง ค.ศ. 251–253) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จาง เท่อ (จีน: 張特; พินอิน: Zhāng Tè) ชื่อรอง จื๋อฉ่าน (จีน: 子產; พินอิน: Zǐchǎn) เป็นขุนพลของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน มีชื่อเสียงจากการต้านการบุกของง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กในยุทธการที่หับป๋าในปี ค.ศ. 253

เตียวเต๊ก (จาง เท่อ)
張特
เจ้าเมืองอานเฟิง (安豐太守 อานเฟิงไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง / โจมอ
ขุนพลตำแหน่งเบ็ดเตล็ด
(雜號將軍 จ๋าเฮ่าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง / โจมอ
ขุนพลรักษาค่ายใหญ่ (牙門將 หยาเหมินเจี้ยง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครจัวโจว มณฑลเหอเป่ย์
เสียชีวิตไม่ทราบ
อาชีพขุนพล
ชื่อรองจื๋อฉ่าน (子產)

ประวัติ แก้

เตียวเต๊กเป็นชาวเมืองตุ้นก้วน (涿郡 จัวจฺวิ้น) ซึ่งอยู่บริเวณนครจัวโจว มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน[1] เตียวเต๊กเริ่มรับราชการเป็นขุนพลรักษาค่ายใหญ่ (牙門將 หยาเหมินเจี้ยง) ภายใต้การบังคับบัญชาของจูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กผู้ดำรงตำแหน่งเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออก (鎮東將軍 เจิ้นตงเจียงจฺวิน) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 251 ถึง ค.ศ. 252[2] หลังจากบู๊ขิวเขียมรับตำแหน่งขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออกแทนจูกัดเก๊ก บู๊ขิวเขียมได้มอบหมายให้เตียวเต๊กทำหน้าที่รักษาซินเสีย (新城 ซินเฉิง; แปลว่า "เมือง/ป้อมปราการใหม่") ซึ่งเป็นป้อมปราการที่หับป๋า (合肥 เหอเฝย์)[3]

ในปี ค.ศ. 253 จูกัดเก๊กผู้สำเร็จราชการแห่งง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กนำทัพง่อก๊กเข้าโจมตีซินเสียและปิดล้อมป้อมปราการ เตียวเต๊กพร้อมด้วยเยฺว่ ฟาง (樂方) และคนอื่น ๆ นำกำลังพล 3,000 นายขึ้นป้องกันซินเสีย ในช่วงเวลานั้น เตียวเต๊กได้ส่งผู้ใต้บังคับบัญชาชื่อหลิว เจิ่ง (劉整) และเจิ้ง เซี่ยง (鄭像) ให้ตีฝ่าวงล้อมไปขอกำลังเสริม แต่ทหารของจูกัดเก๊กสามารถสกัดกั้นและจับตัวคนทั้งสองไว้ได้[4] เตียวเต๊กจึงพูดปดกับข้าศึกว่า "บัดนี้ข้าไม่คิดต่อสู้อีก แต่ตามกฎหมายของวุย หากข้าถูกโจมตีเป็นเวลามากกว่า 100 วันและกำลังเสริมยังมาไม่ถึง แม้ว่าข้าจะยอมจำนน แต่ครอบครัวของข้าก็ได้รับการละเว้นโทษ นับแต่ข้าเริ่มรบต้านทานก็เป็นเวลาเก้าสิบกว่าวัน ในเมืองเดิมมีคนมากกว่า 4,000 คน บัดนี้มากกว่าครึ่งตายในการรบ เมื่อเมืองล่ม หากใครไม่ต้องการยอมจำนน ข้าจะพูดอธิบายถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้น วันรุ่งขึ้นข้าจะส่งสำมะโนครัว ขอเชิญท่านรับตราประจำตำแหน่งของข้าไปก่อนเพื่อเป็นหลักประกัน"[5] แม้ว่าจูกัดเก๊กยังไม่ได้รับตราประจำตำแหน่งของเตียวเต๊ก แต่จูกัดเก๊กก็เชื่อว่าเตียวเต๊กต้องการยอมจำนนจริง ๆ จึงสั่งให้ทหารหยุดการโจมตี เตียวเต๊กและกำลังพลที่เหลือจึงใช้โอกาสนี้ซ่อมแซมกำแพงและเสริมการป้องกันในชั่วข้ามคืน[6] เช้าวันรุ่งขึ้น เตียวเต๊กบอกกับข้าศึกว่า "เราจะสู้ตาย!" จูกัดเก๊กโกรธมากเมื่อรู้ว่าตนถูกหลอก จึงสั่งทหารให้เข้าโจมตีป้อมปราการอย่างดุเดือด แต่ทหารง่อก๊กเหนื่อยล้าอ่อนกำลังลงหลังการปิดล้อมหลายวัน จึงล้มเหลวในการพังกำแพงซินเสีย จูกัดเก๊กเห็นว่าขวัญกำลังใจของทหารฝ่ายตนตกต่ำ จึงไม่มีทางเลือกอื่นจำต้องถอนทัพกลับง่อก๊ก[7]

ราชสำนักวุยก๊กยกย่องเตียวเต๊กจากความกล้าหาญในการป้องกันซินเสีย จึงแต่งตั้งให้เตียวเต๊กเป็นขุนพลตำแหน่งเบ็ดเตล็ด (雜號將軍 จ๋าเฮ่าเจียงจฺวิน)[a] ภายหลังเตียวเต๊กได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองอานเฟิง (安豐郡 อานเฟิงจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครลู่อาน มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน)[8]

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและยุคสามก๊ก ยศขุนพลสองแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ขุนพลตำแหน่งสำคัญ (重號將軍 จ้งเฮ่าเจียงจฺวิน) และขุนพลตำแหน่งเบ็ดเตล็ด (雜號將軍 จ๋าเฮ่าเจียงจฺวิน) ประเภทแรกประกอบด้วยขุนพลที่มีการแต่งตั้งโดยเช่นเฉพาะ เช่น มหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน), ขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน), ขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออก (鎮東將軍 เจิ้นตงเจียงจฺวิน) และขุนพลทัพหน้า (前將軍 เฉียนเจียงจฺวิน) ประเภทหลังประกอบด้วยขุนพลที่ไม่มีการแต่งตั้งโดยเฉพาะ เช่น ขุนพลรอง (偏將軍 เพียนเจียงจฺวิน), ขุนพลนายพัน (裨將軍 ผีเจียงจฺวิน), ขุนพลปราบอนารยชน (破虜將軍 พั่วหลู่เจียงจฺวิน) และขุนพลโจมตีกบฏ (討逆將軍 เถานี่เจียงจฺวิน) ยศของเตียวเต๊กจัดอยู่ในประเภทหลัง

อ้างอิง แก้

  1. (特字子產,涿郡人) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  2. (先時領牙門,給事鎮東諸葛誕,誕不以為能也,欲遣還護軍。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  3. (會毌丘儉代誕,遂使特屯守合肥新城。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  4. (及諸葛恪圍城,特與將軍樂方等三軍衆合有三千人,吏兵疾病及戰死者過半,而恪起土山急攻,城將陷,不可護。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  5. (特乃謂吳人曰:「今我無心復戰也。然魏法,被攻過百日而救不至者,雖降,家不坐也。自受敵以來,已九十餘日矣。此城中本有四千餘人,而戰死者已過半,城雖陷,尚有半人不欲降,我當還為相語之,條名別善惡,明日早送名,且持我印綬去以為信。」) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  6. (乃投其印綬以與之。吳人聽其辭而不取印綬。不攻。頃之,特還,乃夜徹諸屋材柵,補其缺為二重。」) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  7. (明日,謂吳人曰:「我但有鬬死耳!」吳人大怒,進攻之,不能拔,遂引去。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  8. (朝廷嘉之,加雜號將軍,封列侯,又遷安豐太守。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.

บรรณานุกรม แก้