เจ้าเซ็น หรือ แขกเจ้าเซ็น ในอดีตเรียก แขกใหญ่ หรือ แขกมัวร์[1] หมายถึงมุสลิมนิกายชีอะฮ์ในประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมักหมายถึงชาวมุสลิมเชื้อเปอร์เซีย (หรือเรียกแขกมะหง่นหรือมห่น) เป็นสำคัญ เพราะนับถือนิกายต่างจากมุสลิมกลุ่มอื่นในประเทศ[2] ปัจจุบันแขกเจ้าเซ็นอยู่ในกรุงเทพมหานคร ราวปี พ.ศ. 2548 มีการประมาณการว่ามีแขกเจ้าเซ็นอาศัยอยู่ราว 600-800 คน[3] เดิมแขกเจ้าเซ็นมีอัตลักษณ์การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าลายยาวกรอมข้อเท้า สวมกางเกงขายาว และใช้ผ้าพันศีรษะ ปัจจุบันเหลืออัตลักษณ์เพียงอย่างเดียวคือสวมหมวกฉาก หรือหมวกกลีบเท่านั้น[4]

กุฎีเจริญพาศน์ ศาสนสถานหนึ่งในสี่แห่งของแขกเจ้าเซ็น

ส่วนมุสลิมนิกายซุนนีที่เปลี่ยนมานับถือนิกายชีอะฮ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย แขกเจ้าเซ็นจะเรียกว่า "พี่น้องใหม่" ไม่ถูกนับว่าเป็นแขกเจ้าเซ็น[5]

พิธีกรรม

แก้

ชาวมุสลิมกลุ่มนี้มีพิธีกรรมในไทยเรียก พิธีแห่เจ้าเซ็น หรือ พิธีเต้นเจ้าเซ็น (ในชุมชนชีอะฮ์ในไทยเรียก พิธีมะหะหร่ำ)[6] ไว้อาลัยแก่ฮุซัยน์ อิบน์ อะลี หลานตาของนบีมุฮัมมัดซึ่งถูกสังหารหมู่ที่เมืองกัรบะลาอ์ในวันอาชูรออ์ ตรงกับวันที่ 10 เดือนมุฮัรร็อม (เดิมไทยเรียก มะหะหร่ำ) ของทุกปี[2] ในพิธีจะมีการแห่ตุ้มบุด หรือ โต้ระบัต ซึ่งเป็นเครื่องจำลองคานหามบรรจุศพอิหม่ามฮุซัยน์มาแห่ จัดเผาเครื่องหอมให้อบอวล (เรียกว่า ระบั่น) มีการเล่าลำดับเหตุการณ์ (เรียกว่า โร่หย่า หรือริว่าหยัต) ขับโศลกพิลาปรำพันเป็นภาษาเปอร์เซีย (เรียกว่า มะระเสี่ย) มีการตีอกชกตัว (เรียกว่า มะต่ำ) ด้านหน้าที่ฝังศพอิหม่ามฮุซัยน์จำลอง (เรียกว่า แผงกะหนาต) นุ่งผ้าสีดำและสวมผ้าสีขาวแทนผ้าห่อศพ (เรียกว่า กัฟฟาหนี่)[7] รับประทานอาหารเปเรส ผู้ชายโกนศีรษะไว้ทุกข์[8] มีคนการเดินลุยไฟเรียกว่าบ้ายี่หนู่[9][10] และมีการควั่นหัวเพื่อแสดงความศรัทธา[11][12] ในพิธีการกล่าวคำว่า ยา ฮุซัยน์ (يَا حُسَيْن) เป็น ยา ฮุเซน ในภาษาเปอร์เซีย จึงถูกเรียกว่าแขกเจ้าเซ็น[13] ดังปรากฏใน "บทเห่เจ้าเซ็น" พระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ความว่า[2]

โคลง
ดลเดือนมหะหร่ำเจ้า เซ็นปี ใหม่แม่
มะหงุ่นประปรานทวี เทวษไห้
ห่อนเห็นมิ่งมารศรี เสมอชีพ มานา
เรียมลูบอกไล้ไล้ คู่ข้อน ทรวงเซ็น ฯ
กาพย์
ดลเดือนเรียกมหะหร่ำ ขึ้นสองค่ำแขกตั้งการ
เจ้าเซ็นสิบวันวาร ประหารอกฟกฟูมนัยน์
มหะหร่ำเรียมคอยเคร่า ไม่เห็นเจ้าเศร้าเสียใจ
ลูบอกโอ้อาลัย ลาลดล้ำ กำศรวลเซ็น

นอกจากพิธีเจ้าเซ็นแล้ว ยังมีพิธีกรรมที่แตกต่างไปจากมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ เช่น อาบน้ำอาคะหรี่ วันซุบบะหราต วันอีดเฆาะดีรข่ม วันวิลาดัต วันวะฝาต และวันชะฮาดัต เป็นต้น[14]

ศาสนสถาน

แก้

แขกเจ้าเซ็นมีศาสนสถาน ไม่เรียกว่า มัสยิดหรือสุเหร่า หากแต่เรียกว่า กุฎีหรือกะดี จุฬิศพงศ์ จุฬารัตนอธิบายว่า "กะดี" มาจากคำว่า "กะดีร์คุม" ในภาษาอาหรับ-เปอร์เซีย แปลว่า "ตำบลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างนครมักกะฮ์กับมะดีนะฮ์"[15] บ้างว่าเป็นคำมลายูที่ยืมจากเปอร์เซียอีกทีว่า "กะเต" แปลว่า "พระแท่นที่ประทับ"[16] ศาสนิกชนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานในแถบฝั่งธนบุรี[17] ปัจจุบันมีกุฎีเจ้าเซ็นทั้งหมดสี่แห่ง ดังนี้

ชื่อไทย ชื่ออื่น ที่ตั้ง
1. มัสยิดกุฎีหลวง กุฎีบน, กุฎีเจ้าเซ็น แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
2. กุฎีเจริญพาศน์ กุฎีกลาง, กุฎีล่าง แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
3. มัสยิดดิลฟัลลาห์ กุฎีนอก, กุฎีปลายนา แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
4. มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. พิทยะ ศรีวัฒนสาร (10 มกราคม 2554). "แขกเทศ : ชาวโปรตุเกส หรือ แขกมุสลิม?". สยาม-โปรตุเกสศึกษา. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย, หน้า 1-3
  3. ชาติพันธุ์สัมพันธ์ : แนวคิดพื้นฐานทางมานุษยวิทยาในการศึกษาอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ ประชาชาติ และการจัดองค์กรความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์, หน้า 120
  4. พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย, หน้า 81-85
  5. พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย, หน้า 214
  6. พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย, หน้า 22
  7. "ระลึกวันอาชูรอ พิธีแห่เจ้าเซ็นกุฎีเจริญพาศน์". ไทยพีบีเอส. 8 พฤศจิกายน 2557. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  8. "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 103
  9. เสาวนีย์ จิตต์หมวด, รศ. (6 สิงหาคม 2548). "มุสลิมในธนบุรี". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. สุดารา สุจฉายา (18 ตุลาคม 2562). "บ้ายี่หนู่ผู้ภักดี". เมืองโบราณ. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 116
  12. วราห์ โรจนวิภาต. "สะพานเจริญพาศน์กับหลุมหลบภัย". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 106
  14. พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย, หน้า 80
  15. พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย, หน้า 46
  16. พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย, หน้า 48
  17. "ชุมชนมุสลิมชีอะห์ ชุมชนแห่ง 'สามกะดี-สี่สุเหร่า'". วอยซ์ทีวี. 24 พฤษภาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานุกรม