เจ้าหญิงมูนา อัลฮุซัยน์

เจ้าหญิงมูนา อัลฮุซัยน์ (อาหรับ: منى الحسين; ประสูติ 25 เมษายน พ.ศ. 2484) เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 แห่งจอร์แดน เป็นอดีตพระราชชายาพระองค์ที่สองในสมเด็จพระราชาธิบดีฮุซัยน์ เป็นชาวสหราชอาณาจักรโดยพระชาติกำเนิด และทรงเปลี่ยนพระนามเป็น มูนา อัลฮุซัยน์ เมื่อทรงเข้าพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ต่อมาทรงหย่าเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2515

เจ้าหญิงมูนา อัลฮุซัยน์
เจ้าหญิงมูนาในปี พ.ศ. 2507
เจ้าหญิงพระวรราชชายาแห่งจอร์แดน
ดำรงพระอิสริยยศ25 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 - 21 ธันวาคม 2515
(11 ปี 210 วัน)
เจ้าหญิงพระราชชนนี แห่ง จอร์แดน
ดำรงพระอิสริยยศ7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
(25 ปี 71 วัน)
ประสูติ25 เมษายน พ.ศ. 2484 (82 ปี)
เชลมอนดิสตัน ซัฟฟอล์ก ประเทศสหราชอาณาจักร
แอนทัวเนตต์ เอวริล การ์ดิเนอร์
พระสวามีสมเด็จพระราชาธิบดีฮุซัยน์ (2504–2515)
พระบุตรสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2
เจ้าชายฟัยศ็อล บินฮุซัยน์
เจ้าหญิงอะอิชะฮ์ บินต์ฮุซัยน์
เจ้าหญิงซัยน์ บินต์ฮุซัยน์
พระนามเต็ม
มูนา อัลฮุซัยน์
ราชวงศ์ฮัชไมต์ (อภิเษกสมรส)
พระบิดาวอลเตอร์ เพอร์ซี การ์ดิเนอร์
พระมารดาดอริส อีลิซาเบท ซัตตัน
ศาสนาอิสลาม

พระประวัติ แก้

เจ้าหญิงมูนามีพระนามเดิมว่า แอนทัวเนตต์ "โทนี" แอวริล การ์ดิเนอร์ เป็นธิดาของวอลเตอร์ เพอร์ซี การ์ดิเนอร์ (Walter Percy Gardiner) กับดอริส อลิซาเบธ ซัตตัน (Doris Elizabeth Sutton) พระชนกเป็นนายทหารระดับสูงของสหราชอาณาจักรประจำการอยู่ลองมาร์สตัน (Long Marston) ในมณฑลวอริกเชอร์ (Warwickshire) ช่วงปี ค.ศ. 1960[1] พระองค์เข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนบอร์น (Bourne School) กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้รับการดูแลจากกองบริการการศึกษาของครอบครัวชาวสหราชอาณาจักร (British Families Education Service) ที่จะดูแลการศึกษาของบุตรหลานชาวสหราชอาณาจักรในโพ้นทะเล ภายหลังเมื่อสหราชอาณาจักรถอนตัวจากมลายา โรงเรียนก็ปิดตัวลง[ต้องการอ้างอิง]

อภิเษกสมรส แก้

เจ้าหญิงมูนามีพระปฏิสันถารกับสมเด็จพระราชาธิบดีฮุซัยน์แห่งจอร์แดนครั้งแรกเมื่อคราวที่พระองค์ทรงงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการของกองภาพยนตร์เรื่อง ลอเรนซ์แห่งอาราเบีย ที่สมเด็จพระราชาธิบดีฮุซัยน์ทรงอนุญาตให้ใช้กองกำลังทหารส่วนพระองค์มาร่วมแสดง และบางครั้งพระองค์ก็เสด็จเยี่ยมเพื่อทอดพระเนตรความคืบหน้าในการผลิตภาพยนตร์นี้ บางแห่งก็ว่าสมเด็จพระราชาธิบดีฮุซัยน์พบกับพระองค์เมื่อคราที่วอลเตอร์ พระชนกมาเป็นที่ปรึกษาด้านการทหารในจอร์แดน[1]

ทั้งสองได้ทำการอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 ณ อัมมาน ประเทศจอร์แดน ทั้งนี้พระองค์ได้เข้ารีตศาสนาอิสลามตามรัฐธรรมนูญจอร์แดนว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ที่องค์รัชทายาทต้องมีพระชนกและพระชนนีเป็นมุสลิมทั้งสองฝ่าย[2] และทรงใช้พระนามว่า "มูนา" (อาหรับ: منى) พระองค์ประสูติการพระราชโอรส-ธิดา 4 พระองค์ได้แก่

  1. สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 แห่งจอร์แดน (30 มกราคม พ.ศ. 2505)
  2. เจ้าชายฟัยศ็อล บินฮุซัยน์ (11 ตุลาคม พ.ศ. 2506)
  3. เจ้าหญิงอะอิชะฮ์ บินต์ฮุซัยน์ (23 เมษายน พ.ศ. 2511)
  4. เจ้าหญิงซัยน์ บินต์ฮุซัยน์ (23 เมษายน พ.ศ. 2511)

แต่ต่อมาสมเด็จพระราชาธิบดีฮุซัยน์ทรงหย่ากับพระองค์เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น เจ้าหญิงมูนาแห่งจอร์แดน และยังคงประทับอยู่ในประเทศจอร์แดนเพื่อปฏิบัติพระกรณียกิจ[ต้องการอ้างอิง]

พระกรณียกิจ แก้

เจ้าหญิงมูนาทรงให้การอุปถัมภ์ดูแลกิจการพยาบาลจอร์แดน ทรงจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาพยาบาลในพระอุปถัมภ์เจ้าหญิงมูนา (Princess Muna Scholarship Fund for Nursing)[3] และในปีพ.ศ. 2505 ทรงก่อตั้งวิทยาลัยการพยาบาลเจ้าหญิงมูนา (Princess Muna College of Nursing) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยการพยาบาลและวิชาชีพสุขภาพเจ้าหญิงมูนา (Princess Muna College of Nursing and Allied Health Professions)[4]

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Ewing, Richard (5 February 1999). "Prince's secretary mum who married a king". Coventy Evening Telegraph. สืบค้นเมื่อ 29 June 2013.
  2. Chapter VI Part I, Article 28th of The Jordanian Constitution
  3. Princess Muna Scholarship Fund for Nursing เก็บถาวร 2009-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Kafd.jo. Retrieved on 28 July 2015.
  4. "Princess Muna College". jrms.gov.jo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-22. สืบค้นเมื่อ 2017-05-08.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้