เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล)

พันเอก เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) (ป. 2382 – 19 กุมภาพันธ์ 2454)[1] เป็นขุนนางชาวไทย ผู้บัญชาการกรมพระสุรัสวดี

เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล)
เกิดป. 2382
เสียชีวิต19 กุมภาพันธ์ 2454
ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมพระสุรัสวดี

ประวัติ แก้

เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต เกิดเมื่อราวปี 2382 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรชายของนายน้อย มหาดเล็กข้าหลวงเดิมในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระอัยกา (ตา) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ หม่อมเจียก หม่อมห้ามชั้นเล็กในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ที่ได้ประทานมา น้องสาวของพระเทเวศร์วัชรินทร์ (ฉิม) เจ้ากรมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ บุตรชายของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) และเป็นพ่อตาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ปู่ชื่อ หลวงรักษาพล (กลิ่น) บุตรชายของ พระพิเดชสงคราม (กลั่น) เจ้ากรมล้อมพระราชวังหลวง ย่าชื่อ ปราง ข้าหลวงเดิมในสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บุตรสาวของนายน่วมเศรษฐีเมืองนนทบุรี ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบรรดาศักดิ์ฝ่ายในเป็น ท้าวยศมณเฑียร อธิบดีกรมโรงวิเศษนอก และเป็นพระนมของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์[2] มีพี่ชายร่วมบิดามารดาคนหนึ่งชื่อ ฟัก นอกจากนี้ยังมีน้องต่างมารดาอีก 5 คน

เริ่มเรียนอักขระภาษาไทยในสำนักของ สมภารอ่อน เจ้าอาวาสวัดบางม่วงจากนั้นจึงบวชเป็นสามเณรและย้ายมาพำนักอยู่กับ พระครูศิลปสังวร (สอน) ผู้มีศักดิ์เป็นปู่เพราะเป็นพี่ชายแท้ ๆ ของท้าวยศมณเฑียรที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เพื่อเรียนอักขระภาษาขอม จากนั้นจึงลาสิกขาบทและย้ายไปอาศัยอยู่กับ ท้าวยศมณเฑียรผู้เป็นย่า

เจ้าพระยานรรัตนราชมานิตถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2454 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานในงานพระราชทานเพลิงศพพร้อมกับศพของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก บุณยรัตพันธุ์) ที่เมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2455 เวลา 17.00 น.[3]

รับราชการ แก้

ท่านเริ่มต้นรับราชการกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เป็นนายหมวดได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดหลวง 1 ตำลึงครึ่ง (6 บาท) นอกจากนี้ยังได้รับประทานเบี้ยหวัดฝ่ายในปีละ 3 ตำลึง (12 บาท) รวมเป็นเงิน 4 ตำลึงครึ่ง (18 บาท) จากนั้นจึงได้กราบถวายบังคมลาอุปสมบท ณ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร มีพระเบญจะวรรณ วัดนาคกลาง ผู้เป็นน้าแท้ ๆ เพราะเป็นน้องชายคนเล็กของหม่อมเจียก เป็นพระอนุศาสนาจารย์ บวชได้ 1 พรรษาก็ลาสิกขาราวปี 2404 สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุเพียง 29 พรรษา พระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวงเจียม เทพหัสดิน ณ อยุธยา) บิดาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่อครั้งยังเป็นพระพี่เลี้ยงในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ได้นำท่านไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในตำแหน่งมหาดเล็กรายงาน ดูแลเลี้ยงสัตว์ 4 เท้าและ 2 เท้าในพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง

ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 ได้ทรงกรมได้โปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นปลัดเวรมหาดเล็ก รับพระราชทานเงินเบี้ยหวัดหลวงปีละ 2 ตำลึง (8 บาท) ส่วนในกรมรับพระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่มเติมปีละ 5 ตำลึง (20 บาท) รวมเป็นปีละ 7 ตำลึง (28 บาท) จากนั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์ได้พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ให้ท่านเป็น นายพินัยราชกิจ มหาดเล็กหุ้มแพร เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 6 แรม 11 ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช 1231 (2412)[4] ต่อมาในวันจันทร์ เดือน 11 ขึ้น 13 ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช 1231 (2412) ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งเป็น นายจ่าเรศ กรมมหาดเล็ก นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นมหาดเล็กรายงาน กำกับราชการกรมพระสุรัสวดี และกำกับสักข้อมือพลเมือง ในปีเดียวกัน ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนให้ท่านเป็น เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี หัวหมื่นมหาดเล็ก เมื่อวันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช 1231

พร้อมกับพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศคือ สองปักปูมเชิงชายกลางเป็นดอกพิกุลพก 1 ผ้ากราบแพรขาวพับ 4 ขนบ 1 โต๊ะหมากทองคำ 1 กาน้ำเย็นทองคำ 1 และ หีบหมากทองคำจำหลักลายกุดั่นสรรพางค์ 1 จากนั้นท่านได้รับสนองพระเดชพระคุณในหลายตำแหน่งรวมถึงการฝึกพลทหารกองดับเพลิง บังคับบัญชากรมพิณพาทย์หลวง กำกับตรวจตรากรมหมอยาต้น ต่อมาในปีมะเมีย โทศก จุลศักราช 1232 (2413) ท่านได้เป็นผู้อำนวยการในการสร้างตึกแถว 2 ชั้นริมถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่เชิงสะพานช้างโรงสี จนถึงประตูสำราญราษฎร์ (ประตูผี) และถนนเฟื่องนคร ตั้งแต่หน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารถึงสี่กั๊กเสาชิงช้า โดยถอดแบบมาจากตึกแถว 2 ชั้นริมถนนในสิงคโปร์

ต่อมาในปีชวด อัฐศก จุลศักราช 1238 (2419) ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น อธิบดีกรมทหารหน้าตำแหน่งนายพลเอก ผู้บัญชาการกรมทหารหน้า กรมทหารราชองครักษ์รักษาพระองค์ ถึงปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช 1240 (2421) โปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่กองคุมการก่อสร้างพระตำหนักและตำหนักในเขตพระราชฐานชั้นใน ต่อมาได้เป็นผู้ช่วยราชการฝ่ายในช่วย ท้าวศรีสัจจา (กลิ่น) ในการจัดการปูอิฐทำถนน จัดตั้งกรมกองตระเวนผู้หญิง ได้เป็นตุลาการศาลรับสั่งพิเศษ ชำระความฝ่ายใน จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นตุลาการพิพากษาชำระความฝ่ายในเสมอจนกระทั่งท่านเริ่มทุพพลภาพ ต่อมาท่านได้เป็น ผู้ดูแลพระราชอุทยานสราญรมย์ ท่านจึงได้จัดตั้ง พลทหารรักษาพระราชอุทยานสราญรมย์ รวมถึงกองทหารดับเพลิง โดยมีโรงทำการดับเพลิงตั้งอยู่ริมพระราชอุทยาน

ในวันพุธ เดือน 11 แรม 8 ค่ำ ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช 1241 ตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม 2422 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ได้พระราชทานสัญญาบัตรให้ท่านเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยานรรัตนราชมานิต จางวางกรมมหาดเล็กถือศักดินา 3000 พระราชทานเครื่องราชอิสริยยศได้แก่ พานทองกลมมีเครื่องพร้อม ๑ คนโททอง ๑ กระโถนทอง ๑[5] ต่อมาในปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช 1244 (2427) โปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นนายงานบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อเสร็จสิ้นเรียบร้อยท่านก็ได้รับพระราชทานเหรียญทองคำ 1 เหรียญ จากนั้นในปีมะแม เบญจศก จุลศักราช 1245 (2426) ท่านได้เป็นอธิบดีกรมโรงกษาปณ์สิทธิการ ผู้บัญชาการโรงสูบน้ำที่ท่าราชวรดิฐ

ในปี 2435 ท่านได้บริจาคเงินจำนวน 2916 บาท 32 อัฐสำหรับการสร้างกำแพงและประตูด้านหลังให้กับโรงเลี้ยงเด็กของพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์[6] กระทั่งปลายปี 2438 ท่านจึงได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยามีสมญาตามที่จารึกในหิรัญบัตรว่า เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต สุขุมกิจโกศล เมติกมลมธุรพจน์ วิบุลยยศศุภสวัสดิ์ สุจริตาภิรัตวราชวามาตย์ บรมนารถบาทยุคลสวามิภักดิ์สนิท วิสิฐศรีรัตนธาดา อภัยพิริยปรากรมพาหุ นาคนาม ดำรงศักดินา 10,000[7]

อนุสรณ์ แก้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสะพานย่านบางลำพูว่า "สะพานนรรัตน์สถาน” เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล)[8]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ แก้

เครื่องยศ แก้

  • หีบทองคำลงยาตราจุลมงกุฎ
  • ซองบุหรี่ทองคำ
  • ธำมรงค์มณฑบประดับเพชร

อ้างอิง แก้

  1. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์ (หน้า 130-133)
  2. ประวัติเจ้าพะญานรรัตนราชมานิต (โต)
  3. เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ที่เมรุวัดเทพศิรินทราวาส
  4. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5
  5. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน วันที่ 3984
  6. แจ้งความโรงเลี้ยงเด็ก
  7. พระบรมราชโองการ ประกาศการสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ พระวรวงศ์เธอ เป็นต่างกรม และสถาปนาหม่อมเจ้าเป็นพระองค์เจ้า และเลื่อนตำแหน่งยศข้าราชการผู้ใหญ่เป็นเจ้าพระยา
  8. เจนจิรา สีหราช. "เรื่อง สะพานนรรัตน์สถาน : จุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างสองฟากฝั่งคลองบางลำพู" (PDF). พิพิธบางลำพู.
  9. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  10. เครื่องยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระราชทาน
  11. พระราชทานเหรียญราชินี