สยามสปอร์ตซินดิเคท
เนื้อหาในบทความนี้ล้าสมัย โปรดปรับปรุงข้อมูลให้เป็นไปตามเหตุการณ์ปัจจุบันหรือล่าสุด ดูหน้าอภิปรายประกอบ |
บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: Siam Sport Syndicate Public Company Limited; ชื่อเดิม: ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามสปอร์ต พับลิชชิง และ บริษัท สยามสปอร์ต พรินติง จำกัด) เป็นผู้ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ประเภทกีฬาและสันทนาการหลายชนิดคือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่อประสม (Multimedia) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2516 โดยระวิ โหลทอง อดีตหัวหน้าข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เริ่มจัดพิมพ์นิตยสารกีฬาสยามขึ้นเป็นฉบับแรก และมีนิตยสารสตาร์ซอคเก้อร์รายสัปดาห์ กับหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่บริษัทฯ ปัจจุบันมีวิลักษณ์ โหลทอง บุตรชายของระวิ เป็นประธานกรรมการ
ประเภท | สื่อและสิ่งพิมพ์ |
---|---|
อุตสาหกรรม | สื่อมวลชนเกี่ยวกับกีฬาและบันเทิง |
รูปแบบ | สื่อสารมวลชน |
ก่อนหน้า | หจก.สยามสปอร์ตพับลิชชิง (2516-2525) บจก.สยามสปอร์ตพรินติง (2525-2533) |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2516 |
ผู้ก่อตั้ง | ระวิ โหลทอง ประธานที่ปรึกษา |
สำนักงานใหญ่ | เลขที่ 66/26-29 ถนนรามอินทรา ซอย 40 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร |
พื้นที่ให้บริการ | ประเทศไทย |
บุคลากรหลัก | วิลักษณ์ โหลทอง ประธานกรรมการ พงษ์ศักดิ์ ผลอนันต์ ประธานกรรมการบริหาร อดิศัย วารินทร์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ |
ผลิตภัณฑ์ | หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่อประสม |
บริษัทในเครือ | ดูที่ บริษัทในเครือสยามสปอร์ต |
เว็บไซต์ | www www |
ประวัติ
แก้เมื่อปี พ.ศ. 2516 ระวิ โหลทอง ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จากนั้นได้ขอจดทะเบียนก่อตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามสปอร์ต พับลิชชิง (อังกฤษ: Siam Sport Publishing Partnerships Limited) ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 500,000 บาท เพื่อดำเนินธุรกิจจัดพิมพ์นิตยสารกีฬา และรับจ้างผลิตงานพิมพ์ทั่วไป ปัจจุบัน หจก.สยามสปอร์ตพับลิชชิง แม้ยังเปิดทำการอยู่ แต่ก็มิได้ประกอบกิจการใดอีก
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2525 นายระวิ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนดำเนินกิจการ บริษัท สยามสปอร์ตพรินติง จำกัด (อังกฤษ: Siam Sport Printing Company Limited) เพื่อรับโอนกิจการเดิมของ หจก.สยามสปอร์ตพับลิชชิง ที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ บจก.สยามสปอร์ตพรินติง ยังรับจ้างผลิตงานพิมพ์ทุกประเภท เช่น โปสเตอร์, แผ่นพับ, แบบฟอร์มต่าง ๆ ตลอดจนหนังสือของสำนักพิมพ์อื่นด้วย
ปี พ.ศ. 2533 ถือเป็นปีที่เครือสยามสปอร์ตมีพัฒนาการมากที่สุดปีหนึ่ง โดยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นายระวิ ยื่นขอจดทะเบียน บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ โดยรับโอนกิจการและทรัพย์สินทั้งหมด ของ บจก.สยามสปอร์ตพรินติง ซึ่งประกอบด้วยเครื่องพิมพ์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งใบอนุญาตออกหนังสือ มาดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จากนั้นในเดือนสิงหาคม บจก.สยามสปอร์ตซินดิเคท เข้าซื้อที่ดินจำนวน 5.5 ไร่ บริเวณถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 5 เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ และโกดังเก็บสินค้า ในอนาคต
ทั้งนี้ บจก.สยามสปอร์ตซินดิเคท มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรกที่ 5,000,000 บาท ต่อมา ราวเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2533 บจก.สยามสปอร์ตซินดิเคท ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50,000,000 บาท เพื่อขยายกำลังการผลิต ในส่วนเครื่องจักร และในช่วงใกล้เคียงกันนี้ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าถือหุ้นร่วม ในสัดส่วนร้อยละ 8 ด้วย ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2537 บจก.สยามสปอร์ตซินดิเคท เริ่มดำเนินธุรกิจนำเข้าสินค้าที่ระลึกจากสโมสรฟุตบอลในประเทศอังกฤษ เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นการเปิดร้านสตาร์ซอคเก้อร์ เพื่อจำหน่ายสินค้าเหล่านี้โดยเฉพาะด้วย
จากนั้น ช่วงเดือนมกราคม - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 เครือสยามสปอร์ตปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ โดยนำ บจก.สยามสปอร์ตซินดิเคท เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้ชื่อใหม่ว่า บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) โดยให้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกีฬาและสันทนาการเท่านั้น และแยกธุรกิจอื่น ๆ ออกไปเป็นบริษัทลูก เพื่อแบ่งแยกกิจการอย่างชัดเจน เช่น ธุรกิจรับจ้างผลิตงานพิมพ์ทั้งภายในและภายนอกเครือ ใช้ชื่อบริษัทว่า บริษัท กิเลนการพิมพ์ จำกัด (เปลี่ยนชื่อมาจาก บจก.สยามสปอร์ตพรินติง) ซึ่งนายระวิ เป็นผู้ถือหุ้น ในสัดส่วนร้อยละ 45 ของทุนจดทะเบียน, ธุรกิจนำเข้าเพื่อค้าปลีกสินค้าที่ระลึกเกี่ยวกับกีฬาจากต่างประเทศ มี บริษัท วรรคสร โปรโมชั่น จำกัด ดำเนินกิจการ, ถือลิขสิทธิ์รายการกีฬา เพื่อบันทึกลงสื่อต่าง ๆ เพื่อจัดจำหน่าย โดย บริษัท สปอร์ตส แอนด์ เลเซอร์ โปรโมชั่น จำกัด เป็นต้น
บริษัทในเครือสยามสปอร์ต
แก้บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เป็นกลุ่มธุรกิจกีฬาและสันทนาการ มีกิจการหลักคือผลิตและจำหน่ายสิ่งพิมพ์ประเภทกีฬา ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารมากกว่า 10 ฉบับ รวมถึงเว็บไซต์สยามสปอร์ต นอกจากนั้นยังเป็นบริษัทแม่ของธุรกิจประเภทบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัด อันประกอบด้วย ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามสปอร์ต พับลิชชิง ซึ่งมิได้ดำเนินธุรกิจใด ๆ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2525, บริษัท สยาม อินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม: บริษัท สยาม อินเตอร์ คอมิกส์ จำกัด) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายหนังสือประเภทต่าง ๆ, ผลิตรายการวิทยุ (สปอร์ตเรดิโอ) และรายการโทรทัศน์ (เอสเอ็มเอ็มทีวี) ประเภทกีฬาตลอด 24 ชั่วโมง, เครือข่ายร้านค้าปลีกและค้าส่งหนังสือ, รับจ้างผลิตสิ่งพิมพ์ทุกประเภท เป็นต้น (เว็บไซต์)
บริษัท สยาม ปรินต์ จำกัด (ชื่อเดิม: บริษัท สยามสปอร์ต ปรินติง จำกัด และ บริษัท กิเลนการพิมพ์ จำกัด) ดำเนินธุรกิจโรงพิมพ์และผลิตสิ่งพิมพ์ครบวงจร (เว็บไซต์) เก็บถาวร 2010-09-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, บริษัท สยามสปอร์ต เทเลวิชัน จำกัด (ชื่อเดิม: บริษัท สปอร์ตส แอนด์ เลเซอร์ โปรโมชัน จำกัด) ดำเนินธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ (สยามกีฬาทีวี, สตาร์ซอคเก้อร์ทีวี และ ฟุตบอลสยามทีวี) ประเภทกีฬาตลอด 24 ชั่วโมง (เว็บไซต์) เก็บถาวร 2018-09-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, นำเสนอข่าวจาก (ข่าวกีฬา), เก็บถาวร 2018-09-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, บริษัท สยามสปอร์ต บุ๊กส์ จำกัด (ชื่อเดิม: บริษัท ก.สัมพันธ์ บุ๊กส์ จำกัด) ดำเนินธุรกิจการจัดจำหน่ายนิตยสารและหนังสือพกพา (Pocket Book) ประเภทต่าง ๆ (เว็บไซต์) เก็บถาวร 2012-09-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
บริษัท สยามสปอร์ต ออแกไนเซอร์ จำกัด (ชื่อเดิม: บริษัท สปอร์ตส 2002 จำกัด และ บริษัท สยามสปอร์ต มีเดีย แมเนจเมนท์ จำกัด) ดำเนินธุรกิจรับจัดการแข่งขันกีฬาทุกประเภท บริหารงานและจัดหาโฆษณาให้แก่สื่อในเครือสยามสปอร์ต, บริษัท อินสไพร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ดำเนินธุรกิจสิ่งพิมพ์ ผู้รับจัดงานประกวด และผลิตรายการโทรทัศน์ ประเภทบันเทิง (เว็บไซต์) เก็บถาวร 2008-12-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, บริษัท สยามดารา จำกัด ดำเนินธุรกิจหนังสือพิมพ์และนิตยสารประเภทบันเทิง (เว็บไซต์) และ บริษัท ไอ-สปอร์ต จำกัด ดำเนินธุรกิจบริการข้อมูลข่าวสาร ประเภทกีฬาบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วน บริษัท วรรคสร โปรโมชัน จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าประเภทกีฬานั้น บมจ.สยามสปอร์ตซินดิเคท จำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมด ไปตั้งแต่ พ.ศ. 2542
สิ่งพิมพ์ในเครือสยามสปอร์ต
แก้- สยามกีฬารายวัน (2528-31 สิงหาคม พ.ศ.2566, 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน)
- สตาร์ซอคเก้อร์รายวัน (2535-2566)
- มวยสยามรายวัน (2536-ปัจจุบัน)
- สปอร์ตพูลรายวัน (2538-ปัจจุบัน)
- เจาะเกมส์รายสามวัน (ไม่ทราบ-ปัจจุบัน)
- สยามบันเทิง (2539-ปัจจุบัน)
- สปอร์ตแมนรายวัน (2544-ปัจจุบัน)
- สยามดารา (2548-ปัจจุบัน)
- ตลาดลูกหนังรายวัน (2550-ปัจจุบัน)
- มองอย่างเซียนรายสามวัน (2550-2550)
- ฟุตบอลสยามรายวัน (2560-ปัจจุบัน)
- มวยเด็ดมวยสยาม (2562-ปัจจุบัน)
|
|
คอลัมนิสต์ที่มีชื่อเสียง
แก้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ย่อมจะต้องมีคอลัมนิสต์ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่จะสะท้อนความคิดเห็นของตน ถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานั้น ผ่านเนื้อที่ในหน้ากระดาษของตน ที่เรียกว่า คอลัมน์ เมื่อสยามกีฬารายวัน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กีฬาฉบับแรกของไทย ถือกำเนิดขึ้นบนบรรณพิภพ บรรดาคอลัมนิสต์ในฉบับ จึงเป็นสื่อมวลชนผู้คร่ำหวอดในวงการกีฬา ระดับที่เรียกได้ว่าเชี่ยวชาญทั้งสิ้น และเหล่านี้เป็นรายนามของคอลัมนิสต์ผู้สร้างชื่อเสียงมาจากสิ่งพิมพ์ในเครือสยามสปอร์ต
- ระวิ โหลทอง (นามปากกา: ป๊อก ซึ่งเป็นชื่อเล่นของวิลักษณ์ โหลทอง บุตรชายคนโต) เคยใช้นามปากกาดังกล่าว ตอบจดหมายผู้อ่าน ในคอลัมน์ คัมภีร์ฟุตบอล ในนิตยสารสตาร์ซอคเก้อร์รายสัปดาห์ ก่อนที่ ย.โย่ง จะเข้ามารับหน้าที่นี้แทน จนชื่อคอลัมน์กลายเป็นฉายาของ ย.โย่ง ไปในที่สุด
- เอกชัย นพจินดา (นามปากกา: ย.โย่ง) ต่อมาเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬา และผู้บรรยายการแข่งขันฟุตบอล ทางช่อง 7 สี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
- ยอดชาย ขันธะชวนะ (นามปากกา: ยอดทอง) ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์สยามดารา และยังคงเขียนคอลัมน์ Don't worry, Be happy ในสตาร์ซอคเก้อร์รายวัน
- พิศณุ นิลกลัด (นามปากกา: เตยหอม) อดีตเป็นผู้ประกาศข่าวและพิธีกรข่าว ทางช่อง 7 สี ปัจจุบันเป็น ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรรายการทางไทยทีวีสีช่อง 3
- สาธิต กรีกุล (นามปากกา: บิ๊กจ๊ะ) ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ นานาทรรศนะกับบิ๊กจ๊ะ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสตาร์ซอคเก้อร์รายวันมาตั้งแต่เริ่มต้น, เป็นผู้ประกาศข่าวกีฬา และผู้บรรยายการแข่งขันฟุตบอล ทางไทยทีวีสีช่อง 3, ผู้บรรยายการแข่งขันฟุตบอล ทางทรูวิชั่นส์, ผู้ดำเนินรายการกีฬาทางโทรทัศน์และวิทยุ และพิธีกรในงานแถลงข่าวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกีฬา
- เอกราช เก่งทุกทาง (นามปากกา: ขุนไข่) ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ และผู้บรรยายการแข่งขันฟุตบอล ทางไทยทีวีสีช่อง 3
- พลอากาศโท ดร. นิกร ชำนาญกุล (นามปากกา: ก.ป้อหล่วน) ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ เกาะติดบุนเดิสลีกา ในสตาร์ซอคเก้อร์รายวัน และเป็นผู้บรรยายการแข่งขันฟุตบอลเยอรมันทางโทรทัศน์
- นพนันท์ ศรีศร (นามปากกา: นพนันท์) ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ กัลโช่มาเนีย ในสตาร์ซอคเก้อร์รายวัน, เป็นผู้บรรยายกีฬาทางทรูวิชั่นส์ และผู้ดำเนินรายการกีฬาทางโทรทัศน์และวิทยุ
- อิสรพงษ์ ผลมั่ง (นามปากกา: ต.โต้ง) ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ คุยคั่นเวลา ภาษา ต.โต้ง ในสตาร์ซอคเก้อร์รายวัน, เป็นผู้บรรยายกีฬาทางทรูวิชั่นส์ และผู้ดำเนินรายการกีฬาทางโทรทัศน์และวิทยุ
- สุริยะ กุลธำรง (นามปากกา: ป๋ายาว) ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ฟุตบอลอิตาลี และเป็นผู้บรรยายการแข่งขันฟุตบอลกัลโช่ เซเรีย อา ฟุตบอลไทย และ แบดมินตัน ทางทรูวิชั่นส์
- สมศักดิ์ สงวนทรัพย์ (นามปากกา: คุณฉุย) ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ มองอย่างเซียน ในสตาร์ซอคเก้อร์รายวัน, เป็นผู้บรรยายการแข่งขันฟุตบอลทางไทยทีวีสีช่อง 3 และทรูวิชั่นส์
- วีรศักดิ์ นิลกลัด (นามปากกา: แอ๊ดดี้) อดีดผู้ประกาศข่าวกีฬา และผู้บรรยายกีฬาทางช่อง 7hd ปัจจุบันเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬา และผู้บรรยายกีฬาทางพีพีทีวี และทรูวิชั่นส์
- อดิสรณ์ พึ่งยา (นามปากกา: JACKIE) ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ สนทนาภาษาลูกหนัง#14 ในสตาร์ซอคเก้อร์รายวัน, เป็นผู้ดำเนินรายการกีฬาทางโทรทัศน์ ผู้ประกาศข่าวกีฬา และผู้บรรยายกีฬาทางช่อง 7 สี
- บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร (นามปากกา: บอ.บู๋) ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ ทุ่งหญ้ามหาประลัย และ บอ.บู๋ พบประชาชน ในสตาร์ซอคเก้อร์รายวัน และเป็นผู้ดำเนินรายการกีฬาทางโทรทัศน์
- สุรพันธ์ ปวัฑฒนันท์ (นามปากกา: แมวเพชร) ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ มองอย่างแมว ในสตาร์ซอคเก้อร์รายวัน และเป็นผู้ดำเนินรายการกีฬาทางโทรทัศน์
- วราเชน กามินทร์ (นามปากกา: เชนชิโร่, งาช้างดำ) ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ มุมสี่สิงห์ ในสยามกีฬารายวัน,ฟุตบอลสยามรายวัน และเป็นผู้ดำเนินรายการกีฬาทางโทรทัศน์ SFFTV
- ฯลฯ
ข้อวิพากษ์วิจารณ์
แก้ปัจจุบัน ด้วยความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับ นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งมีผลงานล้มเหลวเป็นอันมากในการบริหารสมาคมฯ ทั้งยังเป็นที่วิพากย์วิจารย์อย่างกว้างขวางในความโปร่งใสในการบริหาร และการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ
แฟนบอลส่วนใหญ่เชื่อว่า สื่อในเครือ สยามสปอร์ตซินดิเคท ลงข่าวบิดเบือน และไม่เป็นความจริงกับแฟนบอลที่ต่อต้านนายวรวีร์ตลอดเวลา ดังที่ปรากฏอยู่ใน เว็บไซต์พันทิป และ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นที่เล่าลือกันว่า บริษัทในเครือสยามสปอร์ตนี้ มีผลประโยชน์ร่วมกันกับ นายวรวีร์ มะกูดี จากการได้รับสัมปทานในการถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลึก จาก บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ซึ่งนายวรวีร์ ถือหุ้นใหญ่ เป็นจำนวน 45% ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด อ้างอิงจาก ... เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
วิสัยทัศน์ในวงการฟุตบอล
แก้แฟนฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกกลุ่มหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่าสื่อในเครือสยามสปอร์ต มีการนำเสนอข่าวบางประเด็น โดยไม่มีแหล่งอ้างอิงอยู่บ่อยครั้ง อาทิข่าวสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ทำสัญญากับสุเชาว์ นุชนุ่มอย่างไม่เป็นธรรม[1] หรือข่าวสโมสรฟุตบอลการท่าเรือไทย ค้างชำระค่าจ้างแก่นักฟุตบอล[2] โดยบูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร ใช้นามปากกา "บอ.บู๋" เขียนบทความโจมตี การซื้อขายนักฟุตบอลของเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด[3] นอกจากนี้ กรุณา ชิดชอบ รองประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ลงภาพในเฟซบุ๊กของตน ซึ่งมีเนื้อหาข้อความในเฟซบุ๊กของผู้สื่อข่าวเครือสยามสปอร์ต ที่ตั้งข้อสังเกตว่า นักฟุตบอลสังกัดสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ดบางคน ซึ่งลงแข่งขันให้ทีมชาติไทย ในนัดกระชับมิตรกับทีมชาติลาว อาจกระทำการที่เข้าข่ายล้มบอล[4]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ ร้องเลิกเต้าข่าว "สุเชาว์" ยันแฮปปี้กับบุรีรัมย์, หนังสือพิมพ์แนวหน้า, 5 พฤษภาคม 2555.
- ↑ “ท่าเรือ” โต้ไม่ได้ค้างเงินนักเตะ[ลิงก์เสีย], เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์, 18 พฤษภาคม 2555.
- ↑ "บทความ บอ.บู๋". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-19. สืบค้นเมื่อ 2012-09-21.
- ↑ ภาพจากเฟซบุ๊กกรุณา ชิดชอบ
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
- ประวัติความเป็นมาของ บมจ.สยามสปอร์ตซินดิเคท เก็บถาวร 2010-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ไทย)
- Information of Siam Sport Group (อังกฤษ)
- ข้อมูลการดำเนินงานของ บมจ.สยามสปอร์ตซินดิเคท
- จากวันนั้นสู่วันนี้ของสยามสปอร์ต จากนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2543
- ข่าวฟุตบอล
- สยามสปอร์ต ตักศิลานักข่าวกีฬาไทย จากนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2543