เขตร ศรียาภัย เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับมวยไทย รวมถึงศิลปะการต่อสู้ทุกประเภททั้งในและต่างประเทศ และได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์มวยไทย[1] มีลูกศิษย์ที่เขาไปสอนตามสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ฯลฯ ความรู้ความสามารถของท่านครอบคลุมตั้งแต่การสั่งสอนฝึกฝนมวยตั้งแต่อดีต (สมัยรัชกาลที่ 5) จนถึงการฝึกสอนมวยในปัจจุบัน นอกจากนี้ท่านยังได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์เกี่ยวกับศีลธรรมจรรยาของความเป็นลูกผู้ชายที่แท้จริง

เขตร ศรียาภัย
เกิด9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2445
จังหวัดชุมพร
เสียชีวิต13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521
สัญชาติไทย
รูปแบบมวยไชยา
นักเรียนเด่นทองหล่อ ยาและ

ครอบครัว แก้

พระยาเพชรกำแหงสงคราม (ซุ่ย ซุ่ยยัง) ตาทวด (พ่อของย่า) เป็นแม่ทัพไทยตีเมืองมะริด และเมืองตะนาวศรีมาขึ้นประเทศไทย ปลายรัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2366 มีลูกเขยชื่อปาน ซึ่งได้เป็นที่พระศรีราชสงคราม

พระศรีราชสงคราม (ปาน) ปลัดเมืองไชยา (เป็นปู่) มีลูกชายชื่อขำ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4 รับใช้สอยในสำนักสมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมและได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงสารานุชิต ผู้ช่วยราชการเมืองไชยาเมื่ออายุ 25 ปี

หลวงสารานุชิต (ขำ ศรียาภัย) ได้ช่วยปราบจีนจลาจลที่เมืองภูเก็ต ในคราวเดียวกันกับหลวงพ่อแช่ม เจ้าอาวาสวัดฉลองซึ่งพวกจีนติดสินบนหัว 1,000 เหรียญ เมื่อพวกจีนจลาจลแตกพ่ายหนีกระจัดกระจายลงเรือใบใหญ่ออกทะเล จึงได้รับปูนบำเหน็จความดีความชอบเลื่อนยศเป็น พระยาวิชิตภัคดีศรีพิชัยสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองไชยา พ.ศ. 2422

พวกจีนจลาจลที่ภูเก็ตหนีลงเรือแต่ไม่กลับเมืองจีน ได้เที่ยวปล้นตามหัวเมืองชายทะเล ตั้งแต่ปลายอาณาเขตไทยทางใต้จนถึงเมืองเกาะหลัก คือประจวบคีรีขันธ์ เรือรบหลวง 2 ลำ มีกำลังพล 200 ต้องประจำรักษาเมืองภูเก็ต จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองทำการปราบปราม เวลานั้นพระยาวิชิตภัคดีศรีพิชัยสงคราม เป็นเจ้าเมืองไชยา แต่มีหน้าที่รักษาเมืองชุมพร และกาญจนดิษฐ์ด้วย ได้คิดสร้างลูกระเบิดมือขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย รวบรวมพลอาสาออกปราบปรามโจรจีนสลัดในอ่าวไทยเป็นเวลา 3 ปี โจรจีนสลัดสงบราบคาบ จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ เป็นบำเหน็จโดยลำดับ จนถึง พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็น พระยาวัยวุฒิวิเศษฤทธิ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม เพื่อประกาศความดีความชอบที่ได้สร้างลูกระเบิดมือ ซึ่งเป็นอาวุธแปลก ที่ไม่เคยเห็นกันในสมัยนั้น

ต่อมาอีก 7 ปี คือวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2449 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เลื่อนเป็น พระยาวจีสัตยารักษ์ มีตำแหน่งเป็นผู้กำกับการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จนกระทั่งวันถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2457

ชีวิตวัยเด็ก แก้

เขตร ศรียาภัย เป็นลูกคนสุดท้องของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ในสมัยเด็กอายุประมาณ 10 ขวบ เขตร ศรียาภัย ได้เข้าโรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม อยู่ที่บ้านทวาย ชอบกีฬาประเภทออกแรงทุกชนิด เช่น พายเรือ ว่ายน้ำ วิ่งแข่ง ตี่จับ ฯลฯ ได้เป็นที่ 1 ในชุดวิ่งเปี้ยวชิงชนะเลิศกับชุดโรงเรียนวัดประทุมคงคา ได้ถ้วยและโรงเรียนวัดสุทธิวรารามมีชื่อทางวิ่งเปี้ยวแต่นั้นมา ลาออกเพื่อเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญเมื่ออายุได้ 13 ปี เพราะทนถูกรังแกจากนักเรียนที่ใหญ่กว่าไม่ไหว ณ โรงเรียนฝรั่งแห่งใหม่กลับร้ายกว่าโรงเรียนเดิมเพราะมีนักเรียนมากกว่า 3 เท่า เขตร ศรียาภัย ต้องอดทนถูกรังแกอยู่ 3 ปี อันเป็นปฐมเหตุในการพยายามศึกษาวิชาต่อสู้ ซึ่งมีครูดี ๆ รวม 12 ท่าน[2]

เขตร ศรียาภัย เรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญจนถึง พ.ศ. 2460 ได้ถูกบังคับให้เข้าชุดฟุตบอลแข่งขันกับพวกนักเรียนฝรั่งเศสทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ว่าเล่นกันอย่างไร แต่ชุดฟุตบอลนักเรียนอังกฤษก็ชนะ ได้รับเหรียญทองจารึกว่า JUNIOR TOURNAMENT 1917 รวม 11 เหรียญกับถ้วย 1 ใบ ต่อจากนั้นก็ได้เล่นฟุตบอลให้โรงเรียนและสมาคมอัสสัมชัญรวมเป็นเวลาประมาณ 17 ปี ในปี พ.ศ. 2477 โรงเรียนอัสสัมชัญจัดงานฉลองเป็นการใหญ่ที่ได้ตั้งโรงเรียนมาครบ 50 ปีบริบูรณ์ เขตร ศรียาภัย จึงได้รับรางวัลเหรียญทองคำสร้างพิเศษมีคำจารึกเป็นภาษาละตินว่า SEMPER FIDELIS ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ซื่อสัตย์ตลอดกาล อันเป็นเหรียญเดียวที่โรงเรียนมอบให้นักเรียนตั้งแต่สร้างโรงเรียนมาตลอด 90 ปี

ความสามารถด้านอื่น แก้

นอกจากการเล่นกีฬาหมัดมวย ฟุตบอล และวิ่งแข่ง กระโดดสูงกระโดดยาว รวมทั้งมวยสากลกับมองซิเออร์ ฟโรว์ คู่ซ้อมของ ยอร์ช กาปังติเอร์ แล้ว เขตร ศรียาภัย ยังสามารถแจวเรือพาย และถือท้ายเรือยาว (เรือดั้ง, เรือแซง) เรือยนต์ เรือกลไฟ ขับรถยนต์ ขี่มอเตอร์ไซค์ รวมทั้งการขี่ม้า ขี่และฝึกช้างตามแบบที่เรียกว่าคชกรรมอีกด้วย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ประวัติปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-25. สืบค้นเมื่อ 2011-07-11.
  2. สมบัติ สวางควัฒน์. (2554). ย้อนตำนานแวดวงมวยไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน. สำนักพิมพ์ ก้าวแรก. ISBN 978-616-7446-13-4. หน้า 170