ทองหล่อ ยาและ หรือ ทอง เชื้อไชยา เป็นนักมวยไทย ผู้เป็นศิษย์ของเขตร ศรียาภัย และอาจารย์กิมเส็ง เป็นครูมวยไทยสายมวยไชยาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง

ทองหล่อ ยาและ
เกิด1 สิงหาคม พ.ศ. 2472
ไทย โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร
เสียชีวิต19 กันยายน พ.ศ. 2539 (67 ปี)
สัญชาติไทย
รูปแบบมวยคาดเชือก,
กระบี่กระบอง
ครูผู้สอนเขตร ศรียาภัย,
กิมเส็ง ทวีสิทธิ์
นักเรียนเด่นณปภพ ประมวญ

ประวัติ

แก้

ท่านเกิดเมื่อ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2472 ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อเรียน อยู่ชั้น ป.6 โรงเรียนวัฒนศิลป์ ประตูน้ำ เริ่มเรียนมวยสากลกับครูประสิทธิ์ นักมวยสากลจากกรมพละ ช่วงอายุ 13-14 ปี ครูได้ออกหาค่ายมวยไทยที่จะเรียน อย่างจริงจัง ครูไปดูอยู่หลายที่ แต่ก็ไม่ถูกใจเพราะแต่ละค่ายนั้น เวลาซ้อมนักมวย จะเจ็บตัวกันมาก ไม่มีการป้องกันตัวเลย ครูจึงได้ไปหัดเรียนมวยไทยกับ ป๊ะลาม ญาติของแม่ แถวซอยกิ่งเพชร มีครูฉันท์ สมิตเวชกับครูชาย สิทธิผล สอน

เรียนมวยไชยา

แก้

หลังจากจบภาคการศึกษา ครูทองได้มาทำงานที่ การรถไฟ มักกะสันได้รู้จักกับเพื่อน ของคุณพ่อ ชื่ออาจารย์สามเศียร ได้พูดคุยเรื่องมวยและพาไปพบกับ อาจารย์เขตร ที่บ้าน ครูจึงเริ่มเรียนมวยไชยา ขั้นพื้นฐาน ตามลำดับ เรียนอยู่หลายเดือน จึงคิดจะขึ้นชกเวทีเหมือนอย่างรุ่นพี่บ้าง ช่วงนั้น ครูทอง อายุประมาณ 16 ปี จึงไปขออนุญาต อาจารย์เขตร อาจารย์ท่านก็ดูฝีไม้ลายมือว่าใช้ได้ จึงบอกครูให้ฟิตให้ดีแล้วจะพา ไปชก แต่ครูทองท่านได้แอบไปชกมวยเวที ตามต่างจังหวัดรอบๆกรุงเทพฯ ชนะมากกว่าแพ้ และได้ชกชนะมวยดัง ฉายาเสือร้ายแปดริ้ว ที่ฉะเชิงเทรา จนเป็นข่าวรู้ถึงอาจารย์เขตร นับแต่นั้นครูทอง จึงได้ชกใน กรุงเทพฯ โดยอาจารย์เขตร จะพาไปเอง ครูทองชกครั้งแรกที่เวที ราชดำเนินกับสมชาย พระขรรค์ชัย ครูทองแพ้ด้วยความตื่นเวทีใหญ่ เมื่อครูทองติดต่อขอแก้มือแต่ฝ่ายสมชาย ไม่ขอแก้มือด้วย มาเลิก ชกมวยเมื่ออายุ 24 ปี เมื่อคุณย่าท่านป่วยหนักและได้ขอร้องให้ครูเลิกชกมวยเวที ครูทอง ก็ให้สัจจะ แต่ขอคุณย่าไว้ว่าจะเลิกต่อยแต่ไม่เลิกหัด คุณย่าท่านก็อนุญาต

ครูทอง ได้เรียนมวยกับอาจารย์เขตร อยู่อีกหลายปี จนอาจารย์เขตร ออกปากว่า จะพาไปเรียนกับอาจารย์ใหญ่ อาจารย์เขตร จึงฝากครูทอง ให้ไปเรียนวิชาต่อกับอาจารย์ กิมเส็ง ครูทองท่านสนใจเรียนมวยมาก เมื่ออาจารย์ กิมเส็ง ให้ถือดาบไม้และให้ลองเล่นกับท่านดูโดยบอกว่า ก็เล่นเหมือนกับเล่นมวย นั้นแหละ ลองอยู่สักพัก อาจารย์กิมเส็ง ท่านก็บอกว่า ใช้ได้นี่ ด้วยเหตุนี้ ครูทอง จึงไม่ได้เรียนดาบ กับอาจารย์กิมเส็ง ซึ่งครูมักพูดว่าเสียดายอยู่เสมอๆ (แต่ครูทองก็มีความรู้เรื่อง การฟันดาบอยู่ไม่น้อย) เรียนอยู่สัก 3 ปี อาจารย์กิมเส็ง ท่านก็สิ้น ครูทองได้มาช่วยเพื่อนชื่อไหว สอนมวยอยู่ราชบูรณะ และเริ่มสอนมวยอย่างจริงจัง เมื่อย้ายบ้านมาอยู่ที่ ย่านบางนา มีทหารเรือมาฝึกกับท่านจำนวนมาก ครูทองจึงได้ไป ขออนุญาต อาจารย์เขตร ว่าจะสอน ครั้นพูดจบอาจารย์เขตร ท่านก็เหวี่ยงแข้งเตะมาที่ครูทองทันที ครูทองก็รับปิดป้อง ว่องไว ตามที่ได้เรียนมา อาจารย์เขตร จึงว่า อย่างนี้สอนได้ และได้ให้ครูทองมาเรียนวิชาครูเพิ่มเติม

เป็นครูมวย

แก้

ครูทอง ท่านใช้ ชื่อค่ายมวยว่า "ค่ายศรีสกุล" ต่อมาใช้ "ค่ายสิงห์ทองคำ" แต่ซ้ำกับค่ายอื่น ท่านจึงไปกราบขอชื่อ ค่ายมวยจากอาจารย์เขตร ซึ่งก็ได้รับความกรุณาโดยอาจารย์ได้ตั้งชื่อให้ว่า "ค่ายไชยารัตน์" ด้วยเหตุว่าครั้งเรียน วิชามวยไชยากับ อาจารย์เขตร ศิษย์ทุกคนจะใช้สกุลในการขึ้นชกมวยว่า "เชื้อไชยา" ครูทอง มีลูกศิษย์ หลายรุ่น แต่ละรุ่นท่านก็สอนไม่เหมือนกัน บางคนจะชกมวยสากล บางคนจะชกมวยไทยเวที ท่านจะสอนแตกต่างกัน ตามโอกาส

จนเมื่อ พ.ศ. 2526 ครูทอง ท่านได้ไปเผยแพร่มวยไทยคาดเชือกที่ ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า และได้พบกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ชมรมต่อสู้ป้องกันตัว อาวุธไทย ได้ขอท่านเรียนมวย แรกๆก็ไปเรียนที่บ้านครู แต่ระยะหลังจึงได้เชิญ ครูทองท่านมาสอนที่มหาวิทยาลัย และครูได้เริ่มสอนแบบโบราณ คาดเชือกด้วยเห็นว่า ท่าย่างสามขุมของดาบ นั้นเป็นแนวเดียวกับการเดินย่างของมวยคาดเชือก จนถึง พ.ศ. 2527 นายชูพงศ์ ปัญจมะวัต นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานชมรมศิลปป้องกันตัวและอาวุธไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ได้เชิญครูท่านไปเป็น อาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสอนวิชามวยไทยสายไชยาและกระบี่กระบอง ในรูปแบบของการตีหัวไม้และการต่อสู้ด้วยดาบแบบใช้แม่ไม้เชิงมวยและการต่อสู้ด้วยไม้พลองสั้นให้กับสมาชิกชมรมศิลปป้องกันตัวและอาวุธไทยตั้งแต่นั้นมา ในปัจจุบันชมรมศิลปป้องกันตัวและอาวุธไทยได้เปิดสอนวิชานี้ให้กับผู้ที่สนใจและตั้งเป็นสำนักดาบ ชื่อว่า สำนักดาบจุฬาไชยารัตน์ เพื่อสืบทอดวิชาการต่อสู้ที่เรียนจากครูทองสืบมา

ครูทอง ได้ถ่ายทอด ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว มวยคาดเชือก สายไชยา ให้กับทั้งสองสถาบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นหลัก ส่วนสถาบันการศึกษาอื่นที่ครูทองเคยได้รับเชิญไปสอน ได้แก่ มหาวิทยาลัยสยาม วิทยาลัยเทคโนโลยีบางกะปิ เป็นต้น จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. 2537 ครูจึงหยุดเดินทางไปสอน เนื่องจากโรคถุงลมโป่งพองกำเริบหนัก ครูทองหล่อ ยาและ ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด และถึงแก่กรรมด้วยวัยเพียง 67 ปี ในเวลาเช้า 8.45 น. ของวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2539